Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Hi-Fidelity


 



 


ในบางประเทศที่เอ็มทีวียังสถิตย์อยู่ในสื่อด้วยฐานะ "กูรูทางดนตรี" ชื่อของ "แองเจลิก คิดโจ" อาจไม่คุ้นหูเมื่อเทียบกับนักร้องนักดนตรีจากฝั่งอังกฤษหรืออเมริกาที่หาเพลงของพวกเขามาฟังได้ง่ายกว่ากัน แต่ถ้าพูดถึงชื่อนี้ในประเทศแถบแอฟริกาและยุโรป...อะไรต่อมิอะไรดูจะแตกต่างออกไปมาก


 


นักวิจารณ์หลายคนยกย่องให้ผู้หญิงผิวดำ ตัวใหญ่ล่ำบึ้ก และโกนหัวจนเกรียน นามว่า "แอนเจลิก คิดโจ" คนนี้ เป็น "ดิว่า" หรือนักร้องหญิงซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของแอฟริกา เพราะความสามารถทางดนตรีที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือของเธอ บวกกับการแสดงสดที่เต็มไปด้วยพลังเร้าใจคนดู...


 


แต่ถ้ามองรวมไปถึงชีวิตในแง่มุมอื่นๆ ด้วย คำยกย่องแค่ให้เป็น "ดิว่า" ดูเหมือนจะเป็นคำเรียกที่เล็กน้อยเกินความเป็นจริงไปสักหน่อย


 


เรียกเธอว่า "นักปลุกระดมทางจิตวิญญาณ" น่าจะเหมาะสมกว่ากันเยอะ...


 



 


อาวุธในการปลุกระดมของคิดโจคือ "บทเพลง" เพราะในทัศนะของเธอ บทเพลงคือส่วนหนึ่งของพิธีกรรม และเป็นการแสดงออกซึ่งจิตวิญญาณ ตามรากเหง้าของชาวแอฟริกัน


 


ผลงานหลายๆ ชิ้นของคิดโจจึงคล้ายดั่งบทสวดและการบริกรรมคาถา แต่เนื้อหาที่พูดถึงชีวิตและการต่อสู้ของชนชาติที่ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและความแห้งแล้งกันดารแทบจะทุกรูปแบบในบทเพลงของคิดโจ ไม่ได้ส่อไปในทางหดหู่หรือหมดหวังแต่อย่างใด


 


เหมือนอย่างเพลง Afrika ซึ่งเป็นผลงานในชุดเก่า มีเสียงกลองแอฟริกันเป็นตัวนำ และเครื่องสายอื่นๆ ถูกใส่เข้ามาด้วย ฟังแล้วรู้สึกครึกครื้น มีความหวังและไม่ยอมแพ้


 


ในขณะที่เพลง Naima ซึ่งคิดโจแต่งให้ลูกสาวนั้นฟังเหมือนเป็นการสั่งสอนพร้อมๆ กับอวยพรไปด้วยในตัว แต่ก็ฟังอ่อนหวานและเข้มแข็งอยู่ในที


 


แต่ถ้าฟังครั้งแรก เสียงเพลงของคิดโจอาจไม่คุ้นหูเลยทั้งท่วงทำนองและภาษาที่ใช้ เพราะเพลงส่วนใหญ่ของคิดโจจะถูกขับร้องเป็นภาษาเบนินและภาษาสวาฮิลี ซึ่งก็คือภาษาที่ใช้กันในแถบประเทศแอฟริกา


 


ก่อนหน้านี้ เพลง We are one ซึ่งเป็นซาวด์แทรกประกอบหนังอนิเมชั่นเรื่อง Lion King เป็นเพลงแรกๆ ที่เปิดตัวคิดโจสู่สาธารณชนทั่วโลกที่บริโภคผลิตผลจากฮอลลีวู้ดอยู่เป็นนิจ แต่ในความเป็นจริง เสียงร้องของคิดโจเป็นที่รู้จักในหมู่แวดวงคนดนตรีของฝรั่งเศสในยุค 80"s อยู่ก่อนแล้ว เพราะเธออพยพจากเบนิน ไปอยู่ที่ปารีสเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น และอาศัยอยู่ที่นั่นจนแต่งงานและมีลูกสาวกับนักแต่งเพลงคู่ใจ


 


จนกระทั่งย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก ชื่อเสียงของคิดโตจึงถูกทำให้กลายเป็น Mass Product ไป และช่วงนี้เองที่เธอมีผลงานเพลงเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสออกมา


 


ผลงานชุดใหม่ของคิดโจที่เพิ่งออกมาเมื่อเพือนพฤษภาคมปีนี้ ใช้ชื่อว่า Djin Djin เป็นการกลับไปแต่งเพลงที่ใช้ภาษาซึ่งพูดกันในแผ่นดินเกิดของเธออีกครั้ง และมีการผสมผสานดนตรีทางฝั่งตะวันตกเข้าไปด้วย จึงมีนักร้องจากหลากหลายแนวมาร่วมงานกับคิดโจในอัลบั้มนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น จอช โกรแบน, จอส สโตน, ซานตานา, อลิเชีย คียส์ ฯลฯ ซึ่งนักร้องเหล่านี้ถือเป็นพวกคุณภาพคับแก้วอยู่แล้ว จึงไม่มีใครถูกฆ่าให้ตายด้วยพลังเสียงที่เหนือกว่า อัลบั้มใหม่ของคิดโจจึงน่าสนใจและไม่น่าจะเข้าถึงยากเกินไปสำหรับคนที่ไม่คุ้นกับสำเนียงที่มีความเฉพาะตัวของท้องถิ่น


 


และอาจจะเพราะกลิ่นอายของความเป็นแอฟริกันนี่เองที่ทำให้มีความพยายามจะจัดบทเพลงของคิดโจให้อยู่ในประเภท World Music ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรจากการตั้งชื่อหมวดหมู่ให้กว้างๆ เข้าไว้ เพื่อจะได้นำบทเพลงที่แตกต่างจากความเคยชินของคนส่วนใหญ่มารวมไว้ด้วยกัน และสามารถหาจำกัดความให้เพลงเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น แต่ที่จริงแล้ว คิดโจสามารถร้องเพลงได้หลายแนวกว่านั้นมาก ทั้งแจ๊ส, บลูส์, ร็อค และกอสเปล


 


หากสิ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของเธอจริงๆ ก็คือเสียงร้องที่เยือกเย็นมีพลัง ผนวกกับการใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองของแอฟริกามาผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสาย เครื่องเป่า หรือกลอง ที่ให้จังหวะและเนื้อเสียงแตกต่างจากเครื่องดนตรีสมัยใหม่ และคิดโจก็แต่งเนื้อร้องหรือเรียบเรียงทำนองดนตรีเองแทบจะทุกเพลง


 



 


อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของคิดโจโด่งดังก็คือ เมื่อหลายปีก่อน ในงานคอนเสิร์ตที่ซิมบับเวย์ คิดโจได้รับเชิญให้ไปร้องเพลงต่อหน้าประธานาธิบดี "โรเบิร์ต มูกาเบ" ที่เป็นถึง "ผู้นำประเทศ"


 


เรื่องชวนตะลึงที่เธอทำในระหว่างการแสดงสดครั้งนั้นก็คือว่า จู่ๆ เธอก็หยุดร้องเพลง และพูดเสียงดังฟังชัดผ่านไมโครโฟนด้วยประโยคเด็ด


 


"ฉันไม่เข้าใจเลยว่าคนบางคนทำให้ประเทศของตัวเองลุกเป็นไฟและเที่ยวไล่ฉุดคร่าประชาชนของตัวเองได้ยังไง การที่คุณไม่อาจดูแลผู้คนในประเทศได้ นอกจากจะเป็นฝันร้ายที่สุดแล้ว ยังไม่สามารถทำให้คุณเรียกตัวเองว่าเป็น "ผู้นำ" ได้ด้วย แต่มันทำให้คุณเป็นปีศาจร้าย ถ้าคุณใช้ชีวิตกับความรุนแรง คุณก็จะตายไปเพราะความรุนแรง"


 


คำพูดของคิดโจ คือการส่งสาร "ตีแสกหน้า" ประธานาธิบดีมูกาเบ ซึ่งเกี่ยวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศ เพราะมูกาเบคนนี้เองที่ตัดสินใจส่งทหารเข้าร่วมในสงครามคองโกครั้งที่ 2, ปฏิรูปที่ดินด้วยการยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านไปให้นายทุน, แสดงท่าทีต่อต้านโฮโมเซ็กชวลด้วยการเปรียบว่ากลุ่มคนเหล่านี้สกปรกกว่าหมูและหมา และยังมีข่าวลือว่าพรรคของเขาโกงการเลือกตั้งอีกด้วย...


 


รายงานข่าวจาก Time บอกว่า หลังจากที่คิดโจพูดจบ คนดูก็เงียบอึ้งกิมกี่กันไปทั้งงาน แต่เมื่อบอดีการ์ดของมูกาเบพยายามจะเข้าไปให้ถึงตัวคิดโจ คนที่มาดูคอนเสิร์ตก็ปรบมือโห่ร้องด้วยความสะใจ และหันไปล้อมบอดีการ์ดของทั่นประธานาธิบดีไม่ให้เดินไปถึงเวทีได้...


 


แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คิดโจก็ต้องออกจากซิมบับเวย์ด้วยเที่ยวบินเช้าตรู่ในวันรุ่งขึ้นทันที...


 


วีรกรรมนี้ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว เพราะถ้าหากมีโอกาสเมื่อไหร่ คิดโจไม่เคยละเว้นที่จะส่งสารปลุกระดมให้ผู้คนบนโลกใบเดียวกับเธอได้ตระหนักถึงสิทธิและจิตวิญญาณเสรีที่ไม่ควรยอมให้ใครมากดขี่เป็นอันขาด!


 


เพราะอย่างนี้...อีกด้านหนึ่งในชีวิตที่เหลือ ซึ่งอยู่นอกเหนือเวทีคอนเสิร์ตและห้องอัดเสียง เราจึงได้เห็นคิดโจในฐานะ "ฑูตพิเศษของยูนิเซฟ" หรือไม่เราก็อาจจะได้ข่าวว่าเธอกำลังทำงานอย่างขะมักเขม้นให้กับ "มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาเพื่อเด็กและสตรีในแอฟริกา" ซึ่งเธอเป็นคนก่อตั้งขึ้นมาเอง ด้วยความหวังว่าการลงมือทำอะไรบางอย่าง จะช่วยส่งต่อความหวังและทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นใน "บ้านเกิด" ซึ่งถูกกล่าวขานว่าเป็น "กาฬทวีป" ของเธอได้


 



 


 







Angelique Kidjo: แองเจลิก คิดโจ


เกิดเมื่อวันที่ 14 ก.ค.1960 ที่เมืองวีดาห์ ประเทศเบนิน ทวีปแอฟริกา


เมื่ออายุได้ 6 ขวบ คิดโจได้ขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีต่อหน้าผู้ชมที่มาชมละครซึ่งแม่ของเธอเป็นคนจัด


และเธอก็ฉายแววความสามารถทางดนตรีนับตั้งแต่นั้น


 


ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปลอดภัย ครอบครัวของคิดโจอพยพลี้ภัยไปอยู่ที่ปารีส, ฝรั่งเศส ราวๆ ปี 1982 และเริ่มอาชีพนักร้อง-นักดนตรี จนเป็นที่รู้จักในแวดวงชาวปารีส


 


คิดโจคลอดลูกสาวชื่อ Naima ในปี 1993 และย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์กจนถึงปัจจุบัน


 


ผลงานที่ผ่านมา:


Pretty (African release only)


Parakou (1990)


Logozo (1991)


Ayé (1994)


Wombo Lombo (1996)


Fifa (1996)


Oremi (1998)


Keep On Moving: The Best Of Angelique Kidjo (2001)


Black Ivory Soul (2002)


Oyaya! (2004)


Djin Djin (2007)


 


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net