Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นพพร ชูเกียรติศิริชัย


 


"ในลมหายใจอบอวลกัญชา แอลเอสดี และกระหรี่ (ผง) ศีลหลายข้อกำหนดว่าฮิปปี้เป็นศัตรูกับความเจริญทางวัตถุ การต่อต้านความละโมบและความอิจฉาริษยาอาฆาต และการเร่งเร้าเพื่อเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ในโลก การปฏิเสธความฟุ้งเฟ้อ รวมทั้งความสะอาดและความเรียบร้อย (มารยาท)


 


การเป็นซ้าย (ใหม่) การไม่ตัดสินด้วยความรุนแรงแต่รักสงบ การนอบน้อมถ่อมตนและเทิดทูนความเป็นเพื่อน การเป็นปรปักษ์กับงานโดยประท้วงด้วยความขี้เกียจ...การนำตนเข้าถึงเสรีภาพแห่งความรักและกามารมณ์ ฯลฯ"


 


(บางถ้อยอารมณ์ จาก หลงกลิ่นกัญชา : "รงค์ วงษ์สวรรค์)


 



 


อันตัวข้าพเจ้าเอง แม้จะมิใช่นักอ่านผู้ตระการไปด้วยประสบการณ์แห่งการสัมผัสอักขรวิถีบนหน้ากระดาษมากมายนัก แต่อย่างน้อยเมื่อมีโอกาส ข้าพเจ้าก็มักจะแตะต้องลูบคลำเจ้ากระดาษที่ถูกเรียงเป็นเล่มอยู่เสมอ และแม้ว่า 100 หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน อาจจะมิเคยผ่านสายตาข้าพเจ้าแม้เพียงนิด แต่นักคิดนักรู้ทั้งหลายคงไม่คิดปิดโอกาสที่จะสัมผัสกับตัวหนังสือดีๆ ที่ข้าพเจ้าอยากจะแนะนำ


 


หลายคนคงรู้จักนักเขียนอย่าง "รงค์ วงษ์สวรรค์ ดีกว่าข้าพเจ้า หลายคนคงเคยอ่านหนังสือของ "รงค์ วงษ์สวรรค์ มากมายกว่าข้าพเจ้า และอีกหลายคนคงจะหลงรักและปลาบปลื้มกับผลงานของ "รงค์ วงษ์สวรรค์ มากกว่าข้าพเจ้า และนั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้ามิอาจหาญจะปฏิเสธความเป็นจริงในข้อนี้


 


แต่สำหรับตัวข้าพเจ้าเอง "รงค์ วงษ์สวรรค์ มิได้มีฐานะเป็นเพียงสุดยอดนักเขียนในอันดับต้นๆ ของเมืองไทย แต่เขาคือหนึ่งในผู้นำความขบถต่อวัฒนธรรมทางภาษาที่ช่วยทำลายกรอบมายาคติอันคับแคบของมนุษย์ในสังคมที่เชื่อว่าในวัฒนธรรมหนึ่งๆ มันจะต้องมีโครงสร้างที่สมบูรณ์ที่สุด


 


เขาเป็นผู้ที่ทำให้ภาพสารคดีชีวิตประจำวันของมนุษย์ดูมีสีสันประดุจเดียวกับเรื่องสั้นที่ถูกปั้นแต่งขึ้นจากจินตนาการ และในอีกมุมหนึ่ง "รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้กลายเป็นศาสดาของวัยรุ่นผู้เสาะแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าตามแนวทาง "หลงกลิ่นกัญชา ขบวนการล้มล้างศักดินาดอลลาร์ (Hippies Movement)" ซึ่งเคยสั่นคลอนการเมืองอเมริกามาแล้ว


 


มายาคติของฮิปปี้


 


ปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ.2007) ท่ามกลางฝุ่นควันที่พวยพุ่งเพื่อโลมเลียโอโซนในชั้นบรรยากาศของมหานครบางกอกไทยแลนด์แดนวัฒนธรรมของไอ้อีผู้ดีตีนแดง ผู้เฝ้าตะแคงตีนไว้แดกดันชาวบ้าน


 


ร่างผอมบางของหนุ่มนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยของรัฐ เปล่งวจีผ่านคืนค่ำที่คละคลุ้งด้วยม่านควันจากสมุนไพรอบแห้ง


 


"ผมว่าผมคุยกับพี่ได้ เพราะผมเห็นว่าพี่อ่านหนังสือเรื่อง "หลงกลิ่นกัญชา" แล้ว...ผมหลงใหลวิธีการของพวกฮิปปี้ ผมพยายามใช้ชีวิตเลียนแบบฮิปปี้ เพราะมันไม่ต้องคิดอะไร ดูดกัญชา ฟังเพลง ชีวิตเราก็มีความสุข" ร่างผอมเซียวเอื้อนเอ่ยวาจาหลังกลืนกินพลังจากควันหรรษา


 


"แต่ฮิปปี้ในมุมมองของหลงกลิ่นกัญชา ก็ไม่ใช่วัยรุ่นที่ร้องขอเงินจากพ่อแม่เพื่อซื้อกางเกงยีนส์ตัวละสองพันกว่าบาทจากห้างสยามพารากอนมาสวมใส่" ข้าพเจ้าแอบสบถในใจ


 


"นั่นแหละพี่...???" หนังหุ้มกระดูกในร่างมนุษย์วัย 20 ต้นๆ ขยับปากด้วยความมึนงง แล้วก้มลงจดจ่อกับกลิ่นควันจากบ้องไม้ไผ่ ก่อนจะเงยหน้าขึ้นแล้วกล่าวต่อไปว่า


 


"เวลาผมใช้มันแล้วมันทำให้ผมคิดอะไรได้เยอะนะพี่ มันช่วยให้ผมสร้างสรรค์งานได้ ผมมีอะไรในหัวเยอะ"


 


"...แต่ว่าการเมาไม่ใช่ข้ออ้างของการเป็นศิลปิน ศิลปินมีสิทธิ์กินเหล้า มีสิทธิ์เมา อันนี้เป็น logic กินเหล้าหรือการแต่งตัวรุงรัง ไม่แปรงฟัน ไม่ตัดผม นี้ไม่ใช่ข้ออ้างว่าต้องทำอย่างนั้นเสียก่อนถึงจะบรรลุการเป็นศิลปินขึ้นมาได้... (บางถ้อยคารมจาก หลงกลิ่นกัญชา : "รงค์ วงษ์สวรรค์)"


 


ปี พ.ศ. 2542 ณ มุมกาแฟร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์ นักเขียนผู้ขบถต่อวัฒนธรรมทางภาษา ถ่ายทอดความทรงจำเกี่ยวกับฮิปปี้ไว้เป็นภาษาพูด และถูกนำมาเผยแผ่เป็นตัวอักษรลงบนกระดาษหลังปกหนังสือ "หลงกลิ่นกัญชา" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 "...นักการเมืองสมัยนั้น ถนอม ประภาส เห็นคนไว้ผมยาวก็บอกว่าฮิปปี้ นุ่งกางเกงขาดๆ ก็ว่าฮิปปี้ ไม่เรียบร้อย ไม่ได้ถามเลยว่านุ่งขาดๆ เพราะไม่มีเงินจะซื้อ หรือว่านุ่งขาดเพราะเอามีดโกนมากรีด...


 


"ผมเห็นว่าอย่างนี้มันไม่เป็นธรรมกับฮิปปี้ ไม่เป็นธรรมกับนักต่อสู้ จึงเขียนหนังสือหลงกลิ่นกัญชาขึ้นมา เขาเป็นนักต่อสู้กับทุนนิยม ต่อสู้กับอเมริกาที่เป็นนักขูดรีด เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ฮิปปี้ต้องอายุ 30 ขึ้นไป ต้องเรียนมหาวิทยาลัย คุณสมบัติต้องเป็นลูกเศรษฐี หรือไม่รวยมากก็ได้ แต่ต้องมีอุดมการณ์ในการช่วยกันขัดขวางพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จมาจากอุตสาหกรรม...


 


"ผมเป็นหนึ่งในขบวนการฮิปปี้ กัญชา หรือเซ็กซ์ เป็นส่วนประกอบ แต่แท้จริงเราเรียกร้องแม้กระทั่งการพูดที่เป็นเสรี ซึ่งในอเมริกาไม่มีครับ อย่าคิดว่ามี อย่านึกว่ามีแต่ประเทศไทยของคุณกับผมเท่านั้น ในอเมริกานั่นแหละ ถ้าพูดไม่เข้าหูนักการเมือง ก็โดนฆ่าเหมือนกัน"


 


000


 


แซน แฟรนซิสโก ฤดูร้อน ปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967)


(ถ่ายทอดจากความทรงจำของ "รงค์ วงษ์สวรรค์ ใน "หลงกลิ่นกัญชา ขบวนการล้มล้างศักดินาดอลลาร์ Hippies Movement")


 


"...ทางการตำรวจซึ่งเคยหัวเราะเยาะคำเตือนของฮิปปี้อาวุโสว่า พวกเขาจะจาริกแสวงหาปัญญามาในแถวถิ่นนี้ไม่น้อยกว่าสองแสนคนเริ่มวิตก แต่ฮิปปี้ก็ยืนยันในความรักของตนด้วยการไม่พยายามละเมิดต่อกฎหมายหรือประพฤติการณ์รุนแรงในแบบของอาชญากร เขาไม่ใช่คนพันธุ์นั้น...


 


"ตำรวจรักษาการละแวกนั้นรีดยิ้มออกมาบนใบหน้าปนความขวยเขิน เมื่อฝูงฮิปปี้เข้ารายรอบ และบางคนพยายามทัดดอกไม้ให้เขา บางคนตะโกนสัพยอกด้วยถ้อยคำละไมหู ทั้งสองฝ่ายจึงดูจะไม่มีภัยต่อกัน เพราะผู้ครองเพศฮิปปี้ยึดถือในความรักและบูชาความสงบ ตำรวจไม่มีหน้าที่จะจับกุมคนเดินเปลือยตีนหรือไว้ผมยาวประบ่า กฎหมายไม่มีบทลงโทษคนขี้เกียจอาบน้ำ คนไม่ศรัทธาพระเจ้า และคนชอบกินผงกระหรี่ ต่างไม่แยแสต่อกัน


 


"เว้นไว้แต่ฮิปปี้ชมรมดูดกัญชากันอื้อฉาวนัก มือกฎหมายก็จำเป็นจะต้องกอดกุม หรือถ้าฮิปปี้ส่งเสียงอึกทึกในยามวิกาลจนเป็นการรบกวนเพื่อนบ้านนั้นก็เป็นหน้าที่ของตำรวจจะเข้าระงับหรือดำเนินคดีทันที เพราะกฎหมายอเมริกันถือว่า การทำลายความสงบสุขของเพื่อนบ้าน เท่ากับเป็นการคุกคามเสรีภาพส่วนบุคคล..."


 


"ในหัวใจของคนคราวหนุ่มสาว หรืออาวุโสกว่านั้น บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเวลาบ่ายนั้นสับสนเหมือนกับทุกวัน ผู้คนในแวดวงนั้นต่างดิ้นรนจะไปให้ถึงปลายทางความคิดของตนอย่างเร่งร้อน จนดูเหมือนว่าความสุขุมมันเป็นศัตรู


 


"อาวุธของเขาคือคำเย้ยหยัน ด่าทอ และแผดตะโกน ชายหนุ่มผู้นั้นไม่มีใครสนใจว่ากำพืดของเขามาจากรูเรี้ยวไหน แต่มีหลายคนหยุดฟังเขาประณามการเหยียดผิวในสหรัฐฯ เขามีอนุสารยื่นให้ถึงมือผู้ที่ต้องการอ่านถ้อยคารมเร่าร้อนจากความคิดของเขา และเขาเชื่อว่าถูกต้อง เป็นความจริงเช่นกันกับซาตานจะไม่ปฏิเสธความชั่วร้าย แล้วเขาเคาะกระป๋องเชิญชวนให้บริจาคเงินไว้เป็นทุนต่อสู้เพื่อล้มล้างการเหยียดผิว การกระทำที่น่าละอายของอารยชน


 


"นักศึกษานิโกรผู้นั้นนุ่งสเกิ๊ร์ทสีเขียวแปรด หล่อนนั่งคร่อมขาอยู่บนไหล่เพื่อนชายผิวขาว เดินสอดอยู่ในฝูงคนตะโกนให้หยุดการรบในเวียดนาม "นั่นไม่ใช่สงคราม! แต่เป็นการฆาตกรรม!"


 


"ความกดดันในสังคมที่แก่งแย่งชิงดีของเรา..."  บุปผาชนผู้สวมแว่นสายตาสั้นค่อนข้างหนา เขาเป็นนักศึกษาคณิตศาสตร์ พูดว่า "นั้นมันบีบบังคับให้ผู้คนทุจริตต่อความรู้สึกของตน เราระแวงในความรักของพ่อแม่ เราสงสัยว่าเราเป็นผู้รักชาติไหม? เราหวั่นเกรงอนาคตของเรา และพาลห่วงไปถึงคนรุ่นหลังที่จะตามต่อมา เพื่อเป็นเหยื่อของความแปรปรวน สังคมอเมริกันในปัจจุบัน...คุณคิดว่าจะยึดเหนี่ยวอะไรหรือใคร?


 


"นักการเมืองกำหนดนโยบายของเขาไว้แน่นอน แต่คุณเชื่อหรือว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ประเภทตีสองหน้า เขาอาจเป็นทาสของอุดมคติ แต่เขาก็เป็นทาสของนักอุตสาหกรรม โดยเจตนาหรือไม่เจตนา ความมั่งคั่งบันดาลให้วิทยาศาสตร์ไม่เป็นความเร้นลับอีกต่อไปในศตวรรษของเรา...


 


"นักปรัชญาบ้าบางคนพยายามโกหกให้เชื่อว่ามีปรัชญาในปรมาณูวิทยา มันก็น่าจะเป็นไปได้เช่นเดียวกับบางคนมองเห็นปรัชญาในก้อนหินและยอดหญ้า แต่กว่าเราจะเห็นคุณของมันอาจจะสายไปเสียแล้ว เพราะมันจะทำลายทุกอย่างทั้งหมดในโลกที่สวยงาม เห็นไหม...เราจะยึดเหนี่ยวอะไร? แม้แต่นักบวชที่อวดอ้างว่าแตกฉานในคัมภีร์ ก็อาจทำบาปด้วยความโง่เขลาและยโสของตน เราไม่อาจเชื่อถืออะไรหรือใครได้ทั้งนั้น จิตใจของคนเราละเอียดอ่อนเกินจะทน..."


 


ปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) กรุงเทพมหานคร "นักศึกษาหลายตนภาคภูมิใจในเครื่องแบบสีขาวดำ เข็ม และหัวเข็มขัด ที่สามารถอ้างอิงความสูงต่ำของสถาบันการศึกษา ดุจเดียวกับการสวมใส่อาภรณ์หลากสีตามระบบวรรณะ พวกเขาถูกกรอกหูด้วยวาทกรรมอันยิ่งใหญ่ที่ผู้บริหารหยิบยื่นให้ว่าเครื่องแบบนักศึกษา คือสิ่งแสดงเกียรติ และความมีระเบียบวินัยของชนชั้นปัญญาชน (ซึ่งดูเหมือนจะสูงส่งกว่าประชาชนทั่วไป) โดยหลงลืมไปว่า เกียรติ และความมีระเบียบวินัยที่ได้มานั้น ต้องแลกมาด้วยการยินยอมตกอยู่ภายใต้ระบบคิดที่ผู้ใหญ่ได้วางไว้ภายใต้ข้ออ้างความปรารถนาดี


 


พวกเขาต้องยอมแลกเสรีภาพในการแต่งกายที่ผู้ใหญ่มีสิทธิ (อำนาจอัน "ชอบทำ")จะเข้ามาก้าวก่ายเมื่อไหร่ก็ได้แม้อยู่นอกสถาบัน พวกเขาต้องยอมคุกเข่าขอขมาต่อการกระทำกับพวกเขาเยี่ยงสัตว์ป่า ด้วยการจับให้นักข่าวถ่ายรูปประจานลงหน้าหนังสือพิมพ์ ในข้อหา "แต่งกายไม่สุภาพ" และ "เถียงรัฐมนตรีผู้หวังดีต่อเยาวชน" พวกเขาไม่มีสิทธิแม้แต่จะสงสัยในความ "ชอบทำ" ของป้ายประกาศ "สถานที่ราชการ ห้ามนักศึกใส่เสื้อรัดรูปและกางเกงขาสั้น"  ที่แปะไว้บนตึกของคณะ ทั้งๆ ที่พวกเขาได้รับสิทธิในการเลือกตั้งตัดสินชะตากรรมของประเทศตั้งแต่อายุ 18


 


"ก็มันเป็นเด็ก ผู้ใหญ่เขาเตือนแล้วไม่ฟังมันก็สมควรแล้ว...มึงเลิกพูดไปเลยเรื่องสิทธิมนุษยชน" รุ่นพี่บัณฑิตปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชื่อดังย่านท่าพระจันทร์ แสดงความเห็นด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวต่อการทวงถามถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาที่มิได้ละเมิดกฎหมาย


 


...ขอคารวะต่อระบบการศึกษาที่สามารถเหยียบหัวนักศึกษาให้จมอยู่กับการทำรายงาน และการแข่งขันกันเรียนเพื่อเกียรตินิยม...


 


หลังม่านควันที่คละคลุ้งด้วยกลิ่นกัญชา 3 ปัญญาชนร่างซูบนั่งหัวเราะร่ากับความสามารถในการจัดหาสมุนไพรแบ่งปันความสุข


 


"พี่ไม่เข้าใจหรอกว่าคนที่มันติดยามันเจออะไรมาบ้าง อย่างเพื่อนผมพ่อแม่มันก็เลิกกัน" นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 เอ่ยขึ้นด้วยความไม่สบอารมณ์


 


"พี่รู้รึเปล่าว่าสาเหตุที่ผมต้องมาติดกัญชาเพราะพ่อแม่ผมเลิกกัน...ผมเหนื่อยว่ะพี่...ผมไม่รู้จะเริ่มต้นชีวิตยังไงดี" นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 สบถด่าบุพการี ผู้ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เขาหันมาหลงใหลในกลิ่นควัน


 


"มึงคิดอะไรมากวะ อายุมึงเพิ่งแค่นี้ ไม่ต้องไปคิด เฮ้ อะไรหรอก...ไปของหมดแล้ว มึงออกไปทำของอีกไป กูหาซื้อมาให้แล้วมึงก็ออกไปทำ" นักศึกษาปริญญาโทผู้ซึ่งเชื่อว่าตนดำเนินชีวิตเยี่ยงฮิปปี้มาตลอด 4-5 ปี เอ่ยปากชักชวนสมุนเข้าสู่พิธีกรรมหลังม่านควัน


 


 "พรุ่งนี้มึงไปเดินซื้อของที่พารากอนกับกูหน่อยดิ" เสียงหัวเราะคิกคักดังขึ้นปะปนกรุ่นควันลอยฟุ้งกลางอากาศ


 


ราว 40 ปี ของตำนานหนังสือ "หลงกลิ่นกัญชา" ภาพอุดมการณ์ของกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนซึ่งเคยชัดเจนผ่านตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนหน้ากระดาษ ดูห่างไกลจากสภาพความเป็นจริงของกลุ่มนักศึกษาไทยในยุคปัจจุบัน


 


สิ่งที่เหลืออยู่จึงเป็นเพียงเศษซากของหนังสือที่คนรุ่นหนึ่งหยิบฉวยและทิ้งไว้ให้คนอีกรุ่นหนึ่งรับไว้อธิบายรากเหง้าของผู้หลงใหลในมวลควัน ดุจเดียวกับการเปลื้องผ้าจากปราชญ์มาสวมใส่ไว้ในเรือนร่างของผู้โง่เขลาซึ่งหลงเชื่อว่าอาภรณ์นั้นจะสามารถสร้างความน่าเคารพให้แก่ตน


 


ควันกัญชาจึงยังคงอบอวลและร่องรอยอย่างไร้จุดหมาย ภายใต้เรือนร่างของนักศึกษามหาวิทยาลัย


 


ภายใต้เรือนร่างของผู้ซึ่งเคยถูกขนานนามว่าฮิปปี้อาจจะกรุ่นด้วยกลิ่นของกัญชา แต่หลังม่านควันของกัญชาอาจจะไม่พบอุดมการณ์ของฮิปปี้


 


ขอคารวะแด่ "รงค์ วงษ์สวรรค์ ผู้บันทึกสีสันแห่งการต่อสู้ตามอุดมการณ์ของฮิปปี้ ผู้กล้าขบถต่อโครงสร้างในทุกๆ วินาทีของชีวิต โดยไม่คิดตอแหลความรู้สึก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net