Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 4 มิ.ย.2550 กลุ่มม็อบและแกนนำนักศึกษาหลายพันคน ยังคงปักหลักชุมนุมมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ยืดเยื้อเป็นวันที่ 4 โดยตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมได้จัดกิจกรรมปราศรัยทั้งเป็นภาษาไทย ภาษามลายู สลับกิจกรรมร้องเพลงและพูดคุยถึงสถานการณ์ต่างๆ จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น.ทางกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้จัดขบวนออกเดินมาภายนอกมัสยิดกล่าวปราศรัย จากนั้นมีการเคลื่อนขบวนไปตามถนนยะรังและถนนนาเกลือ จนถึงหน้าห้างสรรพสินค้าไดอาน่า โดยมีการแจกแถลงการณ์และข้อเรียกร้องให้กับประชาชนที่ผ่านไปมา ระหว่างการเดินขบวน มีผู้ชุมนุมเป็นลม 3 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปัตตานี เนื่องจากอากาศร้อนจัด


 



 


ส่วนความคืบหน้าของการเจรจาระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับตัวแทนฝ่ายทางการนั้น หลังจากที่ฝ่ายรัฐรับข้อเสนอที่จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามาที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องนั้น ได้ข้อสรุปว่า จะมีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นของผลการเจรจา ซึ่งระบุว่า จะให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) แต่งตั้ง คณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรม เพื่อร่วมตรวจสอบกรณีเหตุต่างๆ ที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ


 


ตั้ง 45 กรรมการสอบ 21ข้อกล่าวหาทหาร


สำหรับคณะกรรมการชุดดังกล่าวประกอบด้วยที่ปรึกษา 4 คน ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีนากุล, นายโสภณ สุภาพงษ์, นายสุรสีห์ โกศลนาวิน และนางจิราพร บุนนาค


 


ส่วนกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐ ภาคประชาชน ตัวแทนนักศึกษา 45  คน มี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เป็นประธาน


 


ตัวแทนนักศึกษา นายตูแวดานียา ตูแวแมแง, นายมูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ


 


ตัวแทนภาคประชาชน นายอับดุลเลาะห์ อับรู, นายอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์, นายอนันตชัย ไทยประธาน, นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ, นายอนันต์ ไทยสนิท, นายนิรามาน สุไลมาน, นางอังคณา นีละไพจิตร, นางโซรยา จามจุรี, นางสาวนารี เจริญผลพิริยะ, นายสมชาย สัตยะวันต์, พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม, นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน, นางรอซีด๊ะ ปูซู, นายปิยะ กิจถาวร, พระไพศาล วิสาโล, นายอิสมาแอ ซาและ, นายดุลย์ หวันสกุล, นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ, นางรัตติยา สาและ, นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล และ นายต่วนบูคอรี โต๊ะคูบา


 


ตัวแทนศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ฯ สภาทนายความ, ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา, ตัวแทนอัยการจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา, ตัวแทนทหารในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา, ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา นราธิวาส และสงขลาหรือผู้แทน มีตัวแทนผู้บังคับการจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เป็นกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขาธิการ


 


ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนที่เสนอโดยผู้ชุมนุม 29 คน เสนอโดยรัฐ 16 คน


 


คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีอันควรแก่การสงสัยว่าประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอความร่วมมือต่อหน่วยงานต่างๆ ให้มาชี้แจงหรือตอบข้อซักถาม รวมทั้งส่งมอบเอกสารตามขอบเขตของกฎหมาย  จัดทำรายงานสรุปเพื่อเสนอต่อ ผอ.รมน.ภาค 4 เพื่อดำเนินการต่อไป เป็นต้น


 


นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ประธานเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน ระบุว่า กลุ่มนักศึกษาจะสลายการชุมนุมเมื่อได้เห็นคำสั่งการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ขณะนี้การชุมนุมจะยังปักหลักต่อไป จนกว่าจะมีความชัดเจน


 


สำหรับเหตุการณ์ที่ตัวแทนนักศึกษาได้ยื่นข้อมูลที่จะให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง มี 21 กรณี เช่น การกราดยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 รายที่บ้านบาสาลาแป ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เหตุการกราดยิงศูนย์ดะวะ ตำบลกาตอง อำเภอยะหา เหตุการณ์ยิงถล่มปอเนาะบ้านควนหรัน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เป็นต้น


 



 


ม็อบคนเมืองโผล่ไล่


ขณะเดียวกัน เวลาประมาณ 16.00 น. กลุ่มประชาชนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ประมาณ 200 คน ใช้ชื่อว่ากลุ่มพลังมวลชนปัตตานี มีทั้งไทยพุทธและมุสลิม ได้รวมตัวกันที่หน้าลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดปัตตานีเพื่อเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีสลายตัว เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถทำมาหากินได้


 


จากนั้น ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปตามถนนสายต่างๆ ผ่านตลาดโต้รุ่ง ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีก่อนจะวกกลับมาที่หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานีอีกครั้ง เพื่อยื่นข้อเรียกถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี โดยมีนายวินัย คุรุวรรณพัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีออกมารับแทน


 


ระหว่างเดินขบวน มีการปราศรัยเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีรีบสลายตัว โดยระบุว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่มาสร้างความเดือดร้อนในกับคนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เพราะทำให้ไม่สามารถสัญจรผ่านเส้นทางที่อยู่ใกล้มัสยิดกลาง เพราะเจ้าหน้าที่ต้องปิดถนน เพื่อมิให้มีชาวบ้านเข้าไปชุมนุมเพิ่ม รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนให้พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการที่อยู่ใกล้ที่ชุมนุม เพราะไม่กล้าเปิดร้าน รวมทั้งมีการร้องตะโกน ออกไปๆ เป็นระยะๆ


 


ส่วนข้อเสนอที่ยื่นต่อนายวินัย ประกอบด้วย ให้ผู้ชุมนุมรีบสลายตัว และขอให้ผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่คนในพื้นที่รีบออกจากพื้นที่ด้วย เพราะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในพื้นที่อย่างหนัก โดยแกนนำผู้ชุมนุมระบุว่า มีชาวบ้านมาร้องเรียนด้วยว่า ชาวมุสลิมที่อยู่ในบริเวณนั้นไม่กล้าเข้าไปละหมาด โดยเฉพาะเมื่อวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2550 พวกตนจึงคิดจะจัดชุมนุมมาตั้งแต่วันนั้น แต่พยายามใช้ความอดทน จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาหลายวัน จึงออกมารวมพลังเรียกร้อง


 


นายวินัย กล่าวหลังจากรับข้อเสนอว่า ทางราชการเปรียบเสมือนพ่อ พี่น้องไทยพุทธและมุสลิมเป็นเสมือนลูก จะต้องดูแลทั้งสองฝ่ายมิให้มีการทะเลาะกัน เข้าใจว่าทั้งสองฝ่ายก็อยู่ในภาวะร้อนกันทั้งคู่ จึงขอให้อดทนไว้ เพราะถ้าใช้อารมณ์อาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายได้


 


ผู้ชุมนุมรายหนึ่งเปิดเผยว่า มีบ้านพักอาศัยอยู่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากไม่สามารถทำมาหากินได้ อีกทั้งยังถูกชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากตนนำอาหารไปมอบให้ทหารที่มารักษาความปลอดภัย จนมีปากเสียงกัน เพราะตนเห็นว่า ถ้ามีทหารเข้ามาจะสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนมากกว่า


 


กอ.รมน.โต้เหยื่อปะแตไม่ได้ถูกข่มขืน


พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ พตท.และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.นูรฮายาดี เจ๊ะเล๊าะ ราษฎรบ้านบาซาลาแป หมู่ที่ 3 ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2550 ว่า จากกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี แจกใบปลิวกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ทหารพรานก่อเหตุยิงราษฎรเสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 1 คน เป็นการสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่า น.ส.นูรฮายาดี เจ๊ะเล๊าะ 1 ใน 4 คน ที่เสียชีวิต ถูกทหารพรานข่มขืนแล้วบีบคอจนเสียชีวิต


 


"ร.ต.อ.ดุนอนิตช์ ชูเชื้อ พนักงานสืบสวนสถานีตำรวจอำเภอยะหา จังหวัดยะลา นพ.สุรัตน์ ปราณีนรารัตน์ นายแพทย์จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา ร่วมกันชันสูตรพลิกศพพบว่า น.ส.นูรฮายาดี เสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืน ไม่พบร่องรอยการถูกข่มขืนกระทำชำเราแต่อย่างใด" พ.อ.อัคร กล่าว


 


พ.อ.อัคร กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่แอบอ้างใช้นามว่า "ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาและประชาชน" พยายามจะหาเหตุผลมาบิดเบือนความจริง เพื่อสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน จึงใคร่ขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อการบิดเบือนข้อเท็จจริงดังกล่าว


 


พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ ออกแถลงการณ์ชี้แจงการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการชุมนุมประท้วง และมีการก่อเหตุจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ และทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ปลอดภัย ง่ายต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงขอแจ้งให้ทราบว่า การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ อาจจะไม่สะดวกต่อผู้ใช้บริการ ขอให้ประชาชนในพื้นที่กรุณาใช้การติดต่อสื่อสารในระบบอื่นชั่วคราว


 


ส่วนสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเวลา 17.32 น. เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงใส่ฐานปฏิบัติการ ของ ตชด. มว.3402 ที่บริเวณ หมู่ที่ 4 บ้านตาเนาะปูโย๊ะ ตำบลเกะรอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ไม่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ


 


เวลา 18.38 น. เกิดเหตุระเบิดขึ้นภายในสนามกีฬาบ้านบือซู หมู่ที่ 6 ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา มีคนเจ็บ 17 คน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net