ร่าง รธน.วันนี้ เจ๊สดศรีไม่สิ้นฤทธิ์ เดินหน้าทวง ม.68 วรรคสอง

29 พ.ค. 50 - เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (28 พ.ค.) น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาปรับร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายหมวด โดยในวาระแรกเป็นการรับรองบันทึกการประชุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการกมธ.ได้รายงานผลการประชุมว่าที่ประชุมมีมติให้ตัด ม.68 วรรคสองออกไป

สดศรีทวง ม.68 วรรคสอง ชี้กรรมาธิการตัดทิ้งไม่แฟร์
ปรากฏว่านางสดศรี สัตยธรรม กมธ. ได้ท้วงขึ้นว่า เรื่องนี้ยังไม่เป็นมติของที่ประชุม มีแต่ท่านประธานบอกให้ตัดแล้วจะรับผิดชอบเอง ถือว่าเป็นมติของประธานคนเดียว ทั้งที่ตนขอให้โหวต และขอนับองค์ประชุมแต่ก็ไม่นับ ล่าสุดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หลายคนก็อยากให้มีการบรรจุมาตรานี้เอาไว้ และตนก็ขอแปรญัตติเอาไว้ด้วย ถ้า กมธ. ยกร่างฯ ตัดทิ้งไปอาจจะมีปัญหาในขั้นตอนการแปรญัตติ

นายสมคิด แจงว่า ในวันที่นางสดศรีเสนอให้โหวตนั้นฝ่ายเลขาฯได้นับองค์ประชุมแล้วมีผู้เข้าร่วมประชุม 24 คน สามารถลงมติได้ แต่ประธานขอให้ไม่ลงมติ และเสียงส่วนใหญ่และประธานขอให้เอาออกไปก่อนเพื่อทำต้นร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม แม้จะเอาออกไปก่อนแต่ ส.ส.ร.ก็สามารถแปรญัตติให้กลับมาได้ตลอด

ด้านนางสดศรี ได้ขอให้ฝ่ายเลขาฯบันทึกลงไปในบันทึกการประชุมว่าตนยังขอสงวนเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งนายสมคิด ก็ยอมรับจะบันทึกให้

ประสงค์จะเพิ่มเจตจำนงให้-ตั้งข้อสังเกตข้อเสนอ "องค์กรกลาง" คล้าย ม.68 วรรค 2
ในที่สุด น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ตนจะเพิ่มเจตจำนงในบันทึกการประชุมตามที่นางสดศรีต้องการ และขอชี้แจงว่าที่ไม่ให้โหวตนั้นเพราะเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งกันโดยไม่จำเป็น แต่ที่ตนให้ตัดออกไปก่อนนั้นเพราะเห็นว่าถึงตัดออกไปแล้ว ส.ส.ร. ก็ยังมีช่องทางที่จะแปรญัตติกลับมาอีก

"ขอเรียนตรงๆ ว่าเหตุการณ์ความชุลมุนใน 2-3 วันนี้มีนักการเมืองและนักวิชาการ ออกมาพูดว่าควรมีองค์กรกลาง หรือคณะบุคคลมาพบกันเพื่อหาทางออก ฟังดูแล้ว ก็เป็นลักษณะขององค์กรแก้วิกฤตตาม ม.68 วรรคสองเหมือนกัน ทีตอนที่ไม่เหตุการณ์ไม่มีใครพูดถึง อยากให้ตัดออกกันทั้งนั้น แต่พอเกิดวิกฤตที่ดูท่าทางจะวุ่นวายก็มาต้องการ ม.68 วรรคสอง" น.ต.ประสงค์ กล่าว

พร้อมทั้งกล่าวว่า ก่อนที่จะเริ่มประชุมได้มีสื่อถามตนถึงเหตุการณ์วุ่นวายว่าจะกระทบต่อการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตนก็ตอบไปว่าไม่กระทบการร่างแต่จะกระทบต่อการลงประชามติ ถ้ามีการทำ และจะไปกระทบการเลือกตั้งปลายปี

"ที่วุ่นวายชุลมุนกันอยู่นี้ ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ทหารจะดูแล เรื่องนี้เกิดจากพวกผีไม่มีศาล สมภารไม่มีวัด คนเดียวเท่านั้น เร่ร่อนอยู่เนี่ย เพราะความเคลื่อนไหวทุกอย่างใช้เงินทั้งนั้น อย่างที่ คมช.เคยบอกว่ามีการจ้างมอเตอร์ไซค์คนละ 200 บาท ถามว่าใครว่าจ้าง และเอาเงินมาจากไหน ผมว่าควรยุติได้แล้วสำหรับความวุ่นวาย" น.ต.ประสงค์ กล่าว

ประสงค์ยังไม่ให้หารือ ม.96 รอดูคำสั่งยุบพรรค วิชายันรอการเมืองนิ่ง เกรงถูกเชื่อมโยง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายสมคิดได้เสนอให้พิจารณา ม.96 ที่ว่าด้วยคุณสมบัติต้องห้ามของกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบพรรคไม่มีสิทธิลงเลือกตั้งได้ แต่ปรากฏว่า น.ต.ประสงค์ ได้ตัดบทไม่ให้มีการหารือกัน โดยกล่าวว่า "มาตรานี้ขอให้รอดูว่าจะยุบพรรคอย่างไรค่อยว่ากันอีกที หลังวันที่ 30 พ.ค.จึงจะมาพิจารณากัน"

นายวิชา มหาคุณ กมธ. กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้นายจรัญ ภักดีธนากุล เสนอมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะเสนอเมื่อตอนตัดสินยุบพรรค แต่ฝ่ายเลขาฯไม่บรรจุลงไป จึงต้องมาทวงถามภายหลัง แต่พอเสนอตอนนี้กำลังมีเรื่องยุบพรรค เราจึงเห็นว่าควรต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปหลังการตัดสินคดียุบพรรคก็เพราะต้องการคลี่คลายความกดดันของ กมธ.ยกร่างฯ ที่ถูกมองว่าเราร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะตัดสิทธินักการเมืองสองพรรคใหญ่

"เรื่องนี้เป็นหลักทั่วไป ไม่ได้เจาะจงใช้กับพรรคไทยรักไทยหรือประชาธิปัตย์ และ กมธ.ยกร่างฯ ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยในหลักการ แต่ขอให้เลื่อนไปหลัง 30 พ.ค.เพราะอยากให้การเมืองนิ่งจึงจะพิจารณากัน ไม่อยากมีการเชื่อมโยงกัน เพราะในที่สุดแล้วศาลอาจจะไม่ยุบพรรคใดเลยก็ได้" นายวิชา กล่าว

"วิชา" ชูจุดขาย รธน.50 ให้ ปธ.ศาลเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ
สำหรับประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางคือ องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ที่กำหนดไว้ 5 คน คือประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานองค์กรอิสระโดยให้คัดเลือกกันเองเหลือ 1 คนนั้น

นายวิชา มหาคุณ กมธ. ยืนยันว่า การที่กำหนดให้ประธานศาลเข้ามาทำหน้าที่กรรมการสรรหาองค์กรอิสระนี้ ถือเป็นจุดขายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งในการรับฟังความเห็นของประชาชนในเวทีต่างๆ ก็ไม่มีใครคัดค้าน อีกทั้งยังสนับสนุนว่าเป็นแนวทางการแก้ปัญหา รวมถึงจากโพลในที่ต่างๆ ก็สนับสนุนมาก

"เท่าที่ฟังก็มีแต่องค์กรศาลที่เราเพิ่มอำนาจให้เขาเท่านั้นที่คัดค้าน แต่ราจะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาก็จำเป็นจะต้องวางหลักการตรงนี้ไว้ และเปลี่ยนแปลงใดๆก็ต้องตอบคำถามให้ประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดนี้ให้ได้ ว่ามีเหตุผลอะไรถึงปรับแก้ ไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับเราร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่ตั้งใจ และไม่รับฟังประชาชนอย่างแท้จริง"

กมธ.สายศาลยัน ศาลไม่อยากยุ่งการเมือง แต่จำเป็นเพราะประเทศชาติต้องมาก่อน
ด้านนายนุรักษ์ มาประณีต กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาและตุลาการรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เข้าใจว่าศาลเองไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่เรื่องของประเทศชาติจะต้องมาก่อน ซึ่งการเข้ามามีส่วนร่วมของศาลในเรื่องเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาก็ไม่ได้หมายถึงจะเข้าไปในกระบวนการตุลาการภิวัตน์แต่อย่างใด เพราะอย่างรัฐธรรมนูญปี 40 เองก็กำหนดให้ประธานศาลฎีการ่วมเป็นกรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระอยู่แล้ว ซึ่งการเลือกบุคคลใดเข้ามาทำหน้าที่ก็ไม่ใช่หมายความว่าศาลจะต้องไปรับผิดชอบการกระทำใดๆของบุคคลนั้น อีกทั้งไม่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีแต่อย่างใด

"ผมเห็นการว่าการกำหนดให้กรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว เพราะเราต้องการสรรหาคนที่มีความเป็นกลางเข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการองค์กรอิสระ ซึ่งสถาบันศาลเองก็เป็นสถาบันที่ให้ความเชื่อมั่นกับสังคมได้ ซึ่งเมื่อกรรมการสรรหาฯได้รับความน่าเชื่อถือคนดีมีความสามารถก็อยากเข้ามาสมัคร แต่ถ้าระบบการสรรหาล้มเหลว องค์กรอิสระล้มเหลว ประเทศชาติก็ล้มเหลว เหมือนกับว่าโจรทำความผิดแต่ไม่มีตำรวจไปจับ คนที่มาเป็นกรรมการองค์กรอิสระจึงจะต้องเป็นคนที่ดีที่สุด ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดอย่างที่ผ่านมา"นายนุรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายนุรักษ์ อภิปรายจบ น.ต.ประสงค์ ได้กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า "พูดอย่างนี้แสดงว่ายุบล่ะสิ" ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะได้ทั้งห้องประชุม ทำให้นายนุรักษ์ ถึงกับยิ้มและรีบปฏิเสธว่า "เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับยุบหรือไม่ยุบครับ" ทำให้น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า "ผมกระเซ้าเล่นเฉยๆ น่ะครับ"

อัครวิทย์แนะศาลไม่อยากเข้าสรรหาทางตรง ก็ใช้ทางอ้อม - แต่ที่สุดก็แขวนไว้ 7 มิ.ย.
จากนั้นนายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ กมธ.ยกร่างฯ และรองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า หากศาลเองไม่ต้องการที่จะทำหน้าที่สรรหาด้วยตัวเองโดยตรง จะสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นการเลือกโดยอ้อมได้หรือไม่ อาทิ ให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลรัฐธรรมนูญ เลือกตัวแทนมาทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหาฯ มาสายละ 3 คน รวมกับประธานสภา และผู้นำฝ่ายค้าน ก็เป็น 11 คนซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสม

ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม กมธ.ยกร่างฯ ได้เสนอให้เพิ่มสัดส่วนของอัยการเข้าไปในกรรมการสรรหาฯด้วย เนื่องจากจะผลักดันให้อัยการเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยนายวุฒิสาร ตันไชย กมธ.ยกร่างฯ ได้เสนอให้แขวนไว้ก่อนเพื่อรับฟังความเห็นจาก 12 องค์กรก่อน ซึ่งที่ประชุมก็แขวนไว้ตามข้อเสนอ

แต่ในที่สุดเรื่องนี้ก็ถูกแขวนไว้เพื่อไปหารือต่อในวันที่ 7 มิ.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมได้หารือในอีกหลายประเด็น อาทิ เรื่องขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญกับศาลยุติธรรม หรือขอบเขตอำนาจของ ก.ก.ต. กับศาล รวมถึงอำนาจกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีสิทธิฟ้องร้องแทนประชาชนที่เสียหายได้  รวมถึงการเพิ่มเติมกลุ่มบุคคลในส่วนของกากระทำที่เป็นการขัดแห่งผลประโยชน์ ซึ่งก่อนหน้านี้กำหนดเพียง ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งมีการเสนอให้เพิ่มผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปด้วย

ที่ประชุมเสนอกำหนดเวลาขั้นต่ำแก้ไข รธน. ประสงค์แนะไม่อยากให้ล็อก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้พิจารณาในมาตรา มาตรา 282 ในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร และนายไพโรจน์ พรหมสาส์น กมธ.ยกร่างฯ ได้เสนอให้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ แต่ กมธ.หลายคนไม่เห็นด้วย โดย น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ถ้าไปกำหนดระยะเวลาไว้จะไม่เป็นการผ่อนคลาย และถูกกล่าวหาไม่เป็นประชาธิปไตย

"วันนี้เราร่างให้เขา ถ้าเขาได้รับการเลือกตั้งมาวันแรกมาเป็นรัฐบาล ก็ให้ประชาชนเข้าชื่อแก้ไขได้ เพื่อเป็นการลดความกดดันต่างๆ ที่มีต่อรัฐธรรมนูญด้วย แต่ถ้ากำหนดวันแก้ไขไว้เหมือนบ้านเมืองยังต้องมีการบังคับกันอยู่" น.ต.ประสงค์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่สำคัญส่วนใหญ่เช่นที่มาของส.ว. หรือระบบการเลือกตั้งส.ส.ไม่มีการพิจารณากันในการประชุมครั้งนี้โดยแขวนไว้ไปพิจารณาในวันที่ 7 มิ.ย.หลังจากที่ได้ทราบประเด็นที่ส.ส.ร.ขอแปรญัตติทั้งหมดแล้ว รวมทั้งได้สรุปความเห็นของ 12 องค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยทั้งหมดแล้ว


เจิมศักดิ์แฉสำเนาเช็คจากพระสั่งจ่าย ส.ส.ร.
ขณะที่การประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. วานนี้ (28 พ.ค.) มีการรับทราบรายงานการดำเนินการของคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วม และการประชามติ ที่มีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธาน โดยนายเจิมศักดิ์ ขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ช่วยพิจารณาความเห็นของประชาชน ที่ออกไปรับฟังมาอย่างละเอียด เนื่องจากบางแห่ง โดยเฉพาะในภาคอีสาน มีกระบวนการจัดนำคนเพื่อให้ผลการรับฟังความเห็นคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ทำให้นายเศวต ทินกูล สสร.จากภาคอีสาน ไม่พอใจและสอบถามถึงสาเหตุที่นายเจิมศักดิ์ กล่าวหา นายเจิมศักดิ์ จึงนำสำเนาเช็คของขวัญที่สั่งจ่ายเป็นเงินสดใบละ 5 พันบาท ที่สั่งจ่ายโดยพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งไปให้กับ ส.ส.ร.ไม่น้อยกว่า 3 ฉบับ เพื่อสนับสนุนให้แปรญัตติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ นอกจากนี้ยังมีเทปบันทึกเสียง ที่มีการขู่ว่า หากต้องการเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.หลังจากเป็น ส.ส.ร.แล้ว ให้สนับสนุนการแปรญัตติดังกล่าว รวมถึงคำพูดของนายเศวตที่ระบุว่า การขอแปรญัตติดังกล่าวมีแต่ได้กับได้

พิเชียรลุกขึ้นแจงน้ำตานองหน้า ยันเคลื่อนไหวบริสุทธ์ใจตามคำสั่งเสีย "สัญญา ธรรมศักดิ์"
อย่างไรก็ตาม การนำสำเนาเช็คของขวัญดังกล่าวออกมาเปิดเผย ทำให้นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ที่เสนอคำแปรญัตติ ลุกขึ้นชี้แจงว่า การเสนอคำแปรญัตติของตัวเองนั้นบริสุทธ์ใจ เพราะต้องการรักษาพระพุทธศาสนาตามคำสั่งเสียของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงกับหลั่งน้ำตา เพราะรู้สึกอึดอัดใจจากกรณีขอเสียงสนับสนุนการแปรญัตติที่ยังขาดอีก 1 - 2 คน จึงอยากขอโอกาสจากเพื่อนสมาชิกให้ตนเองได้แปรญัตติจากเรื่องดังกล่าว

ขณะที่นายเศวต ไม่พอใจและท้าให้นายเจิมศักดิ์ เปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับเช็คของขวัญดังกล่าว และกล่าวหานายเจิมศักดิ์ ทำตัวเป็นมาเฟียคอยดักฟังและบันทึกเทปคำพูดของบุคคลอื่น จนทำให้ประธานที่ประชุมต้องปิดไมโคโฟนและขอให้ยุติก่อนเหตุการณ์จะบานปลาย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนายพิเชียร สามารถรวบรวมรายชื่อสมาชิกครบ 10 คนแล้ว ทำให้สามารถแปรญัตติในประเด็นดังกล่าวได้ ในวันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกำหนดยื่นคำแปรญัตติ

แผนเป่าปี่กลางสภา

"พิเชียร" ได้ผล ส.ส.ร. ใจอ่อนลงชื่อเพียบ

และเมื่อเวลา 15.30 น. วานนี้ (28 พ.ค. 50) ที่ห้องแถลงข่าวของรัฐสภา นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ร่วมกับ น.พ.ธีรวัฒน์ ร่มไทรทอง และนาย ช.ชัยนาท ศรีเสมาเมือง ส.ส.ร.รวมแถลงข่าวความเคลื่อนไหวในการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ


โดยนายพิเชียรกล่าวว่า การยื่นคำแปรญัตติรัฐธรรมนูญของตนและเพื่อนสมาชิกครั้งนี้เป็นความร่วมมือร่วมใจของ ส.ส.ร.หลายคนที่ให้กำลังใจตนและคณะและถือว่าเป็นการทำบุญครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในการแปรญัตติเพราะมีหลากหลายประเด็นที่สำคัญและอยู่ในความสนใจของประชาชน

โดยในมาตรา 2 นั้นตนขอเพิ่มเป็นบทบัญญัติที่ว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" และนอกเหนือจากนั้นเราก็จะให้ท่านผู้ร่วมแปรญัตติทั้ง 11 คนเสนอความคิดเห็นให้ ส.ส.ร.ทั้ง 100 คนได้พิจารณาส่วนผลจะเป็นประการใดเรามีความยินดีถ้าจะมาปรับเปลี่ยนร่วมกันให้เกิดการสมประโยชน์ที่สุดต่อส่วนรวมและก่อให้เกิดความสมานฉันท์ที่สุดและทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขที่สุด อย่างไรก็ตามยังอีกหลายมาตราที่ได้มีกาขอแปรญัตติอย่างไม่เป็นทางการมาไว้แล้ว ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นการ่วมมือช่วยกันให้ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นประโยชน์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งตนได้ไปยื่นคำขอแปรญัตติมาเรียบร้อยแล้ว นายพิเชียรกล่าว

น.พ.ธีรวัฒน์ยันร้อยละ 56-57 เสนอให้บรรจุ "พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ใน รธน.
ด้าน นพ.ธีรวัฒน์กล่าวว่า วันนี้เราได้หารือว่าประเด็นใดที่ประชาชนสนใจให้ความเห็นนำมาบรรจุซึ่งตนก็เป็น ส.ส.ร.ของภาคอีสาน จังหวัดกาฬสินธุ์ เราได้รับฟังมาเสียงส่วนใหญ่ประมาณ 56-57 เปอร์เซ็นต์ อยากให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติซึงเราประเมินแล้วว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบแต่เมื่อประชาชนจำนวนมากเห็นดังนั้นเราก็ต้องร่วมแปรญัตติให้เพราะมันเป็นหน้าที่ของเรา ยกตัวอย่างสภาเกษตรเราก็นำมาแปรญัตติให้ ก็เหลือสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เราจะทำการแปรญัตติอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเรารับฟังมาเราก็นำมาประมวลตัดสินในเลือกประเด็นกัน จึงเป็นจุดที่เราสนใจนำมาร่วมในการขอแปรญัตติ

ขณะที่นาย ช.ชัยนาท ศรีเสมาเมือง ส.ส.ร. กล่าวว่า โดยหลักการชัดเจนแล้วคือว่าเราต้องฟังว่าประชาชนเห็นว่าต้องการอย่างไร โดยส่วนตัวพี่น้องประชาชนจากจังหวัดชัยนาทอยากให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งตนอยู่ในกรรมาธิการภาคกลาง ถ้าภาคกลางไม่พูดถึงเรื่องพระพุทธศาสนาก็คงจะเป็นเรื่องที่แปลกๆ อยู่

"เราแตกต่างทางความคิดแต่เราไม่แตกแยก เพราะหากเราจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเราจะต้องมองอย่างใจกว่างจึงอยากฝากประชาชนไว้ด้วย" ส.ส.ร.ผู้นี้กล่าว

แหกโผ "จรัญ" เซ็นเป็นคนสุดท้ายอย่างเฉียดฉิว
นายพิเชียรกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้ใหญ่ที่อยู่ใน ส.ส.ร.เซ็นชื่อรับรองการแปรญัตติของตนและเพื่อนแล้วทั้งหมด 10 คนอาทิ นางสดศรี สัตยธรรม นายศรีราชา เจริญพานิช  นายศวต ทินกูล นายการุณ ใสงาม นายช.ชัยนาท ศรีเสมาเมือง นายเดโช สวนานนท์ นายอัครรัตน์ รัตนจันทร์ นายชาติชาย แสงสุข นายธีรวัฒ์ ร่มไทรทอง และนายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งนายจรัญได้กรุณาตนมากโดยบอกว่าถ้าไม่มีใครลงชื่อให้ก็ให้มาหาซึ่งท่านก็กรุณาในการรายชื่อให้พวกตน

"การแปรญัตติครั้งนี้ยากมากเลยคิดว่ากลุ่มอื่นๆ ก็เป็นเช่นเดียวกันแต่ ส.ส.ร.ทั้ง 100 คนก็จะยึดถือหลักของเหตุผลเป็นหลักใหญ่ ซึ่งตรงนี้กลุ่มเราได้พูดกันแล้วว่าอยากให้ทุกคนมีอิสระเสรีภาพในการโหวตและการขอแปรญัตติ" ส.ส.ร.ผู้นี้กล่าว

อ้ำอึ้ง "เจิมศักดิ์" แฉหลักฐานพระโอนเงินล็อบบี้ ชี้ไม่ต้องการตอบโต้ใคร
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและการประชามติ (ส.ส.ร.) กล่าวในที่ประชุมว่ามีกลุ่มพระโอนเงินให้ร่วมกันไปเคลื่อนไหวล็อบบี้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น

นายพิเชียรกล่าวว่า ประเด็นนั้นเป็นประเด็นที่นายเจิมศักดิ์พูดเราไม่มีความเห็นเพราะเราไม่อยากให้มีปัญหาใดๆ ระหว่างกันและอยากเรียกร้องให้มีความสมัครสมานสามัคคีให้ช่วยกันทำคุณงามความดีประเด็นเรืองอื่นๆ เป็นประเด็นเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องให้ ส.ส.ร. ออกมาโต้แย้งกัน อยากให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างดีที่สุด ซึ่งความเห็นส่วนตัวของตนเคารพเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส.ร.

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก ส.ส.ร.ไม่เห็นด้วยนายที่จะบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาตินายพิเชียรจะไปอธิบาย ให้ผู้ชุมนุมหยุดการเคลื่อนไหวใด ๆ หรือไม่นายพิเชียรกล่าวว่าการชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวใดๆ เป็นเรื่องของคนข้างนอกตนก็ดำเนินการได้ในเฉพาะส่วนของ ส.ส.ร. เท่านั้นและตนก็เคารพทั้ง ส.ส.ร. และกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวภายนอก ซึ่งตนก็จะพยายามบอกกล่าวว่าอย่าไปทำอะไรมากนัก เพราโดยเนื้อหาสาระเราจะเขียนอย่างไรเราก็ต้องรับฟังเนื้อหาสาระจะปรับเปลี่ยนอย่างไรก็พอจะพูดคุยได้

เจ๊ "สดศรี" เอาแน่ 3 เหล่าทัพร่วมแก้วิกฤตในมาตรา 68 วรรค 2
ผู้สื่อข่าวรายว่าการขอยื่นแปรญัตติของ ส.ส.ร.กลุ่มนี้มีข้อเสนอของนางสดศรี เรื่องการขอเติมข้อความในมาตรา 68 วรรค 2 ที่ระบุว่า"ในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤต เหตุการณ์คับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งในทางการเมือง ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฏีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานองค์กรอิสระ และผู้นำ 3 เหล่าทัพ เพื่อพิจารณาหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ในการแถลงข่าวของนายพิเชียร พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล แกนนำองค์กรชาวพุทธได้มายืนสังเกตการณ์การแถลงข่างด้วยตัวเอง

แกนนำองค์กรพุทธโต้ "เจิมศักดิ์" แฉข้อมูลบิดเบือนพระสงฆ์ล็อบบี้บรรจุพุทธฯ
โดย พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล แกนนำองค์กรชาวพุทธ กล่าวว่า หลังจากที่ ส.ส.ร. มีมติแปรญัตติในเรืองนี้แล้วกลุ่มพระก็เปลี่ยนรูปแบบการชุมนุม โดยจะไม่มาชุมนุมกันขนาดใหญ่โตมากมายแต่จะแยกย้ายกันกลับบ้านรอฟังข่าวในวันที่มีการแปรญัตติ ซึ่งตนเชื่อว่าในวันยกมือโหวตหากที่ประชุมเปิดให้มีการลงคะแนนแบบโหวตลับจะมี ส.ส.ร.จำนวนมากที่ยกมือให้พวกแน่และอาจะมากกว่า 60 เสียงด้วยซ้ำ

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากที่ประชุมมีมติในการโหวตไม่ให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติกลุ่มผู้ชุมนุมจะดำเนินการอย่างไรต่อ พล.อ.ธงชัยกล่าวว่า ตนคิดว่าประเด็นนี้จะต้องมีคนยกมือให้เป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน และเชื่อว่าจะผ่าน ซึ่งหาก ส.ส.ร. ยกมือให้ประเด็นนี้ไม่ผ่านตนก็จะไปปรึกษาหารือกับกลุ่มผู้ชุมนุมต่อว่าจะดำเนินการเช่นไรซึ่งในตอนนี้ยังไม่ได้คิด

ชี้โอนเงินให้กันปฏิบัติกิจสงฆ์เป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่ไหนก็โอนได้
เมื่อถามอีกว่ามองข้อมูลที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ส.ร. ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีการโอนเงินให้พระสงฆ์เพื่อเคลื่อนไหวในการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติว่า นายเจิมศักดิ์ก็พูดเกินไป เพราะการโอนเงินจากวัดหนึ่งไปอีกวัดหนึ่งอาจเป็นการโอนเพื่อนำไปประกอบกิจกรรมทางสงฆ์ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปรกติ

ส่วนการที่อาจารย์เจิมศักดิ์พยายามออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีกลุ่มคนจัดตั้งไปตามเวทีต่างๆ ในการขอแปรญัตตินั้นเป็นเพราะว่าประชาชนรู้สึกอึดอัดเพราะนายเจิมศักดิ์เป็นผู้ดำเนินรายการที่ชอบชี้นำไม่มีความเป็นกลาง บางเวทีเปอร์เซ็นต์ของประชาชนที่ต้องการให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติมีจำนวนมาก แต่นายเจิมศักดิ์ก็กลับสรุปให้มีตัวเลขที่แตกต่างออกไปประชาชนก็เลยต้องทำความจริงให้ปรากฏ

เมื่อถามต่อว่ามี ส.ส.ร. หลายคนที่กลุ่มองค์กรชาวพุทธเคยออกมาเปิดเผยว่าเขาไม่เห็นด้วยให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติแต่วันนี้เขากลับมาลงรายชื่อให้ได้แปรญัตติมองเรืองนี้อย่างไร พล.อ.ธงชัยกล่าวว่า เป็นเรืองที่เหนือความคาดกมายมาก เพราะมีหลายคนที่เคยคัดค้านเราเต็มที่เช่นกัน แต่ก็กลับมาลงรายชื่อให้เรา ตนอยากขอบคุณ ส.ส.ร. เหล่านี้มากเช่นนางสดศรี นายจรัญ ซึ่งตนเชื่อว่าในวันลงคะแนนโหวตประเด็นนี้จะยิ่งมีคนที่เห็นด้วยกับเรามากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ประสงค์" จี้รัฐงัดไม้แข็งสยบม็อบคดียุบพรรค, ประชาไท, 28/5/2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท