Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


 


 



นางเบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto) และ นายนาวาซ ชารีฟ (Nawaz Sharif) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศปากีสถาน [ที่มาภาพ : AFP/LEON NEAL]


 


 


ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร สำหรับการเมืองของชนชั้นนำ เมื่อสองอดีตศัตรูทางการเมืองอย่าง นางเบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto) และนายนาวาซ ชารีฟ (Nawaz Sharif) สองอดีตนายกรัฐมนตรีของปากีสถานผู้มาจากการเลือกตั้งของปวงชน แต่ต้องระหกระเหินอยู่ต่างแดนเนื่องจากพิษภัยของรัฐบาลเผด็จการทหาร -- ขณะนี้ต่างก็พร้อมใจกันที่จะกลับบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อมาสู้กับเผด็จการทหาร ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และอาจเป็นพันธมิตรกันด้วย


 


โดยหลายสำนักข่าวกำลังประโคมเรื่องราวการกลับมาตุภูมิของคนทั้งคู่


 


"ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ฉันจะกลับบ้านในปีนี้" บุตโตได้ให้สัมภาษณ์กับ Daily Telegraph เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา -- ส่วนชารีฟที่ต้องเทียวไปเทียวมาระหว่างดูไบกับลอนดอนก็ได้กล่าวว่าเขาอาจจะกลับไปหากหมายกำหนดการเลือกตั้งจะมีขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว


 


ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณของสองอดีตผู้นำปากีสถาน ... สำหรับ "ยกใหม่" ของการต่อสู้บนสังเวียนการเมือง


 


เรื่องคอร์รัปชั่น, เรื่องความมีจริยธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นข้ออ้างคลาสสิคของสังคมการเมืองชนชั้นนำโลกทั้งสิ้น เพราะว่าทั้งคู่ก็โดนปัญหาที่ว่านี่แหละเล่นงาน -- โดยนางบุตโตได้ไปลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศตั้งแต่เมื่อปี 1998 หลังเกิดคดีคอร์รัปชั่น และนายชารีฟก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากเธอก่อนถูกประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาราฟ (Pervez Musharraf) ทำรัฐประหาร โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลของชารีฟมีการคอร์รัปชั่นอย่างมากมายจนทหารทนไม่ไหวต้องออกมากอบกู้บ้านเมือง และต้องขอลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศเมื่อปี 2000 หนึ่งปีหลังรัฐประหารครั้งนั้น


 


แต่จะกลับมาได้รึเปล่านั้น ? ...


 


ประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาราฟ (Pervez Musharraf ) ผู้นำเผด็จการทหารของปากีสถานก็ได้ออกมาประกาศอย่างทันควัน ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ว่าจะไม่อนุญาตให้อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนางบุตโต และนายชารีฟ ที่กำลังลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในต่างประเทศ เดินทางกลับปากีสถาน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป


 


"จะไม่มีใคร (บุตโตและชารีฟ) กลับมาก่อนการเลือกตั้ง" มูชาราฟ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ของสถานีโทรทัศน์เอกชนช่อง Aaj. ของปากีสถาน


 


 


 



ประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาราฟ (Pervez Musharraf ) ประกาศขัดขวางอย่างเต็มที่ สำหรับการคืนถิ่นของ 2 ศัตรูทางการเมืองของเขา [ที่มาภาพ : AFP/File/Farooq Naeem]


 


ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่ามูชาราฟได้พยายามกีดกันบุคคลที่อาจสามารถขัดขวางการดำรงอยู่ในอำนาจของเขา ก่อนการเลือกตั้งในปี 2008 ที่จะถึงนี้, เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านั้น เขาได้ปลดนายอิฟติคาร์ มูฮัมหมัด ชอร์ดรี้ (Iftikhar Muhammad Chaudhry) ประธานศาลสูงสุดของปากีสถาน (Supreme Court of Pakistan) ออกจากตำแหน่ง [อ่านใน เผด็จการทหารทั้งหลายจ๋า ... ดูปากีสถาน แล้วก็มองย้อนกลับมาดูที่บ้านท่านบ้าง !]


 


และทั้งบุตโตและชารีฟ อาจจะอันตรายกว่าชอร์ดรี้ก็เป็นได้


 


ในกรณีบุตโตนั้น เมื่อย้อนกลับไปสัก 10 ปีก่อนชื่อของ "บุตโต" นั้น แทบที่จะนำมาเปรียบเทียบกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ในประเทศหนึ่งแถบอุษาคเนย์


 


มันดูคล้ายกันมาก โดยข้อกล่าวหารัฐบาลของบุตโตในคราวนั้นก็มีตั้งแต่การฉ้อราฎร์บังหลวง, เล่นพรรคเล่นพวก และขาดความรับผิดชอบในการบริหารประเทศ โดยปล่อยให้แก๊งอันธพาลทางการเมืองสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ในกรุง Karachi นับร้อยนับพันชีวิต


 


แต่ 10 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก เมื่อชาวปากีสถานส่วนใหญ่เริ่มเกิดอาการ Nostalgia โหยหาถึงสตรีผู้เปี่ยมไปด้วยสีสันคนนี้ และในอีกด้านหนึ่งที่มูชาราฟต้องพึงระวังไว้ คือเธอมีมวลชนสนับสนุนขาประจำอย่างสมาชิกพรรค Pakistan People"s Party (PPP) เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีกำลังพร้อมสรรพสำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับมูชาราฟ, โดยขณะนี้พรรค PPP ถือว่าเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามมูชาราฟที่ใหญ่ที่สุดในปากีสถาน


 


แน่นอนว่าการแก้เกมของฝ่ายมูชาราฟในการทำลายความเชื่อถือของบุตโต ก็คือการพยายามตอกย้ำถึงวันที่บุตโตต้องลงจากตำแหน่ง -- ซึ่งคือเรื่องราวการคอร์รัปชั่นที่ได้กล่าวไป และสามีของเธอ อาซิฟ ซาดารี (Asif Zardari) ที่หนีไปไม่ทัน ก็ต้องติดคุกและเพิ่งถูกปล่อยตัวเมื่อปี 2004 ที่ผ่านมา หลังจากถูกตัดสินให้จำคุก 5 ปี และถูกปรับ 8.6 ล้านดอลลาร์ ฐานรับสินบนจากบริษัทสวิสแห่งหนึ่ง


 


ส่วนชารีฟนั้นก็ถูกจ้องเล่นงานทันทีหากกลับประเทศปากีสถาน โดยมีข้อกล่าวหาทำนองเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ในประเทศหนึ่งแถบอุษาคเนย์ ที่โดนข้อหาหลบเลี่ยงภาษี (tax evasion) และทรยศต่อชาติ (treason) ในข้อหาที่สองนั้นเป็นเพราะชารีฟมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับผลประโยชน์กับครอบครัวราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียนั่นเอง [ในความหมายของ treason โปรดอ่าน : บทความ รศ.ประสิทธิ์ : ใครกันแน่ที่ทำความผิดฐานทรยศ (Treason)?]


 


ทั้งนี้หลายฝ่ายกล่าวว่า มูชาราฟเปิดศึกหลายด้านมากเกินไป ทั้งประชาชน, ฝ่ายตุลาการ, นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และเป็นศัตรูกับประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย


 


แต่ที่เขายังยืนหยัดอย่างทุลักทุเลอยู่ได้ ก็เพราะการอ้างถึงภัยก่อการร้าย (มีรัฐบาลอเมริกันหนุนหลังด้านงบประมาณ), แข่งขันผลิตสรรพาวุธกับอินเดีย (เพื่อสร้างชาตินิยมปากีสถาน) รวมถึงการพยามบอกกล่าวว่า นักการเมืองมืออาชีพอย่าง บุตโตและชารีฟ คือผู้ไร้จริยธรรม, นักการเมืองมืออาชีพชอบคอร์รัปชั่น ... ไม่เหมือนกับทหารกล้าที่เป็นวีรบุรุษอย่างเขา


 


นี่อาจเป็น "ตรรกะ" ที่เผด็จการทหารทั่วโลกชอบใช้ล่ะมั้ง ;-)


 


 


..........................


ประกอบการเขียน :


Benazir Bhutto


http://en.wikipedia.org/wiki/Benazir_Bhutto


 


Bhutto, Sharif vow to return to Pakistan soon


http://news.yahoo.com/s/nm/20070521/wl_nm/pakistan_politics_dc_1


 


Musharraf rules out return of rivals Bhutto, Sharif


http://news.yahoo.com/s/afp/20070518/wl_sthasia_afp/pakistanpoliticsmusharrafbhuttosharif_070518113727


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net