Skip to main content
sharethis

ย้อนรอยถอยกลับไปยังปี 2537 "ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามดารุล อาร์กัม" (Darul Arqam) จากมาเลเซีย ที่กำลังแผ่อิทธิพลเข้ามายังเมืองไทย ตั้งแต่ภาคใต้ยันดินแดนเหนือสุดแห่งสยาม ถูกรัฐบาลมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น จัดให้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐในลำดับหนึ่ง


 


ขณะที่การกวาดล้างมวลหมู่สมาชิก "ขบวนการดารุล อาร์กัม" ในมาเลเซียดำเนินไปอย่างหนัก ผู้นำของขบวนการนาม "อุสตาซอัสฮาอารี มูฮัมมัด" ก็ใช้ไทยเป็นฐานของการเคลื่อนไหวชนิดเอาการเอางานยิ่ง


 


เหตุการณ์สิ้นสุดลง เมื่อ "พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ" อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น จับกุม "อุสตาซอัสฮาอารี มูฮัมมัด" นำตัวมามอบให้ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียด้วยตนเองกับมือ ณ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ช่วงประมาณกลางปี 2537 นั่นเอง


 


ถึงวันนี้บทบาท "ขบวนการดารุล อาร์กัม" และผู้นำ "อุสตาซอัสฮาอารี มูฮัมมัด" หวนคืนกลับมาปรากฏอีกครั้ง


 


บทความทางวิชาการเรื่อง "พลวัตของความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่องในขบวนการเคลื่อนไหวของอิสลามในมาเลเซีย: จากดารุล อาร์กัม ถึงกลุ่มรูฟากา" ของ "อะฮ์มัด เฟาซี อับดุล ฮามิด" แห่ง School of Distance Education, Universiti Sains Malaysia, ได้บอกเล่าถึงการกลับมาของขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามขบวนการนี้


 


………………………………………………………………………….


 


พลวัตของความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง


ในขบวนการเคลื่อนไหวของอิสลามในมาเลเซีย


: จากดารุล อาร์กัม ถึงกลุ่มรูฟากา


 


ปลายปี ค.ศ.2006 ได้มีข่าวใหญ่ขึ้นในประเทศมาเลเซียเกี่ยวกับความพยายามร่วมกันที่จะรื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามดารุล อาร์กัม (Darul Arqam) ซึ่งถูกรัฐบาลห้ามดำเนินการเคลื่อนไหวไปในปี ค.ศ. 1994 ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยบรรดาสมาชิกขององค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง บริษัทรูฟากา (Rufaqa Corporation) ซึ่งมีการกล่าวกันว่าความพยายามดังกล่าวนี้ แท้จริงแล้วนั้นนำการดำเนินการโดยอุสตาซอัสฮาอารี มูฮัมมัด ผู้นำคนก่อนของดารุล อาร์กัม ซึ่งถูกคุมขังภายใต้อำนาจของกฎหมายความมั่นคงภายใน (Internal Security Act - ISA) ในวันที่ 2 กันยายน 1994 โดยการส่งตัวให้จากรัฐบาลไทยจากพันธะของการปฏิบัติการร่วมทางด้านความมั่นคงระหว่างไทยและมาเลเซีย ทั้งนี้ หลังจากคุมขัง 2 เดือน อุสตาซอัสฮาอารี ยังถูกกักบริเวณต่อเนื่องภายในเขตอำเภอกอมบัก (ตุลาคม 1994 - กุมภาพันธ์ 2002) และลาบวน (กุมภาพันธ์ 2002 - ตุลาคม 2004)


 


ในความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์ในช่วงปลายปี 2006 นั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่รูฟากาได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ในสื่อต่างๆ นับตั้งแต่การจับกุมกลุ่มผู้นำของดารุล อาร์กัมโดยกฎหมายความมั่นคงภายในครั้งที่ 2 ในช่วงกลางปี 1996 ก็มักจะมีการกล่าวกันถึงการที่รูฟากานั้น เป็นหน้าฉากที่สมาชิกดารุล อาร์กัม ซึ่งจงรักภักดีต่ออุสตาซอัสฮาอารีใช้ซ่อนบังกิจกรรมซึ่งทำตามคำสอนและเป้าหมายของดารุล อาร์กัม ความพยายามของสื่อกระแสหลักที่จะเชื่อมต่อระหว่างรูฟากาและดารุล อาร์กัมยิ่งเห็นได้ชัดขึ้น หลังเกิดหลายเหตุการณ์คุกคามความมั่นคงที่สัมพันธ์อยู่กับศาสนาอิสลาม อาทิเช่น กบฏอัล - มาอูนาฮ์ (Al-Ma"unah) ในอำเภอกริก รัฐเปรัคในเดือนกรกฎาคม 2000 การจับกุมสมาชิกของกลุ่มมูจาฮิดีนมาเลเซีย (KMM - Kumpulan Mujahidin Malaysia) ในเดือนสิงหาคม 2001 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกลุ่มขบวนการก่อการร้ายได้โจมตีตึกเวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์และตึกเพนตากอนในวันที่ 11 กันยายน 2001


 


มีการคาดการณ์กันว่าความล้มเหลวที่จะหยุดยั้งความพยายามรื้อฟื้นดารุล อาร์กัม อาจจะนำมาซึ่งความรุนแรงที่เกิดจากการตีความอิสลามอย่างสุดโต่ง และสู่วิถีแห่งความรุนแรง ซึ่งนั่นจะเป็นการคุกคามความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้ ก่อนหน้า "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" นั้น การพยายามขับเคลื่อนใหม่ของสมาชิกดารุล อาร์กัมไม่ได้ถูกเชื่อมเข้ากับกลุ่มองค์กรใดๆ แต่มักจะถูกนำเสนอในฐานะแผนการส่วนตัวของผู้นำบางคน ในการปกป้องอุดมการณ์ ซึ่งเชื่อมต่อกับ Aurad Muhammadiah แนวทางคำสอนลี้ลับแบบซูฟี ซึ่งบัญญัติโดยดารุล อาร์กัม แต่ถูกสภาฟัตวาแห่งชาติ (the National Fatwa Council) ประกาศในปี 1994 ว่า นั่นมิใช่วิถีแห่งอิสลาม


 


แม้ว่าจะมีภาพลักษณ์ในแง่ลบ เมื่อมีการเข้าใจว่าเป็นทายาทของดารุล อาร์กัม แต่รูฟากานั้นยังคงประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง และภายในช่วงระยะเวลาไม่นานในการดำเนินการธุรกิจ รายได้ของ 3 บริษัทหลักของรูฟากา ซึ่งมีอุสตาซ อัสฮาอารีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น สูงถึง 9.8 ล้านริงกิต การดำเนินการทางธุรกิจของรูฟากาครอบคลุมทั่วทั้งประเทศมาเลเซีย โดยจะจำแนกออกเป็นโครงการ 3 ศูนย์กลางหลัก คือ โครงการเขตภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ โดยในแต่ละศูนย์กลางเหล่านี้ จะเน้นหนักอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงภาคธุรกิจเกษตรกรรม และการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน ทุกรัฐในมาเลเซียจะมีสาขาของรูฟากาในหลากหลายลักษณะธุรกิจ ตั้งแต่ซูเปอร์มาร์เก็ต ค้าปลีก ร้านอาหาร โพลีคลีนิค ธุรกิจบริการช่วยเหลือมารดา บริการบำบัดรักษาแผนโบราณ ผลิตและบริการผลิตภัณฑ์สมุนไพร ร้านตัดเย็บและเสื้อผ้า บริการธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจสำนักพิมพ์หนังสือ วารสาร สถาบันศิลปะและวัฒนธรรม บริการซักรีด ธุรกิจเบเกอรี่ โครงการให้คำปรึกษาและฝึกอบรม ผลิตภัณฑ์มัลติมีเดีย โรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กโทรนิค โรงงานผลิตยานยนต์ เครือข่ายธุรกิจโรงแรมและห้องพัก เป็นต้น ขณะที่ในภาคธุรกิจระดับโลก มีการประเมินว่า รูฟากามีเครือข่ายเปิดดำเนินการถึงราว 500 - 700 แห่งครอบคลุมนับแต่มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย ออสเตรเลีย จอร์แดน ซีเรีย อียิปต์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน


 


ในช่วง 10 ปีของการถูกคุมขังและกฎหมายกักบริเวณ อุสตาซอัสฮาอารี ถูกให้ภาพในด้านลบ ในฐานะผู้นำศาสนา ซึ่งอิทธิพลของเขานั้น ควรจะถูกตรวจสอบ แม้ว่าส่วนซึ่งมีลักษณะก้าวหน้าของความคิดและกิจกรรมขององค์กรของเขา ควรที่จะได้รับการพิจารณา และน่าจะถูกนำเสนออย่างที่มันเป็นมากกว่านี้ ทั้งนี้ อุสตาซอัสฮาอารีถูกปล่อยตัวออกจากการกักบริเวณในวันที่ 25 ตุลาคม 2004 ติดตามมาด้วยการออกหนังสือที่เขาเขียนหลายเล่ม ซึ่งยกย่องด้วยเหตุผลต่อการประสบความสำเร็จของการลงทุนในทางธุรกิจ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมของรูฟากา


 


ความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและวิถีแห่งการปฏิบัติ


ของอุสตาซอาฮาอารีต่อการพัฒนาของศาสนาอิสลาม


 


มี 3 ปัจจัยสำคัญ ซึ่งทำให้สมาชิกของดารุล อาร์กัมยืนหยัด ผ่านการเผชิญหน้ากับความกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศได้อย่างเกินธรรมดา คือ หนึ่ง การเน้นย้ำยึดมั่นในอุดมการณ์รื้อฟื้นลัทธิซูฟี สอง การปรับตัวเข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้สำเร็จ และ สาม ความศรัทธาที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ซึ่งจากการสำรวจวิจัยอย่างใกล้ชิดได้พบว่าองค์ประกอบทั้ง 3 นี้ยังคงมีอยู่ในรูฟากาด้วยเช่นกัน แม้ว่าอาจจะแตกต่างในรายละเอียดจากแบบแผนดารุล อาร์กัมไปบ้าง


 


อุดมการณ์ของการฟื้นฟูลัทธิซูฟีได้สร้างการเชื่อมต่อสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ ระหว่างผู้นำทางจิตวิญญาณกับผู้ดำเนินรอยตาม ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ซึ่งลดลักษณะอย่างเป็นทางการระหว่างผู้นำกับผู้ตาม หรือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ข้อหาทางกฎหมายในการระงับการเคลื่อนไหวของดารุล อาร์กัม จึงไม่กระเทือนต่อสถานะผู้สอนสั่งของอุสตาซอัสฮาอารี ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะผู้มีความรู้ และได้รับการเคารพจากผู้ติดตามของเขา ซึ่งตรงกันข้ามกับกระบวนทัศน์เกี่ยวกับความเป็นผู้นำในที่ยอมรับกันในปัจจุบัน ลักษณะความเป็นผู้นำแบบซูฟีกำหนดให้องค์กรนั้นขึ้นอยู่และถูกหลอมรวมเข้ากับผู้นำ กล่าวโดยสรุปก็คือการต่อสู้ของอุสตาซอัสฮาอารีนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดารุล อาร์กัม หรือรูฟากา หรือแม้แต่แนวทางใดๆ หากแต่ขึ้นอยู่กับตัวของอุสตาซอัสฮาอารีเองเป็นสำคัญ


 


อุดมการณ์ฟื้นฟูลัทธิซูฟีนั้น ให้ความสำคัญกับกระบวนการชำระล้างจิตใจของตน ให้พ้นจากการคำนึงถึงเฉพาะตนเอง ในช่วงเวลาของดารุล อาร์กัมนั้น สมาชิกจะถูกผลักดันให้ต่อสู้เอาชนะความเห็นแก่ตัวของตน การพยายามสร้างความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณในกระบวนการแบบซูฟีไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว หากแต่เพื่อการสร้างเกราะกำบังในการต่อสู้กับแรงปรารถนาจากการเห็นแก่ตัวเอง ซึ่งเปรียบดังกับปีศาจ และเพื่อการเผชิญหน้ากับโลก เมื่อแต่ละคนต้องพัฒนาความศรัทธาของตนในการใช้ชีวิตในสังคม จิตใจที่พัฒนาแล้วจะช่วยในการป้องกันจากโรคร้ายทางจิตวิญญาณ อาทิ ความโลภ ความคับแคบ ความอยากเหมือนอยากได้อย่างคนอื่น ความหลงตัว หลงชื่อเสียง และความอยากเด่นอยากดัง อุดมการณ์ของการฟื้นฟูลัทธิซูฟี ไม่ใช่ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณสำหรับตนเองเท่านั้น หากต้องรวมถึงการสร้างผลประโยชน์ให้แก่สังคม และการพัฒนาทางสังคมด้วยเช่นกัน และอุดมการณ์นี้เอง ที่ได้สร้างกลุ่มซูฟีผู้ซึ่งพยายามอย่างแข็งขันในการนำเอาระบบแบบอิสลามไปใช้ในสังคม ไม่ใช่เพียงแค่การปลีกตัวเองอย่างวางเฉยและยอมรับทุกอย่าง


 


สำหรับสมาชิกกลุ่มดารุล อาร์กัมซึ่งปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวในทุกองค์ประกอบของชีวิตมาอย่างยาวนาน การห้ามการดำเนินการของอารุล อาร์กัมในปี 1994 เหมือนนำมาสู่ช่วงเวลาแห่งความ "ว่างเปล่า" ในชีวิตพวกเขา สมาชิกโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วมในความเคลื่อนไหวของอิสลามอื่นใด ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อในทันทีที่อุสตาซอัสฮาอารีก่อตั้งรูฟากา ในปี 1997 อดีตสมาชิกดารุล อาร์กัมจำนวนมากได้เข้าพบเขา หรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นสมาชิกในคณะกรรมการบริหารของรูฟากาเพื่อขอทำงานในองค์กรดังกล่าว


 


เส้นทางการพัฒนาของรูฟากาไม่ได้แยกห่างออกจากวิธีการ และแนวทางขั้นพื้นฐานที่ว่าไว้โดยอุสตาซอัสฮาอารี รากฐานของการฟื้นฟูซูฟียังคงมีบทบาทโดดเด่น หากแต่แนวคิดที่สัมพันธ์นั้นถูกขยายให้กว้างขึ้นในการรวมการพัฒนาทางสังคม ตั้งแต่แรกเริ่ม แตกต่างจากดารุล อาร์กัมก็คือว่า รูฟากาจัดตั้งขึ้นโดยผ่านการรับรองจากกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การจับตามองอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ทางด้านความมั่นคงจากหน่วยงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้ นับแต่ช่วงเริ่มต้นนี้ รูฟากาเลือกวิธีการที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง ซึ่งตรงกันข้ามกับดารุล อาร์กัม และขณะที่ดารุล อาร์กัมดำเนินการทางด้านการพัฒนาหลายช่องทาง ซึ่งเป็นการเผยแพร่ความเชื่อทางศาสนาไปยังสังคม แต่ในกรณีของรูฟากานั้น ได้เริ่มเข้าสู่สังคมผ่านทางการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะมีบทบาทในการเป็นช่องทางในการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า และการดำเนินตามวิถีแห่งศาสนาอิสลามไปพร้อมๆ กัน โดยการหลอมรวมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าในแนวดิ่ง เข้ากับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในแนวระนาบไว้ด้วยกันนับแต่แรกเริ่ม


 


คำขวัญประจำบริษัทของรูฟากาที่ว่า "สงบสุขและมั่นคง" (serene and reasurring) จึงเกิดขึ้นจากการหลอมรวมดังกล่าวนั้น โดย "สงบสุข" หมายถึงสภาวะแห่งจิตใจของนักลงทุน และ "มั่นคง" หมายถึงผลบังเกิดของความสงบสุขนั้น ซึ่งมาจากผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งสร้างความมั่นคงให้แก่สังคม และด้วยเหตุนี้เองที่ผลทางธุรกิจจะนำมา ซึ่งผลกำไรใน 2 ลักษณะคือ ผลกำไรทางด้านวิญญาณและในรูปลักษณ์สิ่งของรูปธรรม


 


เพื่อจะทำให้พนักงานของตนเข้าถึงภาวะสงบสุขแห่งจิตใจ รูฟากากำหนดให้พนักงานต้องเข้าร่วมในโครงการให้คำปรึกษาและฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้พวกเขาเกิดความรู้สึกศรัทธา และปฏิบัติตามแนวทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในการปฏิบัติดังกล่าวนั้น แม้แต่กลุ่มผู้บริหารก็ไม่ได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ ในความเป็นจริงพวกเขาจำเป็นต้องทำให้พนักงานเห็นเป็นตัวอย่าง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและลูกจ้างของรูฟากานั้นแตกต่างจากบริษัทที่ลงทุนหวังกำไรทั่วไปเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ในกรณีของรูฟากา ผู้บริหารปฏิบัติต่อพนักงานไม่ต่างกับบุตรหลานในสภาพแวดล้อมเหมือนบ้านที่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่น ขณะที่ลูกจ้างถูกอบรมให้เข้าใจว่าอาชีพของตนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการทางด้านศาสนาอิสลาม ซึ่งพวกเขาไม่ใช่คนงานที่แรงงานของตนมีเพื่อสร้างผลกำไรสูงสุดให้แก่นายจ้าง ขณะที่ในส่วนของการพัฒนาทางด้านอิสลามในรูปแบบของรูฟากา การพัฒนาทางด้านมนุษย์จะต้องถูกปฏิบัติควบคู่ไปด้วยการพัฒนาทางด้านวัตถุสิ่งของด้วยเช่นกัน โดยรูฟากากล่าวว่าโครงการทางด้านเศรษฐกิจทั้งหมดของตน ได้รับการพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของการตอบสนองต่อการพัฒนาทางด้านมนุษย์


 


อย่างไรก็ตาม สำหรับบทบาทในฐานะองค์กรทางด้านธุรกิจแล้ว รูฟากาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางธุรกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งนั่นทำให้แตกต่างไปจากดารุล อาร์กัมซึ่งพยายามต่อสู้เพื่อศาสนาอิสลามในประเด็นต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน แม้ว่ารูฟากาจะได้จัดตั้งแผนกต่างๆ ในหลากหลายมิติ แต่ในด้านของการวางแผนทางด้านธุรกิจแล้ว เป้าหมายทางเศรษฐกิจมักถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ในการประชุมของคณะกรรมการบริหารของบริษัททั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ รูฟากาได้พยายามขยายกิจการไปสู่ภาคที่ไม่ใช่เศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ ทางด้านการศึกษาสามัญ ซึ่งจดทะเบียนผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้การศึกษาแก่บุตรหลานของพนักงานของบริษัทและคนยากจน


 


ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่รับรู้แพร่หลายของดารุล อาร์กัมนั้น ให้ความสำคัญกับพื้นที่หมู่บ้าน แต่การพัฒนาชุมชนในแนวทางของรูฟากานั้น ดำเนินไปพื้นที่เขตเมือง ซึ่งสิ่งนี้อาจสืบเนื่องจากการที่การเคลื่อนไหวของอุสตาซอัสฮาอารีนั้น ถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่เขตชนบท การพัฒนาพื้นที่ในเขตใกล้ชิดกับคณะผู้บริหาร จึงสามารถเปิดโอกาสให้เขาได้ดูแลธุรกิจของบริษัท แม้ว่าจะอยู่ภายใต้การกักบริเวณอยู่ก็ตาม การก่อตั้งห้างสรรพสินค้าใน Celebration Mall ในพื้นที่ Bandar Country Homes เมื่อปี 1997 เป็นฐานให้แก่เมืองรูฟากาแห่งแรก ซึ่งต่อมาได้ขยายแพร่ไปทั่วทั้งประเทศภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ทุกรัฐในมาเลเซียจะต้องมีเมืองรูฟากาอย่างน้อยหนึ่งแห่ง เมืองรูฟากานั้นจะประกอบไปด้วยภาคธุรกิจต่างๆ อยู่ด้วยกัน ซึ่งอาจจะให้เช่าหรือขายขาด โดยโครงการหลักๆ ที่ก่อรูปเป็นเมืองรูฟากานั้น มักจะประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ ร้านขายและตัดเย็บเสื้อผ้า บางแห่งจะมีสีสันขึ้นด้วยห้องเช่าสำหรับหนุ่มสาว บ้านพัก และที่พักของพนักงานอยู่ภายในพื้นที่ดังกล่าว


 


การให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจเมือง ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์อย่างแข็งขันระหว่างรูฟากาและประชากรที่ไม่ใช่ชาวมลายูที่อยู่รายรอบ ซึ่งแตกต่างไปจากภาพพจน์ที่ค่อนข้างยึดมั่นในเชื้อชาติของดารุล อาร์กัม รูฟากา ได้สร้างความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับเพื่อนบ้าน และลูกค้าที่ไม่ใช่ชาวมลายู ทั้งในด้านของการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจและความสัมพันธ์ทางสังคมแบบไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ขณะที่ในทางด้านสังคม รูฟากาตัดสินใจไม่กำหนดให้พนักงานของตนต้องแต่งกายในลักษณะแบบอาหรับ เพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมที่จะหลอมรวมเข้ากับสังคมมลายูส่วนใหญ่ ซึ่งเริ่มสูญเสียวัฒนธรรมการแต่งกายของตน ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 เครื่องแบบการแต่งกายในรูปแบบอาหรับของดารุล อาร์กัม ได้ทำให้เกิดความกังวลใจขึ้นในชุมชนมลายู และเป็นสัญลักษณ์อย่างเปิดเผยของลักษณะการแยกขาดออกจากสังคมยุคใหม่อย่าง "สุดโต่ง" ของดารุล อาร์กัม


 


ขณะที่ในประเด็นของสตรี แม้ว่าไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในช่วงสมัยดารุล อาร์กัมนั้น อุสตาซอัสฮาอารีสนับสนุนทัศนะที่ว่าบทบาทของผู้หญิงนั้น ควรจำกัดอยู่เฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น ผู้หญิงจะถูกอนุญาตให้มีส่วนร่วมในหน้าที่ทางสังคมได้ก็เฉพาะแต่สภาวะเร่งด่วน ซึ่งต้องการการร่วมมือของผู้หญิง ตามหลักการของกฎหมายศาสนาอิสลาม อาทิเช่น การเผยแพร่คำสอนทางด้านศาสนาในหมู่ผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ในช่วงสมัยของรูฟากา อุสตาซอัสฮาอารีค่อนข้างจริงจังที่จะสั่งห้ามสิ่งซึ่งจะเป็นการขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงพัฒนาชีวิตและพัฒนา ทราบเท่าที่การประพฤติปฏิบัติตนดำเนินแนวทางของกฎหมายอิสลาม ผู้หญิงสามารถที่จะก้าวไปเป็นหมอ วิศวกร หรืออาชีพชำนาญการต่างๆ ได้ และภายใต้การเปลี่ยนแปลงความคิดดังกล่าวนี้เองที่บทบาทของผู้หญิงได้ถูกบูรณาการเข้ามาสู่โครงการของรูฟากา ผู้หญิงได้รับโอกาสในการก้าวสู่ตำแหน่งสูง บางตำแหน่งอย่างเช่นทางด้านการเงินให้การยอมรับผู้หญิงเป็นอย่างสูง


 


พลวัตของแบบแผนความคิดและการปฏิบัติในความสัมพันธ์ระหว่างรูฟากาและรัฐมาเลเซีย:


การเปรียบเทียบและความแตกต่างในยุทธศาสตร์การพัฒนา


 


ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มซึ่งนำโดยอุสตาซอัสฮาอารี (ดารุล อาร์กัมในช่วงก่อนหน้านี้ และรูฟากาในปัจจุบัน) กับรัฐมาเลเซียนั้น ไม่อาจปฏิเสธว่าเปลี่ยนแปลงไปจากท่าทีขัดแย้งสู่ลักษณะสงบศึกเป็นอย่างมาก นับแต่นายอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัดในวันที่ 31 ตุลาคม 2003 นับจากอุสตาซอัสฮาอารีได้รับอิสรภาพจากการกักบริเวณในวันที่ 25 ตุลาคม 2004 รูฟากาได้กำหนดท่าทีในการสนับสนุนการบริหารของอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวี โดยเฉพาะในการยอมรับอิสลามฮาดารี (Islam Hadhari) ในฐานะวิถีทางแห่งการพัฒนาทางอารยธรรม อุสตาซอัสฮาอารีได้ตีความอิสลามฮาดารีว่าเป็นหนทางซึ่งไม่แตกต่างไปจากทัศนะเรื่องสังคมอิสลาม ซึ่งเขาปรารถนาให้เป็น


 


รูฟากาคิดว่าโอกาสในการที่จะเผยแพร่ความคิด พลังงาน และเวลาในโครงการที่รัฐสนับสนุนในการต่อสู้กับความป่วยไข้ของสังคมจากการร่วมมือกับรัฐบาลของอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวีในการทำให้อิสลามฮาดารีนั้นเป็นจริง รูฟากายกย่องอย่างเชื่อมั่นต่อความปรารถนาทางด้านศาสนาของอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวี ขอบคุณและแสดงความหวังว่าอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวีจะเปิดเส้นทางใหม่ให้เกิดรัฐอิสลามอย่างแท้จริงขึ้นในประเทศมาเลเซีย ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างรูฟากาและรัฐบาลอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวีมักจะจำกัดอยู่เฉพาะในประเด็นซึ่งเกี่ยวกับอุดมการณ์ผู้ปลดปล่อย และวิถีทางลึกลับแบบซูฟี ซึ่งกล่าวกันว่าได้รับการปกปิดและปฏิบัติโดยอุสตาซอัสฮาอารี และสิ่งนี้ที่นำไปสู่ความขัดแย้งกับกรมการศาสนาเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุดมการณ์ความเชื่อในเรื่องผู้ปลดปล่อยเป็นสิ่งหนึ่งที่แข็งแกร่งมากในหมู่ผู้ติดตามอุสตาซอัสฮาอารี แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ชักจูงในโครงการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นทางการของรูฟากา ความเป็นไปได้นั้นคือว่าพนักงานของรูฟากานั้นยังคงมีสำนึกและวิถีปฏิบัติซึ่งนำมาจากช่วงสมัยของดารุล อาร์กัมเป็นการส่วนตัวมาก่อนแล้ว


 


ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างรูฟากาและรัฐ ภายใต้การนำของอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวีนั้นเป็นไปลักษณะของการระแวงระวังแบบยอมรับ (tolerated tension) ซึ่งหมายความว่ารูฟากาได้รับอนุญาตให้ดำเนินการทางธุรกิจ และสร้างความมั่งคั่ง ทราบเท่าที่ยังคงปฏิบัติตามกฎหมายและไม่ก้าวล้ำขอบเขตของเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาเลเซีย ซึ่งยังคงรวมศูนย์อยู่เฉพาะในการเมืองแบบอุปถัมภ์ของกลุ่มชนชั้นสูง หากว่าข้อหวงห้ามในทางการเมืองนั้นถูกละเมิด อาทิเช่นหากอิทธิพลทางเศรษฐกิจของรูฟากาถูกมองว่าเริ่มคุกคามชนชั้นนำชาวมลายู รัฐก็จะใช้อำนาจของกรมการศาสนาและคำตัดสินทางศาสนาอิสลามสร้างมติตัดสินว่านอกกฎเกณฑ์และผิดกฎต่อรูฟากา แม้แต่ในประเด็นซึ่งรูฟากาให้การสนับสนุนรัฐ อาทิเช่นต่ออิสลามฮาดารี ก็ไม่เป็นการยากที่ผู้มีอำนาจทางด้านศาสนาที่จะหาเหตุผลระบุว่าในความเป็นจริงแล้ว แนวทางเกี่ยวกับอิสลามฮาดารีของรูฟากานั้นขัดแย้งกับแนวทางอย่างเป็นทางการของรัฐ แม้ว่ากระทั่งในปัจจุบันที่แนวทางการบริหารของอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวีจะยกกิจการทางด้านอิสลามไปยังความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจทางด้านศาสนา แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกิจการความมั่นคงภายในอึกอักที่จะมองรูฟากาว่าคุกคามความพยายามในการครอบครองทรัพยากรทางเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นนำผู้ปกครอง


 


ขณะที่ในประเด็นของวิธีการและการนำไปปฏิบัติระหว่างการพัฒนาในแบบของรูฟากา และในแบบของรัฐนั้น แม้ว่าทั้งสองแนวทางจะเน้นย้ำให้ความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสังคมมลายูมุสลิม โดยให้เป็นแนวทางที่ดีที่สุดทั้งสำหรับโลกนี้และโลกหน้า หากแต่การพัฒนาในรูปแบบของรูฟากานั้น ให้ความสำคัญกับประเด็นทางจิตวิญญาณมากยิ่งกว่าอย่างเห็นได้ชัด การพัฒนาทางด้านอิสลามของรูฟากาเน้นย้ำการพัฒนามนุษย์ในบริบทของการพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณเหนือสิ่งอื่นใด ขณะที่การพัฒนาในแนวทางของรัฐ จะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อความเชี่ยวชาญฉลาดเฉลียวและความคิด มากกว่าจะให้ความสำคัญต่อจิตวิญญาณหรือจิตใจ


 


บทสรุปและข้อเสนอแนะ


รูฟากาประกาศว่าตัวเองนั้นเป็น "การหลอมรวมระหว่างการพัฒนา 2 ด้าน คือ อารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งสร้างขึ้นจากความรักและหวาดเกรงในพระเจ้า และอารยธรรมทางวัตถุ ซึ่งเป็นการหลอมรวมระหว่างความรักและห่วงใย" แม้ว่าการประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาทางวัตถุนั้น ยังคงจำกัดอยู่ แต่พลวัตในการปรับเปลี่ยนจากดารุล อาร์กัมสู่รูฟากานั้น เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่งในหลายประการ คือ


 


ประการแรก ตลอดเส้นทางการพัฒนาของรูฟากานั้น ได้รับการสอดส่องตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากผู้มีอำนาจ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะตกลงไปสู่ภาวะที่ถูกน้อมนำโดยรัฐ แต่รูฟากาพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะธำรงไว้ซึ่งหลักการการพัฒนาตามแนวทางอิสลาม ซึ่งนำเสนอไว้ อัสฮาอารี มูฮัมหมัด ซึ่งเคยนำมาสู่การเติบโตขึ้นของดารุล อาร์กัมในช่วง 1968 ถึงปี 1994 เราสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายประการในวิธีการและการปฏิบัติใช้แนวทางการพัฒนาในลักษณะพลวัตของการเปลี่ยนแปลงจากการเคลื่อนไหวทางด้านอิสลามในกรณีดารุล อาร์กัม สู่บริษัทแบบอิสลามในกรณีบริษัทรูฟากา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แสดงให้เห็นความพยายามและการสร้างสรรค์ยุคใหม่ต่อการเข้าร่วมในแนวทางการพัฒนากระแสหลัก


 


ประการที่สอง การประสบความสำเร็จของการพัฒนาตามแนวทางศาสนาอิสลามของรูฟากา ได้ปฏิเสธทัศนะที่แพร่หลายของนักคิดชาวตะวันตก ที่มักมองว่าคำสั่งสอนทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาของโลกตะวันออก มักจะเป็นการขัดขวางหรือทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเชื่องช้าลง ความแข็งแกร่งของรูฟากานั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและการตีความทางศาสนา ซึ่งค่อนข้างมีความแตกต่างจากทัศนะของอิสลามแบบขนบ ผนวกกับความศรัทธาต่อผู้นำซึ่งกระตุ้นให้พนักงานยึดมั่นต่อทัศนะมองโลกและอนาคตในแง่ดี ขณะที่การกดดันนานาจากรัฐได้มีบทบาทกระตุ้นอย่างยิ่งต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งต่อดารุล อาร์กัมและราฟากา ในโลกทัศน์ของสมาชิกดารุล อาร์กัมและพนักงานของรูฟากา แรงกดดันนั้นถูกมองในแง่ดีในฐานะบททดสอบการสำนึกในความผิดพลาดเมื่อครั้งอดีต เพื่อยกระดับทางจิตวิญญาณ และเป็นดั่งหนึ่งในการต่อสู้ในวิถีทางแห่งอิสลาม ซึ่งเป็นเหมือนประสงค์ของพระเจ้าต่อผู้แสวงหาความจริง


 


ประการที่สาม ในบริบทของเศรษฐศาสตร์การเมืองมลายูมุสลิมในประเทศมาเลเซีย แผนการทางด้านเศรษฐกิจของรูฟากาย่อมได้รับผลประโยชน์เนื่องจากรัฐได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าภาคส่วนเอกชนนั้นเป็น "ผู้นำในการพัฒนา" และ "การเติบโตทางเศรษฐกิจ" รวมถึงการที่มาเลเซียปรารถนาที่จะเป็นศูนย์กลางนานาชาติของผลิตภัณฑ์และบริการอาหารฮาลาล ขณะที่การดำเนินการของรูฟากายังได้ส่งเสริมให้กับนโยบายภูมิบุตรของรัฐบาล


 


ประการที่สี่ ภายใต้บริบทของเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งสังคมพหุลักษณ์ของมาลาเซีย การดำเนินที่มีลักษณะสร้างพันธมิตรทางธุรกิจแบบหลากเชื้อชาติของรูฟากาสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ธุรกิจแบบภูมิบุตราอื่นๆ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมามีลักษณะการดำเนินการขึ้นอยู่กับการอุปถัมภ์ของชนชั้นนำมลายูในการเสริมสร้างความมั่งคั่ง ขณะที่นักธุรกิจที่ไม่ใช่ภูมิบุตรได้เกิดความสงสัยและเป็นกังวลใจต่อการดำเนินการของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy- NEP) นับจากปี 1990 เป็นต้นมา รูฟากาได้พยายามที่จะสนับสนุนนักธุรกิจเหล่านั้นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนที่ซื่อสัตย์


 


.................................................


ที่มา : สัมมนาวิชาการนานาชาติ: สรรพเสียงแห่งอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, นักวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุ่นใหม่ 24 - 25 กุมภาพันธ์ 2550, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, นครศรีธรรมราช


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net