Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 พ.ค. 50 เมื่อวันที่ 23 พ.ค. เครือข่ายสมัชชาคนจนซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายป่าไม้ เครือข่ายที่ดิน เครือข่ายเขื่อน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมประเทศไทย เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ประมาณ 1,000 คน เดินขบวนจากที่พักริมถนนบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ ใกล้เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ไปชุมนุมหน้ากองทัพบกเพื่อเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยุติการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการขัดขวาง หรือก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมของชาวบ้านสมัชชาคนจนหน้าทำเนียบรัฐบาล


 


    


 


 


เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายสมัชชาคนจนหลายพื้นที่ถูกทหารสกัดไม่ให้เข้ามาร่วมการชุมนุมของสมัชาคนจนหน้าทำเนียบรัฐบาล เช่น ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธรถูกทหารอาวุธครบมือสกัดที่อำเภอเดชอุดม ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลถูกสกัดตั้งแต่ยังไม่ออกจากพื้นที่ และในขณะนี้เครือข่ายสมัชชาคนจนที่จังหวัดสระแก้ว 50 คน ก็ถูกสกัดเช่นกันจึงกำลังเดินเท้าเข้ามาที่กรุงเทพฯ


 


เวลาประมาณ 13.00 น. เครือข่ายสมัชชาคนจนเริ่มตั้งขบวนบริเวณสะพานมัฆวานฯ เสียงฆ้องลั่นกังวาลขึ้นพร้อมกับเสียงแกนนำคนหนึ่งบนรถเครื่องเสียงที่เริ่มต้นการพูดด้วยการยืนยันว่า "การมาชุมนุมในครั้งนี้มาเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา และไม่มีเหตุผลใดที่ต้องมาชุมนุมถ้าปัญหาเรารับการแก้ไข ทุกรัฐบาลแม้แต่รัฐบาลนี้ที่มาจากการรัฐประหารถือว่ามีอำนาจในการบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อแย่งอำนาจมาก็ต้องใช้อำนาจแก้ปัญหาให้พวกเราด้วย ยืนยันว่าที่มาในวันนี้เป็นพลังบริสุทธิ์ ไม่มีความสัมพันธ์กับการเมืองหรือกลุ่มอำนาจใดทั้งสิ้น และไม่ได้มาขับไล่ใคร รีบตกลง รีบแก้ไขเสีย แล้วเราก็จะเดินทางกลับ"


 


ก่อนการเคลื่อนขบวน นายภักดี จันทะเลียด สมัชชาคนจนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรเล่าถึงที่มาที่ไปกับการต้องไปชุมนุมหน้ากองทัพบกให้ "ประชาไท" ฟังว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี รับปากกับเครือข่ายสมัชชาคนจนที่ศาลากลาง จ.อุบลราชธานีว่า จะแก้ไขปัญหาคนจนโดยจะนำปัญหาเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และตกลงต่อเนื่องกันด้วยว่าในวันที่ 23-25 พ.ค. จะเปิดเจรจาทุกกรณีปัญหาของสมัชชาคนจนโดยให้มีตัวแทนมาคุยกันที่ทำเนียบรัฐบาลและจะมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหามาร่วมหารือเพื่อพิจารณาปัญหาไปพร้อมกัน


 


นายภักดี เล่าถึงปัญหาของเขาว่ามาจากการสร้างเขื่อนสิรินธรซึ่งไม่มีการรังวัดที่ได้มาตราฐานตั้งแต่แรก คือราว พ.ศ. 2513 แต่เมื่อสร้างแล้วปัญหาที่ทำกินจึงเกิดตามมาถึงปัจจุบันปัญหาค้างคามา 37 ปีแล้ว ชาวบ้านต้องการให้จัดสรรที่ให้คนละ 15 ไร่ พร้อมสาธารณูปโภค หลังนายกรัฐมนตรีรับปากเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ชาวบ้านดีใจมากและอยากมาได้ยินด้วยหูตัวเอง ครั้งนี้จึงเดินทางพร้อมกับตัวแทนเจรจารวมแล้วประมาณ 140 - 150 คน มาด้วยรสบัส 3 คัน


 


แต่แล้วเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น นายภักดี เล่าต่อว่า ในวันเดินทางหรือวันที่ 22 พ.ค. ชาวบ้านถูกสกัดกั้นไม่ให้เดินทางเข้ากรุงเทพ เริ่มต้นด้วยการที่กำนันและผู้ใหญ่บ้านมาพูดจาหว่านล้อมและห้ามไม่ให้เดินทางพร้อมทั้งอ้างว่าจะถูกจับกุมและขอให้รอฟังผลที่บ้าน


 


"แต่เรามีประสบการณ์มา 11-12 ปีแล้ว ก็บอกให้รับมติ ครม.มาตลอด ให้รอคอยอยู่ที่บ้าน แต่มันไม่เป็นรูปธรรมเสียที เป็นแบบนี้ทุกรัฐบาล เรื่องมันเลยจุดของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาแล้ว มันเป็นจุดที่นายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีใช้อำนาจแก้ไขได้"


 


 


 


จากนั้น นายภักดี เล่าต่อว่า เมื่อชาวบ้านยังคงออกเดินทางตามความมุ่งหมายเดิม คราวนี้กลับเป็นนายอำเภอที่นำทหารและตำรวจมาตั้งด่านไม่ให้ไปอีกครั้ง ชาวบ้านจึงลงลายลักษณ์อักษรเป็นบันทึกมอบให้ว่า "พวกเราไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องยุบพรรค" รวมทั้งยอมให้ตรวจค้นและจดเลขบัตรประชาชนไว้จึงออกเดินทางมาได้


 


จนกระทั่งถึงจุดตรวจตำบลนากระแช่ง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ก็เจอกับด่านทหารเป็นกองร้อยพร้อมอาวุธครบมือ เช่น เอ็ม 16 ปืนกล อีกทั้งมีรถถัง 2 คัน มาสกัดไว้ ทางทหารได้เรียกโชเฟอร์ไปคุย ส่วนชาวบ้านก็ขอต่อรองจนทหารอนุญาตให้รถบัสชาวบ้านไปได้ 1 คัน ส่วนรถบัสอีก 2 คันให้กลับ ก่อนจะไปต่อทางรถบัสคันที่ได้รับอนุญาตให้ไปต่อขอคำรับรองจากทหารว่าคณะเดินทางจะต้องไม่ถูกด่านสกัดอีก พันโทคนหนึ่งรับปากว่าจะเซ็นไปให้แต่มีอำนาจแค่ในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งก็เพียงจังหวัดศรีสะเกษเท่านั้น ออกไปจากนั้นไม่รับประกัน


 


อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้โชเฟอร์ที่ขับรถทั้ง 3 คัน ที่ออกมาหลังถูกทหารเรียกไปคุยก็ไม่ไปแล้ว นอกจากนี้ทหารยังได้พูดขู่เป็นนัยถึงกฎอัยการศึกและพูดถ่วงเวลากว่า 6 ชั่วโมงจนเวลาล่วงไปถึง 21.00น. เมื่อไปไม่ได้ชาวบ้านทั้งหมดจึงไม่เดินทางต่อ กลับมาปรับแผนกันใหม่โดยย้อนไปหารถในหมู่บ้านที่ห่างจากอำเภอเดชอุดมไปอีก 30 กิโลเมตร และเปลี่ยนเส้นทางจึงสามารถมาชุมนุมในวันนี้ได้


 


"จุดมุ่งหมายของเราเพียงมาเจรจาต่อรองกับรัฐบาลตามการนัดหมายวันที่ 23-25 พฤษภาคม หากตกลงกันได้ก็จะกลับ หากไม่ได้ก็อยากทราบเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ได้  ชาวบ้านต้องการเจรจาที่ทำเนียบกับทุกกระทรวงทุกปัญหา และต้องการให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการสั่ง แต่เมื่อมาถึงกับให้นัดหมายไปคุยกันเองกับกระทรวงต่างๆ" นายภักดี กล่าว


 


   


 


"ประชาไท" ได้ไปคุยกับอีกเครือข่ายหนึ่งคือองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราชและสตูล ก็ได้รับข้อมูลปัญหาที่ต้องเดินทางมาเรียกร้องต่อรัฐบาลว่า ชาวบ้านเจอปัญหาหลายๆกรณี ทั้งการถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐและยึดทำลายผลผลิตและพื้นที่ทำกิน, การกีดกันไม่ให้ได้รับสิทธิเกษตรกร, การที่ชุมชนไม่มีสิทธิจัดการทรัพยากรในชุมชน และกรณีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน


 


ปัญหาส่วนใหญ่มีต้นตอจากมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 ซึ่งไม่ให้นำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไปทำการเกษตร แต่สามารถทำได้ถ้าพิสูจน์ได้ว่ามีเอกสารหลักฐาน เช่น ทะเบียนบ้าน, หลักฐานการเสียภาษี หรือ แผนที่ทางอากาศ ที่พบว่าเป็นที่ทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ในปี 2488 แต่ชาวบ้านไม่สามารถพิสูจน์ได้เนื่องจากทะเบียนบ้านพึ่งจะได้รับในปี 2499 ขณะที่แผนที่ทางอากาศนั้นถ่ายเมื่อปี 2510 ทั้งที่ชาวบ้านอยู่กันมานานแล้วก่อนประกาศเขตป่าอนุรักษ์เสียอีก จึงเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรียุติและยกเลิกมติ ครม. 30 มิ.ย. 41


 


กรณีป่าชุมชนนั้นมีปัญหาคือ พรบ.ป่าที่ร่างโดย สนช.นั้นขัดกับเจตนารมณ์ส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ทางเครือข่ายฯจึงเรียกร้องให้ถอนร่างพรบ.ป่าฉบับดังกล่าวและในการร่างใหม่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย


 


ส่วนข้อเรียกร้องในเบื้องต้นนอกเหนือจากการยกเลิกมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 คือการให้ภาครัฐผ่อนผัน ผ่อนปรนให้ชาวบ้านใช้ชีวิตได้ตามปกติในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน สามารถทำอาชีพได้ตามปกติ เช่น ปลูกยางพารา โค่นยางพาราได้ต่อไป


 


   


 


หลังการพูดคุยกับกลุ่มปัญหาต่างๆ ขบวนสมัชชาคนจนเริ่มจัดกันอย่างเป็นระเบียบไปเรื่อยๆ  จนเวลาประมาณ 13.30 น. ขบวนที่นำด้วยป้ายผ้า "สมัชชาคนจน" สีแดง และกลุ่มผู้ถือธงสีเขียว "คืนปลาให้แม่มูน" จึงเริ่มเคลื่อนจากสะพานมัฆวานฯ สู่กองทัพบก พร้อมกับเสียงลั่นฆ้อง "โมง โมง" ให้จังหวะ ตามมาด้วยรถเครื่องเสียงสำหรับปราศรัยและเครือข่ายต่างๆที่รวมกันเป็นสมัชชาคนจน แต่ละเครือข่ายใส่เสื้อและถือธงสีต่างกันไป ริ้วขบวนจึงมีสีสันสดใสหลากหลาย    


 


ใช้เวลาไม่นานนักขบวนก็ถึงหน้ากองทัพบก หลังตั้งหลักแหล่งหน้ากองทัพบกได้เรียบร้อยเครือข่ายที่รวมกันเป็นสมัชชาคนจนจึงได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยเรียกร้องไม่ให้ปิดกั้นชาวบ้านมาร่วงมชุมนุมกับสมัชชาคนจนเพราะถือว่าเป็นการริดรอนสิทธิและถือว่ามีผลกระทบต่อชาวบ้านที่ต้องการเดินทางมา


 


จนเวลาประมาณ 14.30 น. ทางกองทัพบกจึงอนุญาตให้เครือข่ายสมัชชาคนจนส่งตัวแทนเข้าไปคุยได้ 10 คน ได้แก่ตัวแทนจากเครือข่ายที่รวมกันเป็นสมัชชาคนจน 7 เครือข่าย และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน 3 คน


 


 


 


 


ระหว่างการรอฟังผลการเจรจา เครือข่ายต่างๆที่รวมกันเป็นสมัชชาคนจนได้ผลัดกันปราศรัยถึงปัญหาที่ได้รับซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องปากท้องชาวบ้านหรือเรื่องที่ดินทำกิน และกล่าวยืนยันเจตนารมณ์อีกหลายครั้งว่าเป็นการมาชุมนุมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่มาเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ซึ่งปัญหาเฉพาะหน้าขั้นแรกคือการให้รัฐบาลและคมช.ยุติการดำเนินการใดๆที่ขัดขวางการเข้าร่วมชุมนุมของชาวบ้านสมัชชาคนจน


 


เวลาผ่านไปประมาณหนึ่งชั่วโมง จนเข้าสู่เวลา 15.20 น. ตัวแทนเจรจาทั้ง 10 คนจึงออกมา นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ประกาศผลการเจรจาให้เครือข่ายสมัชชาคนจนฟังว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคมช.ไม่อยู่ ส่วน คมช.รับปากเพียงว่าไม่มีอำนาจสั่งการกองกำลังบูรพา แต่จะเร่งทำหนังสือในคืนนี้แล้วให้ทางสมัชชาคนจนโทรศัพท์ไปถามความคืบหน้าในวันที่ 24 พ.ค.


 


"คมช. กำลังเปลี่ยนเป็นโครตมหาช้า ความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาลคมช. ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นคนตั้งรัฐบาล ตอนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภาคอีสานมาร้องเรียน ประธาน คมช.มารับหนังสือเป็นอย่างดี สมัชชชาคนจนเกิดมาก่อน คมช. มีปัญหาความเดือดร้อนมากมายและไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางการเมือง รัฐบาลนี้จะอยู่กี่เดือน มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ก็มีหน้าที่ต้องแก้ปัญหาทั้งสิ้น" นายอุบลกล่าว


 


จากนั้นทางสมัชชาจึงได้อ่านแถลงการณ์สมัชชาคนจนฉบับที่ 1 "คมช. ต้องยุติการสกัดกั้นการเดินทางมาชุมนุม รัฐบาลต้องเปิดการเจรจา เร่งแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน" เมื่ออ่านแถลงการณ์จบจึงเคลื่อนขบวนกลับสู่ที่พักบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ ใกล้สะพานมัฆวานฯ เพื่อหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร


 


 


 







แถลงการณ์ สมัชชาคนจน ฉบับที่ 1


คมช. ต้องยุติการสกัดกั้นการเดินทางมาชุมนุม


รัฐบาลต้องเปิดการเจรจาเร่งแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน


 


            สืบเนื่องจากการเจรจาระหว่างสมัชชาคนจนกับนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2550 ณ หอประชุมศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี จากเวทีเจรจาวันนั้น ท่านนายกได้รับปากว่าจะให้มีการเปิดเจรจาสำหรับทุกกรณีปัญหาของสมัชชาคนจนในวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2550 พวกเราตัวแทนของสมัชชาคนจนจึงได้มาชุมนุมเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาวันนี้


 


            กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเราสมัชชาคนจนซึ่งประกอบด้วย เครือป่าไม้ เครือข่ายที่ดิน เครือข่ายเขื่อน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ จากทั่วประเทศ ได้ดำเนินการติดตามการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องกับทุกรัฐบาล แต่ในปัจจุบันหลายกรณีปัญหากลับยังไม่ได้รับการแก้ไข พวกเราจึงต้องมาชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนอย่างเร่งด่วนโดยมิได้มีเจตนาอื่นแอบแฝงแต่อย่างใด


 


            แต่การเดินทางมาของพวกเรากลับถูกสกัดกั้นจากทั้งตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งถือเป็นการรังแกคนจนไม่ให้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างสรรค์กระบวนการของประชาธิปไตย อันเป็นสิ่งที่รัฐบาล และ คมช. พยายามสื่อสารกับสาธารณะว่า ต้องการให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพื่อสร้างสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย แต่การกระทำดังกล่าวกลับเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง และจากการกระทำดังกล่าวทำให้พี่น้องสมัชชาคนจนบางส่วนไม่สามารถเดินทางมาถึงที่หมายได้ดังนั้นพวกเราจึงขอเรียกร้องดังนี้


 



  1. ให้ รัฐบาล และ คมช. ยุติการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการขัดขวาง หรือก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมของพี่น้องสมัชชาคนจน
  2. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเปิดการเจรจาเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพวกเราอย่างเร่งด่วนทุกกรณีปัญหา

 


            พวกเราขอยืนยันว่า พวกเราจะชุมนุมตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราพึงมี เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติทุกกรณีปัญหา


 


 


ด้วยจิตคารวะ


 


สมัชชาคนจน


 


23 พฤษภาคม 2550 หน้าที่ทำการ คมช.


 


  


  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net