Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.50 ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ผู้ถูกร้องที่ 1-3 และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และมีมติ 6 ต่อ 3 เสียง เห็นสมควรให้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ฉบับที่ 27 มีผลย้อนหลัง ทำให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี


 


โดย 3 เสียงข้างน้อยนั้นประกอบไปด้วย ปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกา กิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา


 


โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงคำวินิจฉัยส่วนตัวของ นายปัญญา ถนอมรอด ประธานตุลาการรัฐธรรมนญ มีความเห็นว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อ 12 มีว่า ประกาศคปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 ก.ย.49 มีผลบังคับใช้ย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้หรือไม่


 


ประกาศคปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 ก.ย.2549 ข้อ 3 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด เพราะเหตุกระทำการต้องห้าม ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค" ประกาศฉบับดังกล่าวประกาศเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2549 แต่การกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองในคดีนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่มีการลงคะแนนเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว กล่าวคือ ระหว่างวันที่ 24 ก.พ.49 จนถึงวันที่ 2 เม.ย.49 จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ความในข้อ 3 แห่งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 ก.ย.49 มีผลใช้บังคับย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้หรือไม่


 


พิจารณาแล้วเห็นว่า กฎหมายที่ดีนั้น ต้องตราขึ้นโดยอาศัยหลักนิติธรรม กล่าวคือ กฎหมายต้องตราขึ้นโดยสถาบันซึ่งประชาชนพลเมืองยอมรับนับถือให้มีสิทธิและอำนาจที่ตราขึ้นบังคับได้ กฎหมายจะต้องยอมรับในหลักที่ว่า ประชาชนทุกคนในประเทศนั้นมีเกียรติและเสมอกันในกฎหมาย จะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายยิ่งไปกว่าผู้อื่น กฎหมายจะกำหนดให้เอาตัวประชาชนผู้ใดไปลงโทษไม่ได้ เว้นไว้แต่ว่าประชาชนผู้นั้นจะได้กระทำการซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ก่อนแล้วว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด


 


เมื่อพิจารณาหลักนิติธรรมข้างต้น ประกอบกับการตรากฎหมายนั้น โดยทั่วไปมีเจตนาเพื่อปรับใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต การใช้กฎหมายย้อนหลัง หากมีผลย้อนหลังไป เพื่อเป็นคุณหรือบรรเทาความเดือดร้อน และไม่กระทบถึงสิทธิของประชาชนนั้นสามารถกระทำได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากใช้กฎหมายไปในทางที่เป็นโทษ หรือเพิ่มโทษ ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายไปในทางที่เป็นปฏิปักษ์กับหลักความยุติธรรมของสากล หลักนี้ใช้เคร่งครัดมากในคดีอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทษทางอาญา แต่เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศว่า กฎหมายใดที่ออกมาบังคับใช้ย้อนหลังแล้วมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของประชาชน หรือเป็นไปในทางลิดรอน เพิกถอนหรือจำกัดสิทธิของประชาชนที่มีอยู่ก่อนแล้ว โดยชอบด้วยกฎหมายก็เป็นการต้องห้ามด้วยเช่นกัน


 


ประกาศคปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 ก.ย.49 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีกำหนด 5 ปี เป็นบทบัญญัติที่ตัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจะพึงมี ผู้ที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งไม่อาจใช้สิทธิเลือกตั้งได้แล้ว ยังเสียสิทธิอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร สิทธิรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายด้วย เป็นต้น


 


สิทธิของผู้ถูกตัดสิทธิจึงต่ำกว่าประชาชนทั่วไป จึงเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองที่เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกตัดสิทธิมากกว่าการถูกลงโทษปรับในคดีอาญา การลงโทษบุคคลหรือการกำหนดโทษให้บุคคลต้องรับผิด หรือถูกจำกัดสิทธิจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่กฎหมายเป็นเพียงเครื่องในการรักษาความยุติธรรม การตีความกฎหมายจะต้องถือความยุติธรรมเป็นหลัก ไม่ควรตีความกฎหมายให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิของประชาชนที่มีอยู่แล้ว ขณะเกิดเหตุ กฎหมายซึ่งใช้บังคับได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 กรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นจะขอตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอีกไม่ได้ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ รัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ออกกฎหมายให้ผู้ละเมิดต่อกฎหมายต้องรับผิดเพียงเท่านี้ ประชาชนรวมทั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองต่างๆ ทราบว่า ผลบังคับที่สังคมต้องการมีเพียงเท่านี้


 


เมื่อกรรมการบริหารพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายจนเป็นเหตุให้อัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้ร้องคดีนี้ร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง ซึ่งเมื่อยุบพรรคการเมืองแล้วกรรมการบริหารพรรคจะได้รับผลร้ายตามมาตรา 69 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ยึดอำนาจอธิปไตยและออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับต่างๆ รวมทั้งฉบับที่ 27 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนี้ด้วย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเพิ่มเติมขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค คดีนี้หลังจากถูกยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรค ผู้ถูกร้องและกรรมการบริหารพรรคมิได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามกฎหมายอีก การบัญญัติกฎหมายหรือการตีความกฎหมายให้บุคคลดังกล่าวต้องรับผิดเพิ่มขึ้นอีกหลังจากกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายได้ยุติไปนานแล้ว จึงเห็นว่าประกาศคปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ไม่มีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่กรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องทั้งสาม


 


จึงวินิจฉัยว่า ให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 ตามมาตรา 66(1) และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 และให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 และผู้ถูกร้องที่ 3 ตามมาตรา 66 (2) (3) และมาตรา 67 แห่งพรราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก


 


 


อัยการโต้ตุลาการรธน. ปชป.ไม่ได้ล้มล้างการปค.


นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่นายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 1 ใน 3 ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ ให้สัมภาษณ์ในลักษณะ หากอัยการสูงสุดยื่นฟ้องพรรคประชาธิปัตย์ในฐานความผิดไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก็อาจจะถูกยุบพรรคเหมือนพรรคไทยรักไทยเพราะอาจมีความผิดล้มล้างระบอบการปกครองว่า อัยการสูงสุดพิจารณาจากสำนวนและหลักฐานตามที่นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ส่งมาให้ พร้อมความเห็นขอให้สั่งฟ้องพรรคประชาธิปัตย์ในความผิด 7 ฐานความผิด ซึ่งคณะอัยการชุดทำงานพิจารณาแล้ว มีความเห็นสั่งฟ้อง 4 ความผิด โดยตัดความผิดฐานไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการขัดขวางหรือล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิทธิของพรรคการเมือง ที่จะพิจารณาส่งหรือไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ซึ่งหากไม่ตัดจะทำให้พรรคชาติไทย พรรคมหาชน จะต้องมีความผิดไปด้วย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน และยังได้ตัดประเด็นความผิดฐานเรียกร้องนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ออกไปด้วย


 


"การที่นายกิติศักดิ์ระบุว่า อัยการไม่ยื่นฟ้องพรรคประชาธิปัตย์ ฐานไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเข้ามานั้น ทางหลักนิติศาสตร์จะต้องมีเหตุขัดข้อง หากมีความพร้อมและน่าจะได้รับเลือกตั้ง แต่กลับไม่ส่งมา ถ้าอัยการยื่นฟ้องฐานความผิดนี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญ จะต้องทำการวินิจฉัยเป็นประเด็นสำคัญ ผมเห็นว่า เป็นการคาดเดาเอาเอง ว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครแล้วจะชนะการเลือกตั้ง เป็นการใช้ความรู้สึก ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าถ้าส่งรับเลือกตั้งแล้วจะได้รับเลือกจริง จึงเป็นเหตุผลที่อัยการสูงสุดไม่ส่งฟ้องในฐานความผิดดังกล่าว"


 


 


 


 


ที่มา : ผู้จัดการรายวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net