Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ซาเสียวเอี้ย


 


"ของเก่าใช่ว่าจะกลายเป็นของ "คลาสสิก" เสมอไป...ของที่เคยห่วยยังไง เมื่อเวลาผ่านไปก็ยังห่วยอยู่ดี!"


 


ประโยคที่ว่ามา ไม่ได้เป็นคำจำกัดความของ Die Hard 4.0 แต่เป็นประโยคสำคัญที่พูดถึงประเด็นหลักในหนังภาคต่อของนักสืบ "จอห์น แมคเคลน" ที่อยู่ยงคงกระพันในโลกฮอลลีวู้ดมานานเกือบ 20 ปี


 


นับจากเวลาออกฉายในปีแรก (1988) จนมาถึงปี 2007 ความแรงของเจ้าหน้าที่แมคเคลนยังไม่เสื่อมถอยด้อยสมรรถภาพ เพราะยังสามารถกวาดเงินจากนักดูหนังได้อย่างน่าชื่นใจผู้อำนวยการสร้าง จนเรียกได้ว่า นี่คือการกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรี


 


แน่นอนว่า ฉากบู๊ล้างผลาญระเบิดระเบ้อยังมีอยู่ครบถ้วน แต่เนื้อหาที่พูดถึงการปะทะกันระหว่าง "ของเก่า-ของใหม่" หรือ "อนาล็อก-ดิจิตอล" รวมถึง "คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่" ถูกจับมาพูดถึงในหนังแอ๊กชั่นตอนใหม่ (ของฮีโร่ยุคเก่า) อย่าง Die Hard 4.0 ได้เนียนและลื่นไหลกว่าที่คิด


 



(ซ้าย Justin Long รับบท แมทท์ ฟาเรลล์ และ Bruce Willis - เจ้าหน้าที่จอห์น แมคเคลน)


 


คนดูได้เห็นใบหน้าของจอห์น แมคเคลน (Bruce Willis) ที่เต็มไปด้วยริ้วรอยของกาลเวลา แต่ภารกิจครั้งใหม่ของเขาคือการรับมือกับผู้ก่อการร้ายที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ และใช้โลกไซเบอร์เป็นสนามรบ


 


นั่นคือสาเหตุที่แมคเคลนต้องมี "คู่หูจำเป็น" พ่วงมาด้วยในภาคนี้


 


ภารกิจ "ง่ายๆ" ที่แมคเคลนได้รับมาในตอนแรกคือการนำตัว "แมท ฟาเรล" (Justin Long) แฮกเกอร์ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนพัวพันกับคดีการแฮกเข้าระบบเมนเฟรมของเอฟบีไอ และเป็นพยานปากสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ หลังจากที่แฮกเกอร์หลายรายโดนลอบสังหารโดยกลุ่มคนร้ายมืออาชีพไปเรียบร้อยแล้ว


 


เมื่อเจ้าหน้าที่แมคเคลนที่คุ้นเคยกับการบุกตะลุยซึ่งๆ หน้า มาเจอกับผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวในโลกเสมือน เขาก็แทบหมดหนทางคลำหาเงื่อนงำไปต่อเพราะขาดความคุ้นเคยเรื่องเทคโนโลยี จึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแฮกเกอร์หนุ่มวัยคราวลูก ซึ่งตกบันไดพลอยโจนกลายมาเป็นคู่หูปฏิบัติภารกิจครั้งนี้


 


นับเป็นสูตรสำเร็จที่หนังฮอลลีวู้ดใช้ได้ผลมาแล้วหลายเรื่อง แต่ปฏิกิริยาเคมีระหว่างบรูซ วิลลิส และจัสติน ลอง ดูจะไปได้ดีกว่าเมื่อครั้งที่วิลลิสจับคู่กับ มอส เดฟ ในหนังปี 2006 เรื่อง 16 Blocks ซึ่งจะว่าไป หนังเรื่องนี้ก็ใช้พล็อตแบบเดียวกับ Die Hard 4.0 คือ บรูซ วิลลิส รับบทเป็นตำรวจ (แก่ๆ) ที่ต้องนำตัวพยานสำคัญของคดีใหญ่คดีหนึ่งไปส่งมอบให้เอฟบีไอ และระหว่างทางก็ต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆ มากมาย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างตำรวจและพยานที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ค่อยจะชอบขี้หน้ากันนักในตอนแรก


 


แต่สิ่งที่สำคัญก็คือว่า การวิพากษ์สังคมผ่านมุมมองของแมคเคลนและฟาเรลล์ใน Die Hard 4.0 เข้มข้น โหด มัน ฮา และสาแก่ใจมากกว่า 16 Blocks ซึ่งยังไม่ค่อยลงตัวนัก


 


ใน Die Hard 4.0 คนดูจะได้เห็นการปะทะคารมระหว่างคนที่โตมาในยุค 60"s ที่มีเพลงของ Creedence Clearwater Revival เปิดกรอกหู และอยู่กับค่านิยมแบบอเมริกันดรีมที่ว่า "คนที่ทำงานหนัก จึงจะประสบความสำเร็จในชีวิต" กับหนุ่มเนิร์ดยุคใหม่ที่วันๆ ก็ขลุกอยู่แต่กับคอมพิวเตอร์ และใช้ความถนัดของตัวเองหาเงินเข้ากระเป๋าได้อย่างสบายๆ โดยแทบจะไม่ต้องออกแรงให้เหนื่อยยากอะไร


 


ผลสุดท้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานอุทิศตัวจริงจังอย่างแมคเคลน-ได้ค่าตอบแทนแห่งความสำเร็จเป็นเหรียญกล้าหาญที่แข็งกระด้างและเย็นเยียบ... ส่วนเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยและสุขภาวะในชีวิตหรือการทำงาน...เป็นแค่ความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง


 


ส่วนแฮกเกอร์หนุ่มที่โตมาในยุคมิลเลนเนียม ไม่ต้องทำงานหนักปางตาย แค่ใช้ทักษะและความสามารถเฉพาะทางก็สามารถหาเงินก้อนโตมาได้ง่ายดาย...


 


แต่ก็นั่นแหละ เงินที่ได้มาง่าย ก็ทำให้เขาต้องจ่าย "ภาษี" ด้วยการเอาชีวิตไปเสี่ยงกับอันตรายที่มาเคาะประตูบ้านโดยไม่ทันได้รู้ตัวอีกเหมือนกัน


 



ฉากบู๊ที่ตั้งใจสร้างมากระตุ้นอะดรีนาลินคอหนังแอ๊กชั่น


 


การปะทะกันระหว่างแมคเคลนและฟาเรลจึงไม่ต่างอะไรจากการปะทะกันของค่านิยมยุคเก่าและค่านิยมยุคใหม่…ค่านิยมที่พูดถึง "การลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง" และ "การกระทำที่ไม่ต้องนึกถึงอะไรเลย นอกจากความเจ๋งและความสนุกของตัวเอง"


 


ขณะที่ฟาเรลมองว่าเพลงต่อต้านสงครามเวียดนามและการแสวงหาทางจิตวิญญาณของ Creedence Clearwater Revival คือของเก่าล้าสมัย ด้วยการใช้วาทะ "ของเก่าใช่ว่าจะกลายเป็นของ "คลาสสิก" เสมอไป...ของที่เคยห่วยยังไง เมื่อเวลาผ่านไปก็ยังห่วยอยู่ดี!"


 


แต่นั่นคือค่านิยมที่คนยุคอนาล็อกอย่างแมคเคลนเลือกรับมาใส่ใจและใช้เป็นหลักยึดถือในชีวิต...


 


บรรดานักศึกษา แอกติวิสต์ ฮิปปี้ หรือแนวร่วมต่อต้านสงครามในยุคนั้น อาจคิดเหมือนๆ กันก็ได้ว่าถ้าไม่มีใครสักคนลงมือทำ "อะไรบางอย่าง" ปัญหาที่ค้างคาอยู่ก็คงไม่มีวันจบสิ้น พวกเขาจึงต้องออกมาเดินขบวน ในขณะที่ปากก็ร้องตะโกนหา "Peace, Not War"


 


ไม่ต่างกันกับที่แมคเคลนเอ่ยปากกับฟาเรลล์ว่าทำไมเขาถึงต้องกระโจนลงไปจนสุดตัวเพื่อปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตาย (ที่เกี่ยวพันกับชีวิตของคนทั้งประเทศ) ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่มีแค่ว่า "เพราะมันเป็นงานที่ไม่มีใครทำ" เท่านั้นเอง...


 


เหตุผลข้อเดียวที่ว่า "ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ" สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกมานักต่อนักแล้ว เพียงแต่ว่าค่านิยมจากยุคเก่าเหล่านั้น จะส่งผ่านมาถึงคนรุ่นใหม่ได้แค่ไหน เพราะในขณะที่คนยุคหนึ่งมองอะไรในเชิง "ลึกซึ้ง" แต่ไม่กว้างขวาง เรื่องบางอย่างก็ผลักดันให้ประสบความสำเร็จไม่ได้ แต่กับคนยุคใหม่ที่มองอะไรได้ "กว้าง" กว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยเชื่อมต่อโลกในส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน กลับไม่เข้าใจความเกี่ยวพันโยงใยของผู้คนที่ส่งผลกระทบถึงกันและกันในเชิงลึก


 


เหมือนอย่างที่แฮกเกอร์อย่างฟาเรลไม่คาดคิดมาก่อนว่าโปรแกรมที่ตัวเองเขียนขึ้นมาจะส่งผลใหญ่หลวงถึงผู้คนทั้งประเทศ จนเขาและแมคเคลนต้องไปตามล้างตามเช็ดผลงานของตัวเองให้เรียบร้อย


 


ซึ่งกว่าจะสำเร็จก็ปางตายกันทั้งคู่…


 


 


 


 


รวมโปสเตอร์ Die Hard 4 ภาค


(โปรดสังเกตวิวัฒนาการความเก๋าและทรงผมของจอห์น แมคเคลน)


 


อีกประเด็นที่เห็นได้ชัดใน Die Hard 4.0 (ซึ่งตั้งขึ้นมายั่วล้อได้อย่างน่ารักน่าชังกับบรรดาตัวเลข 1.5, 2.0 หรือแม้แต่ 2.4) คือ "ความหวาดกลัวของคนยุคเก่า" ที่มีต่อ "เทคโนโลยียุคใหม่" ซึ่งจะว่าไปก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะทุกวันนี้ เทคโนโลยีมากมายกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงไปได้


 


ในหนังหยิบเอาเหตุการณ์ใหญ่ 2 เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอเมริกามารวมไว้ด้วย นั่นคือการพูดถึงพายุคัทริน่าที่ถล่มนิวออร์ลีน และต้องใช้เวลานานถึง 5 วัน กว่าที่การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์จะไปถึงผู้เดือดร้อน และในฉากที่พูดถึงการดับไฟทั่วเมืองก็อาจทำให้ใครหลายคนนึกไปถึงคืนที่ไฟดับทั่วทั้งแถบนอร์ธอีสต์ของอเมริกาและฝั่งออนตาริโอ, แคนาดา เมื่อปี 2003 ซึ่งเป็นที่มาของอุบัติเหตุ การโจรกรรม และความสูญเสียทางธุรกิจหลายพันล้านเหรียญ


 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง เคยเกิดขึ้นจริงมาก่อนแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปนักที่หลายคนจะตระหนักถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีที่ครอบงำเราอยู่ด้วยความหวาดกลัว...


 


ถึงที่สุดแล้ว มนุษย์อาจต้องย้อนกลับไปพึ่งพาอาศัยสองขาและสองแขน เพื่อที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปในวันที่เทคโนโลยีกลายเป็น 'ดาบสองคม'


 


ในความเป็นจริง เราต่างก็รู้ดีอยู่แล้วว่าเทคโนโลยีต่างๆ นานาจะกลายเป็นผลดีหรือผลร้าย ส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ของมนุษย์เราเองนี่แหละ และที่สำคัญ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็มักจะมีต้นตอมาจาก Human Error เสียมากกว่า


 


หนทางรับมือกับปัญหาเทคโนโลยีและการจัดการความสัมพันธ์กับมนุษย์ จึงไม่ได้อยู่ที่การพุ่งเข้าเผชิญหน้าอย่างไม่เกรงกลัวในแบบของแมคเคลนอย่างเดียว แต่ต้องควบรวมกับการเชื่อมโยงที่มาที่ไป และลงลึกให้ถึงต้นตอปัญหา ซึ่งต้องอาศัยการมองโลกทางกว้างให้มันรอบด้านด้วย


 


ถ้าคิดว่าเทคโนโลยียุคใหม่มันช่วยได้ ก็น่าจะเอามาใช้ ไม่ใช่ปฏิเสธเพราะไม่เข้าใจ และนำไปสู่การปิดกั้น ปิดหู ปิดตา ไม่รับรู้อะไรอีก


 


และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ต่อให้เป็นคนดีแสนดี เก่งแสนเก่ง อย่างพระเอกหนังฮอลลีวู้ดก็คงสู้กับใครได้ไม่รอดในโลกของความเป็นจริง


 


เพราะของเก่าใช่ว่าจะกลายเป็นของคลาสสิกเสมอไป


 


เว้นแต่จะรู้จักปรับตัวอย่างเข้าอกเข้าใจในบริบทรอบข้าง


 


ของเก่าก็อาจกลายเป็น "ของร่วมสมัย" ได้เหมือนกัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net