Skip to main content
sharethis

ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาหลายอย่างที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งกำลังจะมีการลงประชามติในเร็วๆ นี้ เพราะมองว่าเป็นการทำให้ประชาธิปไตยไทยถอยหลังไปจากเดิม รวมทั้งมีความล้าหลังกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงการลงประชามติ ก็จะไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้วที่จะทำให้ประเทศชาติและการเมืองไทยสามารถก้าวเดินต่อไปได้ ซึ่งดีกว่าการที่จะเอาแต่เคลื่อนไหวคัดค้าน โดยไม่ช่วยให้สามารถก้าวเดินไปทางไหนได้เลย นอกจากการสร้างให้เกิดความขัดแย้ง


 


ขณะเดียวกันประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การกระจายอำนาจ จะเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการเมืองไทยในก้าวต่อไป ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่ได้ห้ามในเรื่องนี้ไว้ ดังนั้น แม้ในภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะดูล้าหลัง แต่หากท้องถิ่น ชุมชน และภาคประชาชน พร้อมใจกันใช้สิทธิที่มีอยู่อย่างเท่าเทียมกันทุกคน ผลักดันสร้างเสริมให้ประชาธิปไตยไทยมีความก้าวหน้า และพัฒนายิ่งขึ้นไปก็สามารถทำได้ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อจะได้ไม่ได้ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของฝ่ายใดเหมือนที่ผ่านมา


 


ด้านรศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) หารือกันถึงบทบาทในการให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชนและนักศึกษา เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และการลงประชามติที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 19 ส.ค.50 แนวความคิดเบื้องต้นจะมีการจัดเวทีให้ข้อมูลจำนวน 4 ครั้ง ทุกวันพุทธ ซึ่งเป็นวันที่ มช.ไม่มีการเรียนการสอน คาดว่าน่าจะเริ่มเวทีครั้งแรกได้ในอีกประมาณ 10 วันข้างหน้า


 


สำหรับรูปแบบการจัดเวทีนั้น ในการจัดเวทีครั้งแรกจะเป็นการให้ข้อมูล ความรู้ เนื้อหาและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และการลงประชามติ ขณะที่เวทีครั้งที่ 2 จะเชิญฝ่ายต่างๆ ที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แสดงความเห็นและให้ข้อมูลด้านที่ดี ส่วนครั้งที่ 3 จะเชิญฝ่ายต่างๆ ที่คัดค้านมาแสดงความเห็นและให้ข้อมูลด้านลบ และในการจัดเวทีครั้งที่สุดท้ายก็จะเชิญทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านมาแสดงความเห็นพร้อมกัน ซึ่งเชื่อว่าทั้งหมดนี้น่าจะทำให้ชาวเชียงใหม่มีความรู้ความเข้าใจมากพอที่จะตัดสินใจในการลงประชามติ


 


สำหรับความเห็นส่วนตัวต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รศ.ดร.ธเนศวร์ บอกว่า ขณะนี้ตนเองกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ว่าการลงประชามติมีความสำคัญอย่างไร โดยที่ผ่านมาได้พยายามพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็พบว่ามีข้อดีอยู่หลายอย่าง แต่ก็มีข้อเสียอยู่ไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดคงจะต้องพิจารณาถึงในระยะยาวว่าการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะส่งผลอย่างไรต่อการเมืองไทย


 


 


 


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net