Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 15 พ.ค.50 การประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 60 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 14 - 23 พฤษภาคม มีประเด็นหลักในการประชุม ประกอบไปด้วย การแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดนกและการเตรียมวัคซีน, กฎระเบียบด้านสุขภาพนานาชาติ, สาธารณสุข นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา, การย้ายถิ่นของบุคลากรด้านสุขภาพ, แผนระดับโลกว่าด้วยการป้องกันมะเร็ง และ ภาวะความปลอดภัยของหญิงมีครรภ์


องค์การหมอไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres/Doctors without Borders) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลด้านการแพทย์ระหว่างประเทศ ได้ทำหนังสือถึงตัวแทนประเทศสมาชิกในองค์การอนามัยโลก (WHO)ให้คำนึงถึงปัญหาการเข้าถึงยาที่ประชากรทั่วโลกกำลังประสบอยู่


 ทั้งนี้ จากรายงานของคณะทำงานระหว่างประเทศ (The Intergovernmental Working Group - IGWG) ขององค์การอนามัยโลกชี้ให้เห็นปัญหาการเข้าถึงยาและความล้มเหวในการวิจัยและพัฒนา โดยมีข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ระดับโลกในการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงสมควรที่สมัชชาองค์การอนามัยโลก จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้


 ในหนังสือขององค์การหมอไร้พรมแดนที่ทำถึงตัวแทนประเทศสมาชิกในองค์การอนามัยโลก มีข้อเสนอแนะ อาทิ สมาชิกองค์กรอนามัยโลกควรยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งถึงหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกในการวิจัยและพัฒนา การเข้าถึงยา และระบบทรัพย์สินทางปัญญา โดยบทบาทขององค์การอนามัยโลก จะต้องไม่จำกัดแค่โรคกำพร้า (most neglected diseases) หรือไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอื่นๆ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพราะไม่มีองค์กรใดมีมุมมองด้านสาธารณสุข เช่น องค์การอนามัยโลก


 องค์การอนามัยโลก ควรทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านนโยบายและเทคนิคอย่างแข็งขันกันประเทศต่างๆที่ต้องการใช้กลไกยืดหยุ่นในกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา มาตรการหรือกลไกยืดหยุ่น (TRIPS" Flexibilities) เป็นกลไกที่ได้รับการรับรองในคำประกาศโดฮาว่าด้วยทริปส์และการสาธารณสุขขององค์การการค้าโลก การที่องค์การอนามัยโลกไม่ได้แสดงความสนับสนุนการประกาศบังคับใช้สิทธิของประเทศไทยในระยะแรกๆ ก่อให้เกิดความกังวลถึงทิศทางขององค์การอนามัยโลกที่ควรช่วยเสริมศักยภาพของประเทศในการสร้างหลักประกันที่มั่นคงในการเข้าถึงยาของประชากร ดังนั้น ณ ขณะนี้ องค์การอนามัยโลกและสมัชชาองค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 60 ควรแสดงออกอย่างชัดเจนในการให้ความสนับสนุนกับประเทศต่างๆที่ใช้มาตรการยืดหยุ่นในกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา


 คณะทำงานระหว่างประเทศ ขององค์การอนามัยโลก ควรยอมรับแนวทางการแก้ปัญหาการเข้าถึงยากับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ โดยจะต้องแยกค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา ออกจากค่ายา การจูงใจให้เกิดการวิจัยและพัฒนาในปัจจุบันที่ให้ผ่านสิทธิบัตรและราคายาที่แพงนั้น กำลังสร้างปัญหาการเข้าถึงยาให้กับประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่บรรษัทยาสามารถยื่นขอสิทธิบัตรในทุกมุมโลก ทำให้แหล่งยาชื่อสามัญราคาถูกกำลังหายไปจากโลกนี้ ดังนั้นคณะทำงานควรหาทางออกบนหลักการที่ต้องแยกค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา ออกจากค่ายา รวมทั้งต้องพิจารณากลไกการเงินสร้างแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนาใหม่ๆ เช่น กลไกด้านภาษี สนธิสัญญาการวิจัยและพัฒนาโรคที่มีความจำเป็น การให้รางวัลแก่การวิจัยและพัฒนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net