Skip to main content
sharethis



 


วิทยากร  บุญเรือง


 


ก่อนหรือหลังการทำรัฐประหาร หลายคนคงสังเกตเห็นความเหมือนที่แตกต่างอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสื่อในสังคมไทย นั่นก็คือความพยายามเกาะเกี่ยวกับ "อำนาจ" ของสื่อ --- ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว "อำนาจ" ที่สื่อในกระแสชอบเกาะเกี่ยวนั้นมันก็จะมีแค่ อำนาจการตลาดในระบบทุนนิยม , อำนาจการเมือง และอำนาจจารีตของฝ่ายขวา เท่านั้น


 


ในการพยายามเกาะเกี่ยว "อำนาจ" ดังที่กล่าวไป ดูเหมือนว่าสื่อไม่ได้ทำอะไรที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมได้เลย --- นอกจากแค่สอพลออำนาจเหล่านั้นอยู่ร่ำไป


 


แล้วสื่อที่ทำหน้าที่เพื่อมวลชนล่ะ? ในสังคมไทยมันมีอยู่ไหม? สื่อที่เป็นอิสระจาก อำนาจการตลาดในระบบทุนนิยม , อำนาจการเมือง และอำนาจจารีตของฝ่ายขวา


 


ล่าสุดนี้เมื่อไม่กี่วันก่อนวันเสรีภาพการพิมพ์โลก หนังสือพิมพ์ฉบับเล็กๆ ของกลุ่มนักศึกษาฉบับหนึ่งก็เป็นข่าวใหญ่โต เมื่อคุณตำรวจหวังดีเกินเหตุให้พวกเขาไปจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ( เพื่อหวังผลในการควบคุมในระยะยาว )


 


แต่กรณีหนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว แทบที่จะกลายเป็นเรื่องขนมไปเสีย เมื่อเอามาเทียบกับเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ "เลี้ยวซ้าย" หนังสือพิมพ์นอกกระแส - หนังสือพิมพ์ใต้ดิน - หนังสือพิมพ์เถื่อน หรือแล้วแต่ว่าจะเรียกว่าอะไร ที่สำคัญ หนังสือพิมพ์เล่มนี้พูดถึงอะไรที่มันเป็นสังคมนิยม ซึ่งมันถูกป้ายสีให้เป็นลัทธิต้องห้ามของสังคมไทยมาแต่ไหนแต่ไร 


 


... วันนี้ประชาไทขอนำไปรู้จักกับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ พร้อมถามไถ่ความเป็นมาและสารทุกข์ สุข ดิบ จากบรรณาธิการของเลี้ยวซ้าย "วัฒนะ วรรณ"


 


 


ประชาไท : เลี้ยวซ้ายเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?


 


วัฒนะ วรรณ : สนพ.เลี้ยวซ้าย เกิดขึ้นมาพร้อมกับพรรคแนวร่วมภาคประชาชน เมื่อสองปีที่แล้ว เพื่อเป็นสื่อฝ่ายซ้าย ยึดผลประโยชน์ของชนชั้นล่างเป็นหลัก พวกเรามองว่าสื่อทุกฉบับล้วนไม่เป็นกลาง ต่างก็สังกัดกลุ่มผลประโยชน์กันทั้งนั้น แต่สื่อที่สังกัดผลประโยชน์ของคนยากคนจนหรือคนที่ถูกกดขี่แทบจะไม่มีเลย จึงคิดว่าถ้าเราจะต่อสู้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม เราจำเป็นต้องมีสื่อที่พูดอุดมการณ์ของฝ่ายเรา เพื่อถกเถียงกับแนวคิดของฝ่ายทุนที่พยายามครอบงำสังคมอยู่


 


ประชาไท : กลุ่มผู้อ่านคือใคร? และตอนนี้มียอดพิมพ์ต่อเดือนมากไหม?


 


วัฒนะ วรรณ : ส่วนใหญ่ก็เป็นนักต่อสู้นักเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมและก็สมาชิกของพรรคแนวร่วม ฯเอง ยอดพิมพ์ของเราก็ไม่มาก เดือนละประมาณ สามร้อยฉบับ มีสมาชิกที่รับเป็นประจำก็ประมาณร้อยกว่าฉบับเท่านั้นเอง


 


ประชาไท : เลี้ยวซ้าย มันเป็นหนังสือของพรรคแนวร่วมฯ งั้นมันก็เป็นเครื่องมือของหน่วยการเมืองสิ แล้วจะเรียกสื่ออิสระได้รึเปล่า?


 


วัฒนะ วรรณ : ใช่ มันไม่อิสระหรอก สื่ออิสระมันเป็นคำพูดที่พูดหลอกเด็กเท่านั้น มันเคยมีสื่อที่ใหนที่ลอยอยู่เหนือสังคมบ้าง มันไม่มี ทุกสื่อล้วนสังกัดกลุ่มผลประโยชน์ทั้งนั้น ไม่เชื่อก็ลองดูก็ได้ว่า ในสื่อทุกประเภทมีพื้นที่ของกลุ่มทุนกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น โฆษณา มีพื้นที่ของพวกคนรวยกี่เปอร์เซ็น มีพื้นที่ของรัฐบาลกี่เปอร์เซ็น มีพื้นที่ของชนชั้นปกครองกลุ่มต่างๆกี่เปอร์เซ็น และสุดท้ายมีพื้นที่ของคนชั้นล่าง คนยากคนจน คนชายขอบ สักกี่เปอร์เซ็น เห็นไหมมีสื่อฉบับใหนอิสระบ้าง มันไม่มี แต่มันขึ้นอยู่ว่าสื่อนั้นมีอุดมการณ์อย่างไร ถ้ามีอุดมการณ์เพื่อความเท่าเทียมความถูกต้องก็น่าจะดีกว่า มีอุดมการณ์เพื่อคนที่อยู่เหนือคนอื่น เพื่อธุระกิจของตนเอง อันหลังนี้เราไม่น่าจะรับได้ หรือเป็นสื่อที่ยืนอยู่เป็นอุดมการณ์เผด็จการ ดูถูกคนธรรมดา อันนี้ยิ่งเลวร้ายใหญ่ ซึ่งสื่อประเภทนี้พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน


 


ประชาไท : งั้นพูดถึงพรรคแนวร่วมแล้ว ... อยากถามว่าตอนนี้ทำอะไรกันอยู่ ยังไม่ยุบพรรคใช่ไหม?


 


วัฒนะ วรรณ : ฮ่าๆๆๆ อยากจะยุบอยู่ ... คือยุบไปร่วมกับกลุ่มต่างๆเพื่อให้มันใหญ่ขึ้น พรรคแนวร่วมก็คงต้องต่อสู้กับพวกเผด็จการต่อไป เราเข้าไปร่วมกับหลายกลุ่มที่คัดค้านเผด็จการและรัฐธรรมนูญเผด็จการ ซึ่งล่าสุดเราก็ไปร่วมกับสมัชชาผู้ใช้แรงงาน 1550 เพราะเรามีสมาชิกที่เป็นแรงงานด้วย


 


ประชาไท : แม้แต่แนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยม คนไทยบางส่วนยังว่ามันไม่เหมาะกับบ้านเรา แล้วสังคมนิยมประชาธิปไตย มันยิ่งจะไม่ไปกันใหญ่เหรอ?


 


วัฒนะ วรรณ : พรรคเราไม่ใช่แนวสังคมนิยมประชาธิปไตยนะ เพราะแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยในต่างประเทศล้วนประนีประนอมกับเสรีนิยม แต่ในพรรคเราก็คงมีหลายแนวมั้ง มีพวกมาร์กซิสต์ มีพวกอนาธิปไตย และก็อีกหลายแนว ผมไม่รู้เหมือนกันว่ามีแนวอะไรบ้าง ตอนนี้อาจจะมีแนวฮูโก ชาเวส ก็ได้ (หัวเราะ) แต่ที่เหมือนกันก็คือ เราคัดค้านแนวเสรีนิยม คัดค้านสงคราม คัดค้านการกดขี่ทุกรูปแบบ


 


ประชาไท : เนื้อหาของเลี้ยวซ้ายบางฉบับแรงมาก ... ไม่กลัวพิษสงของ พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. 2484 บ้างหรือ?


 


วัฒนะ วรรณ : พวกเราไม่กลัว ไอ้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในมุมกลับกันกับทำให้เราต้องพยายามต่อสู้กับอำนาจเหล่านั้นด้วย ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของทุกคนนะที่จะต้องร่วมกันต่อสู้ เพื่อที่เราจะได้มีสื่อที่เป็นอิสระจากกลุ่มทุนและพวกชนชั้นปกครองมากขึ้น


 


ประชาไท : อึดอัดไหมกับสถานการณ์ที่สื่อดูเหมือนว่ากำลังโดนปิดกั้น ในขณะนี้? และระบายความอึดอัดนั้นอย่างไร?


 


วัฒนะ วรรณ : ก็คงอดอัดอยู่เหมือนกัน และถ้าใครคิดมาปิดประชาไท ก็คงอึดอัดมากขึ้น(หัวเราะ) แต่เมื่อดูกันลึกๆ  เราถูกปิดกั้นมาโดยตลอดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมาจากอำนาจรัฐโดยตรง หรือมาจากอำนายทุน แต่ที่พูดแบบนี้ไม่ได้บอกให้เราชินกับการปิดกันนะ แต่อยากจะบอกจริงๆเราไม่เคยมีอิสระในการเสพสื่อเลย ไม่ว่าจะเป็นสื่อประเภทใด เราคงต้องร่วมกันสู้ต่อไป ซึ่งอย่างน้อยเราคงต้องร่วมกันเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายทุกฉบับที่ควบคุมสื่ออยู่


 


 


ประชาไท : สุดท้ายนี้อยากฝากอะไรไว้กับคนทำสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนทั้งหลาย ว่าไงบ้าง?


 


วัฒนะ วรรณ : ก็คงอยากจะบอกว่าถ้าเราอยากเป็นอิสระ เราก็ไม่ต้องไปอยู่ในคอกที่เขาสร้างขึ้นมาหรอก ผมอยากให้เราศึกษาคนรุ่นก่อนนะ ว่าเขาสู้เพื่อจะมีเสรีภาพในเรื่องสื่อยังไง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสื่อที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ อำนาจทุน หรือเป็นการต่อสู้ที่จะมีเสรีภาพในการเลือกเสพสื่อ คนเหล่านั้นต้องติดคุกติดตะรางกันก็เยอะแยะแต่เขาก็ยังสู้ จนทำให้เรามีเสรีภาพพอสมควร แต่มันก็คงไม่พอหรอกก็คงต้องสู้กันต่อไป และผมคิดว่าเรามีเพื่อนที่จะร่วมสู้กับความไม่ถูกต้องกับเรานะ ถ้ากฎหมายมันไม่ถูกต้องก็ไม่ต้องไปเคารพมันหรอก ยิ่งเป็นกฎหมายภายใต้เผด็จการด้วยก็ยิ่งไม่ต้องเคารพมากขึ้นอีก เพราะพวกมันยังไม่เคารพกฎหมายเลย


 


0 0 0


 



 


อ่านเพิ่มเติม :


:: พระราชบัญญัติ การพิมพ์ พ.ศ. 2484

เอกสารประกอบ

เลี้ยวซ้ายฉบับเดือนพฤษภาคม 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net