Skip to main content
sharethis

เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของ 12 องค์กรที่ยื่นให้กรรมาธิการยกร่างฯ พิจารณา โดยมีน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน ทั้งนี้ ในการพิจารณารายมาตรา กรรมาธิการยกร่างฯ มีความเห็นให้ยืนตามร่างเดิม และให้ความเห็นของ 12 องค์กรตกไป อาทิ การเสนอให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนมาตรา 299 นั้นยังให้คงไว้ตามร่างเดิม



นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการที่กกต.เสนอให้เพิ่มบทบัญญัติว่า หากหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นกับการซื้อสิทธิขายเสียงให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จะให้ถือว่าพรรคนั้นกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งจะมีผลต่อการยุบพรรคตามกฎหมายได้ ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ จะรับไปใส่ในร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อเสนอเรื่องที่มาของส.ส.และส.ว.นั้น ที่ประชุมได้นัดหารืออีกครั้งวันที่ 1 มิ.ย. โดยรอผลการพิจารณายุบพรรคในวันที่ 30 พ.ค.นี้



รายงานข่าวจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและการประชามติ ส.ส.ร. มีเอกสารการโอนเงินให้กับกลุ่มพระสงฆ์ เพื่อออกมาร่วมเคลื่อนไหวกดดันให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ โดยเป็นเช็คของขวัญของธนาคารนครหลวงไทย สั่งจ่ายโดยวัดใหญ่ชื่อดังย่านปทุมธานี เป็นเงินสด 5,000 บาท ลงวันที่ 20 เม.ย. 2550 โอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ธนาคารของพระสงฆ์หลายรูปในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกรรมาธิการจะตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ต่อไป



เวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐฐวัฒน์ สุทธิโยธิน ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมอนุมัติงบฯ 2,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ โดยให้กกต. 1,500 ล้านบาทเศษ เพื่อดำเนินการออกเสียงประชามติ และให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนฯ 499,719,300 บาท ใช้ประชาสัมพันธ์การออกเสียงลงประชามติ และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน



 


"กมธ.ยกร่างฯ" ไม่ตัดสิทธิย้อนหลัง ปล่อย นายกฯนั่งไม่จำกัดวาระ แต่ไม่เกิน 8 ปี


เวลา 10.00 น. น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุมกมธ.ยกร่างฯ เพื่อปรับเนื้อหารัฐธรรมนูญภายหลัง 12 องค์กรตามรัฐธรรมนูญได้เสนอความเห็นมายังกมธ.ยกร่างฯ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือที่ประชุมเห็นชอบให้ย้ายม.82 ที่ระบุว่ารัฐต้องส่งเสริม สนับสนุนให้มีการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปเป็นหนึ่งในอนุมาตราของ ม.77 ที่ว่าด้วยเรื่อง การบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน โดยรัฐต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ


ที่ประชุมได้แก้ไข มาตรา 167 วรรค 3  ว่าด้วย วาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่กำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 2 วาระหรือเกินกว่า 8 ปีมิได้ ซึ่งที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่าควรตัดคำ ว่า "2วาระ" ออก เป็นนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีมิได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่ นายจรัญ ภักดีธนากุล รองประธานกมธ.ยกร่าง ให้เหตุผลว่า เพราะการเมืองไทยนั้นมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และมียุบสภาอยู่บ่อยครั้ง ต่างกับประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่มีวาระตายตัว ถ้ากำหนด 2 วาระจะทำให้เราต้องหานายกฯ ใหม่บ่อยๆ และในช่วงที่หานายกฯ นั้นส่วนใหญ่จะเกิดความวุ่นวาย ดังนั้นเสนอเขียนว่า ไม่เกิน 8 ปีโดยไม่จำกัดวาระว่าจะอยู่มากเท่าใด


ในช่วงท้าย นายสมคิด แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอนัดประชุมวันที่ 1 มิถุนายน โดยในช่วงเช้า กมธ.ต้องตกลงประเด็นสำคัญให้ได้ อาทิ ส.ส. ส.ว. กรรมการสรรหา บำเหน็จบำนาญ ส.ส. ส.ว. มาตรา 186 เรื่องการทำสนธิสัญญากับนานาประเทศ รวมถึงมาตรา 96 ว่าด้วยคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. กรณีเป็นกรรมการบริหารพรรคของพรรคที่ถูกศาลตัดสินยุบพรรคมาไม่เกิน 5 ปี และในช่วงบ่าย กมธ.จะพิจารณาคำแปรญัตติของ ส.ส.ร. ทั้งนี้ ที่ประชุมปิดประชุมเวลา 12.00น.


หลังการประชุม นายสมคิด ให้สัมภาษณ์ว่า เขาและนายจรัญ ภักดีธนากุลได้พูดคุยกันและเห็นตรงกันว่า การกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบลงสมัคร ส.ส.ในมาตรา 96 นั้นหากศาล รัฐธรรมนูญได้พิจารณาตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามประกาศของคปค.ฉบับที่ 27 เราก็จำเป็นที่จะต้องเขียนบทเฉพาะกาลไว้ให้มาตรานี้จะไม่มีผลย้อนหลังแต่จะมีผลหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้น เพราะไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญเขียนกฎหมายลงโทษหนักกว่าคำพิพากษาของศาลและป้องกันข้อครหาว่ากมธ.กลั่นแกล้งบางพรรคการเมือง


"การพิจารณาคดียุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลมีหน้าที่ตัดสินเพียงว่าจะยุบพรรคหรือไม่เท่านั้น ขณะที่คุณสมบัติของ ส.ส.นั้นต้องเป็นไปตามประกาศที่คปค.ฉบับที่ 27 กำหนดไว้ และเชื่อว่ากรรมการบริหารก็รู้อนาคตตัวเองว่าถูกตัดสิทธิคงไม่มีใครกล้าไปสมัคร เพราะในที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เขาก็คงจะไม่รับ เพราะขัดต่อประกาศ คปค.นอกจากจะลองของหรือต้องการเอาเรื่องไปฟ้องศาลฎีกาภายหลัง"นายสมคิด กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net