Skip to main content
sharethis

ตอนที่ 4 คำถามกับความสงสัย: ทำไมรุนแรงแล้วเงียบหาย!?
องอาจ เดชา รายงาน


 



พระสุพจน์ สุวโจ (ที่มาของภาพ : ไทยเอ็นจีโอ)


กับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เมื่อ "พระสุพจน์ สุวโจ" ถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม รุนแรง ในเขตพื้นที่ของสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงูใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความสะเทือนใจต่อญาติและผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพบว่าร่างกายของพระสุพจน์ในขณะนั้น เต็มไปด้วยบาดแผลเหวอะหวะจากของมีคมไปทั่วร่าง


แน่นอน การมรณภาพของพระสุพจน์ สุวโจ ย่อมส่งผลสะเทือนต่อวงการนักพัฒนา นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวงการพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เมื่อพระนักพัฒนา นักเผยแผ่พุทธศาสนาต้องมาจบชีวิตอย่างทารุณเช่นนี้


และที่สำคัญ ได้ส่งผลสะเทือนในทางลบกับหน่วยงานรัฐ ที่รับผิดชอบในด้านกระบวนการยุติธรรมของไทยไปด้วย ไม่ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมาได้ 2 ปีแล้ว ทว่าคดีดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด


กระทั่งหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมในแต่ละขั้นตอน ล่าช้า มีอะไรซ่อนเงื่อน เคลือบแคลง แอบแฝง หรือไม่!?


กระทั่งหลายฝ่ายต่างมองกันว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาธรรมดา แต่เป็นปัญหาระดับโครงสร้าง เป็นปัญหาการช่วงชิงทรัพยากรโดยกลุ่มนายทุน-ชนชั้นปกครองของรัฐ เป็นฝ่ายกระทำ โดยประชาชนส่วนใหญ่ตกเป็นผู้ถูกกระทำ หรือไม่!?


แหละนี่คือ "คำถามกับความสงสัย" ต่อคดีพระสุพจน์ สุวโจ ว่าทำไมคดีไม่คืบหน้า และทำไมเหตุการณ์รุนแรงถึงเช่นนี้แล้วไยเงียบหาย!?


000


 






มันทำให้เห็นกระบวนการยุติธรรมชัดขึ้นว่า จริงๆ แล้ว ตั้งแต่ตำรวจ ตั้งแต่อัยการ ตั้งแต่ศาล โดยเฉพาะในกระบวนการของตำรวจมันหาการจริงใจในการทำงานไม่ค่อยมี รู้สึกว่าประชาชนจะหวังพึ่งตำรวจ พึ่งอะไรค่อนข้างยาก นี่ผ่านมาเกือบสองปีไม่ได้อะไรเลย ที่สำคัญคือถ้าพวกเราไปเคลื่อนไหวอะไรมาก เขาก็หันมาเล่นงานพวกเรา แทนที่จะช่วย


ก็ไม่รู้จะหวังอย่างไร แต่ไม่กี่วันมานี้ มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอคนใหม่ที่มารับคดี ก็ดูเขามีความจริงใจกว่าครั้งก่อน ซึ่งครั้งก่อนก็รู้สึกได้ว่าไม่ค่อยจริงใจ เวลาผ่านไปก็คือไม่ได้อะไร แต่ชุดนี้ คนที่เข้ามารับ เขาเป็นสายทหาร (พ..ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ) เขาเคยเป็นโฆษกดีเอสไอ เห็นหลายคนบอกว่าคนนี้ทำงานจริงจัง


ก็ดูมีความหวังขึ้น แต่ว่าก็ไม่รู้ว่าเขาจะทำได้แค่ไหน เพราะว่ากระบวนการทั้งหมด ไม่แน่ใจว่าเวลาเขาทำงานออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร ก็ต้องดูต่อไป


ที่แน่ๆ ประสบการณ์ 2 ปีที่ผ่านมา มันทำให้เจอคน ทำให้เจอกระบวนของยุติธรรมมันพึ่งอะไรได้ยาก


อาตมาก็เดินทางอยู่บ่อย ต้องเข้ากรุงเทพฯ ช่วงต่อไปก็คิดว่าน่าจะไปอยู่ฝางมากขึ้น เพราะเริ่มปรับปรุงสถานที่เป็นที่จัดอบรม ที่นั่นอยู่ได้ต้องมีคนเข้าๆ ออกๆ เยอะๆ อยู่กันเหมือนก่อนๆ มาคืออยู่กันไม่กี่คนก็อันตราย


ถ้าดีเอสไอทำงานตามหน้าที่ แล้วก็ทำให้เต็มที่ก็น่าจะได้อะไรบ้าง คือถ้าทำตามกระแส ทำตามที่ถูกกดัน พอไปเรียกร้องทีก็ทำที พอไม่เรียกร้องก็หาย พอเรียกร้องมากก็ไม่พอใจ มันก็ไม่ได้อะไร


และก็ ถ้าทำตามหน้าที่และทำอย่างเต็มที่ก็น่าจะมีอะไรคืบหน้า


พระมหาเชิดชัย กวิวํโส
สำนักสงฆ์ สวนเมตตาธรรม


000






"...ตนได้เดินทางไปรอรับศพของหลวงพี่สุพจน์ที่โรงพยาบาลด้วย และได้เห็นสภาพศพที่ถูกกระทำมีแต่บาดแผลเหวอะหวะหลายจุด ซึ่งทำให้รู้สึกได้เลยว่า หลวงพี่สุพจน์โดนกระทำทารุณยิ่งกว่าเจริญ และจากสภาพศพแล้ว ตนเชื่อว่า กรณีของหลวงพี่สุพจน์นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นลักษณะของ "การออกแบบฆ่า" มาก่อน โดยมีการวางแผนที่จะ "ออกแบบคดี" ให้เบี่ยงเบนออกไป ทำให้เป็นเรื่องขัดแย้งส่วนตัว ซึ่งจากข้อมูลข้อเท็จจริงกลับพบว่า เป็นปัญหาเรื่องขัดแย้งปมที่ดิน ซึ่งกลุ่มนายทุนที่ต้องการเข้ามาครอบครองพื้นที่ของสำนักปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรมมากกว่า…"


"...คดีของหลวงพี่สุพจน์ ก็คงไม่แตกต่างกันกับคดีเจริญ ซึ่งสาเหตุการตายของเจริญ นั้นมาจากปัญหาที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้า รวมทั้งการคัดค้านการบุกรุกที่ดินสาธารณะ แต่รูปประเด็นกลับถูกเบี่ยงเบนออกไป โดยกล่าวหาว่าเป็นปัญหาขัดแย้งเรื่องส่วนตัว หาว่าเจริญไปด่าพ่อล่อแม่ จนอีกฝ่ายบันดาลโทสะ ควักปืนมายิง อีกทั้งยังมีการพยายามตัดตอนคดี เพื่อไม่ให้มีการพิสูจน์พยานสาวไปถึงจอมบงการได้..."


"...ซึ่งถือว่า นอกจากพวกเราจะถูกกระทำจากฝ่ายนายทุนแล้ว เรายังถูกกระทำจากความอยุติธรรมของรัฐอีก ที่เวลาผ่านไปจนถึงบัดนี้คดียังไม่คืบหน้าแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมยังจะมีการพยายามจะเบี่ยงเบนคดีเสียเอง และมาถึงตอนนี้แล้ว เราคงจะหวังพึ่งรัฐก็คงยาก มีทางเดียวเท่านั้น คือประชาชนจะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้เท่านั้นเอง"


กรณ์อุมา พงษ์น้อย
ภรรยาของเจริญ วัดอักษรและประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี


000






ผมคิดว่าประเด็นนี้เห็นชัดเจนว่า เป็นความสัมพันธ์ของอำนาจท้องถิ่นเองสามารถที่จะต่อเชื่อมกับอำนาจข้าราชการ ก็คือกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นสามารถที่จะเชื่อมการใช้อำนาจกับภาครัฐได้  กระบวนตรงนี้มันยิ่งทำให้อำนาจภายในท้องถิ่นเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ในยามที่อำนาจภาครัฐส่วนกลางกำลังอ่อนแอ ในยามที่อำนาจรัฐส่วนกลางไม่มีเข็มมุ่งที่แน่นอน ว่าจะมีทิศทางทำอะไร


ดังนั้น ถ้าหากอำนาจส่วนกลางไม่แสดงอะไรให้ชัดเจน ไม่พยายามปกป้องสิ่งแวดล้อม ไม่ปกป้องดูแลคนในฐานะพลเมือง อำนาจรัฐท้องถิ่นและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นก็สามารถที่จะเหลิงอำนาจได้ และสามารถปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ปิดกั้นหลักฐาน หรือมีการทำลายหลักฐานนั้นได้


กรณี ของพระสุพจน์ ก็เป็นกรณีเดียวกันกับอีกหลายกรณีที่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งอีก 18 รายที่กระทำเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราต้องคิดกันก็คือว่า การทลายอำนาจอิทธิพลท้องถิ่นจำเป็นจะต้องมี และอันที่สอง จำเป็นต้องบีบให้อำนาจรัฐส่วนกลางว่าควรจะมีเข็มมุ่งที่ชัดเจน เหมือนกับกรณี ที่ พลเอกสุรยุทธ์ เดินทางไป จ.ระยอง เพื่อไปรับมอบเงินจากเครือปูนซีเมนต์ไทย หรือบริษัทอื่นๆ เพื่อจะดูแลสิ่งแวดล้อม โดยที่นายกฯ ไม่ได้ลงไปดูความจริง ว่าประชาชนเขาเดือดร้อนกันอย่างไร ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ชี้ให้เห็นว่า อำนาจรัฐส่วนกลางมีเข็มมุ่งที่ไม่ได้แยแสราษฎร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตกใจ ซึ่งจริงๆ แล้ว นายกฯคนนี้ น่าจะมองประชาชน มากกว่าจะไปมองฐานเครือข่ายเดิม มองกลุ่มทุนใหญ่เดิม


ดังนั้น กรณีคดีพระสุพจน์ ก็คงจะต้องทำการกดดันกันในหลายๆ ระดับ เพื่อให้มีการหาหลักฐานเพื่อเอาผิดในระดับพื้นที่ให้ง่ายมากขึ้น


อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


000






ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ ที่ดิน และน้ำ เป็นปัญหาของอำนาจในการจัดการที่ถูกผูกขาดและรวมศูนย์โดยรัฐ ซึ่งเกิดจากมายาคติที่ว่า รัฐ คือองค์กรที่เป็นกลาง และสามารถจัดการทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้อำนาจการจัดการเบ็ดเสร็จ ได้มีการบัญญัติกฎหมายตามหลักการและวิธีการของรัฐ เพื่อควบคุมและกำกับการจัดการทรัพยากร มีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลทรัพยากรแต่ละประเภท ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีความสัมพันธ์เกื้อกูลกัน ถูกแบ่งแยกอยู่ภายใต้สังกัดหน่วยงานในระบบราชการที่แยกส่วนไม่ประสานเชื่อมโยงกัน ในการนี้รัฐยังยึดมั่นในหลักวิชาการในนามของ "ความรู้แบบวิทยาศาสตร์" ที่ถือว่าเป็นความรู้ที่เป็นกลางและถูกต้องที่สุด เป็นแนวคิดหลักในการจัดการทรัพยากรทั้งมวล 


            การผูกขาดและรวมศูนย์อำนาจของรัฐในการจัดการทรัพยากร ในบริบทที่สังคมไทยมีชุมชนท้องถิ่นดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาธรรมชาติมาเป็นเวลายาวนาน จึงเท่ากับเป็นการกีดกันสิทธิในการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ทั้งนี้กระบวนการยึดอำนาจการจัดการของชุมชนมาสู่รัฐ เกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ นับจากกฎหมายจัดการทรัพยากรของรัฐ ได้เข้าแทนที่การจัดการทรัพยากรตามหลักประเพณีของชุมชน ความรู้ในการจัดการทรัพยากรตามหลักวิทยาศาสตร์ ได้ทำให้ความรู้พื้นบ้านกลายเป็นความงมงาย จนกระทั่งหน่วยงานรัฐในการจัดการทรัพยากร ได้เข้าแทนที่สถาบันชุมชนจนหมดความสำคัญในที่สุด


            ในภาวะเช่นนี้ชุมชนท้องถิ่นจึงถูกปิดกั้นการดำรงชีวิตโดยพึ่งพาธรรมชาติตามปกติสุข ในขั้นที่รุนแรงกว่านั้น การจัดการของรัฐเป็นการปฏิเสธการมีตัวตนของชาวบ้านและชุมชน ปฏิเสธการมีสิทธิ มีเสียง ในการกำหนดวิถีชีวิต ชีวิตของชุมชนจึงจมปลักอยู่กับความแร้นแค้นในการดำรงชีวิต การมีชีวิตท่ามกลางอนาคตที่ไม่มีความแน่นอน และความขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐที่อ้างความเป็นเจ้าของทรัพยากรอย่างไม่รู้จบ


            ภายใต้สิทธิขาดของรัฐในการจัดการทรัพยากรยังปรากฏว่า รัฐได้ใช้แนวคิดในการจัดการที่มีลักษณะยึดมั่นอยู่กับหลักการจัดการแบบสองขั้วอย่างตายตัว โดยด้านหนึ่งให้ความสำคัญกับ การควบคุมและจัดการโดยรัฐ อีกด้านหนึ่งก็ให้ความสำคัญกับ การควบคุมและจัดการโดยเอกชน


             หลักการควบคุมและจัดการโดยรัฐนั้น พบว่าการจัดการทรัพยากรคือการขยายพื้นที่หวงกันของรัฐ ดังที่ผ่านมา มีการประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ พื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ตลอดจนที่ดินในการควบคุมของรัฐ เช่นที่ราชพัสดุ ฯลฯ อันเป็นเหตุของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนอย่างไม่ขาดสาย ส่วนในกรณีการควบคุมและจัดการทรัพยากรโดยเอกชน ก็พบว่ารัฐได้รับรองสิทธิการควบคุมและจัดการของเอกชนโดยไร้การควบคุม


            ดังนั้นในบริบทของการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ทรัพยากรจึงกลายเป็น "สินค้า" อย่างสมบูรณ์แบบ ปัญหานี้เห็นได้ชัดเจนในกรณีที่ดิน ซึ่งที่ผ่านมาได้เกิดกระบวนการค้าที่ดินทั้งที่กระทำโดยชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ที่ดินหลุดจากมือเกษตรกร ไปกระจุกอยู่ในมือของนักลงทุนที่ไม่ได้ใช้ที่ดินทำการผลิตให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง 


            การยึดมั่นในหลักการจัดการแบบสองขั้วอย่างตายตัว โดยมองเห็นแต่การจัดการโดยรัฐ และเอกชน แต่กลับมองข้ามการจัดการโดยชุมชน ยังนำไปสู่แนวคิด การจัดการทรัพยากรโดยกลไกตลาด แนวคิดนี้กำลังจะถูกนำมาใช้ในการจัดการน้ำ โดยรัฐมีความคิดว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่เข้าถึงได้อย่างเสรี หรือเป็นของฟรี ที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้การใช้น้ำไม่มีประสิทธิภาพ (ทั้งที่ในกรณีภาคเหนือมีการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝายแทบทุกท้องถิ่น) 


            ดังนั้นรัฐจึงมีแนวคิดที่จะเข้ามาควบคุมน้ำ และจะใช้ระบบตลาดในการจัดการ โดยให้ผู้ใช้ต้องจ่ายค่าน้ำ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ได้พบว่าการใช้เงินเป็นปัจจัยในการเข้าถึงทรัพยากร ก็เท่ากับเป็นการกีดกันสิทธิของชาวบ้าน และให้สิทธิแก่ผู้มีเงินและมีอำนาจ ดังในกรณีการจัดการป่าและที่ดินนั่นเอง


            ในทำนองเดียวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อำนาจตัดสินใจดำเนินการใดๆที่จะมีผลในการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ถูกผูกขาดและรวมศูนย์โดยรัฐ ทั้งนี้โดยทัศนะที่ว่า รัฐคือสถาบันสูงสุดในการกำกับการพัฒนาประเทศ ภายใต้แนวคิดจึงมีการบัญญัติกฎหมาย และการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐในการควบคุมและจัดการสภาพแวดล้อมเป็นลำดับ


            การจัดการทรัพยากรสภาพแวดล้อมของรัฐ ได้สะท้อนให้เห็นวิธีคิดต่อทรัพยากรที่แตกต่างกับชุมชนท้องถิ่นอย่างสิ้นเชิง สำหรับชุมชนท้องถิ่น ทรัพยากร (ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มีฐานะเป็น "ทุนทางสังคม" ซึ่งหมายถึงทรัพยากรที่เกื้อหนุนการมีชีวิตอย่างสันติสุข โดยถือหลักการจัดการอย่างมีส่วนร่วม


            ภายใต้หลักการนี้ การใช้ทรัพยากรจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคนใน     ชุมชน และคำนึงถึงการมีทรัพยากรไว้ใช้อย่างยั่งยืนในเวลาเดียวกัน แต่สำหรับการจัดการของรัฐ จะมองเห็นคุณค่าทรัพยากรแต่ในแง่เศรษฐกิจ โดยคิดว่าทรัพยากรมีไว้สำหรับตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวที่รัฐกำหนด รัฐจึงเข้ามาควบคุมและจัดการ โดยไม่สนใจว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรอย่างไร จึงอาจเรียกได้ว่า การจัดการของรัฐได้ทำให้ทรัพยากรในฐานะทุนทางสังคมของชุมชน กลายเป็น "ทุนทางเศรษฐกิจ" ที่คำนึงถึงแต่การเติบโตของเศรษฐกิจ โดยขาดมิติการมีส่วนร่วมในการจัดการ และความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากร


ดังนั้น กล่าวสรุปได้ว่า ตราบใดที่รัฐไม่แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติคงดำรงอยู่ในสังคมไทย   และผู้ต่อสู้พิทักษ์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติหลายต่อหลายชีวิตอาจจะต้องอยู่ในชะตากรรมเดียวกับ "พระสุพจน์"ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่ควรปรารถนายิ่ง


เจษฎา  โชติกิจภิวาทย์
นักวิชาการ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส
.)


000






คดีมีความล่าช้ามาก  ตั้งแต่มีการเปลี่ยนพนักงานสอบสวนจาก สภ.อ.ฝาง เป็นกรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และล่าสุดดีเอสไอก็มีการเปลี่ยนพนักงานสอบสวน แต่ยังไม่สามารถจับคนร้ายได้เลย


สำหรับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่าเป็นผู้ดูแลใน  2 ส่วน คือ


ส่วนแรกคือ ความคืบหน้าของคดี คณะอนุกรรมการฯ ได้ติดตามตั้งแต่คดียังอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.ฝาง  ต่อมาได้เชิญดีเอสไอมาติดตามความคืบหน้า  และต่อมาได้ประสานให้ทางครอบครัวของพระ     สุพจน์ และพระกิตติศักดิ์ เข้าพบหารือกับนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม โดยนัดหมายเมื่อเดือนมิถุนายน แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากไม่สะดวกทั้งสองฝ่าย ขณะนี้กำลังประสานงานการนัดหมายใหม่


นอกจากนี้ในส่วนที่สอง คือจะทำอย่างไรเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของพระสุพจน์ สุวโจ ที่ไปดำเนินการในสำนักสงฆ์เมตตาธรรมรักษ์  โดยร่วมดูแลเพื่อการอนุรักษ์ป่าและเผยแพร่ธรรมะ  ด้วยการที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อให้สามารถจัดการที่ดินที่มีผู้บริจาคให้มูลนิธิฯ อย่างถูกต้อง  อย่างไรก็ตาม จากการติดตามของคณะอนุกรรมการฯ พบว่าสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ยังล่าช้าในเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินให้เรียบร้อย


คดีสังหารนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ไม่มีความคืบหน้า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยรวบรวมข้อมูล พบว่านับตั้งแต่หลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปี  2548 มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชีวิต 21 ราย โดยมี 18 รายเป็นนักต่อสู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และยังมีนักต่อสู้อีกมากมายที่สังคมอาจไม่รู้จัก ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงตั้งแต่การคุกคามจับกุมจนกระทั่งเสียชีวิตดังนั้นกระบวนการยุติธรรมควรมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะสงสัยว่าสาเหตุการเสียชีวิตของเขามีกี่ประเด็นก็ตาม ต้องจัดการให้เขาได้รับความยุติธรรมให้ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดูประเด็นความขัดแย้งกับอิทธิพลเป็นพิเศษ


ในส่วนของกระบวนการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ รัฐต้องจัดการผู้ที่ละเมิดให้ถูกต้อง เช่นผู้ที่บุกรุกจริงๆ ต้องจัดการ อย่างรีสอร์ท หรือสวนส้มขนาดใหญ่ ไม่ใช่ไล่จับแต่ชาวบ้าน ซึ่งเราจะพบว่าปัจจุบันมีชาวบ้านถูกจับข้อหาบุกรุกป่าจำนวนมาก ทั้งๆ ที่หลายกรณี ชาวบ้านกำลังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ  ซึ่งรัฐเองเป็นฝ่ายล่าช้า


สุนี ไชยรส
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 






ตอนนี้เรามองไม่เห็นกระบวนการของดีเอสไอ เราไม่เคยรับรู้เลยว่า ดีเอสไอได้ทำงานเกี่ยวกับคดีพระสุพจน์ไปถึงไหนแล้ว ทำให้ญาติผู้เสียหายมองไม่เห็นอนาคต ไม่เห็นความคืบหน้า จนเรียกได้ว่าแทบจะสิ้นหวังก็ว่าได้


จำได้ว่าครั้งหนึ่ง ทางกสม.ได้มีการเชิญเจ้าหน้าที่ดีเอสไอมาสอบถามความคืบหน้าของคดี แต่พอเราถามไปถามมา ทางดีเอสไอกลับแสดงอาการแสดงท่าทีไม่พอใจ เหมือนกับว่ามีอำนาจอะไรมาถามเขา ซึ่งก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกไม่เชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น และที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าญาติผู้เสียหายคิดผิดหรือไม่ที่ส่งเรื่องให้ดีเอสไอดูแลคดี ซึ่งไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใดเลย


ในส่วนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ตนอยากฝากให้รัฐบาลได้ออกมาปรามมาจี้ให้ดีเอสไอต่อกรณีคดีดังกล่าว ว่าไปถึงไหนอย่างไรแล้ว ซึ่งนายกฯ ในฐานะที่เคยศึกษาธรรมะ เคย "บวชเป็นพระ" ก็น่าจะลงมาดู "คดีฆ่าพระ" เสียบ้างว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ในสังคมไทย


บารมี ไชยรัตน์
อนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ในการจัดการที่ดินและป่า


 






คดีการฆาตกรรมพระสุพจน์ นั้นถือว่าเป็น "คดีอุกฉกรรจ์" เป็นอย่างมาก เพราะเป็นการฆาตกรรรมผู้ตายซึ่งเป็นพระสงฆ์และเกิดขึ้นในสำนักสงฆ์ซึ่งเป็นสถานที่รโหฐาน เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และตนเชื่อว่าถ้าไม่มีกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง เชื่อว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจคงคลี่คลายคดีนี้ไปนานแล้ว เพราะสังคมต่างให้ความสนใจต่อคดีนี้ แม้กระทั่งองค์กรระหว่างประเทศต่างให้ความสนใจ และทางสหประชาชาติก็มองว่าพระสุพจน์เป็นนักต่อสู้คนหนึ่งที่ร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าร่วมกับพระและญาติโยมร่วมกันต่อสู้กับความขัดแย้งกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นและระดับชาติ


ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องไปหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ รัฐบาล ดีเอสไอ ฯลฯ แต่แปลกใจมากว่า ทำไมคดีไม่มีความคืบหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคดีดังกล่าวนี้มีกลุ่มอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องสูงมาก


ล่าสุด เราได้ทำหนังสือไปยัง รมว.ยุติธรรม เพื่อขอทราบความคืบหน้าของคดี เพราะถ้าขืนปล่อยให้เป็นแบบนี้ โดยที่จับกุมคนร้ายไม่ได้ ก็จะทำให้คนที่จะทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เรื่องสิทธิมนุษชนไม่กล้าที่จะทำงานต่อไปได้ ซึ่งขณะนี้ทาง ก.ยุติธรรม ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมา


เหตุการณ์ความรุนแรงของคดีนี้ ได้ถูกกระทำในยุคทักษิณ ซึ่งได้ถูกกระทำเป็นจำนวนมากถึง 29 คน ซึ่งรวมไปถึงคดีการสังหารเจริญ วัดอักษร และการลักพาตัวของทนายสมชาย นีละไพจิตร ด้วย ซึ่งจนถึงรัฐบาลชุดนี้  คดีเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ไม่ได้มีการคลี่คลายแต่อย่างใด


สาเหตุที่รัฐบาลสุรยุทธ์ในปัจจุบัน ไม่สนใจ ไม่สามารถคลี่คลายคดีนี้ได้ เข้าใจว่าน่าจะมาจากสาเหตุที่รัฐบาลมุ่งที่จะแก้ปัญหาทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่น และเชื่อว่ากลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นอันเป็นรากเหง้าของอำนาจยังคงเหนียวแน่นอยู่เช่นเดิม


ถึงแม้ว่า รัฐบาลชุดนี้พยายามจะเข้าไปทำการปฏิรูป สนง.ตำรวจแห่งชาติ แต่ดูแล้วแทบจะไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งยังถูกแรงต้านภายในสนง.ตำรวจแห่งชาติอีกด้วย


ในขณะที่ดีเอสไอกลับดูล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง?


จริงๆ แล้ว จุดมุ่งหมายของการเกิดขึ้นของดีเอสไอ ก็เพื่อจะเข้ามาคลี่คลายคดีพิเศษ ที่ใช้ความชำนาญสูง ในกรณีที่ทางตำรวจทำคดีล้มเหลว ซึ่งเป็นคดีที่มีกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นและกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองเข้าไปพัวพัน ซึ่งดีเอสไอจะต้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบเพื่อคานอำนาจเหล่านี้


แต่พอเอาเข้าจริง บุคลากรที่เข้าไปทำงานในดีเอสไอส่วนใหญ่แล้ว กลับเป็นกลุ่มเดิมคือล้วนมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งก็เป็นพรรคพวกกันทั้งนั้น และล่าสุด เห็นว่าจะมีการพยายามจะลดจำนวนบุคลากรที่มาจากตำรวจ แต่ก็ยังไม่เกิดผล เพราะทางดีเอสไอก็ไม่ได้โชว์ผลงานออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการสอบสวนคดีพระสุพจน์ คดีเจริญ หรือแม้กระทั่งคดีทนายสมชาย ที่ลูกความของทนายสมชายถูกกระทำ รวมทั้งการสอบสวนเอาผิดนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่กับพวก 10 คน แต่สุดท้ายคดีก็ยังไม่มีความคืบหน้า หนำซ้ำยังถูกมองว่า ดีเอสไอพยายามจะช่วยเหลือพรรคพวกเสียอีก


เพราะฉะนั้น สังคมควรจะร่วมกันตรวจสอบความคืบหน้าของคดีและการดำเนินงานของดีเอสไออย่างใกล้ชิดด้วย ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือภาคประชาสังคม อาสาสมัคร ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรจับตามองและเข้ามาร่วมกันตรวจสอบเพื่อสิทธิของประชาชนให้มากกว่านี้


สมชาย หอมละออ
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา


 






"รำลึกการจากไปและร่วมเรียกร้องความเป็นธรรม"
กรณีฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ, เจริญ วัดอักษร และอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร


ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐
ณ ห้องประชุม อาคารใหม่ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ๑๖ สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ

๙.๓๐ - ๑๑.๓๐ น. พิธีกรรมทางศาสนา พุทธ คริสต์ และอิสลาม
๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น. ร่วมรับประทานอาหาร
๑๓.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. แถลงความไม่คืบหน้าของคดี และความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม
โดย พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย และนางอังคณา นีละไพจิตร
ตลอดจน แถลงข่าวการก่อตั้งมูลนิธิพระสุพจน์ สุวโจ


เพื่อสนับสนุนการประยุกต์ใช้ศาสนธรรม กับการแก้ปัญหาสังคม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ผู้ประสานงานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ๐๘๖ ๗๕๗๕ ๑๕๖


 


 


บทความย้อนหลัง


2 ปีกับมรณกรรมของ "พระสุพจน์ สุวโจ": แม้แต่พระยังต้องสังเวยต่ออำนาจทุนนิยม


ตอนที่ 1 : ความตายของพระนักพัฒนา: "พื้นที่ - ผลประโยชน์ - อิทธิพล" โดย วิทยากร บุญเรือง, ประชาไท, 13 มิถุนายน 2550


ตอนที่ 2: เบื้องหลัง "อำเภอฝาง ... สวรรค์ของนายทุน" โดย   วิทยากร บุญเรือง, ประชาไท, 14 มิถุนายน 2550


ตอนที่ 3 การสะสางคดีสังหารพระสุพจน์ "วนพายเรือในอ่าง"? โดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ, ประชาไท, 15 มิถุนายน 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net