Skip to main content
sharethis

          การเมืองแห่งความกลัว (Politics of Fear) คือ หัวใจของการปกครองของบรรดาพันธมิตรรัฐประหาร


            บรรดาพันธมิตรรัฐประหาร คือผู้ที่ "ผนวกตัวเอง" หรือ "ถูกผนวกเข้าไป" อยู่ในฐานะเป็นแขนขาของคณะรัฐประหาร เพื่อทำให้คณะรัฐประหารนั้นสามารถดำรงอำนาจและควบคุมทิศทางทางการเมืองได้


            สิ่งพิเศษที่พันธมิตรรัฐประหารมีไม่ใช่ความรู้ความสามารถที่คนอื่นไม่มี (ซึ่งจะมีหรือไม่มีไม่ใช่ประเด็น) หรือคุณธรรมความดีงาม (ที่พวกเขาเชื่อว่ามี)


            แต่พวกเขามีความรู้ความสามารถพิเศษในการสร้างความกลัวให้กับสังคม


            เริ่มตั้งแต่การให้เหตุผลว่า การรัฐประหารเกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือด และป้องกันความแตกแยกในสังคม มาจนถึงการสร้างบรรยากาศว่า ถ้าประชาชนไม่รับหลักการรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร จะเกิดความแตกแยกในสังคมและเกิดการนองเลือด


            ว่าง่ายๆ ว่า ถ้าประชาชนไม่ยอมเดินตามที่ผู้ปกครองและคณะพันธมิตรรัฐประหารต้องการ หรือไม่ยอมเดินอยู่ในขอบเขตที่ท่านเหล่านี้เห็นชอบ (ซึ่งตรงข้ามกับการที่ผู้ปกครองต้องอยู่ภายใต้การกำกับและเห็นชอบของประชาชนตามหลักการของประชาธิปไตย) ก็จะถือว่าเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม และเกิดการนองเลือดนั่นแหละ


            ว่าง่ายๆ ว่า ทำเหมือนว่าอยากให้อิสระ แต่ถ้าไม่ไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการก็ขู่ ถ้าขู่ไม่สำเร็จก็บังคับเอาอยู่ดี


            ว่าง่ายๆ ว่า ความแตกแยกและการนองเลือดนั้นเกิดจากคนอื่น ไม่ใช่พวกตน นับตั้งแต่ยุคที่พวกตนยึดอำนาจรัฐ และกลายเป็นผู้ปกครองไปเสียเอง ดังนั้นถ้า "ไม่อยากนองเลือด" ก็ต้อง "ยอม" คณะบุคคลกลุ่มนี้ไปเรื่อยๆ ... จนเขาพอใจ


            ในรายละเอียด วิธีการสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคมของคณะพันธมิตรรัฐประหารนั้นกระทำโดย


            1. แบ่งคนออกเป็น "พวก" ยิ่งแบ่งเป็นสองพวกยิ่งมีพลัง การสร้างโลกให้เป็นขั้ว เป็นพื้นฐานสำคัญในการจูงใจและบังคับให้คนต้องเชื่อและเดินตามเป็นอย่างมาก


            2. ตั้งคำถามกับความรักและความจงรักภักดีต่อชาติกับบุคคลที่ "ไม่ใช่พวกตน" ในทุกๆ ครั้งที่คณะรัฐประหาร คณะผู้ปกครอง และพันธมิตรรัฐประหารประสบความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายในการปกครองประเทศ และ "ถูกตั้งคำถาม" ถึงความไร้ประสิทธิภาพ [1]


            3. ใช้คำว่า "สมานฉันท์" ในแง่ของการทำให้พวกอื่นเป็นพวกตน เพราะพวกตนคือความถูกต้อง แม้ว่าจะมาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง


            4. ใช้วิธีอธิบายในเรื่องของ "ความอยู่รอดของชาติ" เพื่อให้คณะรัฐประหาร คณะผู้ปกครอง และคณะพันธมิตรรัฐประหาร "อยู่รอด" ... "ก่อนที่ชาติจะอยู่รอด"


            การสร้างความกลัวจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ผู้ปกครองอยู่ในอำนาจต่อไปได้ เหมือนในสมัยสงครามเย็นที่โลกถูกแบ่งเป็นสองขั้ว และโลกถูกปกครองด้วยความกลัวมากกว่าความเข้าใจ [2]


            การไปให้พ้นจากการเมืองแห่งความกลัวนั้นย่อมจะต้องเริ่มต้นจากความไม่กลัว ไม่ใช่การสร้างความกลัวมากขึ้นกว่าเดิมโดยการประณามว่าอีกฝ่ายจะนำไปสู่ความแตกแยกและความรุนแรงมากกว่า


            แต่อยู่ที่การส่งเสริมให้บรรยากาศแห่งความกลัวลดลง ด้วยการยืนยันอย่างหนักแน่นถึงจุดยืนและหลักการที่เรามี โดยเฉพาะในเรื่องของความเชื่อมั่นในพลังอำนาจของตัวเราในการกำหนดและตัดสินอนาคตทางการเมืองของตัวเราเอง


            คนเรา "ไม่ใช่ไพร่" และ "ไม่ใช่หมา" จะได้มาขู่กันและสร้างความหวาดกลัวรายวันกันแบบนี้ ...


 


---------------------


ปรับปรุงจากบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันพุธที่ 9 พฤษภาคม 2550 หน้า 4


--------------------


 


 


เชิงอรรถขยายความ:


[1] Barack Obama หนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของพรรคเดโมเครต ตั้งคำถามถึงการที่ Rudy Giuliani หนึ่งในผู้สมัครฯของรีพับลิกัน อดีตผู้ว่าการมหานครนิวยอร์คในช่วง 9/11 ที่กล่าวว่า ถ้าเลือกประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต สหรัฐอาจจะเผชิญกับการโจมตีของผู้ก่อการร้ายอีกครั้ง Obama เห็นว่าการเผชิญหน้ากับการก่อการร้ายเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องปรึกษาหารือกันเพื่อให้เกิดเป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่การแบ่งแยกคนเป็นพวกเขาพวกเรา เมื่อรัฐบาลถุกตั้งคำถามถึงนโยบายที่ล้มเหลว ซึ่งทำให้ประชาชนยิ่งไม่มีความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น ดูที่ Obama rebukes Giuliani for suggesting Dems' election would lead to terrorist attack. 2007. CNN 25 April 2007.


 


[2] ในอดีตนั้นเราพบว่าการเมืองแห่งความกลัวนี้ เคยถูกนำมาใช้ในเรื่องของ "สงครามเย็น" ในระดับโลกเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่มีการแบ่งโลกเป็นสองขั้ว และย่อมไม่น่าแปลกใจเลยว่า โลกทัศน์ของทหารที่เติบโตมาในยุคของสงครามเย็นนั้นย่อมจะมองโลกในกรอบสงครามเย็นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะทหารที่ทำรัฐประหารและเป็นผู้ปกครอง และคนอื่นๆที่คุ้นเคยกับการสร้างโลกแบบสงครามเย็น ดูที่ Furedi, Frank. 2002. Culture of fear : risk-taking and the morality of low expectation. Revised ed. New York: Continuum. และ Norris, Carol. 2002. The Politics of Fear. CounterPunch, 12 October 2002.


 


การเมืองแห่งความกลัวนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากเผด็จการหรือฝ่ายขวาเสมอไป ในหลายกรณีอาจเกิดขึ้นจากการใช้ตรรกะเดียวกับเผด็จการเพื่อให้ตนนั้นได้ประโยชน์ ดังในกรณีของกลยุทธ์ในการหาเสียงของ John F. Kerry ผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของพรรคเดโมเครต ที่ใช้หลักการหาเสียงโจมตี Bush โดยใช้การเมืองแห่งความกลัว ด้วยการกล่าว(หา)ว่าถ้าเลือก Bush อีกครั้งก็จะ "แย่กว่าเดิม" หรือ "ไม่ปลอดภัยกว่าเดิม" ดู VandeHei, Jim, and Howard Kurtzcs. 2004. The Politics of Fear: Kerry Adopts Busg Strategy of Stressing Dangers. Washington Post, 29 September 2004, A01.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net