บทความ "ศิโรตม์" : การยุบพรรคคือการรัฐประหารเงียบที่ทำลาย ปชต.รัฐสภายิ่งกว่ารัฐประหาร 19 ก.ย.

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

 

 

บทความนี้เขียนโดยผู้เขียนที่ไม่เห็นด้วยกับปรากฎการณ์ตุลาการเสมือนที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 พฤษภาคม ความเห็นนี้ไม่เกี่ยวกับชอบหรือเกลียดพรรคไหน แต่เกิดขึ้นเพราะโดยพื้นฐานแล้ว ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจยุบพรรคอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

 

1. การยุบพรรคไม่ใช่คดีความธรรมดา แต่เป็นข้อพิพาททางการเมืองที่เต็มไปด้วยความเป็นการเมือง

ไม่ว่าจะชอบหรือเชียร์พรรคไหน  ทั้งสองพรรคก็เผชิญสถานการณ์ที่คล้ายๆ กัน

 

ในกรณีประชาธิปัตย์ ฟังคำร้องของฝ่ายที่ต้องการให้ยุบพรรคแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่าเหตุผลมันอ่อนมาก บางเรื่องก็เป็นเรื่องค่านิยมหรือความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน ไม่น่าเอามาฟ้องกันได้ด้วยซ้ำ เช่นการใช้คำว่า "ระบอบทักษิณ" ก็กลายเป็นเหตุให้ฟ้องกันได้   จนเหมือนกับเขียนอะไรมาก็ได้ ขอให้ได้ฟ้องเท่านั้น 

 

ไม่เป็นธรรมอย่างแน่นอนที่สถานะทางการเมืองของประชาธิปัตย์เผชิญกับความผันผวนและไม่มั่นคงแบบที่เกิดขึ้นตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

 

ในกรณีไทยรักไทย   แม้คำร้องให้ยุบพรรคยังมีประเด็นขึ้นมาบ้าง  แต่ก็มีปัญหาไปอีกแบบ  คือการเชื่อมโยงจากเหตุผลให้ยุบพรรคตามที่อ้างในคำร้อง  ไปสู่ผลที่ตัดสินให้ยุบพรรคจริงๆ  ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีช่องโหว่ที่เข้าใจได้ยากอยู่อย่างมหาศาล  โดยเฉพาะในประเด็นว่าเป็นเรื่องสมควรหรือที่ความผิดของคนเพียงไม่กี่คน  เป็นสาเหตุให้ลงโทษได้รุนแรงถึงขั้นสั่งยุบพรรคของคนหลายล้านคน

 

ประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ ในการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยนั้น ตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้แสดงหลักฐานว่าพรรคในฐานะ องค์กร มีความผิดตรงไหน  ตุลาการมีหลักฐานว่ากรรมการบริหารพรรคบางคนทำผิด รองหัวหน้าพรรคบางคนละเมิดกฎหมาย แต่ไม่ได้แสดงหลักฐานว่ากรรมการพรรคคนอื่น  และสมาชิกพรรคทั้งหมด มีส่วนลงมือกระทำการนี้  รวมทั้งไม่ได้แสดงให้เห็นว่าพรรคในฐานะองค์กรมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร

 

ถึงที่สุดแล้ว ตุลาการก็ถือว่าพรรคในฐานะ องค์กร มีความผิด  เพราะเหตุที่พรรคได้ประโยชน์จากพฤติกรรมของกรรมการบริหารพรรค

 

คำถามที่ต้องถามในเรื่องนี้มีอยู่สองข้อ ข้อแรกเป็นคำถามเชิงหลักทั่วไปทางกฎหมายว่าการตัดสินลงโทษบุคคลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่ไม่ได้กระทำความผิดอะไรโดยตรง แต่มีความเกี่ยวข้องเชิงสถาบันกับตัวบุคคลที่กระทำความผิดนั้นๆ เป็นเรื่องที่สามารถทำได้หรือไม่   เส้นแบ่งระหว่างความผิดเชิงบุคคลและความผิดเชิงสถาบันอยู่ที่ไหน  

 

ถ้าคิดเรื่องนี้ตามแนวทางที่ตุลาการทำไว้  ต่อไปก็ต้องลงโทษนายทหารหรือข้าราชการทุกคนที่อยู่ในหน่วยเดียวกับผู้บังคับบัญชาที่คดโกงงบประมาณของรัฐไปด้วย เพราะอยู่ในองค์กรเดียวกัน จึงน่าสงสัยว่าจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ถึงจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าคนเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกันจริงก็ตาม

 

คำถามข้อสองเป็นคำถามทางการเมือง  นั่นก็คือ พรรคการเมืองเป็นองค์กรทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก  ตั้งแต่กรรมการพรรค สมาชิกพรรค ผู้สนับสนุนพรรค รวมทั้งผู้นิยมพรรคนั้นๆ เมื่อพรรคถูกยุบลงไป  คนเหล่านี้ก็ย่อมสูญเสียสิทธิในการรวมกลุ่มและการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยอิสระตามไปด้วย   จึงมีคำถามว่าอะไรคือขอบเขตอำนาจและความรับผิดชอบของผู้พิจารณาคดีลักษณะนี้   หรือถามอีกอย่างคือ อะไรเป็นเครื่องประกันว่าสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของพลเมืองข้อนี้จะไม่ถูกล่วงละเมิดได้ตามอำเภอใจ

 

จริงอยู่ว่าการพิจารณาคดีนี้เกิดจากอำนาจทางการเมืองที่ไม่ปกติ แต่ที่มาที่ไม่ปกตินั้นสมควรเป็นเหตุให้พิจารณาเรื่องนี้โดยไม่คำนึงถึงหลักการบางอย่างไปได้หรือ?  

 

การพิจารณายุบพรรคการเมืองแตกต่างจากการไต่สวนความผิดตามกฎหมายโดยทั่วไป เพราะเป็นกิจกรรมการเมืองที่เกี่ยวข้องกับคนในสังคมจำนวนมาก หน้าที่ของตุลาการในความขัดแย้งแบบนึ้จึงไม่ใช่การคิดแต่แง่มุมทางกฎหมาย  รวมทั้งไม่ใช่การเล่นการเมืองจนตัดสินคดีตามธงทางการเมืองที่ตั้งไว้ล่วงหน้า แต่คือการประยุกต์หลักการทางการเมืองและกฎหมายกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดคำวินิจฉัยที่เป็นธรรม  ยุติธรรม  และชอบธรรมที่สุด นั่นหมายความว่าคำตัดสินจึงต้องวางอยู่บนเหตุผลเชิงศีลธรรม (moral principles) บางอย่าง ดังที่นักนิติปรัชญาบางสำนักถึงแก่ย้ำไว้ตลอดเวลาว่าหัวใจของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย แต่อยู่ที่การคิดโดยคำนึงถึงศีลธรรมทางการเมือง (political morality)

 

ความเป็นการเมืองของเรื่องนี้ทำให้คำตัดสินนี้ต้องอธิบายต่อสาธารณะได้ โปร่งใส เปิดกว้างให้สาธารณะโต้แย้ง ตรวจสอบ คัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่  ไม่ใช่ปิดปากผู้ที่ไม่เห็นด้วยโดยเหตุผลตื้นๆ ว่าศาลตัดสินไปแล้ว หรือเฉไฉไปอ้างความคิดเรื่องความสมานฉันท์มาปิดกั้นการแสดงความเห็นของประชาชน

 

เหตุผลข้อแรกคือตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ 

 

เหตุผลข้อสองคือทั้งหมดนี้เป็นเรื่องทางการเมือง

 

 

2. การยุบพรรคเป็นการกระทำทางการเมืองที่ทำให้ระบบพรรคการเมืองพอ่อนแอลง

ในเหตุผลหลายข้อที่ตุลาการหยิบฉวยไปอ้างในการสั่งยุบพรรคนั้น ข้อที่ประหลาดที่สุดคือข้ออ้างว่ายุบพรรคเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบพรรคการเมือง  ความประหลาดนี้เริ่มต้นจากข้อเท็จจริงง่ายๆ ว่าองค์กรทางกฎหมายที่มาจากการรัฐประหารกลับโจมตีพรรคการเมืองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่ฝ่ายหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของคนสิบกว่าล้าน ส่วนอีกฝ่ายมาจากการแต่งตั้งของคนหยิบมือเดียว

 

ปัญหาคือจริงหรือที่การยุบพรรคไทยรักไทยจะทำให้ระบบพรรคการเมืองไทยเติบโตกว่าที่ผ่านมา?

 

คนจำนวนมากเชื่อว่าพรรคการเมืองของไทยอ่อนแอเพราะปัจจัยภายในตัวระบบ ประจักษ์พยานของเรื่องนี้คือมีงานวิชาการจำนวนมหาศาลที่พูดว่าพรรคการเมืองเป็นที่รวมของนักการเมืองที่ไม่เข้าใจประชาธิปไตย, ไม่มีอุดมการพรรคในความหมายที่แท้จริง, เป็นชุมทางของเถ้าแก่บ้านนอก-มาเฟียท้องถิ่น-นักธุรกิจการเมืองระดับชาติ หรือไม่ก็เป็นเวทีของนักพูดและทนายหัวหมอที่มีวุฒิทางการศึกษากระจอกกว่าเหล่าอภิชน

 

ในการสั่งยุบพรรคไทยรักไทย ตุลาการก็ใช้เหตุผลที่วางอยู่บนแนวความคิดแบบนี้เหมือนกัน

 

ข้อควรระบุคือแนวคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนตัวทางการเมืองในทศวรรษ 2520 ที่แรงเหวี่ยงของสงครามเย็นและการคงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเงื่อนไขเบื้องต้น (pretext) ซึ่งกำหนดให้โจทก์ใหญ่ของการเมืองไทยเวลานั้นคือการดูดกลืนพลังทางเศรษฐกิจสังคมและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ให้อยู่ใต้ระเบียบการเมืองซึ่งจรรโลงอำนาจนำของอภิชนและเหล่าเครือข่ายได้มากที่สุด  ขณะที่เผด็จการพลเรือนใต้กระแสการเมืองพระราชทาน ในช่วงหลังหกตุลาคม 2519 กลับล้มเหลว สร้างระเบียบการเมืองที่มั่นคงไม่ได้  ส่งผลให้พรรคการเมือง, การเลือกตั้ง และประชาธิปไตยรัฐสภา  กลายเป็นระบบการเมืองที่เป็นไปได้เพียงแบบเดียว

 

การโจมตีพรรคการเมืองแบบเหมาโหลเกิดขึ้นในสถานการณ์นี้  สถานการณ์ที่กองทัพและอภิชนรังเกียจพรรคการเมืองและรัฐสภาด้วยเหตุผลอันหลากหลาย แต่ก็ปฏิเสธสถาบันการเมืองนี้ไม่ได้   จึงบังเกิดอุตสาหกรรมการผลิตโวหารทางการเมืองที่โฆษณาชวนเชื่อให้คนเกลียดชัดพรรคอย่างไร้สติ เพราะรู้ว่าความเกลียดชังนี้จะเปิดช่องให้พวกเขาแทรกแซงและครอบงำรัฐสภาได้ตลอดเวลา

 

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการต่อสู้ในระดับอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อรักษาอำนาจนำทางการปกครอง  ซึ่งฝ่ายทหารและกลุ่มอภิชนเข้าใจมาเป็นเวลานานแล้ว  แต่พรรคการเมืองไม่เข้าใจ  จึงไม่เคยมีการสร้างคำอธิบายหรืออุดมการอะไรขึ้นมาตอบโต้แนวความคิดดังกล่าวแม้แต่นิดเดียว

 

ต้นทศวรรษ 2520 คือช่วงเวลาที่การเมืองแบบรัฐสภาถูกรื้อฟื้นขึ้นในฐานะส่วนขยายของการเมืองเหนือรัฐสภา อำนาจการเมืองในรัฐสภาจึงเป็นส่วนประกอบของอำนาจการปกครอง (governance) นอกรัฐสภามาตั้งแต่นั้น   ผลที่ตามมาคือการเลือกตั้งและเสียงข้างมากในสภาไม่ใช่หลักประกันของการได้มาซึ่งอำนาจสูงสุด มีอาณาบริเวณทางการปกครองเยอะแยะที่สภาแตะต้องไม่ได้ ไมว่าจะเป็นกองทัพ ระบบราชการ ศาล  และกระทั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ขึ้นอยู่กับการตกลงเป็นการภายในของเหล่าอภิชนและเครือข่ายชนชั้นนำเพียงหยิบมือเดียว 

 

ที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่กล้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ชนะการเลือกตั้ง 2529 อย่างท่วมท้น รวมทั้งที่หัวหน้าพรรคชาติไทยใช้เวลาตัดสินใจนานมากกว่าจะประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 2531 ก็เพราะความเข้าใจพลานุภาพของผด็จการครึ่งใบแบบนี้นั่นเอง

 

การดำรงอยู่เชิงซ้อนของ อำนาจการปกครองนอกรัฐสภา เหนือ อำนาจการเมืองในสภา คือหัวใจของระบบการเมืองไทยช่วงหลังหกตุลาคม  แต่ดุลอำนาจในระบบนี้ไม่ตายตัว ซ้ำยังเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างเช่นการเผชิญหน้าในเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกองทัพอ่อนแอทางการเมืองลง หากกลับมีลักษณะรวมศูนย์และผูกขาดอำนาจมากขึ้น  ส่วนสภาพการเมืองหลังปี 2535 กลับเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือการเลือกตั้งและรัฐสภาสำคัญต่อการได้มาซึ่งอำนาจ  นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง   รัฐบาลคือองค์รวมของพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภา   โดยที่อำนาจการเมืองในสภายอมรับหลักความเป็นเอกเทศของอำนาจการปกครองเหนือรัฐสภา นั่นก็คือนายกและรัฐสภาจะไม่ยุ่งเกี่ยว และ "แทรกแซง" กิจการทหารและระบบราชการ

 

ไทยรักไทยในฐานะพรรคการเมืองเติบโตขึ้นบนจังหวะทางการเมืองแบบนี้  นั่นก็คือใครมีเสียงข้างมาก ก็คุมสภา และคุมอำนาจรัฐ   ถึงไทยรักไทยจะโตอย่างก้าวกระโดดด้วยวิธีอย่างการควบกิจการพรรคใหญ่, ซื้อตัว ส.ส. ,ยุบพรรคเล็ก  รวมทั้งให้เงินสนับสนุนบางพรรค  แต่ทั้งหมดนี้ก็เกิดขึ้นเพราะจังหวะทางการเมืองแบบนี้ทำให้คุ้มที่จะสร้างพรรคใหญ่แบบนี้ขึ้นมา

 

ปัญหาของไทยรักไทยไม่ได้อยู่ที่การเป็นพรรคขนาดใหญ่   แต่อยู่ที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจของหัวหน้าพรรค  ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่ปัญหาการใช้อำนาจบริหารในฐานะหัวหน้ารัฐบาล 

 

ไม่ว่าจะประเมินสถานะของไทยรักไทยอย่างไร  ความเติบโตของไทยรักไทยก็ทำให้ระบบพรรคการเมืองไทยเกิดพลวัตรและความเปลี่ยนแปลงมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน

 

พรรคชาติไทยหดตัวกลายเป็นพรรคระดับภาค ส่วนประชาธิปัตย์ก็ต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรคไปถึง 3 คน ในเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษ  นักการเมืองรุ่นทศวรรษ 2510-2520 เริ่มหมดบทบาทลงไป ขณะที่นักการเมืองรุ่นทศวรรษ 2530 มีบทบาททางการเมืองขึ้นมาแทนที่  และรุ่นของนักการเมืองที่เปลี่ยนไปย่อมหมายถึงประสบการณ์และความเข้าใจทางการเมืองที่เปลี่ยนไปด้วย

 

ในแง่นี้  ประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยภายใต้ร่มเงาของไทยรักไทยจึงหันมาแข่งขันทางนโยบายมากขึ้น  มีการพูดถึงนโยบายสาธารณะซึ่งไม่มีทางได้ยินในอดีต  ไม่ว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการ, การประกันสังคม , ปฏิรูปการเมือง , ประกันการศึกษา , ประกันการว่างงาน  , คุ้มครองผู้ชราภาพ  ฯลฯ โดยเฉพาะประชาธิปัตย์นั้นถึงกับทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน  นั่นก็คือการสร้างระบบสมัชชาประชาชนเพื่อให้คนทุกกลุ่มมีส่วนเสนอนโยบายได้โดยตรง 

 

มักคิดกันว่าการยุบไทยรักไทยจะทำให้ประชาธิปัตย์เข้มแข็งขึ้น  แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าโอกาสชนะเลือกตั้งนั้นเป็นคนละเรื่องการพัฒนาพรรคการเมือง  เหตุผลคือการปราศจากคู่แข่งขันที่เข้มแข็งจะทำให้ประชาธิปัตย์ไม่สนใจการปฏิรูปพรรคอีกต่อไป  ซ้ำโอกาสในการผลัดใบเพื่อให้พรรคเข้าถึงประชาชนอาจลดน้อยลงไปอีก เพราะพรรคจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เผชิญแรงต่อต้านจากกลุ่มผู้สนับสนุนไทยรักไทยในระดับที่รุนแรงขึ้น ขณะที่พลังฝ่ายต่อต้านทักษิณก็ไม่ได้สนับสนุนประชาธิปัตย์ไปเสียทั้งหมด เพราะประชาธิปัตย์เป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองที่คนหลายฝ่ายในกลุ่มนี้มีอคติอยู่แล้ว  และเพราะพรรคไม่ใช่ผู้นำในการต่อสู้ของพวกเขาในช่วงที่ผ่านมา

 

ด้วยเหตุนี้ การยุบพรรคไทยรักไทยจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการทำให้พรรคการเมืองเติบโตขึ้น  ในทางตรงกันข้าม การยุบพรรคมีส่วนอย่างมากในการทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอลง  เพราะเมื่อพรรคอันดับใหญ่สุดถูกทำลายลงไป  ขณะที่พรรคอันดับรองลงมาไม่ได้มีความเข้มแข็งมากนัก  การเลือกตั้งก็ย่อมปราศจากความหมาย  และไม่มีทางที่ศูนย์กลางอำนาจหลังการเลือกตั้งจะอยู่ที่นายกรัฐมนตรีหรือพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด

 

ถึงที่สุดแล้ว การยุบพรรคเป็นการเปิดประตูให้อำนาจเหนือระบบก้าวก่ายและบงการอำนาจการเมืองในระบบได้มากกว่าที่ผ่านมา

 

 

3. การยุบพรรค vs ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข vs ประชาธิปไตยรัฐสภา

เหตุผลในการยุบพรรคไทยรักไทยอีกข้อคือการทำลายประชาธิปไตย ประชาธิปไตยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงระบบการเมืองที่มีศูนย์กลางอยู่ที่หลักรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิเสรีภาพพลเมือง ไม่ใช่ประชาธิปไตยรัฐสภาแบบที่ยึดถือกันในโลกตะวันตก  แต่หมายถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่มีความหมายเข้าใจได้เฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น นั่นคือประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของฝ่ายบ้านเมือง

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือเมื่อฝ่ายไทยรักไทยแย้งว่าตนเองไม่ได้ทำลายประชาธิปไตย  แต่เป็นอำนาจนอกรัฐธรรมนูญอย่างการปฏิวัติรัฐประหารและล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วยกำลังทหารที่ทำลายประชาธิปไตยยิ่งกว่า ฝ่ายตุลาการก็โต้แย้งว่าอำนาจนอกรัฐธรรมนูญไม่ได้หมายถึงแค่การปฏิวัติรัฐประหารโดยกำลังทหาร หากยังมีความหมายครอบคลุมไปถึงการเลือกตั้งบางแบบอีกด้วย โดยเฉพาะการเลือกตั้ง 2549 ซึ่งฝ่ายตุลาการเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่ทำลายประชาธิปไตย เพราะจัดขึ้นในระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป

 

การโต้เถียงเรื่องนี้มีแง่มุมที่น่าสนใจสองข้อ

 

ข้อแรก เมื่อไทยรักไทยแย้งข้อกล่าวหาด้วยเหตุผลในระดับข้อเท็จจริงว่าการเลือกตั้ง 2549 ไม่ได้ทำลายประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ฝ่ายตุลาการกลับไม่สนใจที่จะพิสูจน์ว่าได้เกิดสภาพที่ประชาธิปไตยถูกทำลายขึ้นจริงหรือไม่ องค์-ประกอบไหนบ้างที่ถูกทำลายลงไป สถานภาพประมุขของพระมหากษัตริย์เสื่อมสลายลงไปจริงหรือ  และฝ่ายไทยรักไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพเช่นนั้นอย่างไร    แต่กลับไปใช้เหตุผลเชิงคาดคะเนมาเป็นฐานของการวินิจฉัยคดี

 

ข้อสอง  ขณะที่ฝ่ายไทยรักไทยสู้คดีโดยอ้างอิงข้อกฎหมายและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ  ฝ่ายตุลาการกลับตัดสินคดีโดยวิธีที่ไม่เพียงแต่จะตีความข้อกฎหมายให้ครอบคลุมพฤติกรรมซึ่งจำเดิมรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเอาไว้ หากยังไม่ได้อ้างอิงหลักกฎหมาย หลักการทางการเมือง หรือกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ตัวอย่างเช่นคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นอำนาจนอกรัฐธรรมนูญซึ่งทำลายประชาธิปไตยเช่นเดียวกับการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งอย่างไรก็สุ่มเสี่ยงอยู่มากกับการจะถูกครหาว่าเป็นการตีความข้อกฎหมายตามอำเภอใจ

 

น่าแปลกใจที่ตุลาการหมกมุ่นกับการกล่าวหาว่าไทยรักไทยทำลายประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข  ทั้งที่ปัญหาของไทยรักไทยคือมีพฤติกรรมทางการเมืองที่ไม่เป็นคุณประชาธิปไตยรัฐสภา ตั้งแต่การปฏิเสธการตรวจสอบในสภาแทบทุกระดับ  แก้ระเบียบการประชุมสภาให้สมาชิกตั้งกระทู้ถามได้ยาก  แทรกแซงการทำงานของกรรมาธิการ  ซ้ำตัวนายกรัฐมนตรีเองก็เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือรับฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียงไม่กี่ครั้ง ฯลฯ   แต่ตุลาการกลับไม่ได้เอ่ยถึงพฤติกรรมเหล่านี้แม้แต่ครั้งเดียว

 

ปรากฎการณ์นี้ตีความได้สองแบบ แบบแรกเป็นปัญหาเชิงการรับรู้ข้อเท็จจริงว่าตุลาการไม่รู้ว่าไทยรักไทยมีพฤติกรรมนี้ แต่สาเหตุนี้เป็นไปได้น้อย  เพราะพฤติกรรมนี้ไม่ใช่เรื่องลี้ลับอะไร  แค่ติดตามข่าวหนังสือพิมพ์ก็ทำให้รู้ข้อเท็จจริงนี้ได้แล้ว ส่วนแบบที่สองเป็นปัญหาข้อความคิด  นั่นก็คือตุลาการเห็นพฤติกรรมนี้  แต่ไม่คิดว่าเป็นประเด็น  คำแถลงจึงไม่พูดถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของประชาธิปไตยรัฐสภาเลยแม้แต่น้อย แต่ไพล่ไปพูดถึงเรื่องอื่น นั่นก็คือประชาธิปไตยภายใต้การนำของพระราชา[i]

 

ที่กล่าวมานี้อาจชวนให้เข้าใจว่าไทยรักไทยเป็นเหตุให้ประชาธิปไตยรัฐสภาอ่อนแอ แต่แท้จริงแล้ว ประชาธิปไตยรัฐสภาอ่อนแอเพราะเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และปัจจัยภายนอกรัฐสภาอีกมาก ปัจจัยเหล่านั้นได้แก่การปฏิวัติรัฐประหาร, การแทรกแซงของผู้มากบารมีและมีอำนาจกลุ่มต่างๆ, การไม่กำหนดให้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง, การคงอยู่ของวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง, การดึงอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองขั้นสูงสุดไปที่องค์อธิปัตย์เหนือรัฐสภา, ระบบตุลาการที่ยอมรับให้คณะปฏิวัติล้มล้างรัฐสภาและยุบเลิกพรรคการเมืองได้โดยอิสระ รวมทั้งคุณลักษณะของรัฐที่เป็น รัฐบริหาร (

Administrative State)  มากกว่ารัฐประชาธิปไตยโดยรัฐธรรมนูญ (Constitutional Democracy State)  ฯลฯ ซึ่งไม่อาจอภิปรายให้ครบถ้วนได้ ณ ที่นี้

 

ในแง่นี้แล้ว พัฒนาการประชาธิปไตยไทยแตกต่างจากตะวันตก ไม่ใช่เพราะพรรคการเมืองและรัฐสภาของไทยเป็นประชาธิปไตยน้อยเกินไป  แต่เพราะพรรคการเมืองและรัฐสภาของไทยไม่เคยเป็นหน่วยทางการเมืองขั้นสูงสุดของสังคมการเมืองไทยมาตั้งแต่ต้น  หากกลับเป็นหน่วยทางการเมืองที่จะมีหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์, ความจำเป็น และความพอใจของอำนาจที่อยู่นอกระบบการเมือง

 

เพราะเหตุนี้ ปัญหาประชาธิปไตยของไทยจึงไม่ใช่การมีประชาธิปไตยรัฐสภาที่แข็งทื่อและตายตัวจนกลายเป็น ลัทธิรัฐสภา (Parliamentarism) อย่างในโลกตะวันตก  แต่คือการที่ประชาธิปไตยรัฐสภาไม่มีฐานรากอยู่เลยในระบบการเมืองไทย

 

ถ้าเข้าใจประเด็นนี้ ก็จะเข้าใจต่อไปว่าไทยรักไทยจะมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นคุณต่อประชาธิปไตยรัฐสภา แต่ความเติบโตของไทยรักไทยก็เป็นปรากฎการณ์ที่เป็น บทแย้ง ฉากหลังทางการเมืองแบบที่กล่าวมาทั้งหมด  เพราะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง, มีสาขาและจำนวนสมาชิกพรรคเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว , ได้คะแนนเเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน,  จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดี่ยวได้เป็นครั้งแรก  หรือเหนืออื่นใดก็คือการใช้เวทีรัฐสภาเป็นฐานของอำนาจทางการเมือง-การบริหารทั้งมวล

 

ปรากฎการณ์ไทยรักไทยเปิดโอกาสให้พ่อค้า นักธุรกิจ ปัญญาชน เทคโนแครต ฯลฯ เข้าถึงอำนาจการบริหารได้โดยไม่ต้องผ่านระบบราชการอีกต่อไป  จึงส่งผลให้อำนาจของราชการสั่นคลอนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  โดยที่เมื่อเวลาผ่านไป อิทธิพลของนายกรัฐมนตรีก็ทำให้ระเบียบภายในกองทัพสั่นคลอนไปด้วย  และถ้าเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับเครือข่ายอภิชนโดยทั่วไป ก็จะเข้าใจว่าทำไมคนกลุ่มนี้จึงโจมตีพรรคไทยรักไทยอยู่ตลอดเวลาว่าาทำลายระบบอาวุโสและระบบคุณธรรม

 

ไทยรักไทยเป็นปรากฎการณ์ที่แสดงถึงความเติบโตของประชาธิปไตยรัฐสภา  แต่ขณะเดียวกัน  วิธีการทางการเมืองของไทยรักไทยก็ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของประชาธิปไตยรัฐสภาไปแทบทั้งหมด เพราะทำให้พรรคฝ่ายค้านทำงานไม่ได้ รัฐสภาไม่ใช่ช่องทางในการบัญญัติกฎหมายและกำหนดนโยบายสาธารณะ   ส่วนอำนาจการเมือง-การบริหาร ก็รวมศูนย์ที่นายกรัฐมนตรี

เป็นความจริงว่าการใช้อำนาจบริหารอย่างบิดเบี้ยวของรัฐบาลชุดที่แล้วมีส่วนให้ประชาธิปไตยเสื่อมทรามจาก แต่การยุบพรรคแบบที่ทำไปนั้นก็ไม่มีทางทำให้ประชาธิปไตยพัฒนาขึ้น  ในทางตรงกันข้าม  การยุบพรรคเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้ประชาธิปไตยรัฐสภาอ่อนแอลงไป  เป้าหมายของกระบวนการนี้คือการดึงอำนาจการเมืองกลับไปอยู่ที่เครือข่ายของชนชั้นนำทางอำนาจที่อยู่เหนือระบบรัฐสภาทั้งหมด ผลที่ตามมาคือการลดทอนประชาธิปไตยรัฐสภาให้กลับไปเป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมทางการเมืองเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งสถานภาพการปกครองของอำนาจสูงสุด 

 

ไม่มีการสร้างประชาธิปไตยรัฐสภาที่ไหนที่เริ่มต้นด้วยการทำลายพรรคการเมือง

 

 

4. บนเส้นทางสู่อนาคต

มักเข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เพื่อชี้ขาดข้อขัดแย้งในกฎหมายรัฐธรรมนูญ  ความข้อนี้ถูกเพียงครึ่งเดียว  ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ก็คือ การตระหนักว่าเป้าหมายของศาลรัฐธรรมนูญได้แก่การรักษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ   ป้องกันไม่ให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดแอบอ้างหรือตีความรัฐธรรมนูญไปอย่างบิดเบี้ยว  หรือพูดอีกอย่างก็คือศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

 

จริงอยู่ว่าตุลาการรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่พิจารณาคดียุบพรรคที่ผ่านมานั้นไม่ใช่ศาล  เพราะคณะทหารกลุ่มที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน ได้มีคำสั่งยุบศาลรัฐธรรมนูญไปในทันทีที่ยึดอำนาจสำเร็จแล้ว  แต่คำถามคือบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิ่งที่ตุลาการชุดนี้ควรสืบทอดเจตนาต่อไปหรือไม่  หรือว่าที่มาซึ่งไม่ปกตินั้นควรมีอิทธิพลเหนือศาลยิ่งกว่าหลักการของรัฐธรรมนูญ?

 

การตัดสินยุบพรรคเป็นหนึ่งในคดีการเมืองที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่   มีคนเกี่ยวข้องมากมายมหาศาล  ซึ่งก็หมายความว่ามีผู้มีอำนาจ, ผู้มีบารมี, ผู้มีอิทธิพล และผู้มีผลประโยชน์ เกี่ยวข้องอย่างมหาศาลด้วย     หนทางหนึ่งที่จะพิสูจน์ว่าตุลาการทำหน้าที่โดยคำนึงถึงปฏิญญาพื้นฐานเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้มากที่สุดจึงได้แก่

การยอมให้คนทุกฝ่ายในสังคมซักฟอก โต้แย้ง คัดค้าน และตรวจสอบคำตัดสินของตุลาการได้อย่างเต็มที่  ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีทางที่ความแคลงใจจากมลทินเรื่องอิทธิพลซึ่งมาพร้อมกับที่มาของตุลาการทั้งคณะจะหมดสิ้นไป

 

ผู้เขียนไม่ได้พิจารณาคำตัดสินยุบพรรคด้วยเหตุผลเรื่องที่มาของตุลาการ  แต่พยายามพิจารณาคำตัดสินนี้โดยคำนึงการเคลื่อนตัวทางการเมืองและสภาพการณ์ระหว่างพลังฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทยทั้งหมด  ผลจากการพิจารณาแนวนี้ทำให้ผู้เขียนค้นพบว่าคำตัดสินยุบพรรคไม่ได้วางอยู่บนหลักกฎหมาย หรือเจตนารมณ์ในการพิทักษ์หลักการของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด  หากกลับถูกผลักดันด้วยทรรศนะคติและค่านิยมความเชื่อทางการเมืองที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม  ปฏิเสธการพัฒนาการเมืองไปข้างหน้า  และไม่เชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยรัฐสภา

 

เมื่ออ่านคำตัดสินให้ดี  ผู้อ่านที่ระวังระไวย่อมเห็นได้ด้วยตัวเองว่าคำตัดสินนี้อัดแน่นไปด้วยความคิดทางการเมืองที่     ถูกใช้เป็นอาวุธในการโจมตีการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภาอันมีศูนย์กลางอยู่ที่พรรคการเมืองและการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง  ตัวอย่างของอคติแบบนี้ได้แก่ความเชื่อว่ารัฐสภาเป็นเวทีของชนชั้นนำทางการเมืองหยิบมือเดียว, สภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่ตัวแทนของคนทุกชนชั้น, พรรคการเมืองเป็นที่รวมของกลุ่มผลประโยชน์, รัฐสภามีอำนาจเหนือสถาบันการเมืองการปกครองอื่นเกินไป , สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ฯลฯ 

 

แน่นอนว่าคงไม่มีใครโต้เถียงมากนักถึงความจริงของคำโจมตีนี้  แต่คำถามที่ต้องถามให้มากคือใช่หรือไม่ว่าคำโจมตีเหล่านี้มีลักษณะสาดเสียเทเสีย มีอคติต่อรัฐสภาและพรรคการเมืองจนเกินเหตุ  มีลักษณะเลือกปฏิบัติและเลือกวิจารณ์แบบทวิมาตรฐาน ไม่พิจารณาเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยของพรรคการเมืองกับกลุ่มอำนาจและผู้มีบารมีฝ่ายต่างๆ ฯลฯ จนราวกับว่าประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นสาเหตุของความเสื่อมโทรมทางการเมืองทั้งมวล

 

อย่าลืมว่ารัฐบาลและนายกที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดล้วนถูกโจมตีด้วยข้อหาทางการเมืองแบบนี้   และต่อให้นายแหยม ยโสธร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของไทย เขาก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแทนของทุนข้าวมันไก่ในจังหวัดหลวงพระบาง!

 

ที่ตลกคือคำอธิบายนี้เริ่มต้นโดยนักวิชาการฝ่ายขวาและนักโฆษณาชวนเชื่อของทหารในทศวรรษ 2520 อย่างสมชัย รักวิจิตร และวัฒนา เขียววิมล  ก่อนจะแพร่หลายสู่ปัญญาชนเสรีนิยมในทศวรรษถัดมา  และเมื่อถึงทศวรรษ 2540  ปัญญาชนฝ่ายซ้ายและฝ่ายชุมชนนิยมก็สมาทานแนวการพิจารณานี้ไปอย่างสมบูรณ์ จนกล่าวได้ว่าทรรศนะคติลักษณะนี้คือไวยากรณ์การเมืองไทยที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน  ถึงขั้นที่สามารถค้ำยันให้นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย, ทหาร, นักพัฒนาชุมชน, เทคโนแครตฝ่ายขวา, ราชนิกูล, ขุนพลเพลงเพื่อชีวิต, นักวิชาการมหาวิทยาลัย, กลุ่มทุนสื่อสารมวลชน,  พนักงานออฟฟิศระดับกลาง, คนงานปกขาว, นักเรียนมัธยม, สื่อมวลชน  ฯลฯ รวมตัวเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อขับไล่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้  ไม่ใช่อุดมการณ์ราชาธิปไตยหรือลัทธิอำนาจนิยมอย่างที่พลังฝ่ายต้านรัฐประหารเข้าใจ [ii]

 

ถ้าเข้าใจวงศาวิทยาของอคติทางการเมืองที่เป็นพื้นฐานของคำตัดสินยุบพรรคที่ผ่านมา  ก็คงเห็นต่อไปว่าอคติแบบนี้เป็นฐานที่มั่นทางอุดมการณ์ที่เปิดโอกาสให้สถาบันการปกครองนอกระบบเข้ามาทำลายการเมืองในระบบมาโดยตลอด  การพิจารณาตัดสินคดีอย่างรอบจึงสมควรเริ่มต้นด้วยการตระหนักถึงอันตรายของอคติข้อนี้  หาไม่แล้ว ก็เท่ากับว่าการพิจารณาคดียุบพรรคถูกขับเคลื่อนไปด้วยทรรศนะคติที่โดยพื้นฐานแล้วมุ่งทำลายประชาธิปไตยรัฐสภาตลอดเวลา  ไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย  หรือหลักการเชิงอุดมคติของรัฐธรรมนูญ

 

ผู้เขียนเคยพูดและเขียนไว้หลายที่หลายหนตั้งแต่เกิดการยึดอำนาจใหม่ๆ  ว่ารัฐประหาร 19 กันยายน ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อตัวทหารเองเหมือนการยึดอำนาจหลายครั้งในอดีต    แต่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์และการเมืองที่กว้างไกลกว่านั้นไปมาก

รัฐประหาร 19 กันยายน จึงเป็นภาคต่อเนื่องของกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองที่มีมาก่อนนั้น  โดยที่ความสลับซับซ้อนของการรัฐประหารก็จะทำให้การเมืองไทยตกอยู่ในสถานการณ์แบบหลังรัฐประหารไปอีกเป็นเวลานาน

 

คำตัดสินยุบพรรคคือการรัฐประหารซ้ำเพื่อตอกย้ำให้ผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลัง 19 กันยายน ทวีความมั่นคงขึ้น  กระบวนการนี้ยังไม่จบ และไม่มีทางจบในเวลาอันรวดเร็วเหมือนรัฐประหารครั้งอื่นที่เคยมีมา  ราคาของคำตัดสินนี้คือความไม่พอใจและความวุ่นวายทางการเมืองที่จะตามมาในเวลาอันใกล้  สภาวะของความไร้เสถียรภาพ, ความหวาดกลัว, และความกังวลอันเนื่องมาจากความไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรในอนาคต จะส่งผลให้การเมืองกลายเป็นเรื่องของผู้นำไม่กี่คนมากขึ้น และความเขลาของผู้นำก็ทำให้เป็นไปได้มากที่คนเหล่านี้จะดึงสังคมไทยไปสู่ทิศทางที่เลวร้ายกว่าที่ผ่านมา

 

 

......................................................

 

อ่านเพิ่มเติม

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=4078&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

 

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=4134&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

 

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5297&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

 

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5388&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai

 

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2_print.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8216&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

 

http://www.onopen.com/2007/editor-spaces/1550

 

 

 

 



[i] ในทางวิชาการนั้น คงอภิปรายได้มากว่าประชาธิปไตยรัฐสภามีความเหมือนหรือแตกต่างจากประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขอย่างไร  แต่ในทางการเมืองนั้น  การแบ่งแยกระหว่าง ประชาธิปไตยรัฐสภา และ ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข   เป็นปรากฎการณ์ที่มีความหมายในสังคมไทยอยู่มาก    ผู้เขียนหวังว่าจะได้อภิปราปัญหานี้ในโอกาสถัดไป

 

[ii] นับตั้งแต่คณะราษฎรนำประเทศสู่ระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ดูเหมือนว่าจะมีเพียงสองทศวรรษแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้นที่ปัญญาชนพูดถึงพรรคการเมืองและรัฐสภาด้วยสายตาที่เป็นบวก  ที่ไม่น่าเชื่อคือแม้ความตื่นตัวทางการเมืองในช่วงหลังสิบสี่ตุลาคมก็ไม่ได้เป็นเหตุให้ประชาธิปไตยรัฐสภามีรากฐานมั่นคงขึ้นไปนัก  ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสคนแรกและคนเดียวของประเทศ จึงถึงแก่ระบุไว้ว่าบรรยากาศทางการเมืองในเวลานั้นวางอยู่บนการดูหมิ่นศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎรโดยกลุ่มอภิสิทธิชนและซากเดนศักดินา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท