Bangkok Documenta Magazine NO.1

ความเสื่อมสภาพของสื่อที่กลายเป็นเพียง "กระบอกเสียงแห่งอำนาจ" เท่านั้น

ผกามาศ

(ภาพจาก onopen.com)

"อย่าเข้าใจผิด หนังสือที่ท่านถืออยู่ในมือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสืออีกเล่มที่เกี่ยวกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 การปรับปรุงชื่อบทความในหนังสือเล่มนี้ให้ทันสมัยมากขึ้นจะไม่มีทางให้คำตอบอะไรกับเรา หรือแม้แต่สรุปสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองปัจจุบัน เพราะแท้ที่จริง โครงการนี้เป็นการแสดงความคารวะต่อวงการสื่ออิสระในประเทศไทย ท่ามกลางกรณีอื้อฉาวของไอทีวี สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม สถานีวิทยุชุมชน ที่ชะตากรรมยังไม่แน่นอนและไม่มีใครรู้ทิศทางที่แน่ชัดนั้น ในสังคมไทยเองก็เกิดการถกเถียงอภิปรายกันอย่างมีชีวิตชีวาในประเด็นที่ว่า "สื่ออิสระ" หมายความว่าอะไร สื่อชนิดนั้นควรมีลักษณะแบบไหนและควรทำอะไรบ้าง"

ข้างต้นคือบทนำหนังสือ Bangkok Documenta Magazine NO.1 โดย Keiko Sei บรรณาธิการคนหนึ่งที่ทำหน้าที่คัดเลือกนิตยสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์อิสระจำนวนหนึ่งในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมแสดงในงาน Documenta 12 อันเป็นนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้น ณ ประเทศเยอรมัน ทุกๆ 5 ปี โดยในการจัดแสดงงานครั้งนี้ทางผู้จัดงานได้รวมสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสารเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของงานในฐานะ "ศิลปิน" และ "งานศิลปะ" ที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงศิลปะ กับสาธารณะชน

สังคมปัจจุบันโดยเฉพาะในสังคมไทย สื่อได้เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในการชี้นำทิศทางของสังคมและการเมือง กรณีของ ASTV และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สะท้อนแนวความคิดนี้ได้อย่างดี แต่ถึงอย่างไรก็ตามภาวะการชี้นำดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการถูกครอบงำอย่างไม่ลืมหูลืมตาหรือปราศจากการตั้งคำถามของคนจำนวนมากในสังคมต่อข้อเท็จจริงและการให้คุณค่าต่อเหตุการณ์ของสื่อ

ภายใต้ "ความเป็นประชาธิปไตย" ที่สังคมโหยหาและต้องการที่จะไขว่คว้า สื่อมีความสำคัญอย่างมากในการเป็นตัวกลางหรือเปิดพื้นที่ในการถกเถียง อภิปรายของคนกลุ่มต่างๆ ต่อเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคม  ตลอดจนการท้าทายอำนาจเบ็ดเสร็จที่ครอบคลุมสังคมอยู่ ณ ช่วงเวลานั้น

แต่ถึงอย่างไรก็ตามในความเป็นจริงที่พบในสังคมไทยและอีกหลายสังคมทั่วโลก สื่อขนาดใหญ่จำนวนมากกลับมิได้เปิดพื้นที่ในการถกเถียงหรือต่อต้านอำนาจเบ็ดเสร็จที่ครอบงำอยู่ ในทางกลับกันภาวะของธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องอิงอยู่กับอำนาจทางการเมืองก็ทำให้สื่อเหล่านั้นยอมศิโรราบหรือสนับสนุนอำนาจอันเบ็ดเสร็จ ตลอดจนยอมรับคำนิยาม "ความเป็นประชาธิปไตย" ที่อำนาจเบ็ดเสร็จหยิบยื่นให้ ในแง่นี้สื่อจึงมิได้เป็นพื้นที่แห่งการถกเถียงหากแต่เป็นเพียง "กระบอกเสียงแห่งอำนาจ" เท่านั้น

ในหนังสือ Bangkok Documenta Magazine NO.1 เล่มนี้ ทางบรรณาธิการและผู้จัดทำได้รวบรวมบทความที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งจากสื่อต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นสื่ออิสระขนาดเล็ก อาทิ ฟ้าเดียวกัน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน Questionmark ประชาไท และ Budpage เข้าไว้ด้วยกัน

จากบทความต่างๆ ที่ถูกบรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้เราจะเห็นได้ถึงความหลากหลายและไม่เป็นเอกภาพของแนวคิดในแต่ละบทความซึ่งสิ่งนี้ดูเหมือนจะมิใช่ความผิดพลาดแต่ประการใดของหนังสือ เพราะหากเราต้องการสร้างสิ่งพิมพ์หรือสื่อที่ให้เสรีภาพกับการแสดงความคิดเห็นแล้ว ความขัดแย้ง ความหลากหลาย และข้อถกเถียงทางความคิดในรูปแบบต่างๆ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ไปได้ยาก

ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่เราจะสามารถพบบทความที่ผู้เขียนมีจุดยืนมีความขัดแย้งกันได้ในหนังสือเล่มนี้ ดังจะเห็นได้จากบทความอธิบายรัฐประหาร 19 กันยาฯ และวิวัฒนาการประชาธิปไตยไทยผ่านสายตาฝรั่งคนหนึ่งของ ไมเคิล ไรท ที่ตีเคยตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่ผู้เขียนได้แสดงความคิดและจุดยืนเกี่ยวกับรัฐประหารของเขาว่า "หลายฝ่าย (รวมทั้งฝ่ายที่ไม่นิยมคุณทักษิณ) ได้แสดงความเสียดายที่กองทัพยึดอำนาจครั้งล่าสุดนี้ ผมเองก็รู้สึกเสียดาย แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นว่ามันทั้งจำเป็นในสังคมปัจจุบันและยังเป็นเรื่องปกติในสังคมที่ถนัดในแนวดิ่ง" ซึ่งจุดยืนดังกล่าวมีความแตกต่างกับผู้เขียนในอีกหลายบทความที่แสดงความไม่ชอบธรรมและไม่ต้องการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ดังที่พบใน บทสัมภาษณ์อภิชาต สถิตนิรามัย หรือบทความ "ข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นในการก่อรัฐประหาร" ของ ธงชัย วินิจจะกูล เป็นต้น

ผู้อ่านจึงสามารถเข้าไปสัมผัสหรือลิ้มรสกับวิวาทะที่มีความแตกต่างกันจากบทความที่บรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้และปิดท้ายด้วยงานเขียน 2 ชิ้น  คือ การเมืองและการเมืองโลก (Politics and Cosmopolitics) ของ Truls Lie นักเขียนชาวนอร์เวย์ และ สู่การขยายแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย (Towards widening the democratic canon) ของ Leonardo Avritzer และ Boaventura de Sousa Santos ที่จะทำให้เราเข้าใจข้อถกเถียงและประเด็นปัญหาเกี่ยวกับประชาธิปไตยได้ดีขึ้น เพราะประชาธิปไตยมิใช่เพียงอุดมการณ์เลื่อนลอยที่สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้โดยไม่มีบริบททางสังคมมารองรับ หากแต่แนวคิดดังกล่าวล้วนสัมพันธ์กับการเปิดพื้นที่ของการมีส่วนรวมของประชาชน หรือการผลักดันของสังคมที่ค่อยๆ เกิดขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว

หนังสือรวมข้อเขียนชิ้นนี้ถึงแม้ข้อเขียนส่วนใหญ่จะมิได้ถูกเผยแพร่ในสื่อกระแสหลักต่างๆ หากแต่การรวมข้อเขียนจากสื่ออิสระทั้งจากในและนอกประเทศครั้งนี้ ก็ทำให้เราประจักษ์ถึงสื่ออิสระจำนวนมากที่แสดงจุดยืนในการต่อต้านอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จ และสื่ออิสระเหล่านี้ล้วนมิได้ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไปภายใต้การเชื่อมโยงของเครือข่ายสื่อทั้งในและนอกประเทศ

           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท