เสียดายคำดีๆ และสีสวยๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา

 

 

เพิ่งไปฟังการนำเสนอรายงานในเวทีแห่งหนึ่ง ขณะที่ผู้นำเสนอกำลังพูดหัวข้อเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต มีคำคำหนึ่งที่หลุดปากออกมา คำว่า "รายได้พอเพียง"

 

การนำเสนอนี้พูดตามสไลด์คำต่อคำ และเนื่องจากผู้เขียนกำลังนั่งฟังพร้อมอ่านสไลด์ไปด้วย จึงแอบเห็นว่า คำจริงๆ ที่ต้องการพูด ที่แท้แล้วคือคำว่า "รายได้เพียงพอ"

 

โปรดสังเกตว่า ประโยคทั้งสองมีความหมายกันคนละอย่าง ผู้นำเสนอกำลังพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ปัญหาเรื่องฐานทรัพยากรที่กระทบความเป็นอยู่ของคน อันนำไปสู่ปัญหาความ "เพียงพอ" ของรายได้

 

ไม่ใช่เรื่อง "รายได้พอเพียง"

 

บางทีอาจเป็นเพราะในช่วงปีที่ผ่านมา คำว่า "พอเพียง" ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้ง จนเราแทบจะได้ยินทุกวัน พบคำนี้ได้ในหลายๆ สื่อรอบตัวเราแทบจะตลอดเวลา แถมยังปรากฏอยู่ในนโยบายประเทศของรัฐบาลคมช.เสียด้วย แม้ว่าจะไม่ค่อยมีใครที่กล้ายืนยันและตีความความหมายที่ใกล้เคียงที่สุดของคำคำนี้ แต่ก็ชอบที่จะใช้มัน หรืออาจเพราะรู้สึกดีที่ได้ใช้คำๆ นี้

 

ก็เหมือนกับหลายครั้ง ที่เราได้ยินในสิ่งที่ไม่ค่อยจะเข้าใจ ตีความได้ต่างๆ นานา แต่ก็อยากฟังมันเรื่อยๆ

 

เรื่องใกล้ตัวเข้าใจยากนั้น มีอีกหลายเรื่อง เช่นล่าสุดองค์กรภาคีกลุ่มหนึ่งร่วมกันวางแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาสังคม ในแผนยุทธศาสตร์เหล่านั้น ก็มีแผนใหญ่ๆ ออกมาหลายข้อ

 

แผนดูยิ่งใหญ่ ด้วยมีคำใหญ่ๆ บรรจุอยู่มากมาย เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน สมานฉันท์ สังคมที่มีคุณธรรม การสร้างสังคมสมดุล สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้

 

ไม่กล้าปฏิเสธว่า ไม่ได้เห็นคำเหล่านี้บ่อยๆ และซ้ำๆ และไม่กล้ายอมรับอย่างผ่าเผยว่า ฟังคำเหล่านี้ไม่ค่อยเข้าใจ คำพันธุ์นี้ผ่านสายตาแทบทุกวัน และกลายเป็นคำที่ถูกใช้จนเฝือ จนสงสัยว่า ผู้เขียนคิดสรรหาคำเหล่านี้ออกมาให้มากมายได้อย่างไร พาให้นึกไปถึงสมัยเด็ก ทุกครั้งที่ต้องเขียนรายงานส่งครูต้องลงท้ายประโยคว่า "ถูกผิดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้" อันเป็นประโยคที่ใส่ลงไป โดยที่ไม่ได้คิดและรู้สึกอย่างนั้นเอาเสียหน่อย

 

แต่ชอบใจ เพราะเมื่อไม่นานมานิ้ ได้ยินคนผู้หนึ่ง (ไม่กล้าใช้คำว่า "ผู้ใหญ่" กลัวท่านผู้อ่านเข้าใจผิดเป็นความหมายอื่น แต่อยากหมายถึงคนผู้หนึ่งที่มีผู้นับถือจากการทำงาน) แสดงความคิดเห็นโดยวิจารณ์การทำแผนซึ่งบรรจุคำเหล่านี้ไว้

 

เขาพูดว่า มองไม่เห็นว่าการเขียนแผนด้วยคำเหล่านี้จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร และหลายๆ ครั้งเรามักเห็นการทำแผนยุทธศาสตร์ที่เขียนอะไรไว้เยอะๆ แต่พอถึงคราวมาปฏิบัติจริง ก็มีอันมึน

 

ก็ไม่รู้ว่า ค่านิยมใช้คำหรูๆ ใหญ่ๆ แบบนี้ มาอยู่ในสังคมไทยได้อย่างไร ทั้งที่ไม่ได้นำไปสู่ความเข้าใจในความหมายและการปฏิบัติที่แท้จริง

 

หรืออาจเพราะแค่ เรารู้สึกดีที่ได้ใช้คำๆ นั้น (พูดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง) เวลาใช้คำสวยๆ ก็คงไม่ต่างจากการใช้ของมียี่ห้อ

 

ว่าแต่คำหรูๆ อย่าง พอเพียง สมานฉันท์ นั้น ติดยี่ห้ออะไรอยู่

 

และน่าเสียดาย ทั้งหมดที่กล่าวมา มิใช่เห็นว่าคำเหล่านั้นไร้ความหมาย เพียงแต่เห็นว่า ความหมายของคำถูกทำให้ผิดเพี้ยนไปเพราะยี่ห้อที่แปะอยู่

 

ไม่ใช่แค่คำที่มียี่ห้อ ทุกวันนี้ จะเลือกสีอะไร ก็เป็นเรื่องที่ถูกพาให้เชื่อมโยงไปยังอุดมการณ์ทางการเมืองไปเสียทั้งหมด

 

สีนี้แปลว่าต้านรัฐประหาร สีนั้นแปลว่าต้านรัฐธรรมนูญ สีโน้นคือรักสถาบัน จนไม่มีวันไหนที่จะหนีการเชื่อมโยงความหมายในอุดมการณ์ทางการเมืองได้

 

การเมืองอึมครึมแบบนี้ เสรีภาพในการเลือกใช้สีก็ถูกกระทบด้วยการเซ็นเซอร์ตัวเองไปหลายต่อหลายครั้ง คำหลายคำก็ไม่อยากจะใช้ไปโดยปริยาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท