Skip to main content
sharethis

ใกล้ครบรอบเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 "ประชาไท" ขอนำคำสัมภาษณ์ "อดิศร โพธิ์อ่าน" พูดถึงพ่อ "ทนง โพธิ์อ่าน" ผู้ถูกทำให้หายไปหลังการรัฐประหาร 2534 และผลลัพธ์ของมันย้ำให้รู้ว่า ทหารยังไม่ได้ปลูกดอกไม้ในใจใครบางคน

 

 

 

 

 

ในวันที่ 19 มิถุนายน 2534 หรือเมื่อ 16 ปีก่อน "ทนง โพธิ์อ่าน" ผู้นำแรงงานคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์สังคมไทยได้ถูกทำให้ "หายไป" หลังจากลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจทหารของคณะทหารที่เรียกตัวเองว่า "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) ที่เข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534

 

ปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ ให้คำตอบ หรือแสดงความรับผิดชอบต่อการทำให้ "หายไป" ครั้งนั้น

 

อย่างไรก็ตาม ผลจากการหายไปของ "ทนง โพธิ์อ่าน" ตามมาด้วยการล่มสลายของขบวนแรงงานไทยที่เคยเข้มแข็งในกระบวนการต่อรอง เรียกร้องสิทธิและความชอบธรรมของผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของสังคมไทยในที่สุด

 

ผ่านมา 15 ปี ประวัติศาสตร์ได้ย้อนกลับมาเป็นปัจจุบันอีกครั้ง วันที่ 19 กันยายน 2549 เมื่อคณะทหารที่เรียกตัวเองว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (คปค.) ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

 

ในอดีตที่หวนกลับมาเช่นนี้ "อดิศร โพธิ์อ่าน" ได้เติบโตขึ้นตามกาล บนเส้นทางที่ "พ่อ" ได้ "หายไป"

 บนวิถีแห่งการรัฐประหาร จะคิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้

 

นี่คือบทสัมภาษณ์ "ประชาไท" ในห้วงเวลาแห่งการทบทวนบทเรียนและระลึกถึงการสูญเสียที่มากมายนับแสนหยดน้ำตาและนับล้านหยดเลือด บนรอยทางรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ถึงพฤษภาเลือด 2535

 

 

0 0 0

 

 

ย้อนกลับไปก่อนการรัฐประหาร พ.ศ.2534 ในช่วง คุณทนง โพธิ์อ่าน มีบทบาทในขบวนการแรงงาน โตทันพอจะรู้เรื่องไหม

ทันครับ ตอนนั้นอายุประมาณ 17-18 เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ยังเที่ยว ยังเรียนหนังสืออยู่ และยังได้เจอคุณพ่อทุกวัน คุณพ่อก็เล่าเรื่องงานให้ฟังทุกวัน แรกๆ ก็ไม่เข้าใจ แต่ที่เขาพูดทุกวันๆ ทำให้เรารู้และซึมซับ แม้ยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร เราซึมซับสิ่งที่เขาพูดทุกวัน

 

ที่คุณพ่อเคยสอนคือ อนาคตของคนจนจะเป็นอย่างไร เขาไม่มีโอกาสจะฝัน เขากำหนดตัวเองไม่ได้เลย คุณพ่อเลยพยายามสร้างฐานอำนาจการต่อรอง ถ้าลองมองย้อนกลับไปสมัยนั้น กล้าพูดได้เต็มปากเลยว่า ยุคที่คุณพ่อเป็นผู้นำ คือยุคที่แรงงานเข้มแข็งที่สุดของเมืองไทย ที่กล้าพูดอย่างนี้ก็เพราะว่า สมัยน้าชาติ (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) เป็นนายกรัฐมนตรี คุณพ่อเป็นผู้นำแรงงานในยุคสมัยนั้น แต่ก็อยู่ในกลุ่มน้าชาติด้วย ก็เออออห่อหมกกับน้าชาติไป แต่คุณพ่อรู้ว่าแรงงานต้องการอะไร น้าชาติทำด้านธุรกิจ การเจรจาด้านธุรกิจน้าชาติก็ทำไป แต่ถ้าแรงงานต้องการอย่างนี้น้าชาติต้องให้ ถ้าน้าชาติไม่ให้ พ่อผมไม่สนใจ ท่านเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คนเดียวที่ตอนนั้นคนเขามองว่า เป็นอะไร ทำไมต้องมาเคลื่อนไหวประท้วง แต่พ่อไม่สนใจ ส.ว.ก็ ส.ว. เพราะความสำคัญอยู่ที่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ถ้าไม่ได้เป็น ส.ว. ก็ไม่ตาย เขาปลดก็ไม่เป็นไร แม้ตอนนั่งในสภา พ่อก็ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับคนระดับกลางและระดับล่าง

 

 

ความเข้าใจสถานการณ์แรงงานในช่วงนั้นเป็นอย่างไร

คุณพ่อผมมองมุมที่ไม่เหมือนคนอื่น คือมองว่า เมื่อเรามีโอกาส เราต้องพยายามทำให้เต็มที่ เพื่อให้กระบวนการแรงงานได้ประโยชน์สูงสุด พ่อพยายามจะรวมสภาแรงงานให้เป็นหนึ่งเดียว สมัยก่อนมีสภาแรงงาน 4 สภา ผมคิดว่าคุณพ่อคิดถูกต้อง

 

ปัจจุบันนี้ยังคุยกับผู้นำแรงงานหลายๆ คนเลยว่า ทำไมผู้นำแรงงานไม่คุยกัน มารวมพลังกันต่อรองกับรัฐบาล คุณต้องกำหนดนโยบายระดับชาติ ไม่ใช่รอกินเศษกระดูกจากกระทรวง คือคุณพ่อเข้าใจ พยายามจะรวมหนึ่งสภาแต่โดนอุ้มหายไปก่อน ส่วนบทบาทที่เด่นชัดแต่น่าน้อยใจมากๆ ก็คือเรื่อง กฎหมายประกันสังคม ที่น่าน้อยใจ เพราะ พ่อพูดสุดตัวว่า อยากจะเห็นกระทรวงแรงงานแต่ก็ไม่ได้เห็น พ่อเป็นประธานการผลักดันทั้งกฎหมายประกันสังคมทั้งกระทรวงแรงงาน มีใครเคยนึกถึงบ้าง คนรุ่นหลังๆ มีใครอยากจะทำ

 

แม้แต่ผู้นำแรงงานสุดท้ายไม่ตายก็หาย ดังนั้นคนรุ่นหลังไม่มีใครอยากทำ พอไม่อยากทำก็มาเก็บกินผลประโยชน์หลักๆ ไป ผมเข้าใจสิ่งที่คุณพ่อผมทำ แต่แรกๆ ก็เสียใจว่า ทำไมคุณพ่อทำความดีแล้วต้องมาเจออย่างนี้ สุดท้ายก็เข้าใจว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ มันต้องคุ้มครองตัวเองได้เหมือนกัน เพราะมันต้องขัดแย้งกับคนนั้นคนนี้

 

อีกเรื่องหนึ่งที่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องยุ่งกับคุณพ่อ ถ้าเปรียบเทียบเป็นภาษาชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ คือ จังหวัดไหนมียาบ้ามากๆ ปราบไม่ได้ผู้แทนก็จะผูกขาด แล้วทำอย่างไรก็ได้ให้คนอยู่ในกะลา คือถ้าประชาชนฉลาดหรือเข้มแข็งขึ้นมาเขาก็ปกครองไม่ได้ เพราะรู้เยอะ อยากได้นั่นได้นี่แล้วสร้างอำนาจการต่อรอง เช่น หยุดงานเพื่อเรียกร้องสวัสดิการที่รัฐจะต้องดูแล เขาก็เลยต้องจัดการเก็บผู้นำ เชือดไก่ให้ลิงดู

 

 

สภาพครอบครัวหลังการหายตัวไปของคุณพ่อเป็นอย่างไร

สุดยอด ครอบครัวตอนนั้นลำบากจริงๆ ผมก็ไม่ได้เรียนหนังสือ ผมกับพ่อสนิทกันมาก รักกันมาก แต่เราไม่เคยร้องไห้ บางคนถามว่า ทำไมลูกชายไม่ร้องไห้ มานั่งนึกว่า ทำไมต้องร้องไห้ให้คนอื่นเห็น มันไม่จำเป็น ทุกคนเสียใจหมด เพียงแต่ผมร้องไม่ได้ต่อหน้าคนอื่น แม่ยังไม่เห็นเลย ผมรู้ว่าต้องเข้มแข็งเพื่อเป็นกำลังใจให้กับหลายๆ คน ผมต้องให้น้องคนหนึ่งได้เรียนหนังสือ ส่วนน้องผมคนเล็กมีทุนให้จากคุณนัท นามสกุลผมไม่ทราบ แต่เขาให้ทุนทุกเทอม และสมัยก่อน มีเงินจากองค์กรแรงงานของอเมริกาและเงินของสมาคมแรงงานสินค้าที่ช่วย เพราะคุณพ่อหายไป ซึ่งไม่ได้หายไปเปล่าๆ มีหนี้ไว้หลายล้านเหมือนกัน ลองนึกดูว่า ผ่านมาพอตัว ลำบากมาเป็นสิบๆ ปี ทำมาหลายอย่างทั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบ เป็นเลขากรรมาธิการ เป็นที่ปรึกษาโกดังนครหลวงค้าข้าว ทำทุกอย่างเพื่อจะมาเลี้ยงชีพตัวเอง

 

ย้อนไปภายหลังคุณพ่อหายนั้นลำบากมาก เคยจะฆ่าตัวตายไม่รู้กี่ครั้ง แต่มาคิดว่า แม่จะอยู่อย่างไร น้องจะอยู่อย่างไร อดทนรอวัน บางทีเราถูกว่าจนน้ำตาไหลก็ต้องอดทน อดทนเท่านั้น บอกน้องรุ่นหลังเสมอซึ่งไม่จำเป็นต้องเจอแบบผมนะ ผมเชื่อว่าฟ้าต้องมีวันสว่าง

 

เมื่อก่อน ทุกครั้งที่แม่ให้สัมภาษณ์ จะมีคนบ้าโทรมาขู่ที่บ้าน คือเขาจะให้คนโรคจิตมาทำ ตำรวจเคยจับไปตรวจสอบทีหนึ่งจึงรู้ว่า เป็นคนโรคจิตมาขู่แม่ที่โรงพยาบาลว่า เดี๋ยวฆ่าเลย หลังๆ แม่ก็กลัว เราก็เข้าใจ แต่พอผ่านมาได้เราก็ดีใจ มีคนบอกว่าให้ไปเรียกร้องสัก 5 ล้าน 10 ล้านได้หรือไม่ เพราะเมื่อก่อนมันมีความหมายกับเรามาก เพื่อที่แม่จะใช้ปลดหนี้หรือน้องที่ต้องได้เรียนหนังสือ

 

แต่ ณ วันนี้ถ้าเขาเรียกให้ไปรับเงิน สมมติถึง 5 ล้าน ก็บอกแม่ว่า อย่าไปเอานะ พ่อผมหาย สลึงนึงจากรัฐบาลไม่เคยได้ช่วย ทุกวันนี้ยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง เราสามารถอยู่ได้ ธุรกิจเป็นเพียงองค์ประกอบ ซึ่งตั้งแต่วันแรกได้บอกกับภรรยาที่เป็นชาวต่างชาติว่า ฉันต้องทำให้พ่อของฉัน ฉันต้องทำให้คนทั้งประเทศเห็นว่า ลูกของเขาได้ขึ้นมายืนและมาทำตามเจตนารมณ์ของพ่อเขา

 

ความอยากของพ่อผมมันยิ่งใหญ่เหลือเกิน คืออยากให้คนทั้งประเทศอยู่ดีกินดี ลืมตาอ้าปากได้ กำหนดตัวเองได้ ซึ่งไม่รู้จะทำได้หรือไม่ แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด จากนั้นสุดท้ายก็จะปลดระวางเพื่อมาใช้ชีวิตกับครอบครัว ไม่ใช่ผมไม่มีความทุกข์ ผมมีความทุกข์และมีภาระ ไม่ใช่ภาระที่ต้องหาเงิน แต่เป็นภาระที่ต้องทำให้พ่อ เพราะผมรักพ่อ พ่อทำเพื่อส่วนรวมและโดนอุ้มหายไป ถ้าผมทำได้จะบอกคนรุ่นหลังว่าทำเถอะ ทำเพื่อสังคมและส่วนรวม ถ้าสังคมอยู่ได้ ประเทศชาติก็อยู่ได้ วันใดสังคมอยู่ไม่ได้ ประเทศชาติก็อยู่ไม่ได้ ตัวคุณเองก็อยู่ไม่ได้ รัฐบาลหรือคนรุ่นหลังน่าจะมีอนุสรณ์ให้กับคนที่เขาเสียสละ ทำไปตายเปล่า ใครจะอยากทำ

 

 

แล้วความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยมีบ้างหรือไม่

สลึงเดียวก็ไม่มีครับ หลังๆ นี้ผมเคยไปเรียกร้อง ไปเพราะเราคาดหวังอยู่ในใจอยู่แล้วว่า มันเป็นไปได้ยากแม้กระทั่งรัฐบาลไทยรักไทยที่เราช่วยอยู่ก็เป็นได้ยาก

 

 

ตอนนี้ก็จะ 16 ปีแล้วความคืบหน้าของคดีมีบ้างไหม

ไม่มีครับ เราเชื่ออย่างหนึ่งเลยว่าโอกาสที่จะเป็นไปได้น้อยมาก

 

 

ได้ประสานงานกับทางราชการไหม

ถามว่าตำรวจไทยเก่งไหม ผมเชื่อว่าเก่ง แต่ผมบอกทะเบียนรถที่พาคุณพ่อไปวันนั้น ตำรวจยังบอกเป็นทะเบียนรถปลอมเลย แต่ผมว่าไม่ปลอม เพราะสมัยก่อนเคยขับรถซิ่ง เคยเล่นรถ มองปั๊บก็รู้เลยว่า รถคันนี้ทะเบียนปลอมหรือไม่ แม้แต่ตราลายน้ำรถยังรู้เลย ตัวเลขมันจะไม่เหมือนกัน ทำปลอมยังไงตัวเลขก็จะไม่เหมือน เค้าโครงจะไม่เหมือนและไม่มีทางเหมือน วันนั้นเราเห็นทะเบียนรถก็จดให้ตำรวจ แต่ตำรวจเขาว่าเป็นทะเบียนปลอม รถสองคันในวันนั้นเป็นยี่ห้อโซลูน่าปี 87 และถ้ามีชุดทหารทำจริง คิดว่าต้องมีลายนิ้วมือแฝง

 

 

หวังหรือไม่ วันหนึ่งหากเครือข่ายอำนาจหมดแล้ว ความจริงจะเปิดเผยขึ้นมา

มีความหวังแต่ไม่ได้คาดหวัง เชื่อว่ากลุ่มที่เขาทำ ก่อนที่เขาจะตาย อาจจะมีสักคนที่หลุดปากสารภาพก่อนตายเพื่อให้ตายตาหลับ ในกรณีของคุณสมชาย (นีละไพจิตร) เป็นไปได้ยากเหมือนกัน หากเป็นระดับข้าราชการหรือตำรวจทำ โอกาสที่จะเปิดเผยเป็นไปได้ยาก เวลาจริงๆ เวลารักษาใจ แรกๆ 3-4 ปีไม่เคยมีใครมาถามเรื่องพ่อผมเลย เพราะผมจะไม่คุย ผมคุยด้วยไม่ได้ จะร้องไห้ ไม่เกิดกับใครไม่มีใครรู้ ขนาดผ่านมาแล้ว 16 ปี ทุกวันนี้เรายังรู้สึก ไม่ใช่ไม่รู้สึก เพราะใครจะเข้าใจว่า คนหนึ่งทำเพื่อส่วนรวม ผลตอบแทนจะเป็นอย่างนี้

 

สิ่งที่เราหวังไว้จริงๆ ที่อยากทำให้พ่อ คือทำให้คนระดับกลางและระดับล่างปกครองตัวเองได้ ทำให้คนที่อยู่ในวงการแรงงานออกกฎหมายเพื่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ได้ เพราะปัจจุบันนี้แนวคิดหลักของผู้นำแรงงานต่างๆ เขาเอาเงิน ซึ่งมันเป็นวิธีคิดที่ผิด มันไม่ใช่ ระดับผู้นำหรือระดับประธานสภาต้องเดินต่อไป อยู่กับที่ไม่ได้ ต้องหาฐานที่จะลงสมัครไปนั่งในสภา ต้องพยายามเอากลุ่มพลังของคุณไปยื่นรายชื่อ เสนอให้บัญชีรายชื่อกลุ่มแรงงาน มีบัญชีโควต้าว่า ให้เอา ส.ส. สายแรงงานไปเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หากมันย่ำอยู่กับที่ คนรุ่นหลังก็จะไม่มีวันโต

 

 

หลังจากคุณทนงหายไปแล้วบทบาทของสภาองค์การลูกจ้างหายไปเลย

สภาองค์กรลูกจ้างหายไปเลย ไม่มีอำนาจการต่อรอง แต่ถ้ามองไปในสมัยรัฐบาลน้าชาติ หากรัฐบาลจะทำอะไรนอกจากต้องสัมภาษณ์ความเห็นของนักธุรกิจหรือนักการเมืองแล้ว ความเห็นผู้นำแรงงานจะตกไม่ได้ในสมัยที่คุณพ่อเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเรื่องการขึ้นค่าแรง ขึ้นค่าสินค้า ขึ้นราคาน้ำมัน ต้องมีความเห็นสหภาพผู้นำแรงงานอยู่ด้วยเสมอ

 

 

แสดงว่า การรัฐประหาร 2534 มีผลกระทบต่อขบวนการแรงงานไทย

ทำลายผู้นำ ทำลายครอบครัวผู้นำ และทำลายพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่จะมีโอกาสได้เห็นอะไรดีๆ หลายอย่างน่าเสียดายมาก บางสิ่งบางอย่างน่าจะคุยกัน สมัย รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) คุณพ่อเป็นประธานสภาสหภาพเอกชน นโยบายคือประชาชนทั่วไปต้องไม่เดือดร้อนในการเคลื่อนไหวต่างๆ คนทำงานก็ยังทำงานไป ผู้บริหารก็ยังทำงานไป แต่มีรัฐวิสาหกิจเป็นขา เพราะการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลได้ต้องมีฐานรัฐวิสาหกิจ ตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ เอกชนเป็นสหภาพย่อยๆ ไม่สามารถกำหนดอะไรได้มากมายนัก แต่หลังจากนั้น รัฐวิสาหกิจถูกแยกออกมา จากนั้นมันก็รวมไม่ได้อีกเลย เพราะเขาไม่ศรัทธาในตัวผู้นำ ที่ต้องโดนเก็บเพราะเขาแค้นส่วนตัว เพราะว่าเป็นแขนเป็นขาเขา

 

พูดแบบชาวบ้านคือ รัฐบาลต้องฟังว่าแรงงานต้องการอะไร ถ้าไม่มีรัฐวิสาหกิจอยู่ในสภาแรงงานแบบสมัยที่คุณพ่ออยู่ เชื่อว่าจะไม่มีประกันสังคม ไม่มีกระทรวงแรงงานแน่นอน เพราะว่าสมัยก่อนพูดจามีน้ำหนักที่ต้องฟัง จำได้ที่เคยเป็นข่าวเด็ด น้าชาติบอกว่า คนไทยขาดทุนไม่รู้กี่พันล้านจากการนัดหยุดงาน หรือการท่าเรือเริ่มให้พนักงานรัฐวิสาหกิจถือหุ้น เพื่อให้ทุกอย่างยุติ คนที่เจรจาได้ก็คือคุณพ่อ

 

 

คุณคิดว่า ทำไมขบวนการแรงงานวันนี้จึงไม่เข้มแข็งเท่าอดีต

เกิดจากทั้งกฎหมายและตัวผู้นำด้วย อย่างผู้นำคนต่อๆ มาก็ไม่กล้าที่จะทำอะไรอย่างคุณพ่ออีก อีกอย่างรัฐวิสาหกิจเป็นสหภาพที่ยังไม่มีบทบาท เพราะถูกแยกออกเป็น 2 ซีก การจะรวมตัวกันก็ยาก ทั้งนี้ทั้งนั้น ถามว่ามีโอกาสที่จะเป็นได้ไหม ตอบว่า มี ถ้ามีผู้นำขึ้นมาโดยที่ 2 ฝ่ายศรัทธาและเชื่อว่าเขาไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองจริงๆ ผมเคยถามเพื่อนพ่อว่า ทำไมพ่อถึงนำคนอื่นๆ ได้ ทำไมทุกคนถึงเชื่อ เขาบอกว่าไม่ใช่เพราะกลัวพ่อหรอก แต่เพราะเขาศรัทธาพ่อ

 

 

แรงงานจำเป็นต้องรวมกันหรือ จำเป็นต้องมีเอกภาพหรือ

ต้องรวมอยู่แล้ว ตอนนี้เหมือนกับว่า รัฐพยายามจะโยนเศษกระดูกระดับกระทรวงมาให้ผู้นำแรงงานขัดผลประโยชน์กันเอง ให้มีปัญหาทะเลาะแบะแว้งกันเองเพื่อให้รวมกันไม่ติด เป็นวิธีการง่ายๆ ของผู้บริหารต้องให้ลูกน้องทะเลาะกัน เพราะถ้าลูกน้องผนึกกำลังมาถล่มก็คงจะลำบาก ดังนั้น แรงงานที่จะรวมกันจริงๆ ก็เป็นไปได้ยาก ผู้นำที่ดีๆ ก็เหนื่อยเหมือนกันเพราะฐานตรงนี้ต้องแน่น

                      

 

รัฐประหาร 19 กันยาฯ มีผลต่อขบวนแรงงานหรือไม่ เพราะครั้ง รสช. ชัดเจนว่ามีกฎหมายขึ้นมาแยกพลังของขบวนการแรงงาน

ไม่น่าจะมีผลอะไรมาก เพราะว่าแรงงานรวมไม่ค่อยติดอยู่แล้ว แล้วเขาก็ไม่ได้ทำอะไรแรงงาน ก็ยังรับฟังแรงงาน ตัวแทนที่เป็นเลขา สนช. (สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ก็ยังมีส่วนร่วม ถึงจะน้อยไปหน่อยก็ยังดีที่ไม่มองข้าม

 

ส่วนร่างรัฐธรรมนูญคิดว่า ถ้าผ่านๆ ไปก็คงยืดอกได้ลำบาก เพราะเป็นร่างที่มาจากทหาร เข้าใจนะว่าคนที่อยู่หลังเสืออยู่ลำบาก พอไปเล่นงานเขาไว้เยอะก็ต้องหาอะไร safety ตัวเอง ผมเชื่อว่าวันหนึ่งคนไทยต้องเรียกร้องให้ทักษิณกลับมาแก้ปัญหา

 

 

ในฐานะคนที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารเมื่อปี 2534 มีความรู้สึกยังไงกับการรัฐประหาร

ถ้าเป็นไปได้ไม่อยากจะให้มีการรัฐประหาร ความรู้สึกคือแย่ ประชาธิปไตยควรมาจากการเลือกตั้ง จะเป็นใครก็แล้วแต่ที่มาปกครอง แม้แต่จะเป็นทหารก็ควรต้องมาจากการเลือกตั้ง การที่นายพลจะเข้าไปเป็นผู้นำแล้วบอกว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตย มันไม่ใช่ มันต่างกันโดยสิ้นเชิง ในระบอบประชาธิปไตยอย่างอำนาจเก่าก็ดี กลุ่มไทยรักไทยที่มีปัญหาก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างก็ตายโดยตัวเขาเอง แต่มันมีโอกาสที่จะแก้ไขหากมีที่มาจากประชาชนจริงๆ

 

 

คิดว่าสถานการณ์การเมืองในอดีตกับปัจจุบันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ที่เห็นได้ชัดว่ามันเหมือนกันคือ ไม่มีประเทศไหนที่เขายอมรับผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร เพราะเขาไม่เชื่อมั่น ผมว่ารัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด คือฉบับที่ประชาชนร่าง จริงๆ ไม่น่าจะมีการรัฐประหาร ถามว่าผมชอบไทยรักไทยหมดหรือไม่ ก็ไม่หมดนะ แต่เชื่อว่าทุกอย่างมันจะมีจุดอิ่มตัว 2 สมัย ประชาชนเขาก็รู้แล้ว คิดว่าถึงไม่มีการรัฐประหาร พรรคไทยรักไทยแตกแน่นอน เพราะประชาชนเขาจะรู้เองว่า สุดท้ายเมื่อเขาเลือกกลุ่มที่รวยเข้าไป กลุ่มที่รวยก็จะไปออกกฎหมายเอื้อคนรวยด้วยกัน มันก็จะตายด้วยตัวมันเอง ต่อไปประชาชนก็จะเลือกคนระดับประชาชน

 

ผมพยายามอธิบายกับพี่น้องแรงงานว่า อ่านสักนิดก่อนที่จะไปเลือกใครว่า เขาเคยเสียสละหรือเคยทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง เสียเวลาดูสักหน่อยว่า คุณอยากได้ผู้แทนแบบไหนก็เลือกผู้แทนแบบนั้น ต้องเลือกตัวแทนของคุณเองไปออกกฏหมาย ต้องรู้ว่าคุณเลือกใครเพื่อใคร คุณต้องเลือกคนที่ออกกฎหมายเพื่อคุณ

 

 

พูดง่ายๆ คือ ถ้าทิ้งเวลาต่อไปสังคมก็เกิดกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองเอง

ผมยังคิดว่าทำงานด้านการเมืองและด้านแรงงานมา ดึงผู้นำมามีบทบาทในสภาผู้แทน ดึงผู้นำมาเป็นคณะกรรมาธิการในสภาเพื่อให้มีคอนเนคชั่น เขาบอกว่าไม่เอา การมีสภาผู้แทน มันไม่คู่ควรกับเขา ผมบอกว่าไม่ใช่นะ เป็นการคิดผิด พี่น้องผู้ใช้แรงงานเป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่ปัจจุบันคนยังไม่รู้ คนเริ่มที่จะรู้ว่า มนุษย์เงินเดือนบางกลุ่มเป็นผู้ใช้แรงงาน แต่ถามว่าทำไมคุณไม่คิดกัน พนักงานธนาคารไม่จำเป็นต้องมีสหภาพ แต่ต้องไปรวมพลังกันเหมือนในประเทศอื่นๆ กลุ่มเขาไม่จำเป็นต้องมีสหภาพ แต่ก็ไปรวมพลังกันให้คนเห็นนะ คุณต้องรู้ว่าคุณเป็นผู้ใช้แรงงาน ใครก็ตามที่รับเงินเดือนจากรัฐบาลก็ดี จากรัฐวิสาหกิจก็ดี หรือเงินเดือนจากเอกชนก็ดี คุณคือผู้ใช้แรงงาน

 

ส่วนเรื่องความแตกต่างกับในอดีตคือ รัฐบาลชุดนี้มีข้อดีที่ให้สิทธิหลายๆ ฝ่ายมีส่วนรวมซึ่งต่างกับช่วง รสช. แต่ที่น่าเบื่อก็คือ ต้องเดินย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วใหม่

 

 

คิดว่าจะมีเหตุการณ์ซ้ำรอยเกิดขึ้นอีกอย่างกรณีการอุ้มคุณพ่อหรือไม่

อาจจะมีหรืออาจจะไม่มีก็ได้ ความเข้มของชุดนี้ไม่เหมือนชุด รสช. แต่ไม่เชื่อว่าจะมีอุ้มฆ่ากันชุดใหญ่ ทั้งนายกรัฐมนตรีและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คงไม่เหี้ยมโหดขนาดนั้น เชื่อว่าคนไทยเจริญมา ณ จุดๆ หนึ่งแล้วน่าจะคุยกันได้

 

 

ขบวนการแรงงานจะกลับมาเฟื่องฟูได้อีกหรือไม่

ผมหวังนะ แต่คอยดูดีกว่า อาจจะมีใครหลายคนมาทำ ผมกับพ่อหวังเอาไว้เหมือนกัน ว่าผู้นำแรงงานต้องเข้าไปอยู่ในสภาอย่างมีศักดิ์ศรี อีกหน่อยผู้นำแรงงานอาจจะมาลง ส.ส.เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแรงงาน คนรุ่นหลังต้องโต คลื่นลูกใหม่ต้องตามขึ้นไป ขบวนการแรงงานต้องแข็งให้ได้ เพียงแต่การผนึกทั้งหมดเข้ามาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจแบบนี้ บอกตรงๆ ว่าปากกัดตีนถีบกันทุกคน ทั้งลูกจ้างทุกๆ คนทำงานรายได้ไม่พอกับรายจ่าย คนมีเงินระดับกลางอยู่ด้วยบัตรเครดิตกันทั้งนั้น ดังนั้นระดับล่างก็ยิ่งหนักเลย ทำงานมา เลิกสี่ห้าโมงก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว การมารวมตัวกันก็เป็นไปได้ยาก

 

การดึงผู้นำมาเป็นผู้แทนต้องมีฐาน แต่ตราบใดที่คนไทยยังต้องไปงานบวช งานแต่ง แล้วถ้าคนนั้นใส่มาเท่านั้นเท่านี้ คนนั้นดีใส่เยอะ มันก็ต้องใช้เงิน แล้วผู้แทนจะเอาเงินมาจากที่ไหน จึงเป็นวัฏจักรที่ถูกถามว่าทำไมผู้แทนต้องคอร์รัปชั่น ทำไมผู้แทนต้องมีเงินจากพรรคหรือจากหัวหน้ากลุ่มทำให้คอนโทรลเสียงได้ ดังนั้น ใครจะยอมจ่ายเงินเปล่าๆ เพื่อดึงกลุ่มแรงงานเข้ามา แต่ก็ต้องดูต่อไปอาจจะได้เห็นก็ได้

 

 

มองทหารอย่างไร

เห็นใจนะ มันก็ผลัดกันอ้วน ไม่อ้วนก็ตาย ก็พูดตามความจริง เพราะไม่มีประเทศไทยใสสะอาด มันฝังลึกในระบบแม้แต่ระบบข้าราชการประจำ มันเป็นระเบียบปฏิบัติไปแล้ว

 

 

เป้าหมายในตอนนี้

กลับไปทำงานทางด้านการเมืองอีกครั้ง แต่กลับไปด้านการเมืองบนเงื่อนไขที่มีรัฐธรรมนูญมาจากประชาชน คือถ้ากลับไปตอนนี้มันน่าเบื่อ อยากให้ประชาชนระดับล่างได้ปกครองตัวเองได้

 

 

 

 

 

 

ทนง โพธิ์อ่าน  ผู้ถูกทำให้หายไป

 

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2434 กลุ่มทหารที่เรียกตนเองว่า "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) เข้าทำการรัฐประหารแย่งยึดอำนาจการปกครองจาก พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีผู้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จากนั้นเป็นต้นมา สิทธิ เสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน ผู้คนถูกกำราบด้วยกฎอัยการศึก

 

ทว่า "ทนง โพธิ์อ่าน" ผู้นำแรงงานในขณะนั้น กลับยืนหยัดท้าทายอำนาจกลุ่มทหารเหล่านั้นด้วยการยิ่งวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรมของคณะ รสช. อย่างตรงไปตรงมา

 

จนกระทั่งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 คณะ รสช.ได้เรียกผู้นำแรงงานทั่วประเทศเข้าพบเพื่อชี้แจงนโยบายและเหตุผลในการยึดอำนาจ โดยมีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นผู้ชี้แจง ในการชี้แจงครั้งนี้ พลเอกสุจินดาได้พูดว่า "ทุกข์ของกรรมกรถือเป็นทุกข์ของทหาร" แต่ต่อมาไม่นานนัก คณะ รสช. กลับได้ประกาศลิดรอนสิทธิสหภาพแรงงานของคนงานรัฐวิสาหกิจ ด้วยการแยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงาน

 

"ทนง โพธิ์อ่าน" จึงได้ลุกขึ้นคัดค้านอย่างรุนแรง โดยมิเกรงกลัวอำนาจของคณะ รสช. และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า "ถ้าคณะ รสช.ยังยืนยันจะดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่เฉพาะคนงานในสหภาพรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่จะเคลื่อนไหว แต่ผู้ใช้แรงงานทุกระดับคงคัดค้านแน่" นอกจากนี้เขายังประณามการประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า เป็นการปิดหูปิดตาประชาชน

 

ต่อมา "ทนง โพธิ์อ่าน" ได้เรียกประชุมสภาแรงงานแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณามาตรการตอบโต้คณะ รสช.ในประเด็นแยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงาน ภายหลังการประชุมเขาได้แสดงทัศนะอย่างแข็งกร้าวต่อคณะ รสช.ว่า

 

"ทหารกำลังสร้างปัญหาให้กับกรรมกรด้วยการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 และขอฝากเตือนถึงบิ๊กจ๊อด (พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้า รสช.) อย่านึกว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้วจะทำอะไรก็ได้ ต้องฟังเสียงประชาชนบ้าง และเวลานี้ทหารทำให้กรรมกรเป็นทุกข์ ดังนั้นควรทำอะไรให้รอบคอบ วันนี้สามช่า วันหน้าอาจไม่มีแผ่นดินอยู่"

 

ส่วนพลเอกสุจินดา คราประยูร ได้มีท่าทีขยับเขยื้อนด้วยการกล่าวว่า "ถ้ามีการเคลื่อนไหวของคนงานในการคัดค้านการยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รสช.มีมาตรการอยู่แล้ว แต่บอกไม่ได้ว่าจะทำอะไร เรามีแผนตลอด"

 

ต่อมา เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก มีข่าวการชุมนุมใหญ่ของกรรมกรในตอนค่ำ คณะ รสช.มีคำสั่งให้ทหารทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ

 

เวลานั้น "ทนง โพธิ์อ่าน" เป็นผู้นำแรงงานที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีตำแหน่งเป็นรองประธานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของสมาพันธ์แรงงานเสรีแรงงานระหว่างประเทศหรือ ICFTU ด้วย

 

 

การเคลื่อนไหวของเขาจึงได้รับการตอบสนองจากขบวนการแรงงานสากลอย่างกว้างขวาง ในฐานะตัวเชื่อมระหว่างขบวนการแรงงานไทยกับขบวนการแรงงานสากล จึงถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ถึงขนาดที่พลเอกสุจินดา คราประยูร รองประธาน รสช. ต้องว่า "ผู้นำแรงงานบางคนตัวเป็นไทย แต่ชอบทำตัวเป็นทาส"

 

 "ทนง โพธิ์อ่าน" ตอบโต้กลับไปว่า "ในฐานะกรรมกรและเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก การหนุนช่วยทางสากลนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา หากจะไม่ให้ต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยว ก็ทำเสียให้ถูกต้อง"

 

ในวันที่ 14 มิถุนายน 2534 สภาแรงงานแห่งประเทศไทยภายใต้การนำของ "ทนง โพธิ์อ่าน" ได้จัดการประชุมใหญ่กลางท้องสนามหลวง ท้าทายอำนาจคณะ รสช. เรียกร้องให้คืนสหภาพแรงงานให้คนงานรัฐวิสาหกิจและยกเลิกประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 นอกจากนี้ ยังถูกสั่งห้ามไม่ให้เดินทางไปร่วมประชุมประจำปีขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เพราะเกรงว่าจะนำเรื่องการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 ไปประณามกลางที่ประชุมนานาชาติ

 

พฤติการณ์นี้ทำให้เขาถูกขนานนามโดยสื่อมวลชนว่าเป็น "หมูไม่กลัวปังตอ" ในเวลาต่อมา

 

ขณะเดียวกัน "ทนง โพธิ์อ่าน" เคยบอกกับ รัชนีบูรณ์ โพธิ์อ่าน ภรรยาว่า กำลังถูกข่มขู่และติดตามทุกฝีก้าว พร้อมกับสั่งเสียว่า ถ้าเขาหายไปจากบ้าน 3 วัน แสดงว่าเขาถูกจับตัวไป และถ้าหายไป 7 วัน แสดงว่าเขาเสียชีวิตแล้ว

 

วันที่ 19 มิถุนายน 2534 เขาก็ได้ถูกทำให้หายตัวไปอย่างลึกลับไร้ร่องรอย จากนั้นก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นหรือได้ข่าวที่แท้จริงเกี่ยวกับทนงอีกเลย

 

 

 

............................................................

เรียบเรียงจาก

บทความ 15 ปี การหายไปของ "ทนง โพธิ์อ่าน" : คนกล้าของขบวนการแรงงานไทย

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net