Skip to main content
sharethis

สุรี มิ่งวรรณลักษณ์


 


การเคลื่อนไหวของรองนายกรัฐมนตรีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) พร้อมๆ กับผู้นำชาวบ้านในสังกัด พอช. เพื่อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีผลักดันออกกฎหมายพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน เป็นผลให้นายอารี วงศ์อาริยะ อำมาตยาธิปไตยแห่งคลองหลอดและพลพรรคแห่งพรรคราชการออกมาคัดค้าน กล่าวหาว่า จะเกิดความขัดแย้งกับองค์กรปกครองท้องถิ่น มีงบประมาณซ้ำซ้อน


 


ขณะที่กลุ่มสนับสนุน พรบ.สภาองค์กรชุมชน เห็นว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของรากหญ้า เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เป็นองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุล ไม่ต้องการอำนาจอะไรเลย แต่ขอให้ได้ให้ความคิดเห็น เหมือนเช่น "สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมฯ" ก็เพียงพอแล้ว


 


แต่ในที่สุดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยอมถอยการผลักดันร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน ออกมาบังคับใช้ ภายหลังนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีและถูกตีกลับถึง 2 ครั้ง เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าจะซ้ำซ้อนกับการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และจะเกิดความขัดแย้งในชุมชุน

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รมช.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า เมื่อหลายฝ่ายยังไม่สบายใจกับการออกกฎหมายนี้ ซึ่งมีทั้งคนสนับสนุนและไม่สนับสนุน คัดค้านไม่เห็นด้วย ประเมินดูแล้วก็แสดงว่าสังคมยังไม่พร้อม จึงไม่ควรจะไปออกกฎหมายที่ทำให้สังคมเกิดความไม่สบายใจและนำไปสู่ความแตกแยก


 


ปัญหาของชุมชนชนบทและหัวเมืองไทยปัจจุบันนั้น นักคิดวิเคราะห์สายเศรษฐศาสตร์การเมือง มองว่าได้เกิด "กลุ่มอำนาจท้องถิ่น" ที่โยงใยสัมพันธ์กับข้าราชการ กลุ่มทุน และนักการเมืองท้องถิ่น จากระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ สบคบกันหาประโยชน์จากการยึดครองทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น เปิดสัมปทานป่า โรงโม่หิน เหมืองแร่ ครอบครองพื้นที่ป่า ฯลฯ ทั้งถูกต้องตามกฎหมาย และใช้อิทธิพลดิบๆ เถื่อนๆ ที่ชุมชนท้องถิ่นเคยมีอำนาจตามจารีตประเพณีในการจัดการพื้นที่เหล่านั้น


 


"นักการเมืองท้องถิ่น" พวกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อแต่ปางก่อนนานมาแล้ว เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งจัดสรรจากรัฐ


 


ต่อมา "นักการเมืองท้องถิ่น" ทั้งสภาตำบล องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เทศบาล สมาชิกสภาจังหวัดต่างๆ ภายใต้กระแสประชาธิปไตย "ตัวแทนประชาชนต้องมาจากการเลือกตั้ง" พวกเขาจึงต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่น พวกเขาจึงต้องหาเสียงเหมือนเช่นนักการเมืองระดับชาติ และบางคนก็เลื่อนชั้นตนเองเป็นนักการเมืองระดับชาติเสียเอง


 


กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ยังคงถูกควบคุมอำนาจบางอย่างจากพวกอำมาตยาธิปไตยคลองหลอดอยู่ตลอดเวลา จึงไม่แปลกที่จะเห็นพวกเขาเรียกร้องขอมีอำนาจมากขึ้นเพื่อสละแอกจากมหาดไทยโดยเฉพาะอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น


 


แต่พวกเขาไม่กล้าแตกหัก พวกเขาชอบประนีประนอม และชอบใส่ชุดราชการ ในงานพิธีต่างๆ


ฤาว่าพวกเขาชื่นชม "ขุนนาง" และคิดแบบ "อำมาตยาธิปไตย" เช่นกัน


 


