คำถามถึงบทเพลงของ "ควาย" ในตำนาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

Hi-Fidelity

 

 

ถ้าเราเริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำถาม...

ควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องรอฟัง "คำตอบ" ด้วย (ไม่ใช่เหรอ?)

 

เมื่อได้ยินข่าวว่าน้า "ทิวา สาระจูฑะ" นำผลงานของคาราบาวตลอด 25 ปี มาเรียบเรียงและเปลี่ยนนักร้องเสียใหม่ นัยว่าเพื่อ "อุทิศให้" กับควายในตำนาน (ที่อยู่มานาน) แห่งวงการดนตรี คำถามมากมายก็เกิดขึ้นอึงมี่ในเวบบอร์ดหลายแห่ง

 

บ้างก็ว่า "มนต์เพลงคาราบาว" เสื่อมความขลังไปนานแล้ว นับตั้งแต่หัวหน้าวงอย่าง "ยืนยง โอภากุล" เสียรังวัดไปมากจากการดำเนินธุรกิจ "บาวแดง และการกระทำของตัวเองในระยะหลังๆ

 

บ้างก็ว่า "นักร้องรุ่นใหม่" คงไม่มีทางถ่ายทอดอารมณ์ของรุ่นเก๋าอย่างเจ้าของบทเพลงตัวจริงเสียงจริงได้

 

บ้างก็ว่า "นี่เป็นการต่อยอดทางธุรกิจดนตรี" หลังจากที่ "หนุ่มบาว สาวปาน" สร้างปรากฏการณ์ขายดิบขายดีเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

และมีอีกมากที่ประเมินค่าด้วยคำถาม "มันก็เป็นแค่การเอาของเก่ามาขายกินเท่านั้นไม่ใช่หรือ?"

 

คำถามเหล่านี้ มีที่มาที่ไปที่เข้าใจได้ เพราะคนส่วนใหญ่มักผูกโยงภาพลักษณ์ของคาราบาวเข้ากับตัวตนที่ปรากฏต่อสาธารณชนของหัวหน้าวงอย่าง "ยืนยง โอภากุล"

 

ถึงขั้นที่ว่าแฟนเก่าของคาราบาวหลายคนออกอาการรับไม่ได้ เมื่อค้นพบว่าแท้จริงแล้วผู้ขับร้องเพลง "เพื่อชีวิต" ที่เคยฟังอย่างซาบซึ้งในอุดมการณ์ อาจจะไม่ต่างอะไรจากนักธุรกิจหิวเงินที่เคยถูกประณามไว้ในบทเพลงของพวกเขาสักกี่มากน้อย

 

บทเพลงเพื่อชีวิตหลายเพลงของคาราบาวจึงถูกมองด้วยสายตาสงสัย และคำถามที่ตามมาบ่อยๆ ในระยะหลังๆ ก็คือว่า: เพลงเพื่อชีวิตของ "ใคร" กันแน่?

 

000

 

ถ้าจะพูดอย่างตรงไปตรงมา การวัดกันที่ตัวงานและขั้นตอนการผลิตที่ดูแลโดย ทิวา สาระจูฑะ ถือได้ว่า "25 ปี มนต์เพลงคาราบาว" เป็นงานดนตรีที่ตั้งอกตั้งใจทำอัลบั้มหนึ่ง และถึงแม้ว่านี่จะเป็นงานที่ทำเพื่ออุทิศให้แก่คาราบาว เพลงทุกเพลงกลับไม่มีกลิ่นอายของความเป็นคาราบาวอย่างที่คิด

 

นักร้องหลายคนถ่ายทอดงานของคาราบาวโดยมีสไตล์ของตัวเอง และช่วยไม่ได้ที่อารมณ์เพลงของคาราบาวจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

 

หลายต่อหลายเพลงที่เคยได้ยินและคุ้นชินกับสำเนียงไม่กี่สำเนียงของนักร้องนำวงคาราบาว ไม่ว่าจะเป็น ยืนยง โอภากุล, ปรีชา ชนะภัย หรือ เทียรี่ เมฆวัฒนา กลายเป็นสำเนียงแปลกๆ จากนักร้องมากหน้าหลายตา ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ แต่เพลงที่โดดเด่นและได้ใจไปเต็มๆ ก็คือ "ยายสำอางค์" "คนล่าฝัน" และ "ตุ๊กตา" ที่ไม่ต้องตั้งคำถามให้ยุ่งยากใจว่าเพลงนี้ดีหรือไม่ดีกว่าครั้งที่คาราบาวเคยร้องและเล่นเอาไว้ เพราะทั้งสามเพลงสามารถ "ตัดขาด" จากอดีตได้อย่างสิ้นเชิง

 

ต่อให้ใครที่เคยฟังและชื่นชอบ "ยายสำอางค์" ฉบับดั้งเดิม ก็ยังสามารถรับรู้ถึงความหนักแน่นทางดนตรีของเพลงนี้ ยิ่งได้เสียงร้องจาก "ครูเพลง" อย่างไวพจน์ เพชรสุพรรณ และชวัญจิต ศรีประจันต์ มาแหล่ในท่อนของยายสำอางค์ คงไม่มีใครกล้าตั้งคำถามถึงฝีไม้ลายมือหรือความตั้งใจแน่ๆ

 

เช่นเดียวกับ "คนล่าฝัน" ที่มีคนเคยฟังในจังหวะโจ๊ะๆ ของคาราบาว กลายมาเป็น "คนล่าฝัน" ในแบบของฉันทนา กิติยพันธุ์ และ สุดา ชื่นบาน ที่มาแบบโชว์พลังเสียงและครึกครื้นชวนให้ลุกขึ้นมาล่าฝันจริงๆ ได้อารมณ์โดยไม่มีกลิ่นคาราบาวมาเจือปน แต่เข้มข้นได้ใจไม่แพ้กัน

 

ส่วน "ตุ๊กตา" ของ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย เรียกได้ว่า "ดีเกินคาด" เพราะเรื่องราวชีวิตคนบ้านนอกที่ดิ้นรนเข้ามาอยู่ในเมือง และสุดท้ายก็ถูกกลืนกินทั้งเป็น เข้ากับเสียงร้องที่ฟังดูซื่อๆ ไม่มีพิษไม่มีภัย ผนวกกับการเอื้อนเชิงตัดพ้ออันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมนต์สิทธิ์ คนฟังจึงอาจจะอึ้งไปนานด้วยบรรยากาศในเพลงที่เศร้าสร้อย (สมกับนามสกุลคำสร้อย) อย่างไม่น่าเชื่อ :-P

 

000

 

เพลงอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ "ไม้ไผ่" ที่เศรษฐา ศิระฉายา ร้อง (ค่อนข้างละมุนละไมไปนิด แต่ก็ถือว่าสอบผ่าน) "แร้งคอย" - หงา คาราวาน "ผ้าขี้ริ้ว" - สุรชัย สมบัติเจริญ "ฝาโลง" โป่ง - หินเหล็กไฟ "ถามหาความรัก" ซึ่งเพราะจับใจ โดย สุภัทรา ไหมไทย "สาธุชน" โดย สุรสีห์, "หัวใจบ้าบิ่น" โดย ศักดา พัทธสีมา และ "รักทรหด" โดย กิฟต์ โมโนโทน

 

รวมถึง "เทวดาท่าจะแย่" ของ ติ๊ก ชิโร่ ที่นอกเหนือจากอภิสิทธิ์ชนทั้งหลายแล้ว "เทวดา" ในความหมายของเขาอาจจะหมายถึง "ฝรั่งมังค่า" ที่เข้ามายึดครองพื้นที่ทางสังคมในบ้านเราระยะหลังๆ ด้วยก็เป็นได้

 

สำหรับเพลงที่ตกเป็นเป้าแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ และน่าจะมีจำนวนคนชอบ พอๆ กับคนที่ไม่ชอบ น่าจะเป็นเพลง "ทะเลใจ" ที่เสียงร้องเนิบช้าของ ธนชัย อุชชิน หรือ "พี่ป๊อด โมเดิร์นด๊อก" ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบเพลงนี้กับเวอร์ชั่นดั้งเดิมที่ ยืนยง โอภากุล ขับร้องไว้ และหลายเสียงอีกเช่นกัน บอกว่าบทเพลงนี้พูดถึงห้วงเวลาที่ "ตัวกับใจไม่ตรงกัน" ไม่โหยไห้และกินใจเท่ากับต้นฉบับ

 

แต่ใช่หรือไม่ว่า การฟังเพลงนี้ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 กับการฟังอีกครั้งในเดือนพฤษภา 2550 ย่อมได้อารมณ์เพลงที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง

 

ในเมื่อ "ทะเลใจ" เวอร์ชั่นของ ยืนยง โอภากุล เป็นสัญลักษณ์ทำให้เรานึกถึง "เหตุการณ์ในเดือนพฤษภา" ซึ่งเราล้วนมี "ชุดความทรงจำ" อยู่ในใจแล้ว เราย่อมผูกพันและยึดติดกับสิ่งที่ใกล้เคียงกับความทรงจำของเรามากกว่าการเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ

 

แต่ถ้าลองฟังกันดีๆ เสียงร้องของธนชัยและเสียงดนตรีที่เรียบเรียงใหม่ ไม่ว่าจะเสียงเปียโนหรือเชลโล่ที่ถูกเพิ่มเข้ามา ล้วนมีความโดดเด่นและลงตัวของมันเอง

 

วิธีถ่ายทอดการหาทางออกจาก "ทะเลใจ" ของธนชัย อาจไม่มี "ความรู้สึกร่วมของมวลชน" แต่คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าพี่ป๊อดของน้องๆ เด็กแนวทั้งหลาย (และผู้ใหญ่ในวันนี้ที่เคยมีหัวใจ "อัลเตอร์ฯ" เมื่อหลายปีก่อน) ทำหน้าที่ถ่ายทอดอารมณ์เพลงออกมาให้เห็นถึงความสับสนอ่อนล้ากับคลื่นลมหรือ "กระแส" ต่างๆ นานาได้อย่างลงตัว

 

เพียงแต่ว่า "ทะเลใจ" ที่ต้องฝ่าไปในครั้งนี้ อาจเป็นเพียงทะเลเล็กๆ ของปัจเจก แทนที่จะเป็นทะเลแห่งความปั่นป่วนของสังคมไทยในยุคที่เรากำลังก้าวเข้าสู่อิสระเสรี (ชั่วคราว) ในช่วงหลังปี 2535

 

000

 

ในยุคหนึ่งที่ "เสียงของมวลชน" ได้รับการใส่ใจและให้ค่าอย่างสูง บทเพลงของคาราบาวคือกระบอกเสียงที่ทำให้ความคิดเชิงมวลชนนิยมแพร่หลายในวงกว้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป บทเพลงเดิมๆ ถูกนำมาขับร้องใหม่ ความหมายก็ย่อมไม่เหมือนเดิม เพราะกาลเวลาเปลี่ยน ความคิด-ความอ่าน (หรือที่ใครบางคนเรียกกันเท่ๆ ว่า อุดมการณ์) ก็อาจจะเปลี่ยนตามไปด้วย...

 

คาราบาวถูกมองว่าไม่ใช่ "ศิลปินเพื่อชีวิต" อีกต่อไป และหลายคนอาจตั้งคำถามถึง "ความจริงใจ" ในสิ่งที่ "คนบางคน" เคยร้องขับขานเพื่อเสียดสีสังคมอยุติธรรม ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามเหตุและผลของมัน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ "คุณค่า" ของบทเพลงแห่งคาราบาวลดน้อยถอยลง เพราะสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือว่า บทเพลงของคาราบาวเป็นภาพสะท้อนอันแจ่มชัดของสังคมไทยในแต่ละยุค ทำให้เรามองเห็นความผันแปรและมองย้อนกลับมาสำรวจตัวเองได้ด้วย

 

เพลงชุดความรักของคาราบาว อันประกอบด้วย แง้มใจ, รักทรหด, รักต้องสู้ ไม่ได้เป็นเพลงรักดาดดื่นที่พูดถึง "อารมณ์ความรู้สึก" เหมือนอย่างเพลงอื่นๆ ทั่วไป แต่มันคือภาพของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างทั่วทั้งประเทศไทย (ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่เสียด้วย) ที่ต้องดิ้นรนเพื่อสถานะอันมั่นคงของ "สถาบันครอบครัว"

