Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 15 พ.ค. 50 วันที่ 14 พ.ค. 50 รศ.ดร.ภิญญุภา เปลี่ยนบางช้าง อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เขียนจดหมายถึงกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อชี้แจงตอบโต้กรณี หน้าเศรษฐกิจ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 14 พ.ค. 2550 เสนอรายงานเศรษฐกิจเรื่อง "ชั่งน้ำหนักซื้อยาถูกแลกตัด "จีเอสพี"เกมอ่อนหัดได้ไม่คุ้มเสีย" ซึ่งมีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการคัดค้านการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (CL) ในการผลิตยารักษาโรคเอดส์ของกระทรวงสาธารณสุขไทย โดยอ้างว่า การกระทำดังกล่าวจะกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯที่มีมูลค่าปีละมากกว่า 1 ล้านล้านบาท


 


รศ.ดร.ภิญญุภา ระบุว่า รายงานดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียว ไม่ศึกษาให้รอบด้านก่อนเขียน สนใจแต่เรื่องประเด็นทางการค้าและผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม พร้อมยกข้อมูลตอบโต้ กรณีการทำ CL ซึ่งไทยทำตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่เป็นสหรัฐฯ เองที่อ้างเหตุตัด GSP ไทย ทั้งนี้ การที่ไทยปกป้องสิทธิบัตรให้สหรัฐอย่างเข้มงวดที่ผ่านมาไม่เคยทำให้ประเทศได้ประโยชน์อะไร นอกจากทำให้บริษัทยาต่างชาติรวยขึ้นและคนไทยซื้อยาแพงเท่านั้น          


 







คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร


อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000


 


14 พฤษภาคม 2550


 


เรียน ทีมข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


 


ดิฉันได้เห็นบทความของทีมข่าวเศรษฐกิจเรื่อง "ชั่งน้ำหนักซื้อยาถูกแลกตัด จีเอสพี เกมอ่อนหัดได้ไม่คุ้มเสีย" ใน นสพ.ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ที่โดดเด่นสะดุดตาเต็มพื้นที่หน้า 8 แม้ตามปกติจะไม่ได้สนใจข่าวเศรษฐกิจ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะติดตามอ่านเพื่อให้ทราบว่า เรื่องอะไรกันจึงสำคัญขนาดครอบครองหน้าหนังสือพิมพ์ชื่อดังทั้งหน้าได้


 


เมื่ออ่านดูแล้วพบว่า บทความเป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียว ซึ่งก็คาดหวังได้เนื่องจากเป็นข่าวหน้าเศรษฐกิจ ความสนใจหลักของคนอ่านข่าวหน้านี้ คือ การเงิน การค้า และผลประโยชน์เชิงธุรกิจของกลุ่มคนบางกลุ่มของประเทศ อย่างไรก็ตาม บทความที่เขียนมีข้อบกพร่องที่ควรกล่าวถึงหลายประการ รวมทั้งรายละเอียดที่ทีมข่าวควรทำการบ้านให้ดีกว่านี้ แม้จะไม่ใช่เรื่องที่เชี่ยวชาญ แต่ข่าวที่นำเสนอโดยเฉพาะจาก นสพ. ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มักเป็นข้อมูลที่ประชาชนมักนำไปอ้างอิงและกล่าวขวัญโดยมิได้ตรวจสอบความถูกต้องซ้ำอีกครั้ง ประเด็นที่ใคร่ขอกล่าวถึงในมุมมองของคนที่ทำงานด้านวิชาการ ได้แก่


 


1. Compulsory licensing ตาม พรบ.สิทธิบัตร หมายถึง การใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ไม่ใช่ สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา และไม่ใช่เฉพาะประเทศสหรัฐฯ เท่านั้น ตามที่เสนอในบทความ


 


2. ทีมข่าวอ้างว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการประกาศ CL "...เพียงฝ่ายเดียว ทั้งยังไม่ได้ตรวจสอบประเด็นแวดล้อม และผลกระทบด้านต่างๆ ที่อาจตามมา ...ไม่ได้ดำเนินการตามมารยาทและหลักการ ในการเจรจาทางการค้าไม่ว่าจะรูปแบบใดๆ..." หากทีมข่าวได้อ่านหนังสือ "ข้อมูลความจริง 10 ประเด็นร้อน การใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร 3 รายการในประเทศไทย" ที่เผยแพร่โดย กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ก่อนเขียนบทความ ก็จะทราบว่า ข้อความข้างต้นไม่เป็นความจริง ในการประกาศ CL เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ความพยายามในการเจรจาต่อรองราคายาใน พ.ศ. 2548 นอกจากนี้ ผู้แทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภาทนายความ ยังมีส่วนร่วมในการร่างประกาศ CL ด้วย


 


3. ทีมข่าวกล่าวถึงประสบการณ์ของประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2534-2536 ที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม PFC เป็นการกดดันอย่างรุนแรงซึ่งนำมาสู่การแก้ พรบ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2535 จนสหรัฐฯ พอใจ จึงลดระดับประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม WL เมื่อ พ.ศ. 2537 ดิฉันถามจริงๆ ว่า หลังจากแก้ พรบ.นั้นแล้ว ประโยชน์ตกอยู่กับใคร ทีมข่าวประเมินแล้วจริงๆ หรือว่า การเอาอกเอาใจสหรัฐฯ ในครั้งนั้น คุ้มค่ากับสิ่งที่ประชาชนไทยต้องเสียไป ในความคิดของดิฉัน พรบ.สิทธิบัตรฉบับใหม่ไม่ได้นำอะไรมาสู่คนไทยส่วนใหญ่เลยนอกจากยาที่ราคาแพงขึ้น คนเข้าถึงยาได้น้อยลง และบริษัทยาข้ามชาติมีผลกำไรมากขึ้นเป็นทวีคูณ สิ่งที่เป็นเจตจำนงของการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรม ก็ไม่ปรากฏว่า เพิ่มขึ้นในประเทศไทยแต่อย่างใด อยากให้ย้อนกลับไปดูบางประเทศ เช่น อินเดีย ที่ไม่ยึดติดกับ พรบ.สิทธิบัตร จะพบความก้าวหน้าทางการประดิษฐ์ที่เหนือกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มัวแต่หวาดกลัวอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ และให้การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของเขาอย่างไม่มีข้อจำกัด


 


4. ทีมข่าวกล่าวว่า รัฐบาลหาเสียงกับผู้ป่วยเอดส์โดยลืมผู้ป่วยโรคอื่นๆ ขอให้ศึกษารายละเอียดของการทำ CL ให้ดี จะพบว่า การทำ CL ครั้งนี้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะยาโรคเอดส์เท่านั้น แต่ยังมียาโคลพิโดเกรล (clopidogrel) ซึ่งเป็นยาสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดของบริษัทซาโนฟี ซินเธอลาโบ อีกด้วย นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมีแผนที่จะทำ CL ยาที่มีราคาแพงอื่นๆ โดยเฉพาะยามะเร็งในอนาคต


 


5. ไทยถูกบราซิลหลอกใช้หรือไม่ ประเด็นนี้ต้องขอชื่นชมมุมมองของทีมข่าวในการมองต่างมุม ดิฉันเคยคิดเช่นกันว่า การที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับมูลนิธิคลินตัน ร่วมกับประเทศยากจนอื่นอีก 16 ประเทศ โดยมี UNAIDS เป็นองค์กรภาคีเพื่อต่อรองราคายาเอดส์นั้น เรากลายเป็นเพียงเครื่องมือของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ ในการต่อสู้ช่วงชิงเสียงของประชาชนหรือไม่ ต่อประเด็นนี้ ดิฉันเห็นว่ารัฐบาลตัดสินใจเหมาะสมในการพิทักษ์สิทธิในการเข้าถึงยาของประชาชน เพียงแต่เราต้องรู้เท่าทันสถานการณ์ และไม่หลงเป็นเหยื่อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เราถูกใครหลอกใช้ แต่อยู่ที่ว่า เราจะสามารถต่อรองให้ได้ผลประโยชน์ร่วมอย่างเหมาะสมตามบทที่เล่นได้หรือไม่ อย่างไร เพราะหากมัวแต่อาศัยอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว กลัวคนกลุ่มน้อยจะเสียประโยชน์ ประชาชนส่วนใหญ่ก็คงต้องยอมเป็นฝ่ายเสียเปรียบต่อประเทศมหาอำนาจต่อไป และจะเป็นไรไปหากประเทศไทยจะ "เป็นประเทศแรกที่ขอให้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาดังกล่าวเองตามลำพัง จนกลายเป็นประเทศต้นแบบให้อีกหลายประเทศในกลุ่มโลกที่สามดำเนินรอยตาม" โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันรู้สึกภูมิใจมาก แล้วท่านเล่า ไม่ภูมิใจหรือ


 


ทีมข่าวกล่าวถึงการชั่งน้ำหนักระหว่าง GSP กับการประกาศ CL ว่า จะทำให้ประเทศไทยเสียสิทธิในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เป็นมูลค่ามหาศาลแต่ละปี และกล่าวอีกว่า รัฐบาลดำเนินการโดยปราศจากความสง่างามและไร้มารยาท แต่หากพิจารณาการประกาศ CL ในรายละเอียดจะพบว่า บริษัทยาและรัฐบาลสหรัฐฯ ต่างหากที่ก้าวร้าวและไม่มีเหตุผล รัฐบาลไทยจำเป็นต้องประกาศ CL เนื่องจากการเจรจาต่อรองกับบริษัทยาไม่ประสบผลสำเร็จ บริษัทเหล่านั้นไม่สนใจจะทำ differential pricing policy หรือใดๆ ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยยากจนให ้เข้าถึงยาจำเป็นที่บริษัทนั้นๆ หวงสูตรเอาไว้เพื่อขายในราคาแพงเป็นเวลานาน ประชาชนกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการทำ CL ก็ไม่เคยเป็น และไม่มีโอกาสได้เป็น ลูกค้าของบริษัทยาข้ามชาติเหล่านั้นอยู่แล้ว การประกาศ CL ไม่ทำให้รายได้ของบริษัทลดลงแต่ประการใด นอกจากนี้การประกาศ CL ของไทยเป็นไปภายใต้ พรบ.สิทธิบัตร และ Doha declaration ทุกประการ มิได้ขัดต่อกฎหมายหรือข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น แล้วด้วยเหตุผลใดเล่าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ GSP ของไทย แบบนี้เรียกว่าสง่างาม มีมารยาทแล้วหรือ


 


ดิฉันเข้าใจเจตนารมณ์ของทีมข่าวว่าต้องการเสนอข่าวด้านเศรษฐกิจ แต่การสรุปประเด็นข่าวและตั้งชื่อหัวข้อ "...เกมอ่อนหัด...ได้ไม่คุ้มเสีย" จำเป็นต้องวิเคราะห์เรื่องราวอย่างครอบคลุมทุกด้าน ไม่ใช่สนใจแต่ว่าจะขายของให้สหรัฐฯ โดยไม่คำนึงถึงภาวะสุขภาพของประชาชนร่วมประเทศของเราเองว่า จะเป็นอย่างไร จะสามารถเข้าถึงยาได้หรือไม่ หรือจะต้องตายไปเพียงเพราะยาจากประเทศที่เราส่งของไปขายมีราคาแพงเกินกว่าที่เขาจะซื้อได้ การขายของให้สหรัฐฯ มีความสำคัญมากกว่าชีวิตเพื่อนร่วมประเทศเช่นนั้นหรือ เราจะผูกชีวิตของเราไว้กับประเทศเพียงประเทศเดียวอีกนานเพียงใด ตัวอย่างของประเทศที่ไม่สนใจเรื่องสิทธิบัตรและยังสามารถธำรงอยู่ได้ด้วยความพอเพียงทางเศรษฐกิจมีให้เห็นอยู่ทั่วไป แม้จะไม่ฟู่ฟ่าด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรืออัตราการลงทุนจากต่างชาติ


 


อยากยกคำถามของ รมต.สาธารณสุข มาถามท่านตรงนี้ว่า "บอกได้ไหมว่า ชีวิตคนๆ หนึ่งมีราคาเท่าไร" จะได้คำนวณได้ว่าคุ้มกับการแลก GSP หรือไม่


 


ขอแสดงความนับถือ


 


 


 


(รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญญุภา เปลี่ยนบางช้าง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net