Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภฤศ ปฐมทัศน์


 


จากผู้คนที่ผมได้พบเจอมาในช่วงหนึ่ง เวลาที่มีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องปัญหาอะไรต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาไม้จิ้มฟันขายไม่ออก ยันเรือรบเผลอยิงเรือชาวประมงโดยเจตนา ไม่ว่าจะปัญหาระดับปัจเจก  ระดับชาติ ระดับโลก หรือระดับ(ราม)เทพ มันจะต้องมีข้อสรุปบางอย่างที่พอถูกกล่าวออกมาในวงแล้วจะเถียงไม่ออก ข้อสรุปที่ว่านั้นก็คือ ...ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ "ระบอบทุนนิยม"


 



 


อะไรก็ตาม ลองว่ามันเป็นปัญหาขึ้นมาเถอะ โยนมาให้ไอ้สิ่งที่เรียกว่า "ทุนนิยม" (หรือคำใกล้เคียงกันอย่าง "วัตถุนิยม" หรือ "บริโภคนิยม" ฯลฯ) แล้วก็เป็นอันปิดประเด็นได้ ทั้งที่ยังไม่ทันได้รู้เลยว่า สุดท้ายแล้วไอ้ "ทุนนิยม" นี้มันเข้ามาเกี่ยวอะไรด้วยกันแน่


 


โดยบางคนที่พูดถึง "ทุนนิยม" ออกมานั้น ก็ไม่ใช่นักเทศน์เดินถนนผู้ถือคัมภีร์มาร์กซ์ หรือร่างทรงของเฮียเหมาที่ไหน แต่ก็เป็นคนอย่างเราๆ ท่านๆ (และรวมถึงตัวผมเองด้วย) ที่มีรายได้มากน้อยลดหลั่นกันไป ทำงานเสร็จก็ กลับบ้าน อาบน้ำ นอน เจอความบันเทิงซ้ำซากตามสื่อที่รัฐคัดกรองมาแล้วว่าสะอาด ไม่มีภัยอันตราย (ต่อผลประโยชน์ของตนเองและหุ้นส่วน) คิดจะซื้อยาสีฟันร้านอาเจ๊ข้างบ้านก็ปิดไปแล้ว ต้องถ่อไปห้างใหญ่มีทั้งตราและจำนวนสาขาน่ายำเกรง ซึ่งจะว่าไปมันก็ของเยอะแล้วก็ถูกดี จะหนีจากทีวีมาเปิดคอมพิวเตอร์ก็ต้องเจอตราไมโครซอฟท์วินโดว์ตอนโหลดเข้า หากคุณต่อเข้าอินเตอร์เน็ตก็จะได้พบกับอีกสารพัดแบนเนอร์ ทั้งข้อความชวนอัพเกรดร้อยแปดที่มาเคาะถึงประตูห้องนอน ครั้นเปิดตูเย็นจะหาอะไรมาดับกระหายก็ไม่วายต้องแกะกระป๋องน้ำอัดลมที่แช่ไว้เย็นๆ ดื่มแล้วสดชื่น หรือถ้าจะอินเทรนด์กับการรักษาสุขภาพก็หันไปเปิดขวดน้ำผลไม้ที่ยี่ห้อดูดีกว่า (และแพงกว่า) แทน


 


หากเราให้ความหมายของ "ทุนนิยม" เป็นผลจากการผลิตจากโลกยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราแล้วล่ะก็ วิธีเดียวที่จะหนีจากทุนนิยมได้คือ ฆ่าตัวตาย...(ก็ไม่แน่ว่าจะพ้นเสมอไป เผลอ ๆ จะมีผีมาหลอกขาย "บันไดไปสู่สรวงสวรรค์" ให้อีกแน่ะ !)


 


แต่หากคำว่า "ทุนนิยม" ของคุณมีความหมายถึงการแสวงหาผลกำไรอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและไม่คำนึงถึงวิธีการล่ะก็ คุณมาถูกทางแล้ว กระนั้นผมก็ไม่แนะนำรีบแจ้นหนีจากมันไปเสียก่อน เพราะในเมื่อมันแฝงฝังมาในทุกขณะของการดำรงชีวิตของเราแล้วนั้น เราควรจะมาทำความรู้จักกับมันดีกว่า หากคุณคิดว่ามันเป็นมิตร จะได้รู้ว่าเป็นมิตรแท้หรือมิตรเทียม และหากคุณคิดว่ามันเป็นศัตรูมุ่งร้าย คุณจะได้รู้ว่ามันมีวิธีการบ่อนทำลายคุณและคนรอบข้างคุณอย่างไร


 


ในโลกยุคสมัยปัจจุบัน สิ่งที่เชื่อมโยงโดยตรงกับระบอบเศรษฐกิจและการเมืองแบบทุนนิยมเสรี ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "บรรษัท" ไม่เพียงแค่เชื่อมโยงโดยตรงเท่านั้น พวกเขายังเปรียบเสมือนเป็นยักษ์ปักหลั่นผู้เต็มไปด้วยพลังอำนาจในพื้นที่ของระบอบนี้


 


Mark Achbar และ Jennifer Abbott ได้ร่วมกันอย่างอาจหาญ สร้างภาพยนตร์สารคดีเปิดโปงการทำงานทั้งในที่ลับและในที่แจ้งของเหล่ายักษ์ที่เรียกว่า "บรรษัท" ขึ้นมา โดยใช้ชื่อตรงไปตรงมาเลยว่า "The Corporation"


 



 


บรรษัทในที่นี้จากที่ตัวภาพยนตร์ได้อธิบาย มันหมายถึง กลุ่มคนที่เข้ามาร่วมลงทุนสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมีตรายี่ห้อสินค้าเป็นซึ่งเปรียบได้กับเป็นคน ๆ หนึ่ง ที่มีอัตลักษณ์ (Identity) ให้ผู้คนจดจำได้ เช่น บางคนอาจจะรู้สึกว่า แมคโดนัล เป็นตัวตลกท่าทางขี้เล่น มีของเล่นมาแถมเด็กที่ยอมกินข้าวเที่ยง (ขณะที่บางคนอาจเป็นว่าเป็นแค่ "ไอ้บ้าขายแฮมเบอร์เกอร์") ไนกี้ นั้นดูทันสมัย และปราดเปรียว, เจเนอรัล อิเลกทริกซ์ เป็นเหมือนคนแก่ใจดี ฯลฯ


 


แต่ "คน" เหล่านี้ ต่างจากคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ที่มีเนื้อหนังและหัวจิตหัวใจก็คือ พวกเขาไม่มีความรู้สึกรับผิดชอบ หรือสำนึกทางศีลธรรม เช่นคนทั่วไป นี้ก็เป็นอีกประโยคจากภาพยนตร์ ที่ชวนให้มองต่อว่า แล้วการมีอยู่ของ "คน" ที่เรียกว่า "บรรษัท"นั้น เพื่ออะไรกันแน่


 


แน่นอนว่าคำตอบตายตัวและชัดเจนที่สุด อย่างที่ได้บอกไปแล้วคือ "เพื่อผลกำไรสูงสุดโดยไม่คำนึงว่าจะใช้วิธีการใด" ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง The Corporation เองนี้ก็ได้พาเราเข้าไปดู "วิธีการ" ต่างๆ ของพวกเขา และดูว่า พวกเขาละเลย ไม่คำนึงถึงสิ่งใดบ้าง


 


พวกเขาไม่คำนึงถึงผู้คน เริ่มตั้งแต่แรงงานราคาถูกที่พวกเขาไปกดขี่เอาจากในประเทศที่ห่างไกล ทั้งๆ ที่ประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นหวังว่าโรงงานของบรรษัทพวกนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีงานมีรายได้เลี้ยงชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า แต่กลับเป็นว่าพวกเขาต้องถูกบังคับให้ผลิตเสื้อให้ได้หนึ่งตัวภายในเวลาหกวินาทีกว่าๆ (ย้ำ ! หกวินาทีกว่าๆ) กับค่าจ้างที่ไม่สมกับความพยายาม เพียงพอแค่ซื้อของจุนเจือปากท้องไปวันๆ ขณะที่ผู้บริหารนั้น คุณเชื่อไหมว่า บางที่พวกเขาไม่เคยแม้แต่จะย่างกรายเข้าไปประเทศที่เขาจ้างแรงงานไว้ด้วยซ้ำ!


 


จึงไม่แปลกที่เขาจะไม่เห็นความโหดร้ายที่ตนร่วมก่อเอาไว้กับแรงงานที่นั่น แล้วยังลอยหน้าลอยตาอยู่ได้


 


ไม่ใช่แค่แรงงาน พวกเขายังไม่คำนึงถึงผู้บริโภคอย่างเราๆ อีกด้วย หลายคนอาจจะจำเรื่อง GMOs หรือ การตัดต่อพันธุกรรม ที่บูมกันขึ้นมาช่วงหนึ่งได้ นั่นเป็นแค่เศษหนึ่งในนั้น เพราะในนมที่ผู้คนบริโภคกันเข้าไป ใครจะรู้ล่ะว่า มันจะมีสารเร่งโต ซึ่งทรมานวัวในฟาร์มแล้ว มันยังจะมีพิษต่อผู้บริโภคในระยะยาว


 


โยงมาได้อีกว่า พวกเขาก็ไม่คำนึงถึงอิสรภาพของสื่อ และสิทธิพื้นฐานของประชาชนในการที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสินค้าที่ตนบริโภค บรรษัทแปรรูปเกษตรนามว่า มอนซานโต ส่งแฟกซ์มายังผู้จัดทำรายการเกี่ยวกับการล้วงค้นข้อมูลสินค้า และพบว่า นมจากวัวของ มอนซานโต นั้นมีสารที่จะก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ยังไม่ทันที่จะได้ออกรายการเปิดโปง พวกเขาก็ถูกบรรษัทกลั่นแกล้งผ่านโครงสร้างอำนาจของบริษัทช่องโทรทัศน์อย่าง Fox ให้ไปแก้บทในรายการซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งไม่ได้ออกฉายในที่สุด


 


ไม่ต้องถามเรื่องสิ่งแวดล้อม พวกเขาจะปิดข่าวจากการกระทำของพวกเขาอย่างดีที่สุด หรืออาจจะมี โครงการอนุรักษ์สร้างภาพเอาไว้บังหน้า (จริงๆ อาจไปตัดป่าของชาวบ้านที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้คนอื่นที่ไม่รู้ไปปลูกกันใหม่ เหมือนบางประเทศแถวนี้) ขณะที่ปฏิกูลมลภาวะ กากนิวเคลียร์ อะไรทั้งหลายที่พวกเขาทิ้งเอาไว้ยังไม่เคยกลับมาเก็บกวาดจริงๆ จังๆ


 


พวกเราอาจจะเคยได้ยินชื่อของบรรษัทระดับบิ๊กๆ มีเรื่องมีราวในศาลกันมาบ้าง เพราะตัวข้อบทกฏหมายเองพวกเขาก็ไม่สนมันเท่าไหร่ การจ้างทนายดีๆ หรือการยอมจ่ายค่าเสียหาย เป็นแค่การลงทุนเสริม หรือเป็นรายจ่ายขี้ประติ๋วที่สูญเสียไปเพราะปัจจัยเสี่ยงเท่านั้นเอง (หมายความว่า...พวกเขาเห็นว่าการละเมิดกฏหมายเป็นแค่ปัจจัยเสี่ยง!?)


 


เพราะนักลงทุนทั้งหลายนั้น มีรายได้พอกพูนมหาศาลจากผลิตอย่างบ้าคลั่ง กดต้นทุนอย่างอำมหิต แล้วบุกทะลวงโหมกระแสบริโภคตราผลิตภัณฑ์กัน ทั้งในประเทศต้นกำเนิดและที่อื่น ๆ ทั่วโลก


 


ถามว่าพวกเขาสนใจ "สังคม" บ้างไหม พวกเขาสนใจครับ สนใจจะเอามาเป็นพื้นที่ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี จากการแสวงหากำไรของตนเองไง


 


พวกเขาจะเอามันไปทำการกุศลเพื่อลดภาษีของพวกเขาเอง แถมยังจะได้หน้าว่าเป็นคนดี เป็นบรรษัทที่ห่วงสังคมอีกต่างหาก ทั้งที่ไอ่การกุศล เงินบริจาค กิจกรรมสร้างภาพอะไรที่เข้าจัดขึ้นมาทั้งหลายแหล่นั้น ไม่ได้ช่วยฟื้นฟูทดแทนอะไรที่พวกเขาได้ทำลายมันไปเท่าไหร่เลย เป็นแค่เศษเสี้ยวกระจ้อยร่อยและไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นในระยะยาว


 


และสิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำให้ผมกลัวยิ่งกว่าตอนดูภาพยนตร์เขย่าขวัญเสียอีก ก็คือตอนที่สารคดีเรื่องนี้บอกผมว่า อำนาจของ "บรรษัท" ในปัจจุบันนั้น ดูจะอยู่เหนือกว่าอำนาจของรัฐด้วยซ้ำ! พวกนั้นค่อย ๆ แทรกแซงและครอบงำรัฐอย่างละมุนละม่อม และโดยที่ถ้าเราไม่สังเกตก็จะไม่รู้ตัวเลย


 


ภาพตัวอย่างที่ง่ายที่สุด ดูได้จากการชุมนุมประท้วง "บรรษัท" หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่าง "เขตการค้าเสรี" (FTA) นั้น เจ้าหน้าที่รัฐมีบทบาทแค่ในการถือปืน ปกป้องผลประโยชน์ให้ "บรรษัท" เหล่านั้น แล้วใช้ปืนกระบอกเดียวกัน หันมาทำร้ายประชาชนชาติเดียวกันเอง


 


แค่นี้ก็ฟังดูเขย่าขวัญ ราวกับว่าเจ้าพวกนี้มันคอยหมุนโลกทั้งใบแทนพวกเราอยู่แล้ว แต่รายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ยังมีอยู่อีกหลายส่วนที่ผู้เขียนไม่อาจยกมาตรงนี้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ยาวเอาการ และด้วยข้อมูลเรื่องหนัก ๆ (แต่สำคัญ) ที่ถาโถมเข้ามาให้รับรู้โดยแทบไม่ได้ตั้งหลัก อาจจะทำให้คนที่ไม่มีพื้นฐานตรงนี้เซไปบ้างก็ได้


 


ในเรื่องนี้เองยังได้คนมาร่วมแลกเปลี่ยนคับคั่ง ทั้งเผ็ดร้อน ชวนขำ (แต่หัวเราะไม่ออก) และ ชวนคิด เช่นนักวิชาการอเมริกันมีชื่ออย่าง Noam Chomsky, นักเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัฒน์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง No Logo อย่าง Naomi Klein, นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Milton Friedman, ฝ่ายผู้ประกอบการเองก็มา อย่างประธานของ Interface Inc. นาย Ray Anderson และนักสร้างสารคดีตัวปัญหาของรัฐบาลอเมริกาอย่าง Michael Moore ฯลฯ


 


หากจะถามหาทางออก ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กล่าวถึงไว้เล็กน้อย แต่ดูยังจะอิงกับตัวบทกฏหมายมากไปสักหน่อย และไม่ได้เน้นเรื่องการต่อสู้ในกระบวนการของประชาชนมากเท่าที่ควร


 


ส่วนใครที่ไม่สนใจ อยากได้คำตอบกันสำเร็จรูปโต้งๆ อย่างมักง่ายนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีให้ ผมเองก็ไม่มีให้...


 


การงดซื้อ งดใซ้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจเป็นวิธีแก้ที่ดูเล็กน้อย เพราะปัญหาเรื่องนี้เป็นโครงสร้างที่ใหญ่โต ทางออกอาจจะมีมากกว่าหนึ่งทางก็จริง แต่ไฉนเลยแรงผลักดันมันจะเกิดขึ้นจากตัวปัจเจกคนเดียวได้


 


คงต้องใช้ประโยคสุด Cliché อย่าง "พวกเราต้องร่วมมือกัน" อีกแล้ว ถึงแม้ว่าชนชั้นนำบ้านเราปัจจุบันมันจะเป็นโรคกลัวม็อบขึ้นสมอง ห้ามเราชุมนุมกัน แต่อย่างน้อย ถ้ามีโอกาสผมอยากให้ใครก็ตามได้ลองสัมผัสกับภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วหาข้อถกเถียงร่วมกัน


 


อย่างน้อย หวังว่ามันคงทำให้บทสนทนาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่มีจำเลยเป็น "ระบอบทุนนิยม" นั้น...ยาวขึ้นกว่าเดิมได้บ้าง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net