Skip to main content
sharethis



ประชาไทภาคเหนือ รายงาน



บรรยากาศการรับสมัครผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา  (ที่มาของภาพ : www.cm108.com)



            ประชาไท - 7 มิ.ย.50 สื่อมวลชนเมืองเชียงใหม่ เตรียมจัดเวที เวทีเสียงพลเมือง "นายกเทศมนตรีที่ต้องการและนโยบายพื้นฐานที่ต้องทำ" ในวันอาทิตย์ที่ 10 มิ.ย.นี้ เวลา 13.00 . - 16.00 . ณ วิหารหลวง วัดสวนดอก ถ.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กระตุ้นการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มิ.ย. นี้


 


บก.พลเมืองเหนือเผยจัดเวทีสร้างช่องทางพลเมืองเสนอนโยบายเมือง


อัจฉราวดี บัวคลี่ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ กล่าวว่า ขณะนี้เมืองเชียงใหม่กำลังมีวาระสำคัญของท้องถิ่นคือการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ โดยผู้สมัครแต่ละราย เริ่มแถลงนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มรณรงค์หาเสียง เชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิกันบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาที่กระชั้นชิด ส่งผลให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งบางส่วนอาจไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร นโยบายจากผู้สมัคร รวมทั้งอาจไม่มีช่องทางที่จะนำเสนอแนวคิดหรือความต้องการของภาคประชาชนต่อประเด็นที่ควรกำหนดเป็นนโยบาย หรือคุณลักษณะของนายกเทศมนตรีที่พึงประสงค์ได้


พิมพ์พลเมืองเหนือ สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถานีวิทยุมหาจุฬาเชียงใหม่ สถานีวิทยุเสียงเสริมสร้างพลังชุมชน และรายการร่วมด้วยช่วยกันที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน F.M.100MHz เห็นว่าสื่อมวลชนควรได้มีบทบาทในการเป็นสื่อกลางของวาระบ้านเมือง จึงร่วมกันกำหนดจะจัดเวทีฟังเสียงพลเมือง ระดมความคิดเห็นภาคประชาชนต่อประเด็น "นายกเทศมนตรีที่ต้องการและนโยบายพื้นฐานที่ต้องทำ" เพื่อให้ประชาชนได้เสนอคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตามที่ประชาชนต้องการ และเพื่อให้ประชาชนได้เสนอนโยบายที่เห็นว่ามีความสำคัญต่อประชาชนอย่างแท้จริง


 


เชิญ 8 ผู้สมัครนายกฯ เชียงใหม่แสดงวิสัยทัศน์


พร้อมกันนี้ยังได้เชิญผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ทั้ง 8 คน มาเสนอวิสัยทัศน์ ในประเด็น "การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการบริหารเทศบาลนครเชียงใหม่" ตามที่ผู้สมัครหลายท่านได้กำหนดเป็นนโยบายไว้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบในรายละเอียดด้วย


นอกจากนี้ในวันดังกล่าว สถานีวิทยุผู้ร่วมจัดทั้ง 3 สถานี จะทำการถ่ายทอดเสียงทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ F.M.100 MHz, สถานีวิทยุมหาจุฬาเชียงใหม่ F.M.106 MHz และเสียงเสริมสร้างพลังชุมชน F.M.99 MHz ตลอดทั้งรายการ


 


นักวิชาการท้องถิ่นเชื่อ คึกคักเพียง 50-50


 



รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง


 


ด้าน รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักวิชาการด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น แห่งคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นเกี่ยวกับบรรยากาศการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ว่า ความคึกคักของการที่จะมีประชาชนเข้าร่วมเวทีประชาคมในวันอาทิตย์ และไปลงคะแนนเลือกตั้งอยู่ที่ 50-50


โดยคนชั้นกลาง หรือคนทำงานในเมืองมีความตื่นตัวต่อเรื่องการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีไม่สูงนัก และอยู่กันค่อนข้างกระจัดกระจายตัวใครตัวมัน


ในด้านของการรับรู้ข่าวสาร ผลจากการรวมศูนย์อำนาจทุกด้าน รวมถึงด้านทางวัฒนธรรม ทำให้ผู้คนในเชียงใหม่ติดตามข่าวสารจากสื่อส่วนกลางมากกว่าสื่อท้องถิ่น การที่มีเทศบาลถึง 1,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ข่าวส่วนกลางจึงไม่มีการรายงานข่าวการเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่แบบวันต่อวัน ไม่มีการรายงานว่าผู้สมัครไปทำอะไร ที่ไหนอย่างไร มีรายงานข่าวแต่เพียงว่ามีการลาออกของนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ และจะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 24 มิ.ย. เท่านั้น จะเห็นได้ว่า ข่าวส่วนกลางจึงไม่มีการนำเสนออะไร


"ยิ่งเป็นข่าวโทรทัศน์ยิ่งไม่มีอะไร มีแต่ข่าวระเบิดในนราธิวาส หรือข่าวโรงงานลำไยในเชียงใหม่ระเบิด แบบนี้ถือเป็นข่าวท้องถิ่นในทัศนะของสื่อส่วนกลาง" อาจารย์ธเนศวร์กล่าว


ในส่วนของสื่อท้องถิ่น อาจารย์ธเนศวร์ให้ความเห็นว่า หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเชียงใหม่มียอดจำหน่ายจำกัด ทั้งหนังสือพิมพ์รายวันอย่างเชียงใหม่นิวส์ ไทยนิวส์ หรือหนังสือพิมพ์วิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์อย่างพลเมืองเหนือ


ในส่วนของรายการวิทยุคลื่น F.M. ที่เปิดโอกาสให้คนโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นในรายการอย่าง รายการร่วมด้วยช่วยกันใน F.M.100 หรือ F.M.100.75 MHz ของ อสมท.ก็มีกลุ่มคนฟังที่จำกัด อย่างเช่นรายการร่วมด้วยช่วยกันทางสถานีวิทยุ F.M.100 MHz ก็ออกอากาศในช่วงเวลา 9.00 น. มีเพียงกลุ่มผู้ฟังที่ทำงานในตลาดหรือเป็นแม่บ้าน คนทำงานในสำนักงานก็ไม่มีโอกาสได้ฟัง


 


ประธานชุมชนตกเป็นที่หมายปองของผู้สมัคร


ส่วนความตื่นตัวเขตชุมชนเมือง ของเทศบาลนครเชียงใหม่ อาจารย์ธเนศวร์กล่าวว่า ว่ากันว่ามีการจัดตั้งฐานเสียงกันแล้ว โดยประธานชุมชนเมือง ถือว่ามีความหมายต่อคะแนนเสียงของผู้สมัคร เพราะประธานชุมชนมีบทบาทในการกระจายข่าวในชุมชน และจัดคนร่วมกิจกรรมของเทศบาลและของราชการ เช่น เร็วๆ นี้จะมีการทำบุญประตูเมืองและแจ่ง (ป้อมประจำคูเมือง) ก็ต้องอาศัยการระดมคนจากประธานชุมชนร่วมงาน ดังนั้นความสนับสนุนของประชาชนต่อเทศบาล จึงขึ้นอยู่กับประธานชุมชน ถือว่าประธานชุมชนมีความหมาย เป็น Mobilizer เป็น Organizer ระดมคนเพื่อตอบแทนคะแนนเสียงให้กับผู้สมัคร ประธานชุมชนจึงเป็นที่หมายปองของนักการเมือง ผู้สมัครแต่ละคนต้องเข้าไปสัมพันธ์กับประธานชุมชน ประธานชุมชนก็อาจจะแนะนำผู้ช่วยของเขาให้กับผู้สมัคร


"พอเกิดการเลือกตั้งจึงคึกคัก ชาวบ้านพูดคุยกันว่า "ใครจะเสนออะไร ใครจะให้อะไร" ความคิดพื้นฐานที่ว่า "ไผก่อตึงกิ๋น ขึ้นอยู่กับว่าเปิ้นจะหื้อเฮาก่อ" (นักการเมืองคนไหนก็โกงกิน ขึ้นอยู่กับว่าเขาคนนั้นจะให้เราด้วยหรือเปล่า) เมื่อผู้สมัครหลายคนมีกระแสว่าเป็นคนกระเป๋าหนัก มีทุน ดังนั้นชาวบ้านจึงคาดหวังว่าจะมีการยื่นหมู ยื่นแมวพอสมควร" อาจารย์ธเนศวร์กล่าว


 


มหาวิทยาลัยเงียบ "เหมือนอยู่กันคนละประเทศ"


ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ใน จ.เชียงใหม่ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของเทศบาลนครเชียงใหม่ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประกอบด้วยอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาที่ต้องย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นจำนวนหนึ่งหมื่นกว่าคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยนั้น


อาจารย์ธเนศวร์เห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่มีบรรยากาศของความตื่นตัวเรื่องการเลือกตั้งเท่าที่ควร


"ผมเห็นบรรยากาศป้ายหาเสียงในเมืองคึกคัก แต่ในมหาวิทยาลัยเงียบเหมือนอยู่กันคนละประเทศ"ธเนศวร์กล่าวและว่าไม่มีการจัดเวทีแนะนำผู้สมัคร หรือเวทีวิชาการเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีที่นี่ อาจเกี่ยวกับว่ามหาวิทยาลัยกำลังจะออกนอกระบบ จะติดต่อใช้ห้องเดี๋ยวนี้ก็ต้องเสียค่าเช่าสถานที่ เสียค่าเครื่องปรับอากาศ


 


นักศึกษาอาจโหวตโน เพราะไม่รู้จักผู้สมัคร


เขากล่าวด้วยว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีสิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรีก็จริง แต่ส่วนหนึ่งนักศึกษามาจากภาคอื่นมาอยู่เชียงใหม่อาจไม่ผูกพัน จากที่ตนเก็บข้อมูล นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ได้ฟังวิทยุท้องถิ่นอย่าง F.M.100 MHz และข่าวที่อ่านในหนังสือพิมพ์ก็เป็นของส่วนกลาง


หรือแม้แต่นักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคเหนือ หรือ จ.เชียงใหม่ ก็ไม่ได้สนใจติดตามเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะนักศึกษาจำนวนมากไม่ต้องเรียนวิชาการเมืองพื้นฐานในมหาวิทยาลัย หรือแม้จะเคยเรียนวิชาการเมืองในสมัยมัธยมปลาย ก็เป็นแต่เพียงการเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น


"แนวโน้มของนักศึกษาก็คือ ไม่เลือกใคร เพราะไม่รู้จักผู้สมัคร หรือ เลือกเบอร์นั้น เบอร์นี้ เพราะเพื่อนบอก"


 


คาดหวังผู้บริหารฯ จัดเวทีสร้างการมีส่วนร่วม แทนการปล่อยผู้สมัครย่องหาเสียงกลางดึก


สำหรับบรรยากาศการหาเสียงในมหาวิทยาลัย อาจารย์ธเนศวร์กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้สมัครเข้ามาหาเสียงชนิดต่างคนต่างเข้ามาเดินแนะนำตัวกันเอง เรื่องนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอาจไม่อยากยุ่ง อาจเป็นวิธีการที่ผิด เพราะการเมืองเราต้องยุ่ง เราหนีไม่ได้ "ในเมื่อเราเองก็ต้องไปลงคะแนนเลือกตั้ง และเขา (ผู้สมัคร) ก็อยากหาเสียง เราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร"


อาจารย์ธเนศวร์เห็นว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรมีพื้นที่ให้ผู้สมัคร และส่งเสริมการเลือกตั้งอย่างมีแผนการ มีการสนับสนุนให้ผู้สมัครทุกคนมาแสดงความคิดเห็นหรือเชิญนักวิชาการ มาให้ความเห็นเรื่องการเลือกตั้ง


อย่างไรก็ตามภายใต้ข้อจำกัด ที่ว่าจังหวัดเชียงใหม่ยังอยู่ภายใต้ประกาศกฎอัยการศึก ห้ามการชุมนุม อย่างล่าสุดชาวบ้านหมู่ 1 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามประตูคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตนกับชาวบ้านจะประชุมกันเรื่องแผนพัฒนาชุมชน แต่ คำสั่ง คมช. ลงวันที่ 30 ม.ค. 50 ให้ อบต.ร่วมมือ ห้ามมีการประชุมใดๆ ทำให้อาจารย์ธเนศวร์เป็นห่วงว่าหากจะมีการจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ หรือเวทีวิชาการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอาจต้องสอบถาม คมช. ข้อจำกัดเช่นนี้ อาจทำให้ผู้บริหารไม่สนใจจะจัดกิจกรรม


อาจารย์ธเนศวร์ยังแสดงความเห็นทิ้งท้ายว่า ตนก็อยากให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย จัดการให้การหาเสียงของผู้สมัครนายกเทศมนตรีเป็นการแข่งขันทางนโยบายและหาวิธีควบคุมการหาเสียง เช่น จัดสถานติดโปสเตอร์ของผู้สมัคร แทนที่จะปล่อยให้ต่างคนต่างติดจนป้ายหาเสียงรก หรือจะจัดการวิธีการหาเสียง โดยเชิญทุกคนมาพูดอย่างเปิดเผยพร้อมกัน


"ไม่ใช่เชิญให้มาพูดแค่คนเดียว หรือไม่จัดกิจกรรมอะไร แต่ปล่อยให้ผู้สมัครบางเบอร์เข้ามาตามหอพักนักศึกษาดึกๆ แล้วเลี้ยงข้าวต้มนักศึกษา"


 






 


ที่มาที่ไป  :   เลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่


สำหรับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ ในวันที่ 24 มิ.ย. 50 นี้ เป็นการเลือกตั้งที่เร็วกว่ากำหนดหลายเดือน เนื่องจากเมื่อวันที่ 4 พ.ค. นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์นายกเทศมนตรี กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งกลางที่ประชุม ก่อนที่จะหมดวาระในสิ้นปี 2550 นี้


หลังจากสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) คัดค้านไม่รับญัตติเร่งด่วนเรื่องการขออนุมัติงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในวงเงิน 5 ล้านบาท และมี สท.ทยอยเดินออกจากที่ประชุมกลางคัน ทำให้บรรยากาศในการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียดและไม่ครบองค์ประชุมในการลงมติ โดยถือเป็นการลาออกก่อนที่ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่จะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 31 ม.ค.2550


โดยมีรายงานว่า สาเหตุของการลาออกครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าเป็นการล้างไพ่ผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่ชุดเดิม เนื่องจากก่อนหน้านี้เกิดความขัดแย้งกัน ระหว่างนายพูลสวัสดิ์ วรวัลย์ รองนายกเทศมนตรี กับนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ รองนายกเทศมนตรีอีกคน โดยก่อนหน้านั้นนายพรชัย จิตรนวเสถียร อดีตเลขานุการนายกเทศมนตรีต้องลาออกไป เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีกระแสข่าวว่านายพรชัยจะผันตัวเองลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แข่งงนายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นน้องชายของนายบุญเลิศ


ส่วนรายชื่อผู้สมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ จากการรับสมัครเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 21-25 พฤษภาคม 2550 ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่จนกระทั่งเวลา ปรากฏว่ามีผู้มาสมัครทั้งสิ้นจำนวน 8 คน ขณะนี้ได้ทำการจับฉลากหมายเลขแล้ว ดังนี้


หมายเลข 1 นายบุญเลิศ บุรณุปกรณ์ (อดีตนายกเทศมนตรีคนเดิม พี่ชายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย)
หมายเลข 2 ร้อยเอกหญิง ดร.เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ (อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่เขต 1)
หมายเลข 3 นายพรชัย จิตนวเสถียร (อดีตเลขานุการ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่)
หมายเลข 4 นายพลโชค เจริญราษฎร (นักธุรกิจ)
หมายเลข 5 นายอุดม สุวิทย์ศักดานนท์ (อดีตรองนายก อบจ.เชียงใหม่ และ อดีต ส.ว.เชียงใหม่ล่าสุด)
หมายเลข 6 นายทัศภูมิ โสภาวรรณ (มหาบัณฑิตรัฐศาสตร์ มหาวิทาลัยเชียงใหม่ )
หมายเลข 7 นางเยาวเรศ กาญจนกูล (ภรรยานายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่เขต 1 เชียงใหม่)
หมายเลข 8 นายเทอดไชย วงศ์ลือเกียรติ (ญาตินักการเมืองท้องถิ่นของเทศบาลนครเชียงใหม่)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net