Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 9 ก.ค.2550 เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พรรคแนวร่วมภาคประชาชน กลุ่มโดมแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์ข่าวกิจกรรมนักศึกษา จัดงานเสวนาเรื่อง สังคมการเมืองไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร? " ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา


 


ผู้เข้าร่วมที่นำการเสวนา ได้แก่ ไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นันทโชติ ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ตัวแทนเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ดำเนินรายการโดยอุเชนทร์ เชียงเสน ผู้ประสานงานเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


 


อุเชนทร์ เชียงเสน ผู้ประสานงานเครือข่าย 19 กันยาฯ เริ่มเปิดการเสวนาด้วยประเด็นที่ว่า สังคมการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และภายใต้พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จะเป็นอย่างไร


 


 


ยุคอำมาตย์ฟื้นชีพ


 


ช่องทางหนึ่งที่ต้องพยายามรักษาอำนาจในสังคมการเมือง ก็คือ


การไม่ใช่อำนาจดิบๆ อย่างเคย แต่ต้องออกมาเป็นกฎหมาย


นั่นคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ....


 


ไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสสส. กล่าวว่า ระยะที่ผ่านมานับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา เห็นได้ชัดว่าบทบาทของราชการ และระบอบอำมาตยาธิปไตยลดน้อยลง ไม่สามารถมีบทบาททางการเมือง เพราะถูกแทนที่ด้วยกลุ่มนายทุน


 


พลังของนายทุนนั้น ด้านหนึ่งได้ลดทอนอำนาจทางการเมืองของระบบราชการ อีกด้านหนึ่งคือลดทอนอำนาจของภาคประชาชน เพราะรธน.40 ได้สถาปนาอำนาจสองแบบ คือ การเมืองแบบตัวแทน และการเมืองแบบมีส่วนร่วม ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้รวบอำนาจทุกอย่าง


 


แต่หลังจากการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 49 ระบอบอำมาตยาธิปไตยได้ขึ้นสู่อำนาจในสังคมการเมือง เช่น จะเห็นว่าช่วงแรกของการร่างรธน. มีการพูดเรื่องนายกฯ คนนอก จนได้รับเสียงต่อต้าน จากนั้น ก็พูดเรื่ององค์กรแก้ปัญหาวิกฤต แต่ว่าก็ถูกคัดค้านต่อต้านจนถอนออกไป


 


แล้วทางเลือกในการรักษาอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตย จะทำอย่างไร จะสร้างความชอบธรรมโดยรัฐธรรมนูญคงไม่ได้ เพราะถูกปฏิเสธจากสังคม จนเหลือเพียงพื้นที่บางพื้นที่ เช่น ในวุฒิสภา องค์กรอิสระ ที่อำมาตยาธิปไตยจะเข้าไปอยู่ได้ เมื่อดูจากร่างรัฐธรรมนูญ 2550


 


ดังนั้น ช่องทางหนึ่งที่ต้องพยายามรักษาอำนาจในสังคมการเมือง ก็คือ การไม่ใช่อำนาจดิบๆ อย่างเคย แต่ต้องออกมาเป็นกฎหมาย นั่นคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ....


 


ไพโรจน์กล่าวว่า เดิมนั้น กอ.รมน. เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2508 ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และอยู่ในสังคมตลอดมา โดยทหารจะเข้าสู่อำนาจทุกครั้งที่มีความรุนแรงชัดเจน หลังจากเลิก พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ บทบาทของกอ.รมน.ก็ลดลง บทบาทกอ.รมน.ในรัฐบาลชวน หลีกภัย คือดูแลเรื่องชายแดนเรื่องคนกลุ่มน้อย ถัดมาในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กอ.รมน.ดูแลปัญหาภาคใต้


 


พอมาถึงยุครัฐประหารที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี บทบาท กอ.รมน.ก็ขยายเพิ่มขึ้นไปดูเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยากจน การพัฒนา ยาเสพย์ติด ฯลฯ นี่คือสิ่งที่ขยายขึ้นในยุคสุรยุทธ์ แล้วจะทำอย่างไรให้ กอ.รมน.ดำรงบทบาทต่อไป ก็เสนอ พ.ร.บ.มั่นคงฯ แล้วที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบ


 


 


อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ตกอยู่ในมือผบ.ทบ.


 


ทหารสามารถดำเนินการให้ประชาชนมีวิถีชีวิตเป็นอยู่อย่างปกติสุข


ทหารจะดำเนินการให้ประชาชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย


และทหารสามารถดำเนินการให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกองค์กรมีความสามัคคี


 


ไพโรจน์อธิบายต่อไปว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำให้กองทัพหรือทหารมีบทบาทอย่างไรบ้าง ประการแรก คือ เป็นการขยายขอบเขตอำนาจ ให้ทหารมาดูแลเรื่องความมั่นคงในหลายมิติมาก ทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติ ซึ่งที่ผ่านมา ทหารจะเข้ามาได้ก็ต่อเมื่อมีภัยคุกคาม เป็นภาวะฉุกเฉิน เหมือนดังที่เวลานี้ก็มี กฎอัยการศึกที่ยอมให้ทหารเข้ามาดูแลในภาวะที่ไม่มั่นคง และกฎหมายอีกฉบับหรือพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน


 


แต่พ.ร.บ.มั่นคงฯ ยังได้ขยายอำนาจพื้นที่ทหารเข้ามาในพื้นที่ทางการเมือง ไม่ว่าเป็นสถานการณ์ปกติหรือไม่ เช่น ในกฎหมายบอกว่า ทหารสามารถดำเนินการให้ประชาชนมีวิถีชีวิตเป็นอยู่อย่างปกติสุข ทหารจะดำเนินการให้ประชาชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และทหารสามารถดำเนินการให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกองค์กรมีความสามัคคี


 


 


อำนาจบริหาร ในมือผบ.ทบ.


การขยายมิติอำนาจของกอ.รมน.แบบนี้ คือ การขยายทั้งพื้นที่ เพิ่มบทบาท ที่สำคัญคือ เป็นอำนาจที่ใช้ได้ทั่วไป คือ พื้นที่ใด จังหวัดใด เมื่อไร ก็ได้


 


ไม่เพียงเท่านั้น ยังถ่ายโอนอำนาจบริหารให้ผบ.ทบ. ในฐานะผอ.รมน. ถ้าผอ.รมน.เห็นว่าพื้นที่ไหนมีภัย ก็สามรถประกาศ บังคับบัญชาหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงได้ทั้งหมด โยกย้าย แต่งตั้ง โอนเข้ามาดูแล


 


จัดตั้งโครงสร้างซ้อนกับอำนาจของรัฐบาล มีทั้งกอรมน.ส่วนกลาง กอ.รมน.ภาค มีผู้ว่ากอ.รมน.จังหวัด ก็แสดงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่เว้นผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งอย่างกรุงเทพมหานคร ก็อยู่ภายใต้ผู้ว่า กอ.รมน. ซึ่งจะสามารถบังคับบัญชาสั่งการได้ทั้งหมด ย้ายข้าราชการออกจากพื้นทีได้ทันที


 


 


อำนาจนิติบัญญัติ ในมือผบ.ทบ.


นอกจากนี้ พ.ร.บ.มั่นคง ยังถ่ายโอนอำนาจนิติบัญญัติ ให้สามารถออกกฎในการระงับสิทธิเสรีภาพ อาทิ เสรีภาพในการเดินทางเช่น ห้ามใช้ยานพาหนะ ออกกฎคุกคามต่อเสรีภาพในการชุมนุม คือห้ามชุมนุม ห้ามแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เช่น ห้ามแสดงมหรสพ ห้ามโฆษณา ห้ามออกจากเคหะสถาน ห้ามประกอบอาชีพ ห้ามมิใช้ค้าขายสินค้าอุปโภคบางชนิด เหมือนในอดีตที่ห้ามค้าข้าวสาร เพราะกลัวจะเอาข้าวไปให้พวกคอมมิวนิสต์


 


นี่เป็นการเอาอำนาจในการออกกฎ ซึ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติ ทั้งยังลิดรอนสิทธิประชาชนในการตรวจสอบอำนาจ


 


ไพโรจน์กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง ยังออกกฎให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจสามารถจับกุมได้ทันทีโดยไม่ต้องมีหมาย เพียง "สงสัย" ว่าใครเป็นภัยต่อความมั่นคงก็จับกุมตัวได้ไม่เกิน 30 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหา (กฎหมายปกติ บังคับให้ต้องมีหมายศาล และคุมตัวได้ 48 ชม. ขณะที่กฎอัยการศึกคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน)


 


เขากล่าวว่า ยังมีภาษาแปลกๆ ในกฎหมาย คือ คำว่า "ปราบปรามบุคคล คุมบุคคล หรือองค์กร" ซึ่งคำว่าปราบปรามนั้นไม่เคยใช้ในภาษากฎหมาย และในทางปฏิบัติก็ไม่ชัดว่า ความหมายของการปราบปรามคืออะไร อย่างไรก็ดี มันจะกระเทือนต่อสิทธิในการใช้ชีวิต


 


ทั้งนี้ การปราบปรามบุคคลหรือองค์กรนั้นครอบคลุมหมด นับแต่เรียกคนมาให้ข้อมูลมารายงานตัวโดยไม่ต้องมีหมาย การตรวจค้นคน ยานพาหนะ สถานที่ ทำได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องมีหมาย ที่สำคัญคือ ยังสามารถยึด อายัดทรัพย์ แล้วยังเป็นอำนาจที่ไม่ต้องมีการตรวจสอบ


 


 


อำนาจตุลาการในมือผบ.ทบ.


ประเด็นถัดมาในกฎหมายฉบับนี้ คือ ให้อำนาจในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเดิมเป็นอำนาจตำรวจและศาล เช่น กฎหมายนี้ให้อำนาจในการเข้าไปนั่งฟังการสอบสวนของเจ้าพนักงาน เรียกพยานหลักฐานมาสอบสวน รวมถึงสั่งไม่ต้องดำเนินคดีได้


 


"เช่น ผมถูกจับ ผมอาจจะยอม ก็สามารถสั่งไม่ต้องดำเนินคดีกับผม แต่สามารถไปกักตัวผมให้อยู่ในค่ายได้ 6 เดือน เหมือนอองซานซูจี ไปอยู่ในค่ายการุณเทศ ซึ่งอำนาจการกักคนเป็นอำนาจศาล ว่าจะกักขังคนเท่าไร" ไพโรจน์กล่าว


 


 


อำนาจที่ไร้การตรวจสอบ


 


กฎที่ ผอ.กอ.รมน. สั่ง ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง


เจ้าหน้าที่ทำให้คนตาย เสียหายทางแพ่งหรืออาญา ล้วนไม่ต้องรับผิด


 


พอให้อำนาจเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบ นั่นคือ กฎที่ ผอ.กอ.รมน. สั่ง ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง ทั้งที่ปกติศาลปกครองมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด แต่อำนาจของผอ.กอ.รมน. หรือ ผบ.ทบ.นั้น ออกกฎให้ไม่ต้องมีการตรวจสอบโดยศาลปกครอง


 


ที่มากไปกว่านั้นคือ ถ้าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจจับกุม แล้วในระหว่างจับกุมอาจมีการยิงคนเสียชีวิต ซึ่งปกติต้องมีการตรวจสอบโดยศาลอาญาเกี่ยวกับกรณีทำให้คนตาย แต่อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้บอกว่าไม่ต้องรับผิด และเช่นเดียวกัน หากเกิดความเสียหายทางแพ่งก็ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทางวินัย ได้รับการยกเว้นหมด


 


"นี่คืออำนาจที่เขียนเอาไว้ในพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า เป็นการให้อำนาจคนคนเดียวคือผบ.ทบ.มากเกินไป เป็นการให้อำนาจเหนือรัฐ ผมยังเชื่อว่าจับรมต.ยังได้เลย เพราะมันซ้อนอำนาจรัฐ ใช้อำนาจทุกทาง บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการในบางชั้น"


 


 


เป็นความมั่นคงของทหารที่คุกคามประชาชน


 


อำนาจของ ผบ.ทบ. ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยของปวงชน


เพราะไม่ได้มาจากปวงชน


แต่มันกลับมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชน


มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง


 


ไพโรจน์กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นภัยคุกคามสามด้าน คือ


 


หนึ่ง เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนสิทธิไว้อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ให้ผอ.กอ.รมน. ยกเลิกสิทธิที่มีอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการเดินทาง สิทธิในทรัพย์สิน ฯลฯ ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยตรง


 


สอง เป็นภัยคุกคามต่อหลักการประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยมีอำนาจของประชาชนสามทาง แต่กฎหมายนี้ได้เอาอำนาจทั้งสามมาอยู่ที่เดียวกันโดยไม่มีใครตรวจสอบได้ ถือเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง


 


สาม คุกคามต่อหลักการนิติธรรม คือ ปกติถ้ามีความผิดจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ คือถ้ามีการจับกุม อย่างน้อยต้องผิดก่อน โดยตำรวจจะสืบสวน แล้วศาลจะออกหมาย และเมื่อถูกจับแล้ว ต้องมีสิทธิเข้าเยี่ยมได้ เมื่อสอบสวนต้องมีทนายความที่ไว้ใจได้ร่วมกระบวนการ แล้วจะผิดจริงหรือไม่นั้น ต้องไปสู่ศาลเป็นผู้วินิจฉัยโดยกระบวนการที่เปิดเผย และต้องได้รับการประกันตัว แต่จะเห็นว่า กม.ฉบับนี้จงใจให้อำนาจ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่กรณีนี้ ให้อำนาจในการกักตัว ห้ามเยี่ยม แทรกแซงการสอบสวน ฯลฯ


 


ไพโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า อำนาจของผบ.ทบ. ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยของปวงชน เพราะไม่ได้มาจากปวงชน แต่มันกลับมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชน มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในอนาคต ถ้ากฎหมายนี้ออกได้ และออกมาในยุคที่การเมืองถูกออกแบบให้ฝ่ายบริหารเป็นพรรคผสมซึ่งจะยิ่งอ่อนแอ ก็ยิ่งทำให้อำนาจของกองทัพเข้มแข้ง กฎหมายฉบับนี้จะสกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นภัยคุกคามประชาธิปไตยไทยอีกครั้ง ผ่านความชอบธรรมของสนช. ในการอนุมัติ


 


 


สังคมจตุคาม การเมืองก็ "จตุคุกคาม"


 


คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน


คุกคามระบบถ่วงดุลอำนาจ


คุกคามหลักนิติธรรม


คุกคามประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม


 


ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า รัฐทหารใหม่ ภายใต้ประชาธิปไตยค่อนใบนั้น เห็นได้ชัดว่า มีความเชื่อมโยงที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกลับมาของระบบราชการ ทหาร และมันกลับมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร และที่บอกว่า ประชาธิปไตยจะเว้นวรรคหนึ่งปีนั้นคงไม่จริง เพราะภาพการสืบทอดอำนาจชัดขึ้นทุกวัน


 


เขาได้ย้ำถึงอีกสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องต่างๆ ที่บรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.มั่นคงฯ ได้อยู่ในปฏิบัติการจริงของรัฐบาลทหารแล้วเวลานี้ ผ่านประกาศคปค.ฉบับที่ 6 เช่น เรื่องการห้ามชุมนุม


 


นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า แต่เดิมนั้น ตำแหน่งของ ผอ.กอ.รมน.คือ นายกรัฐมนตรี แต่กฎเกณฑ์นี้ได้ถูกเปลี่ยนไปเมื่อเดือนตุลาคม 2549 ให้คนที่ดำรงตำแหน่ง ผอ.กอ.รมน.คือ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)


 


"ผมอยากจะเรียกว่าเป็น "จตุคุกคาม"" ประภาสกล่าว โดยแจงการคุกคามทั้ง 4 ว่า หนึ่ง เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสิทธิที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นไร้ความหมาย สอง คุกคามระบบถ่วงดุลอำนาจ หรือ Check & Balance ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย สาม คุกคามหลักนิติธรรม และสี่ คุกคามประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม


 


เขายังวิพากษ์ต่อถึงสิ่งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า มีสิ่งที่ชัดเจนคือเรื่องระบบราชการ เรื่องตุลาการภิวัฒน์ เช่นเรื่องที่มาของ ส.ว.ก็ให้น้ำหนักศาลในการสรรหา แล้ว ส.ว.จะเชื่อมโยงไปถึงคนที่จะมานั่งในองค์กรอิสระ กระบวนการเหล่านี้ แทนที่จะเชื่อมโยงกับประชาชน ขยายประชาธิปไตยทางตรง กลับไปเชื่อมโยงอำนาจราชการ เชื่อมโยงกับ "จตุคุกคาม" คือเชื่อมโยงกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์


 


ประภาสกล่าวต่อ ว่าอย่างไรก็ดี เขาไม่สามารถตัดเรื่องประชาธิปไตยตัวแทนออกไป แต่เห็นได้ชัดว่าอำนาจนี้ลดลงไป แล้วพรรคการเมืองก็เป็นเบี้ยหัวแตก เป็นลักษณะที่วิเคราะห์กันว่าเป็นรัฐบาลผสม มาเร็ว กินเร็ว ไปเร็ว แทนที่ภาพการเมืองเดิมที่เป็นผีที่แข็งแรง การแก้ปัญหาตรงนี้กลับไปสู่อำนาจที่เรียกว่าจตุคุกคามเสียมาก


 


"อำนาจทหารและระบบราชการกลับมา อำนาจนักการเมืองยังพอมีผ่านการเลือกตั้ง และมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์แบบจตุคุกคามเข้ามา"


 


ประภาสกล่าวย้ำว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ สิ่งที่ต้องร่วมกันผลักดันเคลื่อนไหวคือ ทำอย่างไรที่จะต่อต้านรัฐทหารใหม่ การคว่ำรธน. จึงมีความหมายไปถึงการคว่ำรัฐทหารใหม่ และเป็นขั้นแรกของการต้านประชาธิปไตยแบบค่อนใบ


 


 


มันเป็นปัญหา ที่วัฒนธรรมการใช้อำนาจ


 


ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับ


แต่ถ้าวัฒนธรรมการใช้อำนาจยังไม่เปลี่ยน


ช่องทางให้เกิดสิทธิเสรีภาพและพื้นที่ของคนข้างล่างคนไม่เกิดขึ้น


 


นันทโชติ ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า แม้จะเห็นว่าในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ที่มีการผลักดันจากประชาชน และเนื้อหาก็เปิดพื้นที่ให้ประชาชนพอสมควร แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น


 


"มันเป็นข้อจำกัดของการใช้อำนาจ ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับ แต่ถ้าวัฒนธรรมการใช้อำนาจยังไม่เปลี่ยน ช่องทางให้เกิดสิทธิเสรีภาพและพื้นที่ของคนข้างล่างคนไม่เกิดขึ้น" ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกล่าว


 


เขาเล่าว่า เรื่องการใช้อำนาจนั้น อย่างกรณีประกาศกฎอัยการศึกนั้น คน กทม.อาจไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่คนที่ต่างจังหวัดเดือดร้อน นับแต่การยึดอำนาจ มีการตั้งด่านของทหาร แม้ก่อนหน้านี้จะมีด่าน แต่เป็นด่านตำรวจ ซึ่งก็จ่ายสามสิบบาท ห้าสิบบาทไป แต่อำนาจทหารนั้น ถึงกับไล่คนกลับบ้าน คนที่จะเดินทางต้องไปขอใบผ่านทางจากสัสดีอำเภอ ถ้าไม่ขอจะถูกไล่กลับ


 


หากวัฒนธรรมการใช้อำนาจยังมีอยู่ แล้วกำลังจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ซึ่งได้สถาปนาอำนาจทหารเข้าสู่การเมืองหมดแล้ว ต่อไป การร้องเพลงชาติที่ว่า "เป็นประชารัฐ" อาจจะต้องทบทวนเปลี่ยน


 


เขากล่าวถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมแบบหลอกๆ แล้วกระบวนการมีส่วนร่วมแบบหลอกๆ นั้น จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างไร ประชามติก็เป็นแบบนั้น


 


ที่สำคัญคือ ขณะที่มีการพูดกันว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น แต่ก็ปรากฏว่ามีการออกกฎหมายลูกไว้ซ้อนกฎหมายแม่ ออกกฎหมายต่างๆ ออกมาจำกัดสิทธิชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พลังงาน ฉบับต่างๆ สมัยรัฐธรรมนูญ 2540 มีปัญหาว่ามีรัฐธรรมนูญแต่ไม่มีกฎหมายลูก แต่ตอนนี้กฎหมายลูกที่เตรียมออกมาจำกัดสิทธิออกมาก่อนกฎหมายแม่ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น


 


"สังคมการเมืองหลังจากนี้ไป ไม่ใช่สังคมของคนจน เป็นสีงคมที่ไม่เห็นหัวคนจน" นันทโชติกล่าว


 


เขายกตัวอย่างว่า รูปธรรมของการใช้อำนาจของกอ.รมน. คือ มีการทดลองใช้อำนาจของพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แล้วกับเขื่อนปากมูน คือ กอ.รมน.เป็นคนเสนอให้ปิดเขื่อนปากมูน ทั้งที่มติก่อนหน้า เมื่อ 17 มิ.ย. กำลังจะเปิดเขื่อนตามข้อตกลงที่ให้เปิดปีละ 4 เดือน นี่เป็นการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงว่าที่ผ่านมามีข้อตกลงอย่างไร


 


ที่ผ่านมา กฎหมายความมั่นคงมักจะออกมา แล้วบอกว่า แค่ออกกฎหมายมาก่อนยังไม่ใช้ แต่ปัญหาคือ มันจะใช้เมื่อไรก็ได้


 


เขากล่าวต่อ ว่าการใช้อำนาจของกอ.รมน.เป็นบทเรียนของชาวบ้าน เขากล่าวว่าที่เขื่อนปากมูน เมื่อไรที่มีการชุมนุมกดดันหน่วยงานรัฐ ชาวบ้านจะเจอข้อหาเรื่องขัดต่อกฎอัยการศึกตลอดมา ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นกบฏอยู่เนืองๆ เป็นกบฏอยู่ตลอดปีตลอดชาติ ยิ่งเมื่อมีกฎหมายความมั่นคงออกมา อาจทำให้คนเล็กคนน้อยดำรงสถานะเป็นกบฏมากขึ้น


 


"ตราบใดที่ความเดือดร้อนยังดำรงอยู่ คนจำเป็นต้องลุกขึ้นมา หลังจากนี้ ไม่ว่ามีกฎหมายอะไร ถ้าปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไข แล้วยังปล่อยนให้ใช้อำนาจมากมาย คนจนต้องลุกมาเคลื่อนไหว" ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกล่าว


 


 


กฎอัยการศึกทั่วประเทศ และตลอดกาลนาน


 


รัฐบาลจะต้องยุติการผลักดันตั้งแต่บัดนี้ ไม่ต้องนับว่ามันจะได้ผ่านเข้าไปในสนช.


 


จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา เรากำลังเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในหลายๆ พื้นที่ แต่ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นเสมือนการประกาศกฎอัยการศึกตลอดกาลและทั่วประเทศ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่าน พื้นที่ทั้งประเทศจะเป็นพื้นที่อัยการศึก เพราะจะมีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงในจังหวัดต่างๆ


 


ถ้าหากกฎหมายนี้ผ่าน เราไม่สามารถพูดเรื่องประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยอีกต่อไป น่าเสียดาย ที่เราพยายามดิ้นรนไปสู่ประชาธิปไตยมายาวนานตั้งแต่ 14 ตุลา 16 แต่เป็นประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลาน และระยะหลังค่อนข้างถอยหลัง นับแต่ยุคทักษิณจนทุกวันนี้


 


จอนกล่าว่า ที่ผ่านมา ภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ อาจเห็นต่างเรื่องคมช. แต่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในเรื่องที่ยอมไม่ได้ในตัวพ.ร.บ.มั่นคงฯ ฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคัดค้านให้ถึงที่สุด


 


"ผมมีความหวังว่า รัฐบาลจะต้องยุติการผลักดันตั้งแต่บัดนี้ ไม่ต้องนับว่ามันจะได้ผ่านเข้าไปในสนช. ไม่เช่นนั้นจะเกิดการเคลื่อนไหวในภาคประชาชนอย่างถึงที่สุด" ประธานกป.อพช.กล่าว


 


 


1 ประเทศ 2 ระบบ : กฎหมายฉุกเฉินที่นายกฯ สูงสุด กับกฎหมายมั่นคงที่ผบ.ทบ.สูงสุด


 


ทุกประเทศก็มีประสบการณ์ตรงกันว่า


ยิ่งละเมิดสิทธิประชาชนเท่าไร


ไม่เคยช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้


 


เขาเล่าถึงกฎหมายอีกฉบับที่หน้าตาคล้ายคลึงกันคือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันยกระดับเป็นพระราชบัญญัติแล้วนั้น ในสมัยในเขาเป็นส.ว. ได้ร่วมกับส.ว.เสียงส่วนน้อยคัดค้านกฎหมายดังกล่าว โดยส่งคำร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เพื่อให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ผู้ตรวจการฯก็เพิกเฉย ปล่อยให้เรื่องค้างไว้


 


พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ให้อำนาจรัฐมนตรีสามารถประกาศสถานกาณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ แล้วมีอำนาจต่างๆ ไม่ให้ผู้คนออกนอกเคหะสถาน ห้ามไม่ใช้ชุมนุมมั่วสุม ห้ามเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลาย โดยปัจจุบัน กฎหมายฉบับนี้ก็ยังใช้อยู่ โดยประกาศใช้ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้


 


"คำถามคือ กฎหมายนี้แก้ปัญหาไหม ทุกคนคงตอบพร้อมกันได้ว่า มันไม่ช่วยแก้ปัญหา และทุกประเทศก็มีประสบการณ์ตรงกันว่า ยิ่งละเมิดสิทธิประชาชนเท่าไร ไม่เคยช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้" จอนกล่าว


 


"บางคนบอกว่าไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่ เพราะเรามีกฎหมายเก่าอยู่แล้ว ผมเองไม่อยากพูดแบบนี้ เพราะผมต้องการให้เลิกทั้งสอง ผมไม่ต้องการให้เกิดพ.ร.บ.มั่นคงฯ และไม่ต้องการให้พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉินดำรงต่อไป แต่มันก็เกิดคำถามว่า ในเมื่ออำนาจมันมีอยู่แล้ว ทำไมต้องออกกฎหมายใหม่


 


"ผมคิดว่า สิ่งที่ต่างคือ กฎหมายเดิม อำนาจอยู่ที่นายกฯ แต่กฎหมายใหม่อำนาจอยู่ที่ผบ.ทบ. เอ... อันนี้หมายความว่า ทหารไม่ไว้ใจนายกฯ แน่เลย" จอนกล่าว


 


เขายังตั้งประเด็นต่อว่า ถ้าสองคนนี้ (นายกฯ และ ผบ.ทบ.) เกิดขัดแย้งกัน แล้วต่างใช้อำนาจของตัวเอง มันขัดแย้งน่าดู มันจะเกิดสองฝ่ายที่เผชิญหน้ากัน เรื่องนี้มันสะท้อนบรรยากาศการเมืองขณะนี้ ข้าราชการ- การเมือง-ทหาร ทหารไม่ไว้ตำรวจ ทหารไม่ไว้ใจนักการเมือง ทหารไม่ไว้ใจประชาชน ข้าราชการไม่ชอบใครนอกจากข้าราชการ นี่คือสถานการณ์ของผู้มีอำนาจ และทุกฝ่ายที่มีอำนาจก็ต้องการควบคุมประชาชน


 


เขากล่าวถึงกระบวนการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญว่า ประชาชนต้องอย่ายอมให้ถูกขู่ว่าถ้าไม่รับแล้วมันจะออกมาแย่ เพราะนั่นคือการหักหลังประชาชน เขาเสนอว่าประชาชนน่าจะลงมติตามเนื้อผ้า อยู่ที่วิจารณญาณของประชาชน แม้รัฐธรรมนูญจะล้มไป แต่ก็ไม่ใช่การปิดโอกาสรัฐธรรมนูญที่ดีในอนาคต


 


 


มันไปกันได้ กับทุนนิยมเสรี


 


เชื่อว่านายทุนต่างพอใจกับพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ


เพราะมันช่วยคุมชนชั้นล่างไม่ให้ออกมาต่อสู้อย่างมีพลังและมีความชอบธรรมได้


 


เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ตัวแทนเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร กล่าวว่า เราอยู่ภายใต้บรรยากาศที่สภาวะฉุกเฉินกลายเป็นสภาวะปกติ ความไม่มั่นคงกลายเป็นเรื่องปกติ เราอยู่กับความไม่มั่นคง ที่รัฐเป็นผู้สร้างส่วนหนึ่ง และการทำให้เกิดสภาวะฉุกเฉินโดยถาวรนั้นเกิดขึ้นได้ทันทีโดยไม่เกี่ยงว่าประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่


 


เก่งกิจกล่าวว่า มีงานวิชาการจำนวนมากที่พูดเรื่องนี้ ว่าพ.ร.บ.ความมั่นคง และการสร้างสภาวะฉุกเฉินนั้น สอดคล้องกับสภาพทุนนิยมปัจจุบันอย่างไร


 


เมื่อพูดเรื่องความมั่นคงตามพ.ร.บ.นี้ มันไม่ใช่ความมั่นคงในแบบเดิม ที่เป็ยนความมั่นคงทางการทหาร แต่มันถูกนิยามคลุมเครือ รัฐจงใจใช้นิยามนี้ ลักษณะกฎหมายแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศไทย แต่เป็นกระบวนทัศน์ของประเทศเผด็จการทั่วโลก


 


เช่น ระบอบเผด็จการในเกาหลีใต้ ก็เคยสร้างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่แม้จนบัดนี้ก็ยังไม่ยกเลิกเพราะมันเสริมอำนาจให้ชนชั้นปกครอง


 


ทั้งนี้ เวลาพูดเรื่องพ.ร.บ.มั่นคงฯ ไม่ใช่การเสริมอำนาจทหารเท่านั้น แต่ให้อำนาจกับชนชั้นปกครองทั้งหมด รวมถึงคนทีได้ประโยชน์จากนโยบายต่างๆ เช่น เอฟทีเอ การสร้างเขื่อน การทำโครงการขนาดใหญ่


 


เก่งกิจกล่าวว่า การตั้งข้อสงสัยว่าใครเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐก็คลุมเครือมาก ใครจะเป็นภัยก็ได้ทั้งนั้น และเชื่อว่านายทุนต่างพอใจกับพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะมันช่วยคุมชนชั้นล่างไม่ให้ออกมาต่อสู้อย่างมีพลังและมีความชอบธรรมได้


 


เขากล่าวว่า การแบ่งแยกอำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ มันทำงานไม่ได้มานานแล้ว และยิ่งภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งทำงานไม่ได้ และภายใต้การปกครองเผด็จการทหาร คนที่ได้ประโยชน์คือคนร่ำรวบ คนในชนชั้นนายทุน เช่นความเคลื่อนไหวเมื่อไรนานมานี้ ที่นายธนินทร์ เจียรวนนท์ ยักษ์ใหญ่จากค่ายซีพี (ซึ่งก็เคยเข้าถึงอำนาจในรัฐบาลทักษิณ) เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปเจรจาเอฟทีเอไทยกับยุโรป ซึ่งชัดเจนว่า รัฐบาลทหารไม่ได้ท้าทายนายทุนเลย แต่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทว่า ท้าทายนายทุนที่แบ่งผลประโยชน์ให้คนจนอย่างนายทุนทักษิณ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net