อ่านบทความ อ่านประเวศ วะสี : ถอดสลักความรุนแรง

ถอดสลักความรุนแรง

 

ประเวศ วะสี

๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐

 

ขณะนี้คนในชาติกำลังถูกครอบงำด้วยความวิตกกังวลว่าจะเกิดมิคสัญญีและความรุนแรงนองเลือด ทุกฝ่ายจึงควรทำความเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังถักทอไปสู่ความรุนแรงและหาวิธีถอดสลักความรุนแรง

 

 

ก.      สถานการณ์ที่กำลังถักทอไปสู่ความรุนแรง

๑.   กลุ่มคนที่ประท้วงรัฐบาลและคมช. มีทั้งที่เกี่ยวกับคุณทักษิณและที่ไม่เกี่ยว ที่ไม่เกี่ยวมีทั้งที่ต่อต้านรัฐประหาร ที่ต้องการระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล ต่อไปอาจจะมีกลุ่มคนจน

๒.   กลุ่มที่มีพลังมากที่สุดคือที่เกี่ยวกับคุณทักษิณ คุณทักษิณและครอบครัวกำลังถูกดำเนินคดี ซึ่งอาจมีผลถึงติดคุก ซึ่งคุณทักษิณจะยอมไม่ได้ต้องดิ้นรนต่อสู้เต็มที่ และคุณทักษิณก็เป็นคนที่มีพลังมาก ทั้งพลังความสามารถ พลังเงิน พลังนักบริหารจัดการที่ร่วมกับคุณทักษิณ และก็มีคนที่ยังรักคุณทักษิณอยู่เป็นจำนวนมาก

      ที่ทำให้ยากลำบากมากที่สุดก็คือทวิลักษณ์ หรือลักษณะสองด้านของคุณทักษิณ คือด้านดีและด้านไม่ดี ถ้ามีแต่ดีหรือมีแต่ไม่ดีก็ไม่ลำบากเท่านี้ ลักษณะทวิลักษณ์จึงแบ่งผู้คนแตกแยกเป็นสองฝ่ายอย่างรุนแรง สุดแต่ว่าจะเห็นและชื่นชมหรือรังเกียจด้านใด

๓.   พลังอันมโหฬารของคุณทักษิณจึงทำอะไรได้มาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในทางดีหรือทางไม่ดี ทำให้สั่นสะเทือนได้หมดทุกสถาบันในสังคม ถ้าคุณทักษิณฮึดสู้เต็มที่และเคลื่อนกำลังคนทั้งหมดเข้าต่อต้านล้มรัฐบาลและคมช. โดยคุณทักษิณเดินทางเข้ามาบัญชาการการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง อะไรจะเกิดขึ้น

๔.     สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น คือ

(๑)         มวลชนที่หนุนคุณทักษิณจะปะทะกับกองทัพ

(๒)         ทหารจะฆ่าคุณทักษิณ เขาจะไม่เอาไว้

(๓)         ฆ่าคุณทักษิณแล้วใช่จะแก้ปัญหาได้ การต่อต้านกองทัพจะมีมาก บีบบังคับให้กองทัพยึดอำนาจเบ็ดเสร็จกลายเป็นรัฐประหาร ซึ่งก็จะวุ่นวายต่อไปไม่มีวันจบ

๕.   เราไม่อยากเห็นเหตุการณ์ทั้ง ๓ ดังกล่าว คือไม่อยากเห็นมวลชนกับกองทัพปะทะกัน ไม่อยากเห็นการฆ่าคุณทักษิณ ไม่อยากเห็นรัฐ ทหาร และบ้านเมืองวุ่นวายต่อไป

            ถ้าไม่อยากเห็น ทุกฝ่ายก็ต้องร่วมกันถอดสลักความรุนแรง ซึ่งอาจมีหลายวิธี วิธีหนึ่งดังที่จะกล่าวต่อไป

 

 

ข.      ทำสัญญาประชาคมร่วมสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ลงตัว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะไปโทษคุณทักษิณคนเดียวก็ไม่ได้ มีเหตุปัจจัยพื้นฐานในสังคมหลายอย่างจนต้องถือเป็นกรรมร่วมที่ทำให้เราเป็นอย่างนี้ ตราบใดที่ไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่ลงตัวทุกฝ่ายจะลำบากเรื่อยไป ทั้งพระมหากษัตริย์ นายกรัฐมนตรี กองทัพ และประชาชน ในสภาวะวิกฤตที่จั๊กกะแหล่นจะหลุดไปสู่ความรุนแรง ทุกฝ่ายควรจะมาร่วมกันทำสัญญาประชาคม (Social Contract) โดยตกลงร่วมกันว่าจะทำอะไรบ้าง เช่น

 

๑.   จะจัดให้มีการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว ข้อนี้จะไม่มีก็ไม่ได้ จะมีก็กลัวว่าอำนาจเก่าจะกลับมาแล้วก็เข้าไปสู่อีหร็อบเดิมอีก จะกลัวหรือไม่กลัวก็คงต้องมีเลือกตั้ง เพราะถ้าไม่มีจะมีความกดดันทั้งจากในประเทศและต่างประเทศจนระเบิด ฉะนั้น นอกจากการเลือกตั้งแล้วต้องตกลงกันในข้ออื่นๆ อีกด้วย ที่จะทำให้ประชาธิปไตยลงตัว เช่น

 

๒.     พรรคการเมืองควรจะมีข้อตกลงดังต่อไปนี้

๒.๑ พรรคการเมืองต้องมีโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตยไม่ใช่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของพรรค

๒.๒ พรรคการเมืองต้องมีบัญชีการรับและใช้เงินที่แสดงต่อสาธารณะและสืบสวนสอบสวนได้ว่าเป็นไปตามกฎกติกาอันถูกต้อง ถ้ามีการรับและใช้เงินไม่ถูกต้องจะต้องถูกลงโทษอย่างหนัก

๒.๓ ต้องมีการพัฒนาพรรคการเมืองไปสู่ความเป็นสถาบัน

 

๓.   กองทัพ ต้องมีการตกลงและสร้างมาตรการทางกฎหมายไม่ให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงกองทัพ เปิดโอกาสและส่งเสริมให้กองทัพพัฒนาความเป็นทหารอาชีพ ถ้าการเมืองเข้าแทรกแซงกองทัพ จะทำให้กองทัพอ่อนแอ แตกความสามัคคี และเป็นเครื่องมือทางการเมือง กองทัพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความเป็นทหารอาชีพ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง จะเป็นปัจจัยให้ระบอบประชาธิปไตยลงตัวเร็วขึ้น

 

๔.   สร้างรากฐานประชาธิปไตย อะไรจะมั่นคงฐานต้องแข็งแรง เช่น พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน ถ้าสร้างจากยอดก็จะพังลงๆ ที่เราล้มลุกคลุกคลานพังลงๆ เพราะเราพยายามสร้างจากยอด ทั้งการเมือง สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนทำสำเร็จโดยปราศจากประชาธิปไตยที่ฐาน ประชาธิปไตยที่ฐานจะไปสร้างประชาธิปไตยระดับชาติ ถ้าเราไม่อยากเห็นประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน ต้องร่วมกันสร้างรากฐานประชาธิปไตย ดังนี้

๔.๑ พัฒนาจิตสำนึกและศีลธรรมประชาธิปไตย โดยการศึกษาและสื่อสารอย่างทั่วถึง

๔.๒ ความเสมอภาค ภราดรภาพ และความเป็นประชาสังคม โดยส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง ต่อเมื่อมีความเป็นประชาสังคม เศรษฐกิจจึงจะดี การเมืองจึงจะดี และศีลธรรมจึงจะดี ถ้าสังคมยังมีโครงสร้างทางดิ่งอยู่ ประชาธิปไตยไม่มีวันลงตัว เศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดีอยู่ร่ำไป ไม่ว่าจะแนะนำสั่งสอนอย่างใดๆ

๔.๓ ประชาธิปไตยชุมชน ประชาธิปไตยท้องถิ่น (Local Democracy) ประชาธิปไตยเกิดไม่ได้โดยปราศจากประชาธิปไตยชุมชน ประชาธิปไตยท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระราชดำริเกี่ยวกับ Local Democracy อยู่มาก

๔.๔ การเมืองภาคประชาชน คือการที่ประชาชนมีประชาธิปไตยโดยตรง(Direct Democracy) ไม่ได้มีแต่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือประชาธิปไตยโดยอ้อมเท่านั้น ประชาธิปไตยโดยตรงคือการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย มีส่วนร่วมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และมีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ อย่างที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่ไม่ได้ปฏิบัติ

 

ถ้าการเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง จะช่วยยับยั้งความไม่ถูกต้องที่อาจมาจากทางนักการเมืองหรือมาจากกองทัพ การเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็งจะช่วยให้ระบอบประชาธิปไตยลงตัวเร็วขึ้น จึงควรตกลงในกลไกที่จะสนับสนุนความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน

 

ทุกฝ่ายในสังคมต้องสนับสนุนรากฐานประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยจึงจะลงตัว ซึ่งเขียนเป็นแผนภาพดังข้างล่าง ซึ่งอาจเรียกว่า "รากฐานประชาธิปไตย ๔ มุม สนับสนุน ๔ ทิศ"

 

 

รากฐานประชาธิปไตย ๔ มุม สนับสนุน ๔ ทิศ

 

ถ้ามีสัญญาประชาคมว่าจะสนับสนุนรากฐานประชาธิปไตยกันถ้วนหน้า ประชาธิปไตยก็จะลงตัวเร็วขึ้น

ข้างต้นเป็นตัวอย่างของสัญญาประชาคมร่วมสร้างระบอบประชาธิปไตยให้ลงตัว เมื่อฝ่ายต่างๆ มาพบปะทำข้อตกลงกันอาจมีมากกว่านี้ก็ได้

 

 

ค.      ตั้งสภาผู้อาวุโสแห่งชาติ (National Senior Council)

ในสหรัฐอเมริกาถ้ามีวิกฤตหรือมีเรื่องสำคัญของชาติ ประธานาธิบดีจะขอความช่วยเหลือจากอดีตประธานาธิบดี โดยไม่คำนึงถึงพรรคหรือว่าเคยต่อสู้กันมาก่อนหรือเปล่า เขาคำนึงถึงชาติเป็นสำคัญ

นายกรัฐมนตรีควรขอร้องอดีตนายกรัฐมนตรี ๔ คน คือ

๑.      นายอานันท์ ปันยารชุน

๒.     นายชวน หลีกภัย

๓.      นายบรรหาร ศิลปอาชา

๔.     พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

 

ขอตั้งท่านเป็นสภาผู้อาวุโสแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการอิสระ มีหน้าที่แนะนำประสานความร่วมมือเพื่อถอดสลักความรุนแรงในสังคมไทย โดยจะเชิญฝ่ายต่างๆ มาร่วมทำสัญญาประชาคมเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยให้ลงตัวตามที่เสนอข้างต้น หรือจะทำวิธีอื่นใดก็สุดแต่ท่าน

การที่ไม่ได้เสนออดีตนายกรัฐมนตรีที่ยังมีชีวิตท่านอื่น เพราะสองท่านเป็นองคมนตรี ส่วนอีกสองท่านดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีความขัดแย้งสูง สังคมยังอาจมีอารมณ์ค้างอยู่

อดีตนายกรัฐมนตรีมีสถานภาพ และต้องมีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ที่จะร่วมกันคลี่คลายวิกฤตของชาติได้

 

เพื่อนคนไทยครับ คนไทยจะเป็นอย่างไรก็ตาม สามารถไปเล่นฟุตบอลได้ทั่วโลก เพราะในการเล่นฟุตบอลมีกรอบ กติกา และกลไกชัดเจน ผู้กำกับเส้นคือกลไกกำกับกรอบ กรรมการคือผู้กำกับกติกา แต่เหนืออื่นใดมีคนดูที่เข้าใจกรอบ กติกา และกลไกคอยกำกับอีกทีหนึ่ง ผู้กำกับเส้นและกรรมการอาจโกงได้ แต่ถ้าโกงจะถูกคนดูโห่ ทำให้ทำไม่ได้ การเล่นฟุตบอลจึงสามารถทำกันได้ทั่วโลก

ฉะนั้น กรอบ กติกา และกลไกประชาธิปไตยจะตกลงกันว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องเป็นสิ่งที่สังคมมีส่วนร่วม เข้าใจ และติดตามกำกับได้ ต่อเมื่อสังคมสามารถติดตามกำกับได้เท่านั้น ระบอบประชาธิปไตยจึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี ทำนองเดียวกับฟุตบอลที่สามารถเล่นกันได้ค่อนข้างเรียบร้อยทั่วโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท