3 บทวิเคราะห์เชิงยุทธ์...แด่ "คนรักทักษิณ"

โดย "ฤทธิ ชูประชา"

 

 

 

 

1

 

ไม่เอาทั้งเผด็จการและทักษิณ :

ชนชั้นกลางไทย กับทางเลือกที่สาม

 

ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนที่สำคัญที่สุดในกระบวนการสร้างประชาธิปไตย และเป็นองค์ประกอบทางชนชั้นที่สำคัญอย่างขาดไม่ได้ต่อการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตย

 

นักปราชญ์การเมืองของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กล่าวถึงความสำคัญของชนชั้นกลาง กระทั่งอริสโตเติล นักปรัชญาการเมืองยุคโบราณก็ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า เงื่อนไขสำคัญของการสร้างประชาคมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องอยู่ในความควบคุมของชนชั้นกลาง และมีจำนวนชนชั้นกลางเข้าร่วมขับเคลื่อนเป็นหลัก

 

ถึงวันนี้ ภายใต้เผด็จการทหาร ชนชั้นกลางไทยกลับทำตัวเสมอนอก ไม่ยอมเข้าร่วมการต่อต้านเผด็จการอย่างจริงจัง และส่วนหนึ่งก็ดูเหมือนจะตกเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ในสงครามชิงพื้นที่ข่าวของเผด็จการทหารไป

 

นับแต่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ชนชั้นกลางไทยได้มีบทบาทแข็งขันในฐานะแนวหน้าของการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการอำนาจนิยมหลายครั้ง (14 ตุลาคม 2516, 17 พฤษภาคม 2535 การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 2540) แต่ในมุมกลับ ชนชั้นกลางไทยก็มีส่วนในการเดินไปเคาะประตูค่ายทหาร และเรียกร้องให้ทหารออกมาสู่เวทีการเมือง (ดังเช่น กรณี 6 ตุลาคม 2519 และล่าสุด 19 กันยายน 2549)

 

การที่ชนชั้นกลางไทยเปลี่ยนสี แปรธาตุ จากพลังที่ก้าวหน้าเป็นล้าหลัง เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะเกิดจากรากฐานความเปราะบางของอารมณ์ทางการเมือง ระหว่างแรงเหวี่ยงของการแสวงหาความมั่นคงจากภัยคุกคาม และการแสวงหาเสรีภาพจากการเมืองระบบเปิด

 

หลังสงครามเย็น ประเทศไทยได้ผ่านพ้นยุคของความมั่นคงทางทหาร เข้ามาสู่ยุคยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งยังผลให้ทัศนคติชนชั้นกลางไทยในเรื่องความมั่นคงได้เคลื่อนย้ายไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน

 

เมื่อรัฐบาลทักษิณก้าวสู่อำนาจทางการเมืองโดยความคาดหวังของชนชั้นกลางเพื่อแบกรับภารกิจ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้สำเร็จ แต่เมื่อสำเร็จระดับหนึ่งก็มีคำถามว่า การที่รัฐบาลทักษิณใช้อำนาจบ่อนทำลายสถาบันการเมืองไทยให้อ่อนแอลง เป็นการคุกคามความมั่นคงของชนชั้นกลางโดยตรง และรัฐบาลทักษิณหันไปหาการสนับสนุนจากชนชั้นรากหญ้าแทน

 

กลุ่มพันธมิตรต่อต้านทักษิณใช้คำถามดังกล่าว สร้างกระแสให้เกินจริงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย "วิธีพิเศษ" นอกระบบรัฐสภา ทำให้ชนชั้นกลางไทยบางส่วนที่ไม่มีวุฒิภาวะแก่กล้าเพียงพอหลงเชื่อกับมนต์สะกดของอำนาจเผด็จการอีกครั้ง

 

วันนี้ ทหารเผด็จการ ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนแล้วว่า ภายใต้แผนปฏิบัติการโค่นกลุ่มทักษิณ 4 ขั้น ได้ประชาธิปไตยจอมปลอมใต้ท็อปบู๊ท ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับอมาตยาธิปไตย การเลือกตั้งแบบหวยล็อกและรัฐบาลหุ่นเชิด

 

เบื้องหลังเป้าหมายดังกล่าว คือ มุ่งทำให้สถาบันการเมืองอ่อนเปลี้ย และเปิดช่องให้ทหารเข้าแทรกแซงอำนาจการเมือง เพื่อรวมหัวผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์อย่างหิวกระหาย

 

เป้าหมายดังกล่าว เท่ากับการผลักดันให้การเมืองบนท้องถนนดำเนินไปสู่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่า ดอกผลการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของชนชั้นกลางไทย กำลังถูกปล้นสะดมอย่างรุนแรง

 

คำถามก็คือ หากชนชั้นกลางไม่ลุกขึ้นมาเพื่อแสดงบทบาทที่ก้าวหน้าของตนเองในการสร้างประชาคมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อยืนยันว่า "ไม่อาเผด็จการ และไม่สู้เพื่อทักษิณ" อันเป็นทางเลือกที่สามที่จะดึงประชาคมการเมืองกลับมาสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง แล้วจะให้ใครแสดงบทบาทเช่นนี้

 

หากชนชั้นกลางปล่อยให้ความเกลียดชังทักษิณครอบงำจนตกเป็นเครื่องมือสยบสมยอมต่ออำนาจเผด็จการ และ/หรือยินยอมให้คนชื่นชมทักษิณที่ไม่สนใจประเด็นสาธารณะ นำสังคมไทยไปสู่การเผชิญหน้ากับความรุนแรง ก็เป็นที่ชัดเจนว่า การต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่ผ่านมาเป็นความสูญเปล่า

 

หรือว่าเราจะยินยอมให้เกิดขึ้นโดยสมัครใจ?

 

 

2

 

ปลายทางของการต่อสู้เพื่อทักษิณอย่างเดียว

คือความสูญเปล่า และความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตย

 

จุดเริ่มต้นของกลุ่มคนรักทักษิณเพื่อต่อสู้อำนาจเผด็จการ จุดประกายให้มวลชนเข้าร่วมอย่างมีพลัง แต่เมื่อเวลาผ่านไป จุดแข็งกลับกลายเป็นจุดอ่อน และกลายเป็นจุดบอดที่พร้อมจุถูกบ่อนทำลายอย่างง่ายดาย

 

เหตุผลเพราะกลุ่มคนรักทักษิณล้มเหลวที่จะส่งไม้ต่อให้กับมวลชนกลุ่มอื่นๆ ด้วยประเด็นสาธารณะที่เอื้อต่อการต่อสู้เผด็จการ

 

กลุ่มคนรักทักษิณ พยายามให้ฐานการสนับสนุนจากชนชั้นรากหญ้าเป็นกำลังหลัก ละเลยการทำแนวร่วมกับชนชั้นกลางและพลังอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ให้เป็นประโยชน์ และละเลยข้อเท็จจริงว่าในประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ของมวลชน ไม่เคยมีชนชั้นใดที่สามารถสู้อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังโดยปิดกั้นชนชั้นอื่นเข้าร่วม แล้วเอาชนะอำนาจรัฐได้ เนื่องจากขาดลักษณะประชาชาติ

 

กรณีของกบฏไท้เผ็ง-ขบถนักมวยในจีน คอมมูนปารีสในฝรั่งเศส หรือ ซาปาติสต้าในเม็กซิโก และการลุกฮือของชาวนาแห่งคานูโดสในบราซิล คริสต์ศตวรรษที่ 19 ล้วนเป็นบทเรียนของความล้มเหลวจากการขยายประเด็นการต่อสู้ของกลุ่มเป็นประเด็นสาธารณะ

 

การต่อสู้เพื่อทักษิณอย่างเดียวเปิดช่องให้ คมช.และพันธมิตรเผด็จการใช้ประโยชน์จากสงครามชิงพื้นที่ข่าวว่า กลุ่มรักประชาธิปไตย-ต่อต้านเผด็จการ คือ กลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณเป็นสำคัญ

 

ในช่วงเวลาเช่นนี้ กลุ่มเผด็จการกำลังเริ่มมั่นใจขึ้นว่า มวลชนที่เข้ามาร่วมการสนับสนุนที่สนามหลวงและท้องถนนนั้น กำลังตกอยู่ในฐานะเป็นเบี้ยล่าง จึงเริ่มรุกฆาตครั้งสำคัญก่อนการเผด็จศึก ด้วยการสร้างภาพว่า คนที่เข้าร่วมในแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ เป็นม็อบจัดตั้งจ้างวานมา

 

แม้ข้อความดังกล่าวจะเป็นเท็จ แต่ผลสะเทือนสำคัญอยู่ที่การสกัดกั้นมวลชนใหม่โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่ยังหวาดระแวงรัฐบาลทักษิณอยู่อย่างเหนียวแน่น มิให้เข้าร่วมเพื่อหวังโดดเดี่ยวแล้วเข้าสลายในที่สุด

 

ปฏิบัติการข้างต้น เป็นการทำสงครามจิตวิทยาที่รู้ดีว่า มวลชนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมในท้องสนามหลวงและท้องถนนเหล่านี้ ไม่พร้อมสำหรับการหลบลงปฏิบัติการใต้ดิน และที่สำคัญ หัวขบวนของแกนนำก็ยังไม่พร้อมสำหรับปฏิบัติการใต้ดินเช่นกัน

 

ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ คือ กลุ่มคนรักทักษิณต้องถอย และส่งไม้ต่อเพื่อให้ประเด็นสาธารณะอื่นๆ ในการต่อต้านเผด็จการได้รับการสนับสนุนกว้างขวางและต่อเนื่อง

 

การถอยทางยุทธิวิธี คือ การรุกทางยุทธศาสตร์ ดังที่ซุนหวู่เคยกล่าวเอาไว้ว่า การยุทธที่ดีที่สุดนั้นคือ การเอาชนะโดยไม่ต้องรบ แม่ทัพที่เก่งกล้าคิดแต่จะรบเป็นหลัก เป็นแม่ทัพที่เลว และอาจจะชนะการศึก แต่แพ้การสงครามในท้ายที่สุด

 

ถ้าเพียงแค่รู้จักถอย อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ไม่ชิงสุกก่อนห่ามก็สามารถที่จะสร้างแนวร่วม ดึงคนที่พร้อมจะต่อต้านเผด็จการ ที่ไม่เอาทั้งทหาร คมช. และไม่สู้เพื่อทักษิณกลับคืนมา เข้ามาเป็นแกนนำที่สามารถสร้างวาระสาธารณะหรือ วาระแห่งชาติ ต่อต้านเผด็จการได้ดีกว่า

 

มีแต่ทางเลือกนี้เท่านั้น จึงจะต่อสู้กับเผด็จการทหารที่มีลักษณะหลอกลวงได้ และถ้าประชาชนชนะ นำประชาธิปไตยกลับคืนมา คนรักทักษิณก็จะร่วมได้รับชัยชนะด้วย และหลังจากเผด็จการล่มสลายไปแล้ว ใครจะได้รับผลพวงของประชาธิปไตยมากที่สุด หากไม่ใช่กลุ่มคนรักทักษิณ ซึ่ง 1) มีแต้มต่อสูงที่สุดในองค์กรจัดตั้งทางการเมืองนอกราชการ 2) มีการจัดตั้งและเครื่องมือทางการเมืองในกลไกประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งที่สุด พร้อมจะเอาชนะใจมวลชนที่ลงคะแนนในคู่หาเลือกตั้งได้เหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ

 

หากไม่เลือกทางนี้ ก็มีแต่เอาหัวพุ่งชนกำแพงเท่านั้น !

 

 

3

 

ประชาธิปไตยคือธงนำความคิด

 

การลุกขึ้นสู้กับอำนาจเผด็จการที่ท้องสนามหลวงของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ มาจนถึงทุกวันนี้กำลังเดินมาถึงทางสองแพร่งว่า อะไรควรจะเป็นธงนำความคิดที่จะสร้างกระแสให้มวลชนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น เข้ามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพลังอย่างมีเอกภาพ รวมทั้งรับมือกับสงครามช่วงชิงพื้นที่ข่าวและการบิดเบือนของอำนาจรัฐเผด็จการที่ดำเนินปิดล้อมอย่างเข้มข้น

 

ธงความคิดที่ยังลักลั่นกันประดุจ "ไก่เกิดก่อนไข่ - ไข่เกิดก่อนไก่" ของแกนนำแนวร่วมฯ ที่เห็นในชัดในขณะนื้คือ

1)      ต่อสู้เพื่อทักษิณ

2)      ต่อต้านเผด็จการทวงคืนประชาธิปไตย

 

ทั้งสองประเด็นนี้ มีการนำเสนอต่อมวลชนอย่างสับสน บางครั้งนำข้อเสนอข้อ 1) เป็นธงนำ บางครั้งนำข้อเสนอข้อ 2) เป็นธงนำ

 

ความสับสนดังกล่าว ทำให้มวลชนจำนวนมากที่ต้องการมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับเผด็จการ (โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่มีความรู้) วางตัวในฐานะ "คนดู" มากกว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะ "ผู้เล่น" ทำให้สาระของการต่อสู้เริ่มมีลักษณะ "พายเรือในอ่าง" มากขึ้นเรื่อยๆ

 

เพื่อให้หลุดจากกรอบของความลักลั่นทางความคิด การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของธงนำความคิด มีความจำเป็นต้องทำให้ชัดเจนว่า การต่อต้านเผด็จการ-ทวงคืนประชาธิปไตย คือภารกิจจำเป็นแรกสุดของการเคลื่อนไหว

 

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการต่อสู้เพื่อทักษิณนั้น มีข้อจำกัดที่สำคัญสุดคือ จะประสบความสำเร็จได้ ภายใต้เงื่อนไขเดียวเท่านั้นคือ เมื่อพวกเผด็จการถูกโค่นล้มลงไปจากอำนาจแล้ว ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา ไม่มีทางเลือกอื่น

 

ขับไล่เผด็จการ-ทวงคืนประชาธิปไตย คือ แม่ เพราะคือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของมวลชน เพื่อแสวงหาความเป็นธรรมทางสังคม ส่วนการต่อสู้เพื่อทักษิณคือ ลูกน้อยที่เกาะหลังแม่ เพราะหากไม่มีเสรีภาพ และความเป็นธรรมทางสังคม การต่อสู้เพื่อทักษิณ คือการต่อสู้ที่ว่างเปล่า

 

การชูธงต่อสู้เพื่อทักษิณ เป็นการจัดลำดับหรือตำแหน่งของการต่อสู้ที่สับสนและหลงประเด็น มีแต่เดินเข้าสู่มุมอับ และตกเป็นเหยื่อค่ายกลของเผด็จการที่ขุดล่อเอาไว้อย่างชาญฉลาด

 

มีแต่การชูธงนำต่อต้านเผด็จการ - ทวงคืนประชาธิปไตยเท่านั้น (โดยที่ธงต่อสู้เพื่อทักษิณเป็นธงรอง) จึงจะทำให้เกิดเอกภาพในความคิด เพื่อขับเคลื่อนและทำให้มวลชนที่ยังเป็น "คนดู" กลายเป็น "ผู้เล่น" อย่างสมัครใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท