บทความ : ตอบปัญหาว่าด้วย "การชันสูตรศพมุสลิม"

อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)

 

หมายเหตุ : ชื่อบทความเดิม "ตอบปัญหานพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เกี่ยวกับ การชันสูตรศพที่ชายแดนใต้"

 

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน และสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

 

ผู้เขียนได้อ่านบทความของนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เกี่ยวกับการชันสูตรศพที่ชายแดนใต้จากประชาไทออนไลน์[1] ซึ่งข้อเขียนหรือบทความของผู้เขียนข้างล่างนี้ จะเป็นทางออกให้กับหมอหรือใครก็แล้วแต่ที่ทำงานที่ชายแดนใต้ ปัจจุบัน

 

การชันสูตรศพของมุสลิมที่เสียชืวิต ตามปกติแน่นอน ตามหลักศาสนาอิสลามย่อมทำไม่ได้ เพราะตามหลักศานาตั้งบนพื้นฐานการให้เกียรติและคุ้มครองคุณค่าอันสูงส่งของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ในช่วงแห่งการมีชีวิตอยู่เท่านั้น ในสภาวะไร้วิญญาณเหลือแต่เพียงเรือนร่างเปลือยเปล่าทีอาจดูไม่งามตานัก ศาสนาอิสลามก็ยังคงถือว่าเกียรติยศและความประเสริฐในการเป็นมนุษย์ยังคงมีอย่างสมบูรณ์

 

กฎเกณฑ์ต่างๆ ในการปฏิบัติต่อผู้ตาย ไม่ว่าจะป็นการอาบน้ำศพ การห่อ การละหมาดขอพร และการฝังศพจึงได้บัญญัติขึ้นเป็นหน้าที่ (ฟัรดูกิฟายะฮฺตามหลักศาสนา) ในชุมชนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการศพที่ได้เสียชีวิตตามขั้นตอนที่ได้ระบุไว้ตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม นอกจากนั้นในการจัดการศพทุกขั้นตอน จะต้องคอยระมัดระวังมิให้กระทบกระเทือนหรือเกิดอันตรายต่อศพ ต้องให้เกียรติต่อศพตามความเหมาะสมภายใต้เจตนารมณ์ของพระเจ้า ดังที่พระองค์ได้ดำรัสความว่า

 

"และเรา (พระเจ้า) ได้ให้พวกเขา (มนุษย์) เลอเลิศเหนือกว่าสรรพสิ่งอันมากมายที่เราได้ดลบันดาลอย่างล้นเหลือ" ( อัลกุรอาน : บทอัลอิสรออฺ : ประโยคที่ 70 )

 

ตามหลักศาสนา ต้องรีบจัดการศพและห้ามมิให้เก็บศพไว้นานเพราะท่านศาสดามุฮัมมัดได้ตรัสว่า

 

"เมื่อมีบุคคลหนื่งเสียชีวิต เจ้าจงอย่าอย่ากักขังศพ ทว่าจงรีบนำศพสู่หลุมฝังศพโดยเร่งด่วน" (วจนะศาสดามุฮัมมัด: บันทึกโดยอิม่ามอัฏฏอบรอนีย์)

 

นี่คือหลักการศาสนาเกี่ยวกับการจัดการศพปกติ แต่ในกรณีที่ต้องการหรือมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการชันสูตรศพเพื่อพิสูจน์การฆาตกรรม การเปิดโปงความอยุติธรรมเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม และข้อกังขาของญาติและสังคม เช่นศพในกรณีการประท้วงที่ตากใบ และเหตุการณ์การเสียชีวิตต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่สงบนั้นนักวิชาการอิสลามมีทรรศนะอย่างไร? และนักวิชาการของโลกอิสลามยุคใหม่จะมีทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร?

 

เมื๋อพูดถึงเรื่องนี้ ผู้เขียนเคยเป็นบรรณาธิการวารสารไคโรสาร ฉบับที่ 35 ประจำปี 2538 (ไคโรสารเป็นวารสารที่รวบรวมบทความศาสนาของนักศึกษาไทยของม.อัลอัซฮาร์ประเทศอียิปต์) ซึ่งมีบทความหนึ่งที่เขียนเรื่อง "อิสลามกับการชันสูตรศพ" โดยอาจารย์เจ๊ะเหล๊าะ แขกพงศ์[2]

 

บทความนี้น่าจะเป็นทางออกให้กับญาติผู้เสียชีวิตที่ต้องการพิสูจน์ความจริง ประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการในการพิจารณากรชันสูตรศพเพื่อค้นหาความจริง คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย และจังหวัดต่างๆ ในการออกคำวินิจฉัย (ฟัตวาศัพท์ทางวิชกาศาสนา) และบทความของอาจารย์เจ๊ะเหล๊าะ แขกพงศ์ มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้

 

1. ความหมายของการชันสูตรศพ

การชันสูตรศพ หมายถึง การตรวจศพว่าผู้ตายเป็นใคร ตายเพราะเหตุใด พฤติกรรมแห่งการตายเป็นอย่างไรและเมื่อมีความจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ มีอำนาจสั่งให้ผ่าศพและแยกธาตุได้ หรือจะส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุฃองรัฐก็ได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา151) ถ้าฝังศพแล้ว กฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ จัดให้ขุดศพขึ้นเพื่อตรวจดูได้เว้นแต่จะเห็นว่าไม่จำเป็นหรือจะเป็นอันตรายแก่อนามัยของประชาชน (ป. วิ. อาญา มาตรา 153)

 

2. หลักฐานจากอัลกุอานและวจนะศาสดาเกี่ยวกับการชันสูตรศพ

จากการศึกษาทั้งคัมภีร์อัลกุอานและวจนะศาสดาเกี่ยวกับการชันสูตรศพ ปรากฏว่าไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ระบุชัดเจนถึงการห้ามหรืออนุมัติในการชันสูตรศพ ทั้งยังไม่พบหลักฐานใดๆ ยืนยันแน่ชัดว่า มุสลิมยุคแรกชันสูตรศพเหมือนที่เป็นอยู่ในสมัยปัจจุบัน

 

3. ตำราศาสนาของปราชญ์อิสลามในอดีตเกี่ยวกับการชันสูตรศพ

จากการศึกษาทั้งตำราศาสนาของปราชญ์อิสลามในอดีตเกี่ยวกับการชันสูตรศพ ปรากฏว่าไม่พบหลักฐานใดๆที่ระบุชัดเจนถึงการห้ามหรืออนุมัติในการการชันสูตรศพ แต่เราจะพบทรรศนะของบรรดานักปราชญ์ด้านนิติศาสตร์อิสลาม เกี่ยวกับสองกรณี

 

กรณีที่หนึ่ง การผ่าศพหญิงมีครรภ์ (ที่เสียชีวิต) เพื่อเอาทารกที่ยังมีชีวิตอยู่ในครรภ์ออกมา และอีกรณีหนึ่งคือการผ่าท้องศพเพื่อเอาทรัพย์เงินทองบางอย่าง ที่เขาได้กลืนเข้าไปก่อนตายออกมาคืนแก่ผู้เป็นเจ้าของ

 

1) ทัศนะของบรรดานักปราชญ์ ด้านนิติศาสตร์อิสลามสำนักคิดต่างๆเกี่ยวการผ่าศพหญิง

 

ก. สำนักคิดฮานาฟี

นักปราชญ์สำนักคิดนี้เช่น อิม่ามอิบนุ อาบิดีน และกลุ่มนักปราชญ์แห่งประเทศอินเดีย มีทัศนะว่า ศาสนาอนุโลมเกี่ยวกับทั้งสองกรณี ไม่ว่ากรณีที่หนึ่งที่ให้ผ่าท้องเพื่อช่วยเหลือทารกได้ เพราะการช่วยชีวิตทารกมีความสำคัญและจำเป็นยิ่งกว่าการให้เกียรติ ส่วนกรณีที่สองก็เป็นที่อนุโลมเช่นกัน เพราะการผ่าศพเพื่อเอาทรัพย์ของผู้อื่นคืนเจ้าของ เป็นสิ่งจำเป็นกว่า และศพเองได้ทำลายเกียรติแห่งความเป็นมนุษย์ของตัวเองให้เสื่อมเสียไปแล้วแต่ อิบนุอัลนะญีม มีความคิดแย้งในกรณีที่สองเพราะความมีเกียรติของศพมีค่ากว่าทรัพย์[3]

 

ข.สำนักคิดมาลิกี

นักปราชญ์สำนักคิดนี้เช่น อิม่าม ซะฮฺนูน และอับดุลวะฮฮาบ มีทัศนะว่า ศาสนาอนุโลมเกี่ยวกับทั้งสองกรณี แต่ท่านอิม่ามอับดุลวะฮฮาบได้วางเงื่อนไขว่า ทารกจะต้องมีอายุครบ 7 เดือน และแพทย์มั่นใจว่าเมื่อผ่าแล้วเด็กจะต้องปลอดภัย ส่วนท่านชัยคฺอุลัยชฺกลับมีความคิดเห็นไม่อนุญาตในกรณีที่หนึ่ง เพราะท่านมองถึงความไม่แน่นอนว่าเด็กจะปลอดภัยหรือไม่ ด้วยความไม่แน่นอนดังกล่าว การผ่าท้องอาจถือได้ว่าเป็นการทำลายเกียรติยศของศพและเป็นเสมือนการกักศพไว้ ห้ามมิให้นำศพไปฝังอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นการค้านกับวจนะศาสดา[4] เพราะท่านศาสดามุฮัมมัดได้ตรัสว่า "เมื่อมีบุคคลหนื่งเสียชีวิต เจ้าจงอย่าอย่ากักขังศพ ทว่าจงรีบนำศพสู่หลุมฝังศพโดยเร่งด่วน" (วจนะศาสดามุฮัมมัด : บันทึกโดยอิม่ามอัฏฏอบรอนีย์)

 

ค.สำนักคิดชาฟิอีย์ (มุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทยยึดสำนักคิดนี้เป็นแนวปฏิบัติ)

เหล่านักปราชญ์ของสำนักคิดนี้ เช่นท่านอิบนุหะญัร นาวาวีย์ และคอเต็บ อัรชัรบีนีย์ มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า อนุญาตให้ผ่าท้องศพสตรีมีครรภ์ หากคาดหมายว่าทารกในท้องยังมีชีวิตอยู่ และสามารถนำออกมาได้อย่างปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้น ท่านชัยคฺอิบนุหะญัรกล่าวว่า "เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น" และท่านคอเต็บ ชัรบีนีย์มีความคิดเห็นยืนยันว่า แม้ศพสตรีได้ถูกฝังไปแล้ว หากคาดหมายว่าทารกยังชีวิตอยู่ และมีอายุเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป ให้ขุดศพและผ่าท้องศพนั้นเพื่อเอาทารกในครรภ์ออกมา เพราะการดำเนินการเช่นนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อศพก่อนที่จะฝังเสียอีก แต่หากไม่คาดหวังว่าทารกจะยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องขุด ในกรณีของการกลืนทรัพย์ก็เช่นเดียวกับการอนุโลมการขุดศพและผ่าท้องได้ หากศพได้ถูกนำฝังก่อนผ่าเอาทรัพย์ออก[5]

 

ง.สำนักคิดซอฮิรีย์

นักปราชญ์นิติศาสตร์สำนักคิดนี้ อนุโลมการผ่าท้องทั้งสองกรณี[6]

 

จ. สำนักคิดฮัมบาลีย์

บรรดานักปราชญ์ในสำนักคิดนี้ มีทัศนะที่แตกต่างกันเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องของการผ่าท้องศพสตรีที่มีครรภ์โดยท่านสุไลมาน อัลมักดีชีย์ กล่าวว่า เมื่อหญิงมีครรภ์ถึงความตาย ให้ผ่าท้องของนางเพื่อเอาทารกในครรภ์ออกมา หากคาดหมายว่าทารกยังมีชีวิตอยู่และไม่สามารถจะนำออกมาทางช่องคลอดได้

 

แต่ส่วนใหญ่ของนักปราชญ์ในสำนักคิดนี้มีทัศนะว่า ไม่อนุญาตให้ผ่า และปล่อยศพค้างไว้จนกว่าทารกในครรภ์จะถึงความตาย แล้วจึงนำไปฝังศพ ท่านอิบนุ กุดามะฮฺมีความคิดเห็นว่า ไม่อนุมัติให้ผ่าท้องศพหญิงมีครรภ์ แต่ให้หมอผดุงครรภ์ใช้มือล้วงช่องคลอดเพื่อนำทารกออกมาตามช่องปกติ เพราะการผ่าท้องถือเป็นการหลบลู่เกียรติของศพ พร้อมกันนั้น ไม่อาจยืนยันได้ว่า ทารกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่เสมอไปก็หาไม่ การลบหลู่เกียรติยศของศพโดยมีเหตุผลเพียงเพื่อช่วยทารกที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีชีวิตอยู่จึงไม่เป็นที่อนุโลม[7]

 

สาเหตุที่ปราชญ์หลายคนตามสำนักคิดนี้ที่ไม่อนุโลมการผ่าศพสตรีนั้น สามารถวิเคราะห์ได้ว่า น่าจะมาจากไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดในสมัยนั้นประการหนึ่ง ซึ่งแน่นอน ในกรณีนี้หากยินยอมให้ผ่าก็ย่อมเป็นผลร้ายแก่ทารกและเป็นการลบหลู่เกียรติยศของศพอีกด้วย และอีกประการหนึ่ง อาจเป็นสาเหตุมาจากตัวทารกเองที่ไม่อยู่ในสภาพอันคาดหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ ซึ่งหากยินยอมในกรณีนี้ บางทีอาจนำไปสู่การทำให้ศพเสียรูปทรงซึ่งเป็นการลบหลู่ศพ

 

ส่วนการผ่าศพเพื่อเอาทรัพย์ของเจ้าของคืนนั้น นักปราชญ์ตามสำนักคิดนี้ก็ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันด้วยแต่แนวทางที่มีหลักฐานและเหตุผลชัดเจนกว่าคือ แนวทรรศนะที่เห็นว่า อนุโลมการผ่าศพเพื่อเป็นการคุ้มครองคุณค่าแห่งทรัพย์ที่ถูกขโมย และรักษาสิทธิผู้ที่ถูกลิดรอน นอกจากเจ้าของทรัพย์จะให้อภัยก็ไม่อนุญาตให้ทำการผ่าศพ

 

2) สรุปทรรศนะนักวิชาการปัจจุบันเกี่ยวกับการชันสูตรศพ

 

จากความคิดเห็นของปราชญ์ด้านนิติศาสตร์ทั่วโลกตามสำนักคิดต่างๆ ในอดีต ทำให้เราทราบว่า ส่วนใหญ่ของปราชญ์มีทรรศนะว่า การผ่าศพสตรีที่มีครรภ์เพื่อช่วยเหลือทารกให้อยู่รอดก็ดี หรือการผ่าศพเพื่อเอาทรัพย์คืนแก่เจ้าของก็ดี ล้วนเป็นที่อนุโลม ทั้งนี้โดยคำนึงถึงคุณประโยชน์ที่จะได้รับจาการช่วยชีวิตทารกและปกป้องมิให้ทรัพย์สูญเปล่า ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าความเสื่อมเสียที่จะเกิดแก่เกียรติยศของความเป็นมนุษย์ของศพ โดยใช้หลักทฤษฎีทางนิติศาสตร์อิสลาม (เกาะวาอิดดุลฟิกฮฺตามหลักศาสนาอิสลาม) ซึ่งบรรดาปราชญ์อิสลามในอดีตได้วางหลักและกฏไว้เพื่อตัดสินปัญหาต่างๆ ด้านศาสนา ไม่ว่าปัญหาจะเคยเกิดหรือปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดตามยุคสมัยต่างๆ ขึ้น

 

หลักทฤษฎีดังกล่าวคือหลักที่ว่าด้วย "อันตรายร้ายแรงยิ่งย่อมสิ้นไปด้วยภัยที่ด้อยกว่า" ในกรณีข้างต้น การผ่าท้องศพ แน่นอนจะต้องเป็นภัยแก่ศพ และหากไม่ผ่าก็ย่อมเป็นอันตรายต่อชีวิตทารกหรือทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งในทั้งสองประการ คือการผ่าท้องศพและการไม่ผ่า ล้วนเป็นภัยอันตรายทั้งสิ้น แต่เนื่องจากภัยในประการหลังมีอันตรายร้ายแรงยิ่งกว่าประการแรกจึงอนุญาตให้ผ่าเพื่อปกป้องและคุ้มครองชีวิตทารก แม้จะกระทบกระเทือนแก่เกียรติยศของศพบ้างก็ตาม

 

การชันสูตรศพ การผ่าศพ และแยกธาตุต่างๆ มีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีของการผ่าท้องศพ หลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยก็เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน ดังนั้นในภาวะจำเป็นเพื่อทราบถึงสาเหตุแห่งการเสียชีวิต การชันสูตรศพ การผ่าศพ และแยกธาตุ ย่อมได้รับการอนุโลมจากหลักการศาสนาให้ทำได้ ทังนี้ด้วยการเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงที่จะเกิดจากการนั้น ทั้งแง่การดำเนินคดีและในทางการแพทย์ เมื่อเปรียบเทียบกับความเสื่อมเสียเกียรติที่จะเกิดแก่ศพ

 

แต่การอนุโลมให้ทำการชันสูตรศพ เป็นการอนุมัติในกรณีพิเศษเฉพาะในกรณีจำเป็นจริงๆ และได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองของศพ ทั้งการชันสูตรจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม และการปฏิบัติต้องเป็นไปอย่างนิ่มนวลละมุนละไม ให้ความเคารพและให้เกียรติศพ พร้อมทั้งต้องระมัดระวังไม่กระทำใดๆ อันเป็นการลบหลู่เกียรติยศของศพ เมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรแล้วให้รีบรวบรวมชิ้นส่วนของศพทั้งหมดเพื่อนำไปฝังตามหลักการศาสนา

 

ปริศนาการเสียชีวิต 79 ศพหรือ 85 ศพ ในเหตุการณ์ประท้วงที่สภ.อ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 47 หรือการเสียชีวิตในที่อื่นๆ ในภาคใต้ในสภาวะปัจจุบัน ซึ่งเป็นภาวะไม่ปกติ และการเสียชีวิตอย่างปริศนาอื่นอีกในอนาคตนั้น ผู้เขียนคิดว่า การชันสูตรศพน่าจะเป็นทางออกอีกวิธีหนึ่งที่จะได้ทราบปริศนาของการตาย

 

นี่คือทัศนะของผู้เขียนที่ศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับหลักการศาสนา ซึ่งอาจมีนักวิชาการด้านศาสนาคนอื่นแย้งก็เป็นสิทธิที่จะกระทำได้ หากอยู่บนหลักทางวิชาการศาสนา ดังนั้นสำนักจุฬาราชมนตรีหรือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย น่าจะนำแนวคิดการชันสูตรศพไปพิจารณาและวางกรอบเพื่อง่ายต่อหน่วยงานของรัฐ  เอกชน และประชาชนในการปฏิบัติ เพราะกฎหมายอิสลามเหมาะสมแก่ทุกยุคทุกสมัย

 

หลักการบางอย่างมีความยืดหยุ่นเปิดกว้างให้มุสลิมสะดวกในการเลือกปฏิบัติ จึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่จะต้องหมั่นศึกษาเพื่อทราบถึงข้อบัญญัติทางศาสนาว่ากว้างฃวางและแคบเพียงใด เพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญหนึ่งของอิสลาม และเพื่อที่ปัญหาบางอย่างที่มักจะเกิดขึ้นระหว่างมุสลิมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่นการชันสูตรศพจะได้หมดไป อีกทั้งเพื่อความยุติธรรมแห่งกฎหมายจะได้แผ่กระจายครอบคลุมถึงคนทั้งชาติ โดยไม่เลือกว่าจะนับถือศาสนาใด





[2] .เจ๊ะเหล๊าะ แขกพงศ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยอิสลาม ยะลา สาขาวิานิติศาสตร์อิสลาม ,

การศึกษาของท่าน, ปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง , ปริญญาตรีนิติศาสตร์อิสลาม มหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์ และปริญญษโทนิติศาสตร์อิสลามจากสถาบันการศึกษาชันสูงอัซซามาลิก ประเทศอียิปต์ (ดู ไคโรสาร,2538 : 34-40)


[3] โปรดดูเพิ่มเติมในหนังสือ Rod al-Muktar Ala Rod al-Muktar 1/628, al- Ashbah wa al- Nazoir หน้า 88 และ al- Fatwa al-Hind ,5/360


[4] โปรดดูเพิ่มเติมในหนังสือ Fatwa al- Shayk Alish หน้า130 และ al- Sharh al-Sogir ala Akrab al-Masalik หน้า 1/192


[5] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Tuhfat al- Muhtaj หน้า 3/203 ,al-Majmua หน้า 5/300 Mughni al-Muhtaj หน้า 1/207


[6] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน al-Muhso หน้า 5/166


[7] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Tashih al-Furua หน้า 691 al-Mughni หน้า 2/413

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท