กลุ่ม FACT จับโกหกไอซีทีบล็อกเว็บเพียบ ปิดเว็บการเมือง 90 แห่ง!

ประชาไท - 6 มิ.ย.50 กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (Freedom Against Censorship Thailand หรือ FACT) ออกเอกสารเผยแพร่จับตากระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ โดยเปิดเผยข้อมูลรายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกปิดเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน โดยพบว่าหลังรัฐประหารกระทรวงไอซีที มีการบล็อกเว็บไซต์เพิ่มขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นเพิ่มเติม 90 แห่งจากเดือนก่อน โดยทุกแห่งในจำนวนนี้มีเนื้อหาด้านการเมือง

 

รายละเอียดของเอกสารเผยแพร่มีดังนี้

 

กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (Freedom Against Censorship Thailand หรือ FACT) เพิ่งได้ดาวน์โหลดรายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้น (บล็อกลิสต์) อย่างเป็นทางการ ฉบับล่าสุดและลับสุดยอด จากเซิร์ฟเวอร์ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)  โดยที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีเคยปิดกั้นเว็บไซต์โดยสั่งผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนวิธีมาเป็นการบล็อกที่อินเตอร์เน็ตเกตเวย์ (Internet gateway) 4 จุดที่ประเทศไทยใช้อยู่ ได้แก่ กสท. โทรคมนาคม (CAT), ทีโอที คอร์ปอเรชั่น (TOT), ทรู อินเทอร์เน็ต (TRUE), และบัดดี้ บรอดแบนด์ (Buddy Broadband)

 

บล็อกลิสต์ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ของกระทรวงไอซีทีมีรายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นทั้งหมด 17,793 แห่ง ในจำนวนนี้มี 11,329 แห่งที่อยู่ในประเทศไทย เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาด้านการเมืองถูกปิดกั้นเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนจำนวน 90 แห่ง

 

มกราคม 2547                 1,247

พฤษภาคม 2549              2,328

ตุลาคม  2549                  2,475

มกราคม 2550              13,435

มีนาคม  2550              10,885

เมษายน 2550              11,239

พฤษภาคม 2550           11,329

 

บล็อกลิสต์ของเดือนมกราคม 2549 เป็นบล็อกลิสต์ครั้งสุดท้ายที่กระทรวงไอซีทีเผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะ จำนวนเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 2549 แต่ไม่เคยมีจำนวนถึงระดับที่กองเซ็นเซอร์ฝันเห็น ดังที่ทักษิณในปี 2548 บอกว่า "800,000" กระทรวงไอซีทีในปี 2549 บอกว่า "10,000"

 

เหตุการณ์ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คำสั่งฉบับที่ 5 ของคณะรัฐประหารที่ออกภายใน 1 วันหลังรัฐประหาร คือ การสั่งให้เซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ต ความเร่งด่วนของการออกคำสั่งนี้ทำให้เรามองเห็นความสำคัญที่คณะรัฐประหารมอบให้กับความแพร่หลายของข้อมูลในอินเตอร์เน็ต คณะรัฐประหารยังได้แต่งตั้งให้ ดร. สิทธิชัย โภไคยอุดม เป็น "ผู้เซ็นเซอร์อย่างเป็นทางการของคณะรัฐประหาร" ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที

 

เนื่องจากผู้นำคณะรัฐประหารคงยุ่งมากในเดือนตุลาคม 2549 ตัวเลขเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นในเดือนนั้นจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักจากเดือนก่อนๆ แต่พอมาถึงเดือนมกราคม 2550 ตัวเลขก็พุ่งสูงขึ้นกว่า 5 เท่า กองเซ็นเซอร์ของทหารทำงานเก่งกว่าทักษิณเสียอีก!

 

แม้ว่าตัวเลขเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นจะลดลงเล็กน้อยในเดือนเมษายน 2550 ซึ่งดูเหมือนว่านี่จะเป็นผลจากการลบชื่อซ้ำออกจากบล็อกลิสต์ของกระทรวงไอซีทีมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นในเดือนเมษายน 2550 ก็ยังสูงกว่าตัวเลขของเดือนตุลาคมของปีก่อนหน้าถึง 4 เท่า

 

ในเดือนพฤษภาคม 2550 มีเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นเพิ่มเติมเพียง 90 แห่งจากเดือนก่อน แต่เว็บไซต์แทบทุกแห่งที่ถูกปิดกั้นในจำนวนนี้มีเนื้อหาด้านการเมือง

 

ดร. สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลายรายว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง "ผู้เซ็นเซอร์อย่างเป็นทางการของคณะรัฐประหาร" ในเดือนตุลาคม 2549 กระทรวงไอซีทีได้ปิดกั้นเว็บไซต์เพียง "สอง" "ห้า" หรือ "ประมาณสิบสอง" แห่งเท่านั้น

 

เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งอ้างคำกล่าวของดร. สิทธิชัย ว่า กระทรวงไอซีทีสั่งปิดกั้นเว็บไซต์เพียง "20 แห่ง" ไม่ได้ปิดกั้น "13,000 แห่ง" เหมือนกับรัฐบาลที่แล้ว คำพูดนี้ฟังดูมีเหตุผล เพียงแต่มันไม่ตรงกับข้อเท็จจริง - รัฐบาลก่อนปิดกั้นเว็บไซต์อย่างมากเพียง 2,400 แห่ง ในขณะที่บล็อกลิสต์อย่างเป็นทางการของกระทรวงไอซีที ซึ่งเราดาวน์โหลดมาจากเว็บไซต์ของกระทรวงฯ เอง มีรายชื่อเว็บไซต์สัญชาติไทยที่ถูกปิดกั้นถึง 11,329 แห่ง

 

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของกระทรวงไอซีทีบอกกลุ่มทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เดินทางมาจาก Berkman Center for Internet and Society ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อสืบสวนประเด็นการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยว่า กระทรวงไอซีทีปิดกั้นเว็บไซต์ "ประมาณ 2,000 แห่ง" เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2550 วันเดียวกับที่ FACT ได้รับสำเนาบล็อกลิสต์ลับที่ปรากฏรายชื่อเว็บไซต์จำนวน 13,435 แห่งที่ถูกปิดกั้น

 

หลังจากนั้นในเดือนเดียวกัน ในวันที่ 26 มกราคม เจ้าหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีรายเดิมบอกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยว่า กระทรวงไอซีทีปิดกั้นเว็บไซต์ "ประมาณ 50 แห่ง"

 

ข้อเท็จจริงอยู่ตรงไหน? บล็อกลิสต์ของกระทรวงไอซีทีเองไม่โกหกเรา แต่ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงจะโกหก ท่าทีโอ้อวดประหนึ่งว่าไม่มีใคร "แตะ" ได้นี้ เป็นมากกว่าความตั้งใจทำให้สับสนของรัฐ หรือความไขว้เขวของข้าราชการ คำโกหกเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการเล่นไล่จับหรือวิธีการเข้าถึงความจริง เพราะจริงๆ แล้ว กระทรวงไอซีทีกำลังหลอกลวงประชาชนไทยอย่างมีเจตนา

 

กรมตำรวจ สมาคมผู้ดูแลเว็บแห่งประเทศไทย และไอเอสพีไทยล้วนสนับสนุนกระทรวงไอซีทีให้อย่างน้อยต้องเปิดเผยหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการปิดกั้นเว็บไซต์แต่ละแห่ง แต่กระทรวงไอซีทีก็ยังยืนกรานไม่ยอมทำตาม เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลซ่อนตัวอยู่ใต้คำปฏิเสธอย่างไม่มีเงื่อนไข เมื่อนั้นเราก็ควรสงสัยว่า พวกเขากำลังซ่อนอะไรอื่นอีกหรือเปล่า

 

กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT) มองว่าเนื้อหาของเว็บไซต์ 90 แห่งที่ถูกปิดกั้นเพิ่มเติมระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2550 เป็นเครื่องสะท้อนวาระซ่อนเร้นทางการเมืองของกระทรวงไอซีทีได้ดีที่สุด เพราะในบรรดาเว็บไซต์เหล่านี้ ไม่มีแม้แต่แห่งเดียวที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร

 

การเซ็นเซอร์คือเรื่องน่ารังเกียจ การเซ็นเซอร์คือเผด็จการ การเซ็นเซอร์คือการก่อการร้าย.

 

 

กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย

(Freedom Against Censorship Thailand หรือ FACT)

 

Website: http://facthai.wordpress.com

Petition: http://thailand.ahrchk.net/fact_petition

 

 

-------------------

ภาพหน้าแรกจาก เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท