Skip to main content
sharethis

สนทนา มณีรัตนชัยยง


อดีตนศ.สถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา ม.ราชภัฏเชียงราย


 


ถ้ามีคนในสถาบันใดสถาบันหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาบอกว่า ถ้ามาเรียนที่สถาบันนี้แล้วการันตีว่าจะมีที่พักให้ จะมีทุนให้เรียนฟรี รับประกันว่าจบออกมาแล้วจะมีงานรองรับอย่างแน่นอน มีใครบ้างที่จะไม่สนใจ เพราะทางครอบครัวมีฐานะยากจน คิดว่าน่าจะช่วยลดภาระทางครอบครัวได้บ้าง


 


ตอนแรกดิฉันสมัครเข้าเรียนเอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จากนั้นก็ย้ายมาอยู่เอกชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สถาบันชาติพันธุ์ศึกษา


 


ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นสถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา เพราะคิดว่าเรียนการท่องเที่ยวน่าจะใช้เงินจำนวนมาก พ่อแม่สู้กับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ไหนจะค่าเทอม ค่าใช้จ่ายอื่นๆ จิปาถะ ฯลฯ


 


ดิฉันเป็นหนึ่งในนักศึกษาชาติพันธุ์ที่เกิดปัญหา กรณีนักศึกษาชาติพันธุ์ ชั้นปีที่ 1 รุ่นที่ 1 ของสาขาชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย รวม 15 คน ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของอดีตผู้อำนวยการสถาบันชาติพันธุ์ศึกษา ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา คือ


 


1) การหลอกลวงมาเรียน ซึ่งการล่อลวงนี้ดำเนินการทั้งด้วยตัวผู้อำนวยการสถาบันเอง ผ่านเจ้าหน้าที่สถาบัน และผ่านเครือข่ายผู้รู้ชาติพันธุ์ 13 เครือข่าย รวมถึงตัวนักศึกษาเองที่หลงเชื่อกระทั่งชักชวนเพื่อนเข้ามาเรียนในสาขานี้ด้วย โดยบอกว่าจะมีที่พักและทุนให้ (ฟรีทุกอย่าง) อย่างไรก็ตามตลอด 2 ภาคเรียนที่ผ่านมาเขาไม่เคยสนใจดูแลและแสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อพวกเราเลย มีเพียง "รถจักรยาน" ที่ได้รับการบริจาคจากอาจารย์ท่านหนึ่งเท่านั้นที่เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนเข้าเรียน


 


2) การมีพฤติกรรมใช้อำนาจตามอำเภอใจ ระหว่างที่พวกเราเรียนอยู่ เขานึกจะเรียนกี่โมง ตอนไหนก็เรียน เช่นเรียนตั้งแต่หัวค่ำถึงเที่ยงคืน พวกเราก็ต้องมาเรียนทั้งที่ในภาคเรียนที่ 1 ผู้หญิงไม่มีพาหนะเดินทาง สถานที่เรียนกับหอพักก็อยู่ไกลกัน จะเรียกใช้งานเมื่อไรก็ใช้ เช่น คืนหนึ่งในช่วงปลายภาคเรียนที่ 1 เวลาประมาณตี 2 ฝนกำลังตก ก็ไปปลุกนักศึกษาชายทั้งหมดมาช่วยเข็นรถของเขา


 


จากพฤติกรรมของเขา ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ส่งผลกระทบต่อพวกเรา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 รวมถึงครอบครัวในหลายๆ ด้าน จนนำไปสู่ภาวะกดดัน และต้องออกมาร้องเรียน


 


ดิฉันและเพื่อนๆ ได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอความช่วยเหลือและพึ่งพาทางสมาคม ตัวแทนเครือข่ายผู้รู้ 13 ชนเผ่า เป็นกลุ่มแรกๆ ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.50 และประชุมร่วมกันอีก 2 ครั้ง จากนั้นก็ไปคุยกับนักวิชาการ คณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งก็ได้คำแนะนำมาว่าให้ไปยื่นหนังสือให้กับนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย ประธานกรรมาธิการกิจการเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและความมั่นคงของมนุษย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงศึกษาธิการ ที่กทม. รวมทั้งดร.มานพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งทุกคนทุกองค์กรรับปากว่าจะช่วยเหลือ ตรวจสอบความจริงและแก้ปัญหาให้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด


 


เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา พวกเราได้มีการประชุมร่วมกับคุณกฤษณพงศ์ กีรติกร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เครือข่ายผู้รู้ องค์กรพัฒนาเอกชน จังหวัดเชียงราย และมีผู้ปกครองของพวกเราเดินทางเข้าร่วมประชุมด้วย ณ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น คุณกฤษณพงศ์ได้รับปากจะดำเนินแก้ไขปัญหาให้พวกเรา ต่อหน้าพ่อแม่ของพวกเรา และมีการพูดคุยถึงรายละเอียดโครงการที่จะนำสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกับอาจารย์สันติพงษ์ ช้างเผือก อาจารย์รัชนี นิลจันทร์ อาจารย์เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ และพี่จุฑามาศ ราชประสิทธิ์ เลขาธิการมูลนิธิ พชภ. และพวกเราจะหาที่เรียนใหม่เพราะที่เดิมพวกเราอยู่ลำบากใจเสียแล้ว


 


พวกเราทุกคน ตลอดทั้งผู้ปกครองก็มีความสบายใจขึ้น มีความหวังเหมือนได้รับคำมั่นสัญญาจากคุณกฤษณพงศ์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่จากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ปัจจุบันความหวังเหมือนว่างเปล่าเสียแล้ว


 


ช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา พวกเราส่วนหนึ่งได้ไปทำงานวิจัยที่อำเภอเชียงของให้ พชภ. ข่าวคราวก็เลยเงียบหายไปทั้งทางราชภัฏ หรือหน่วยงานที่บอกว่าจะช่วยเหลือ ตอนนี้เปิดเทอมกันแล้ว แต่ความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่สัญญาไว้ เรื่องค่าเทอมต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับแต่อย่างใด พวกเราได้แต่นั่งดูเพื่อนๆ นักศึกษาร่วมรุ่นไปเรียนด้วยจิตใจที่แสนหดหู่


 


ตอนนี้พวกเราจาก 15 คน เหลือเพียง 7 คน เนื่องจากทางผู้ปกครองส่วนหนึ่งไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นแบบนี้ต่อไป รวมถึงบางคนที่ต้องเว้นวรรคทางการศึกษาไปประกอบอาชีพอื่น เพื่อแบ่งเบาภาระทางครอบครัว ทำให้พวกเราส่วนหนึ่งต้องออกไปจากการรวมกลุ่มต่อสู้ พวกเราที่เหลือทั้งหมด 7 คน ได้เลือกเรียนกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เรียนทางไปรษณีย์


 


ตอนนี้เพียงแต่พวกเราต้องการคำตอบจากผู้หลักผู้ใหญ่เท่านั้น เพราะนี่ผ่านมาถึง 4 เดือนไปแล้ว และความเสียหายก็เกิดกับพวกเราอย่างเป็นรูปธรรม เพราะพวกเราทั้ง 15 คน เสียโอกาสทางการศึกษาไปหนึ่งปี ซึ่งทำให้พวกเราต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ท่านอธิการบดีก็ไม่ได้รับผิดชอบปัญหาพวกเรา ขณะที่ได้ข่าวว่าอดีตผู้อำนวยการสถาบันได้รับการส่งเสริมให้ไปทำวิจัยที่ประเทศจีน คุณกฤษณพงศ์ก็หายเงียบไป อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่รักษาสัจจะวาจาด้วย ถ้าสัญญาอะไรไว้แล้วก็ควรทำตามที่พูดไว้ ไม่ใช่สัญญาไปเรื่อยแบบนี้


 


พวกเราเป็นมนุษย์เหมือนกับคนอื่นทั่วไปในประเทศนี้ อยากเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม แม้เราจะกันจากหลากหลายชาติพันธุ์ แต่นั่นเรียกว่าเป็นความงดงามบนแผ่นดินผืนนี้ไม่ใช่หรือ


 


แต่ทุกวันนี้ ทำไมสิ่งที่เราได้รับการปฏิบัติกลับเหมือนมนุษย์อีกพันธุ์หนึ่งที่ต่ำค่าบนผืนแผ่นดินสยาม


 


 


 


 


หมายเหตุ : ปรับปรุงจากบทความเดิมชื่อ "อยากบอกใครๆ ด้วยใจช้ำๆ...เหตุเกิดที่ มรภ.เชียงราย" เผยแพร่ครั้งแรกหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 8 ก.ค.50

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net