 

ส่วนเพลงที่เคยตั้งคำถามเชิงโครงสร้างอย่าง ประชาธิปไตย, สังกะสี (ชะตากรรมชนชั้นแรงงาน) ฯลฯ ไม่ปรากฏในอัลบั้มนี้ แต่ถูกแทนที่ด้วยเพลงที่เกี่ยวกับสัจธรรมในชีวิต เช่น ฝาโลง (มนุษย์เราก็เท่านี้...ไม่มีใครหนีชะตากรรมสุดท้ายพ้น), ไม้ไผ่, ถามหาความรัก (ความรักอมตะของบุพการี) และ คนล่าฝัน ฯลฯ

 

จะมีบ้างบางเพลงที่สะท้อนความพิกลพิการไม่เท่าเทียม ที่เคยเป็นอย่างไรเมื่อหลายสิบปีก่อน ปัจจุบันก็ยังเป็นเหมือนเดิม เช่น ลูกหิน, ตุ๊กตา, ยายสำอางค์, จับกัง แต่เพลงเหล่านี้ก็ยังไม่มากเท่ากับเพลงที่พูดถึงการต่อสู้ภายในใจของแต่ละบุคคล

 

อาจตีขลุมได้ว่าเพลงที่เลือกมารวมไว้ในอัลบั้ม "25 ปี มนต์เพลงคาราบาว" ไม่ใช่เรื่องราวที่พูดถึงคนส่วนใหญ่ และมุ่งไปในเรื่องของ "ปัจเจกบุคคล" มากกว่า แต่ก็ยังมีบทเพลงที่มีเนื้อหาร่วมสมัยที่ร้องเมื่อไหร่ก็โดนใจเมื่อนั้นอยู่อีกไม่น้อย

 

การเลือกที่จะใส่ใจกับความเป็นปัจเจกมากกว่า "เรื่องของคนอื่น" ก็เป็นความจริงที่ (ขมขื่น?) เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ในโลกที่เล็กลงกว่าเดิม ทุกอย่างดูเหมือนจะใกล้ขึ้น แต่มนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมกลับหมกมุ่นอยู่กับตัวเองมากขึ้นทุกที...

 

แฟนเก่าแก่เหนียวแน่นของคาราบาวอาจจะไม่ชอบเพลงในอัลบั้มนี้ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าสำเนียงเดิมๆ ของคาราบาวในแต่ละเพลงถูกปรุงแต่งเสียใหม่จนไม่คุ้นหูคนที่ฟังเพลง "หัวควายปากหมา" มานับครั้งไม่ถ้วน และอุดมการณ์หรือความยิ่งใหญ่ของการเป็น "เพลงเพื่อชีวิต" ก็ถูกลดทอนให้กลายเป็นเพลงที่พูดถึงสัจธรรมในระดับปัจเจก

 

ในขณะเดียวกัน "คนเคยชอบ" คาราบาว ก็อาจไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไรกับสำเนียงที่แปลกออกไป เพราะเขาเลิกใส่ใจกับ "ไอดอล" ในอดีตมานานแล้ว...

 

อัลบั้ม "25 ปี มนต์เพลงคาราบาว" จึงได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา

 

และถึงแม้ว่าเส้นทางของอัลบั้ม "25 ปี มนต์เพลงคาราบาว" จะเต็มไปด้วยคำถาม แต่ถ้าใครต้องการคำตอบ (ไม่ใช่แค่ตั้งคำถามเพื่อชี้นำเพียงลอยๆ) หนทางที่ดีที่สุดที่จะได้คำตอบ ก็คือการตั้งใจ "ฟัง" บทเพลงต่างๆ ในอัลบั้มนี้

 

"ฟัง" อย่างไม่มีการตั้ง "กำแพง" แห่งอคติ ไม่มีการหมั่นไส้ ไม่มีการเปรียบเทียบ และเหนือสิ่งอื่นใด คือการฟังอย่างไม่ลำเอียงเข้าข้างเพราะความชอบหรือไม่ชอบหน้าใครอย่างเฉพาะเจาะจง...

 

เพราะบทเพลงแต่ละเพลง มีคุณค่าในตัวมันเองอยู่แล้ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท