Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 29 มิถุนายน 2550 ชาวชุมชนอุบลราชธานีกว่า  50 คน ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงพลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน ประธานคมช.ผ่านผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 และยื่นหนังสือถึงนายยกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12  มิถุนายน 2550 ซึ่งมีมีมติให้ปิดเขื่อนปากมูลโดยไม่มีการกำหนดระยะเวลา


 


โดยเครือข่ายชุมชนจังหวัดอุบลราชธานีได้ระบุเหตุผลในการคัดค้านว่า การที่คณะรัฐมนตรีมติปิดประตูเขื่อนปากมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นการเข้ามาแทรกแซงของอำนาจทหารในการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล ผ่านกลไก"ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนภายใต้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ของกองอำนวยการร่วมรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งมี พลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน ผบ.ทบ.และประธาน คมช. เป็นผู้อำนวยการ  เป็นการสะท้อนการทำงานของคณะทหารที่ไม่รู้จักบริบทและรากเหง้าแห่งปัญหาที่แท้จริงของเขื่อนปากมูล ว่ามีความซับซ้อนและเรื้อรังอย่างยาวนาน ทั้งที่สังคมมีความพยายามในการแก้ปัญหาคลี่คลายความยากจนโดยการฟื้นฟูระบบนิเวศวิถีชีวิตและชุมชนดังในรายงานการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสนอให้มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลตลอดปี


                                                                                                                                       


นอกจากนี้การมีมติปิดเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อชุมชนเมืองอุบลราชธานี คือ ไม่สามารถหาปลาเลี้ยงชีพได้ดั่งเดิมหรือแม้แต่ในตลาดก็ไม่มีปลาจากแม่น้ำมูนให้บริโภคหรือที่มีก็ราคาแพงเนื่องจากหาได้ยากและมีน้อย  ทำให้คนจนในเมืองขาดรายได้จากการหาปลา กุด หนอง เต็มไปด้วยวัชพืชที่ไม่สามารถไหลลงสู่แม่น้ำมูนได้ทำให้ประสบปัญหาน้ำเน่า น้ำคัน ไม่สามารถนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคได้  และในฤดูน้ำหลาก  การปิดเขื่อนปากมูลจะทำให้น้ำท่วมคนเมืองอุบลราชธานี ส่งผลให้คนจนเมืองอุบลราชธานียิ่งจนกว่าเดิม นับว่าเป็นการจนเพราะการพัฒนาของรัฐ


 


สำหรับข้อเสนอของเครือข่ายชุมชนจังหวัดอุบลราชธานีในการแก้ปัญหาที่เรียกร้องในครั้งนี้ คือ คณะทหารต้องหยุดเข้ามาการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลเพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจในวิถีคนลุ่มน้ำมูนอย่างแท้จริง  กลับเป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม และวิธีการของทหารไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ ตลอดจนเพื่อยุติการสร้างความสับสนและขัดแย้งในลุ่มน้ำมูน  การแก้ปัญหาเขื่อนปากมูนต้อง "เปิดประตูเขื่อนถาวร" ซึ่งเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตและชุมชน ที่ส่งผลให้สามารถแก้ความยากจนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างแท้จริง  เพราะการเปิดประตูเขื่อนปากมูน ตาม มติครม.เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ทำให้วิถีชีวิตคนจนเมืองอุบลราชธานี พอลืมตาอ้าปากได้บ้าง แก้ปัญหาความขัดสนของชีวิต เป็นการฟื้นอาชีพของคนหาปลา ครอบครัวของคนจนเมืองสามารถหาอาหารจากบุ่งทามตามริมแม่น้ำมูน เกิดดำเนินชีวิตแบบพอเพียงเพราะมีความมั่นคงทางอาหารจากการพึ่งพาแม่น้ำมูน  นอกจากนี้ในช่วงเปิดเขื่อนชาวบ้านสามารถ  ลงไปอาบน้ำในกุด หนอง ได้ น้ำประปาที่สูบมาใช้ก็ไม่เน่าเหม็น รวมทั้งส่งผลให้น้ำไม่ท่วมชุมชนเมืองดังช่วงปี 2543-2546


                       


นายโอภาส  เจริญพจน์ ชาวบ้านชุมชนลับแลเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ที่เข้าร่วมคัดค้านในครั้งนี้ กล่าวว่า " ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนปากมูล ชาวบ้านพบว่าจำนวนปลาธรรมชาติในแม่น้ำมูนได้ลดจำนวนลงไปมาก คนที่เคยหาปลาต้องเปลี่ยนอาชีพเพราะจับปลาไม่ได้ การแก้ปัญหาของรัฐที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเมืองดีขึ้นแต่อย่างใด เขื่อนปากมูลเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาของรัฐทำให้คนจนเดือนร้อน  การมีมติ ครม.ให้ปิดเขื่อนเพื่อรักษาระดับน้ำจะทำให้น้ำท่วมขังชุมชนเมืองนานขึ้นกว่าเดิม  อยากเสนอให้ทางผู้มีอำนาจแก้ไขปัญหาตามผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  คือ เปิดเขื่อนปากมูลถาวร"


 


นางฉวีวรรณ  แสงกล้า  ชาวบ้านตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ  จังหวัดอุบลราชธานี           กล่าวว่า "การปิดเขื่อนทำให้น้ำมูนไม่สามารถไหลลงแม่น้ำโขงได้  แม่น้ำไม่มีการถ่ายเทของเสียออกทำให้น้ำเน่าเสีย ปลาธรรมชาติลงลงจำนวนลง  คนหาปลามากินไม่ได้เหมือนก่อน  ปลาในกระชังที่ชาวบ้านเลี้ยงต้องตาย  น้ำในแม่น้ำใช้ไม่ได้  นอกจากนี้การมีมติปิดเขื่อนยังจะทำให้ประชาชนต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือนเป็นเวลานานกว่าปกติเพราะน้ำเหนือไม่สามารถไหลลงแม่น้ำโขงได้"


 


นางฉวีวรรณกล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ว่า "เพื่อให้เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายควรมีการกำหนดช่วงเวลาให้ชัดเจนว่าช่วงเวลาไหนจะเปิดเขื่อนและช่วงเวลาไหนจะปิดเขื่อน ไม่ใช่มีมติให้ปิดเขื่อนอย่างไม่มีกำหนด"


 


นางจัน ทาวงศ์ ชาวบ้านชุมชนกุดแสนตอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า "ที่ตนมาคัดค้านมติ ครม.ในวันนี้เนื่องจากการปิดเขื่อนปากมูลจะทำให้น้ำท่วมชุมชนนานมากขึ้น แต่ก่อนนั้นน้ำท่วมอย่างมากสุดก็แค่ 1 เดือน  แต่เมื่อมีการปิดเขื่อนน้ำท่วมนานขึ้นเป็น 2-3  เดือน  ประชาชนต้องอพยพมาอาศัยอยู่บนริมถนน  ไร่นาก็ถูกน้ำท่วมเสียหายหมด  น้ำท่วมนานทำให้ข้าวที่ปลูกตาย หาอยู่หากินลำบากมาก"


 


ด้านนางธนวรรณ พวงผกา ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า "หลังจากผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 และรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีรับหนังสือดังกล่าวแล้วทางชาวบ้านจะติดตามต่อไปว่าเมื่อทางทาง คมช. และคณะรัฐมนตรีได้รับหนังสือแล้วจะมีมติในการแก้ไขปัญหาอย่างไรเพื่อไม่ให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน"


 


*หมายเหตุ : เขื่อนปากมูลผู้เขียนใช้ คำว่า มูล เนื่องจากเป็นชื่อที่ทางรัฐตั้งให้ ส่วนคำว่าแม่น้ำมูนจะใช้ มูน อันหมายถึง มรดกตกทอดสู่ลูกหลาน ซึ่งเป็นคำที่คนลุ่มน้ำมูนเมืองอุบลราชธานีใช้เรียก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net