Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 30 พ.ค. 50 วันนี้(29 พ.ค.) เครือข่ายสุขภาพและการพัฒนา คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ภาคเหนือ(กพอ.เหนือ) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคเหนือตอนบน เครือข่ายศาสนา,มูลนิธิสภาคริสเตียนแห่งเอเชีย และองค์กรพันธมิตร ร่วมจัดเวทีเสวนาเรื่อง "การประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาสามารถช่วยผู้ป่วยได้จริงหรือ ?" ที่ โรงแรมรัตนโกสินทร์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่


 


นายอนันต์ เมืองมูลชัย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคเหนือตอนบน ได้อ่านแถลงการณ์สนับสนุนการใช้มาตรการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐหรือ CL โดยแถลงการณ์ระบุใจความว่า ในเดือน พ.ย.2549 มีการประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาโดยกระทรวงสาธารณสุขไทยกับยารักษาโรคเรื้อรัง 3 ชนิดคือยาต้านไวรัสเอชไอวี-แอฟฟาไวเรนซ์และคาเล็ตตรา กับยาโรคหัวใจ-พลาวิกส์ซึ่งเป็นยาที่ถูกผูกขาดโดยบริษัทยาข้ามชาติและขายในราคาแพงเกินจริง


 


นับเป็นความกล้าหาญและน่าชื่นชมของรัฐบาลไทยและกระทรวงสาธารณสุขที่เห็นวิถีชีวิตของประชาชนมาก่อนผลประโยชน์ทางการค้า แต่กลับถูกข่มขู่จากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่กล่าวหาว่าไทยขาดความโปร่งใสในการประกาศใช้สิทธิดังกล่าวและใช้สิทธิในสิทธิบัตรกับยาหลายตัว และด้วยความไม่พอใจของสหรัฐต่อการประกาศใช้มาตรการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรของประเทศไทยที่ได้ทำอย่างถูกต้องตามข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก สหรัฐจึงได้ทำทุกวิถีทางในการสร้างเงื่อนไขบีบบังคับประเทศไทยให้ยกเลิกการประกาศบังคับใช้สิทธิ


 


ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคเหนือตอนบน กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าว เราขอแสดงจุดยืนในข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ขอสนับสนุนการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาของกระทรวงสาธารณสุขไทยว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องชอบธรรม แสดงให้เห็นถึงแนวทางการบริหารประเทศที่เอาชีวิตของประชาชนมาก่อนตัวเลขทางเศรษฐกิจ และขอให้กระทรวงสาธารณสุขยึดมั่นในจุดยืนแม้ว่าจะถูกข่มขู่และกดดันจากสหรัฐเพราะการกระทำครั้งนี้ของไทยถือเป็นตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนาที่ต่อสู้กับประเทศมหาอำนาจ


 


2.นายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ต้องออกมาแสดงจุดยืนและทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของสหรัฐและชี้แจงความถูกต้องในมาตรการดังกล่าว และ


 


3.เครือข่ายประชาชนภาคเหนือขอประนามการกระทำของสหรัฐที่มีจุดประสงค์เพียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมและความเป็นมนุษย์ และขอเรียกร้องให้เครือข่ายประชาชนทั่วโลกร่วมกันประนามและต่อต้านพฤติกรรมของสหรัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่นๆโดยเฉพาะการลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงยาของประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั่วโลก


 


ในขณะที่ นายจอน อึ้งภากรณ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวในเวทีเสวนาว่า การประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาเป็นมาตรการที่ถูกต้อง และเป็นสิทธิที่เราทำได้ เพราะเราใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระบบประกันสังคมและประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถให้บริการยาที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก ซึ่งมาตรการบังคับใช้สิทธินี้ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของผู้ป่วยเอดส์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องการบังคับใช้สิทธิกับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง หรือโรคเบาหวานด้วย


 


"เรื่องสิทธิเหนือสิทธิบัตรยาจึงเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน อาจไม่ใช่ตอนนี้ แต่อาจจะอีก 10-20 ปีข้างหน้าที่หลายครอบครัวอาจมีผู้ป่วยเรื้อรัง หากไม่ต่อสู้เรื่องนี้ ก็จะต้องรักษาด้วยยาราคาแพง เพราะมีการผูกขาดราคายาโดยบริษัทที่ถือสิทธิบัตร อย่างยาโรคหัวใจที่เราใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเป็นยาราคาเม็ดละ 70 บาทซึ่งคนเป็นโรคหัวใจหรือเส้นเลือดตีบตันต้องการยานี้มาก แต่หลังจากเราใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเราสามารถซื้อได้ในราคาเม็ดละประมาณ 5 บาทเท่านั้น ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วประเทศมีโอกาสเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพในการลดโอกาสเสี่ยงแก่เขาได้


ดังนั้น การที่เราใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิครั้งนี้ เป็นสิทธิที่เราสร้างความชอบธรรมให้กับสังคมไทย"


 


นายจอน กล่าวต่อว่า แต่ปัญหาในปัจจุบันคือความไม่เข้าใจของสังคมไทยต่อเรื่องนั้นกล่าวนั้นยังมีอยู่ โดยเฉพาะกรณีการคัดค้านด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการเสียผลประโยชน์ทางการค้าบางอย่างจากต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องต่อสู้ต่อไปคือการสร้างความเข้าใจและการสนับสนุนการใช้มาตรการบังคับการใช้สิทธิอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งตนเชื่อว่าหากเราแพ้ในเรื่องนี้ไม่ได้แพ้เพราะสหรัฐจะกดดันทางการค้า แต่จะแพ้เพราะความเห็นไม่ตรงกันของคนในสังคม


 


นอกจากนี้ นายจอน กล่าวอีกว่า หากประเทศไทยไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ได้ก็จะทำให้ประเทศอื่นๆในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไม่กล้าใช้มาตรการนี้ด้วย และนั่นย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตคนในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ที่อาจมีโอกาสเสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงยาหลายล้านคน


 


นายจอน ยังกล่าวอีกว่า ที่สหรัฐออกมาโวยวายก็เพราะว่า สหรัฐนั้นพึ่งพางบประมาณจากสิทธิบัตรทางการค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งบริษัทยาในสหรัฐนั้นมีอิทธิพลมากต่อรัฐบาลสหรัฐ ดูได้จากรัฐบาลของบุช หรือคลินตัน ต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยาในการเลือกตั้งทั้งสิ้น แต่จริงๆ แล้ว ในตอนนี้ที่สหรัฐเอง ก็มีกลุ่มนักศึกษาและมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ออกมาเป็นแนวร่วมกับไทย เพราะเห็นว่าเราทำถูกต้องแล้ว นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มผู้ผลิตยาหลายๆ คนไม่พอใจสหรัฐ ที่ผลิตยาขึ้นมาแล้ว แต่ไม่ได้นำไปใช้ช่วยเหลือชีวิตผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เรื่องสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ตนถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งจะต้องร่วมกันยืนหยัดที่จะใช้มาตราการใช้สิทธินี้ต่อไป


 


ด้าน ดร.ประเวศน์ คิดอ่าน เลขาธิการมูลนิธิคริสเตียนแห่งเอเชีย กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้องค์กรด้านจริยธรรม องค์การศาสนาออกมาได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา เพราะถือว่านี่เป็นเรื่องของการเอาชีวิตมนุษย์ ของผู้ป่วยเป็นเดิมพัน เนื่องจากขณะนี้มีประชาชนทั่วโลกประมาณ 39.5 ล้านคนที่กำลังเผชิญกับโรคที่ไม่มียารักษา โดยเฉพาะเอเชียมีจำนวนมากถึง 7.8 ล้านคน และในประเทศไทยมีประมาณ 5-8 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนยากจน และไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิบัตรยาเหล่านี้


 


"เพราะฉะนั้น การปกป้องชีวิต จึงเป็นพื้นฐานของแต่ละบุคคลที่จะออกมาใช้สิทธินั้น และจำเป็นต้องมีองค์กรทางสังคม องค์กรทางจริยธรรม องค์กรศาสนาออกมาร่วมกันเพื่อมีส่วนร่วมฟื้นฟูชีวิตผู้คนด้วย"


 


 


ข้อมูลประกอบ


สำนักข่าวประชาธรรม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net