Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


อรรคพล สาตุ้ม


 


 


ลุงบุญเสริม สาตราภัย พูดคุยกับผู้ดำเนินการเสวนาในงาน "ล้านนา...เมื่อตะวา"


 


ในงานนิทรรศการเรื่อง "ล้านนา…เมื่อตะวา" โดย "บุญเสริม สาตราภัย" ซึ่งจัดงานที่ เซ็นทรัลกาดสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อไม่นานที่ผ่านมา มีผู้มาร่วมงานหลายคน เป็นกลุ่มคนหลายวัย หนุ่มสาวก็มี รวมทั้งคนแก่ก็มาฟังการเสวนา ชื่นชมผลงานภาพถ่ายเมืองล้านนาในอดีต


 


ลุงบุญเสริม สาตราภัย เป็นบุคคลสำคัญที่มีฝีมือในด้านการถ่ายภาพของชาวล้านนา ซึ่งผมอยากจะเน้นย้ำว่า ท่านเป็นผู้บันทึกภาพประวัติศาสตร์สำคัญของล้านนาไว้จำนวนมาก


 


ผมคุ้นเคยกับ "ลุงบุญเสริม สาตราภัย" โดยส่วนตัว พอสมควร จากการไปหาข้อมูลพูดคุยเรื่องอดีตของเมืองเชียงใหม่ ร่วมกับเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่น่ารัก ซึ่งพวกเราก็ไปพูดคุยจนสามารถเรียกคุณบุญเสริมว่า "ลุงบุญเสริม" เหมือนกับเป็นญาติผู้ใหญ่ที่สนิทกับผมได้ ด้วยอัธยาศัยไมตรีของลุงเองที่กรุณาให้ความรู้ ข้อมูล ประวัติศาสตร์ และความรู้สึก


 


ในบางครั้ง ผมรู้สึกราวกับว่าได้รับพลังที่ส่งออกมาจากการสั่งสมประสบการณ์ทั้งชีวิตของลุง อันมาจาก "ความรัก" ในการถ่ายภาพ แทบจะทุกลมหายใจของจังหวะชีวิตของลุง ส่งต่อมาให้ผมได้รับรู้ว่าการออกไปสัมผัสกับอากาศ ธรรมชาติท้องถิ่นในล้านนาหลายแห่ง ก่อเกิดเรื่องเล่ามากมาย พร้อมกับรูปถ่ายจำนวนมากที่เกิดตามมาด้วย...


 


ชีวิตที่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อ "การถ่ายภาพ"


 


ในงาน "ล้านนา...เมื่อตะวา" นี้เอง ลุงบุญเสริมได้เล่าความเป็นมาของตนว่า เป็นบุตรของนายเฮือน สาตราภัย ซึ่งได้รับราชการเป็นนายไปรษณีย์คนแรกของเชียงใหม่ และนางคำใฝ สาตราภัย เริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนปรินส์รอแยลวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่


 


เมื่อจบชั้นประถมศึกษาแล้วไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จนกระทั่งจบการศึกษาแล้วจึงได้ไปทำงานที่โรงพยาบาลโอเวอร์บรุค จังหวัดเชียงราย


 


เมื่อปี พ.ศ.2491-2492 ลุงบุญเสริมได้ช่วยกิจการพี่สาวซึ่งเปิดร้านขายปุ๋ยวิทยาศาสตร์แห่งแรกในตัวเมืองเชียงใหม่ และขณะที่เปิดร้านขายปุ๋ยนั้น ก็เริ่มสนใจเทคนิคการถ่ายรูปและการถ่ายภาพยนตร์ เพราะมีพี่เขยเป็นหัวหน้าหน่วยควบคุมมาลาเรียจังหวัดเชียงใหม่ ชื่อ นายแพทย์อุทัย สนธินันทน์ ซึ่งต้องตระเวนไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วภาคเหนือเพื่อถ่ายภาพทำรายงานเรื่องโรคมาลาเรียต่อองค์การอนามัยโลก


 


ลุงบุญเสริม สาตราภัย เล่าว่า "มีโอกาสได้ช่วยงานพี่เขยและชื่นชมเทคนิคการถ่ายภาพเรื่อยมา และทำหนังสือพิมพ์และถ่ายภาพ ภาพยนตร์การเสด็จเยือนล้านนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ซึ่งถือว่าภาพยนตร์นี้ หาชมไม่ได้แล้ว


 


แต่โชคชะตาก็ทำให้ลุงบุญเสริมได้จับกล้องถ่ายรูป และถ่ายรูปมาเรื่อยๆ จนเมื่อเกิดมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "คนเมือง" ขึ้นมา ลุงบุญเสริมจึงได้เข้าทำงานเป็นช่างภาพประจำหนังสือพิมพ์ ในยุคที่ทำหนังสือพิมพ์อยู่นั้น ลุงบุญเสริมได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ และสงัด บรรจงศิลป์ ซึ่งนับถือว่าบุญเสริม สาตราภัย เป็นบุคคลสำคัญที่มีฝีมือในด้านการถ่ายภาพของชาวล้านนา


 


ต่อมามีโอกาสถ่ายภาพการอพยพพวกจีนฮ่อ กองพล 93 ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญการอพยพพวกจีนฮ่อ กองพล 93 มีการให้ลุงบุญเสริมเข้าไปร่วมถ่ายภาพกับสงัด บรรจงศิลป์ในฐานะหนังสือพิมพ์คนเมืองนั่นเอง


 


ลุงบุญเสริมเล่าว่า การทำหนังสือพิมพ์สมัยนั้น หากทำข่าวจากอำเภอแม่สาย (ซึ่งไกลมาก) ก็ต้องส่งข่าวกันทางโทรเลข เมื่อโทรเลขถูกส่งจากอำเภอแม่สายมาที่เชียงราย สงัด บรรจงศิลป์ ก็จะคอยส่งข่าวที่ได้รับทางโทรเลขไปที่เชียงใหม่ และการทำหนังสือพิมพ์ของเชียงใหม่ ก็ต้องส่งบล็อกสำหรับหนังสือพิมพ์ไปที่กรุงเทพฯ ทางเครื่องบิน แล้วให้กรุงเทพฯ ส่งกลับมาพิมพ์ที่เชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง…


 


มันไม่ง่ายสำหรับการทำงานข่าว และจังหวะของการถ่ายภาพ ที่ชีวิตได้เดินทางไป ณ ที่ซึ่งเอื้อมไม่ถึง ต่างกับในสมัยปัจจุบัน...


 


นิทรรศการล้านนา…เมื่อตะวา และนิทรรศการในอนาคต


 


ลุงบุญเสริมบอกกล่าวว่า "ภาพถ่ายส่วนใหญ่ในงานนิทรรศการ ไม่ใช่มาจากหนังสือล้านนา...เมื่อตะวา ผมเอารูปที่หยิบได้มาแปล มาเขียนบรรยายในรูปเพิ่มเติม เป็นภาพมโนสาเร่ ภาพที่เอามาแสดงก็ไม่ได้คิดมาก่อน ไปเจอฟิล์มอันไหนก็อัดมา (เป็นรูปถ่าย) โดยภาพรวมของงานนิทรรศการ ไม่เน้นเรื่องใดมาก แต่ว่าเอาภาพถ่ายมารวมกัน เพราะรูปมันเยอะ ไม่รู้จะไปแยกอย่างไง ก็ทำออกมา"


 


ส่วนเรื่องของการใช้เวลาการคัดรูป ก็ไม่นาน ว่างๆ ถ้ามีกระดาษ มีเวลา ก็ทำเก็บไว้ ทำสต็อกไว้ 150กว่ารูป แต่เอามาแสดงไม่ถึง 60-70 รูป...


 


นอกจากนี้ ลุงบุญเสริมได้เล่าถึงงานนิทรรศการครั้งแรก ซึ่งจัดร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเทศบาล เมื่อปี พ..2532 ซึ่งเล่าเรื่องการเข้าไปตามหา "คนป่า" โดยตอนนั้นลุงบุญเสริมได้เข้าไปที่น่านกับไกรศรี นิมมานเหมินทร์ เมื่อราวๆ ปี พ.ศ.2505


 


พวกเขาเป็นช่างภาพกลุ่มแรกที่ได้ถ่ายภาพผีตองเหลืองที่ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน มีภาพและบทความเรื่องผีตองเหลือง ซึ่งลุงบุญเสริมบอกว่าถ้ามีโอกาสคราวหน้าจะจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเรื่องนี้บ้าง


 


"เพราะว่ารูปมีมากมายที่พร้อมจะแสดงเผยแพร่ให้ประชาชนได้เห็นอีกต่อไป" ลุงบุญเสริมกล่าวทิ้งท้าย


 


ผมสนทนากับลุงบุญเสริม สาตราภัย ในเรื่องบรรยากาศของนิทรรศการในวันนี้ กับงานนิทรรศการในอดีต ลุงบุญเสริมบอกว่า "รู้สึกภูมิใจที่มีคนสนใจชมภาพนิทรรศการ และโดยส่วนตัวได้มีความคาดหวังต่อคนดูภาพถ่าย เห็นว่ามีหลายคนเขียนในสมุดเยี่ยม บอกว่าสนใจภาพถ่ายเก่าๆ ทำให้นึกถึงความหลัง เราก็ภูมิใจ และเมื่อมีคนมาชมภาพ ก็มีคนเขียนในสมุดเยี่ยมชมผลงาน วิจารณ์บ้าง แต่ใครๆ ก็ชมว่าหาดูไม่ได้อีกแล้ว ภาพพวกนี้ แต่ถ้าคิดจะจัดนิทรรศการอีกครั้ง ก็แล้วแต่สปอนเซอร์"


 


สุดท้าย ลุงบุญเสริม กล่าวถึงรูปที่ประทับใจส่วนตัวว่า คือ "ภาพตลาดวโรรส" สมัยเก่า และรูปสะพานนวรัฐถ่ายทางอากาศ ซึ่งหาดูไม่ได้แล้ว เพราะสะพานนวรัฐถูกรื้อไปแล้ว


 


ผมฟังคำพูดของลุงบุญเสริม ซึ่งสะท้อนให้คิดได้ว่า เวลาในอดีต ผ่านไป แต่ว่าภาพถ่าย ยังให้อดีต มีชีวิตชีวา บอกทิวทัศน์ของธรรมชาติ อันร่มรื่นย์ด้วยสีเขียวของต้นไม้ รอบๆ บริเวณ สะพานนวรัฐ ซึ่งลุงบุญเสริม เขียนสีแต่งแต้ม ใส่ภาพถ่ายขาว-ดำนี้ด้วย


 


และถ้าผมจะพูดยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ภาพถ่าย ก็อาจจะเหมือนตำนาน เรื่องเล่า โบราณกาล ที่ยังมีพลัง ให้ความหวัง ความฝัน ดั่งว่าโลกจะมีธรรมชาติ สวยสด…งดงาม แก่คนในปัจจุบัน และภาพถ่าย เรื่องราวชีวิตในอดีต กำลังเดินทาง ผ่านเวลา ไปสู่อนาคต...


 


บรรยากาศในงานนิทรรศการ


 


 


รูปสะพานนวรัฐ โดยถ่ายภาพทางอากาศ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net