เมื่อการเลือกตั้งผ่านไป พวกเขาส่วนใหญ่ มักสนใจการแก้ไขปัญหาประเภทสังคมสงเคราะห์ การสร้างวัตถุต่างๆ ไม่ต่างกับงานของมหาดไทยมากนัก ยิ่งปัญหาชุมชนที่เกี่ยงข้องกับการทำมาหากินที่นับวันลำบากยากเข็ญมากขึ้น ภายใต้กระแสทุนนิยมเสรี การเซ็นสนธิสัญญาการค้ากับ FTA อันเป็นผลร้ายต่อชุมชนท้องถิ่นที่มีอาชีพรายได้จากการเกษตร


 


พวกเขามักไม่ให้ความสำคัญ มองไม่เห็นปัญหา หรือเห็นแต่ไม่ขอเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแก้ไข


พวกเขาหลังได้อำนาจ มักจะไม่ฟังเสียงชาวบ้านผู้เลือกเขามากนัก เวลาชาวบ้านรวมกลุ่มประท้วงชุมนุม พวกเขามักทำตนเป็นมหาดไทยกำราบเสียเอง


 


อีกเรื่องหนึ่งนั้น พวกเขา หรือญาติของพวกเขา พวกพ้องของพวกเขา มักเป็น "นายทุนรับเหมา" "นายทุนสัมปทาน" กิจการรับเหมาจึงเป็นภารกิจหลักก็ว่าได้ที่พวกเขาหลายคนต้องการเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง เพื่อมี "อำนาจ" ให้สัมปทาน เปิดให้บริษัทได้รับเหมาก่อสร้างต่างๆ


 


ด้านหนึ่ง ในแง่ความสะดวกคล่องตัวด้านกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยง เพื่อช่องโหว่ หลายครั้งพวกเขาต้องอาศัยใบบุญของข้าราชการด้วย สมคบกับกลุ่มทุนด้วย โดยเฉพาะการต้องการยึดที่ดินสาธารณะมาเป็นของนายทุนที่ราชการและพวกเขาต้องเซ็นหนังสือราชการ เพื่อบอกว่าไม่ใช่ที่ดินสาธารณะ หรือการรุกพื้นที่ป่า เพื่อบอกว่าเป็นพื้นที่ไม่ใช่พื้นที่ป่า รวมถึงการสัมปทานต่างๆ ด้วย


นักการเมืองท้องถิ่น บวกราชการ สมคบ ทุน กลายเป็น "กลุ่มอำนาจท้องถิ่น"


 


ปัญหาของชุมชนชนบทและหัวเมืองไทยปัจจุบันนั้น นักคิดวิเคราะห์สายวัฒนธรรมชุมชน (เอ็นจีโอส่วนใหญ่ รวมทั้ง พอช. ด้วย) วิเคราะห์ว่า เกิดจากอำนาจของทุนและรัฐจากภายนอกชุมชน ขณะที่ชุมชนมีความรักใคร่ อยู่ดีมีสุข มีน้ำจิตน้ำใจ มีความพอเพียง มีความรักสามัคคีกัน มีแต่ความสมานฉันท์ไม่มีความขัดแย้งกันเลย ผู้นำชนเผ่า ผู้นำหมู่บ้าน ไม่เคยเอาเปรียบลูกบ้านเลย


พวกเขาลืมไปว่า พวกขุนนาง เจ้านายศักดินาทั้งหลายนั้น บังคับเอาแรงงานไพร่ เก็บภาษีหนักข้ออย่างไรบ้าง


 


แต่ปัจจุบันนี้ พวกราชการ (โดยเฉพาะมหาดไทย) นั้น รวมศูนย์อำนาจ ขณะที่นักการเมือง หลังจากการเลือกตั้งแล้ว ก็ไม่ใยดีกับชุมชนที่เลือกเขาแล้ว และชอบรวมศูนย์เหมือนกันเลย


 


การเลือกตั้งจึงสกปรก นักการเมืองเจ้าเหล่เพทุบาย หาแต่ประโยชน์ส่วนตน ดังนั้นจึงต้องหา "คนดี ปราชญ์ คนมีจริยธรรม" มาถ่วงดุล ตรวจสอบ เป็นการเมืองแนวสมานฉันท์


 


และ"คนดี ปราชญ์ คนมีจริยธรรม" พวกเขาซึ่งเป็น"คนดี ปราชญ์ คนมีจริยธรรม" ทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ชาติ ขอแต่งตั้งจัดสรรเองนะจะบอกให้ (ลองอ่าน พรบ.สภาชุมชนดูดีๆ) และชอบทำตนเป็น"ผู้อุปถัมภ์"ชาวบ้านด้วยเหมือนกัน


 


จึงเป็นเพียงหน่วยย่อย ราชการอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง


 


เหมือนเช่น อริสโตเติ้ล เป็นนักปรัชญาการเมือง ที่ไม่เชื่อว่าประชาชนจะปกครองบริหารบ้านเมืองได้ หน้าที่นี้ถูกผูกขาดโดย คนผู้มีความรู้ จำนวนน้อยนิดเท่านั้น


 


ฤาอริสโตเติ้ลชอบ ขุนนาง ปกครองประชาชน


 


เท่านี้ยังไม่พอ พวกเขาชอบเดินเกมแบบนักล็อบบี้ไม่ว่ารัฐบาลมาจากไหน จากการเลือกตั้ง จากรัฐประหารก็ตา, เขาเชื่อเพราะว่าการล็อบนี้ทำให้พวกเขาหลายคนอยู่ในอำนาจโดยอำนาจเผด็จการ คมช.ประทานให้


 


ตอนนี้ พวกเขาจึงพยายามทุกวิถีทางให้กฎหมายต่างๆ เช่น ป่าชุมชน คุ้มครองแรงงาน สภาพัฒนาการเมือง และอื่นๆ รวมสภาองค์กรชุมชน ผ่านในสมัยนี้ พวกเขาคิดว่าคุยกับพวกเผด็จการง่ายกว่านักการเมืองเจ้าเล่ห์


 


ทั้งๆ ที่พวกเขาก็น่าจะรู้ดีว่า ราชการเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ อยู่ในคณะรัฐมนตรี, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ล้วนแต่ทำเพื่อราชการ กฎหมายต่างๆ จะถูกแก้ไขแน่นอน ถูกชุบมือเปิบ สอดไส้ และถูกหลอกเหมือนเคยมาแล้ว ไม่เชื่อคอยดูนะ


 


พวกเขาจึงหาเชื่อพลังประชาชนอย่างจริงๆจังๆ นัก แต่พวกเขาชอบล็อบบี้ ชอบคิดเอาเองว่าข้าราชการเขาไม่รู้ต้องติดอาวุธทางปัญญาให้หน่อย


 


แล้วคนรากหญ้า จะหวังอะไรได้ ลองถามชาวบ้านปากมูนดูก็ได้ว่าตอนนี้มติ ครม.ปิดประตูเขื่อนถาวร เจ็บปวดยังไงบ้าง ส่งทหารประกบในพื้นที่ นี่หรือ เสรีภาพ ประชาธิปไตย เมื่อไล่ทักษิณไปแล้ว คนจนจะลืมตาอ้าปากได้


 


การปฏิเสธ ถอยออกมาไม่ต้องการสกปรกทางการเมือง ไม่สนใจต่อสู้เวทีเลือกตั้งเลยตั้งแต่ระดับชาติถึงหมู่บ้านเลย แต่ชอบเข้าไปแบบราชการแต่งตั้ง เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจริงหรือ? การแต่งตั้งจัดสรรกันเอง เป็น สภาขุนนางด้วยหรือไม่?


 


พวกเขา ต่างอะไรจาก "พวกสิงห์คลองหลอด" "กลุ่มอำนาจท้องถิ่น"


 


ฤาพวกเขา เป็นกลุ่มย่อยราชการ (แต่ไม่ถึงพรรคราชการ) ที่คอยหาช่องทางเข้าสู่อำนาจแบบทางลัด


ฤาต่างก็ชื่นชมระบบขุนนางอำมาตยาธิปไตย? แม้เป็นเพียง "สภาขุนนางน้อย" ก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net