ภัควดี รายงาน : ทางแพร่งของการปฏิวัติโบลิวาร์ (ตอนจบ)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภัควดี วีระภาสพงษ์

 

 

หลังจากใครหลายคนเชื่อว่า ยุคนี้เป็น "จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์" (กล่าวคือความเชื่อว่า ระบบทุนนิยมได้รับชัยชนะเด็ดขาดแน่นอนแล้ว)  ประเทศนอกสายตาอย่างเวเนซุเอลากลับทำให้โวหารของคำว่า "สังคมนิยม" พลิกฟื้นคืนพลังขึ้นมาใหม่  นับตั้งแต่เวทีสังคมโลกในเดือนมกราคม ค.ศ. 2005 เมื่อประธานาธิบดีชาเวซประกาศถึง "ระบบสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21" นี่เป็นแค่โวหารทางการเมืองที่กลวงเปล่า หรือการปฏิวัติโบลิวาร์กำลังนำพาเวเนซุเอลาไปสู่ระบบสังคมนิยมจริงๆ ?  ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ เป็นผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมอย่างแท้จริง หรือเป็นแค่ "ฝ่ายซ้ายสัมฤทธิ์นิยม" (pragmatic left) ดังที่เจมส์ เพทราสปรามาสไว้?  มันอาจเร็วเกินไปที่เราจะตัดสิน แต่เราคงพอประเมินได้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลชาเวซทำและไม่ทำอะไรบ้าง  รวมทั้งมีตัวแปรหรือปัจจัยมากน้อยแค่ไหนที่อาจพลิกคว่ำการปฏิวัติโบลิวาร์ให้ล่มสลายลง

 

ความหมายของ "สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21"

ประธานาธิบดีชาเวซเองก็ไม่เคยนิยามชัดเจนนักว่า "ระบบสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21" ของเขาหมายถึงอะไร  และมันแตกต่างจาก "ระบบสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 20" อย่างไรบ้าง  เขาเพียงแต่พูดเป็นนัย ๆ ว่า ระบบสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ระบบสังคมนิยมโดยรัฐแบบสหภาพโซเวียตในอดีตหรือแม้แต่คิวบาในปัจจุบัน  แต่เป็นสังคมนิยมที่มีความเป็นพหุนิยมมากกว่าและมีรัฐเป็นศูนย์กลางน้อยกว่า

 

ในเมื่อไม่มีการนิยามแบบยืนยันชัดเจน เราก็น่าจะหันไปหาความหมายจากสิ่งที่ชาเวซปฏิเสธหรือแสดงออกในเชิงต่อต้านอย่างชัดเจน  สิ่งที่ชาเวซวิพากษ์วิจารณ์เป็นประจำก็คือ ระบบทุนนิยม  ในแง่นี้ การปฏิวัติโบลิวาร์ก็น่าจะหมายถึงระเบียบสังคมเศรษฐกิจที่แยกทางไปจากระบบทุนนิยม  เวเนซุเอลากำลังเดินไปบนเส้นทางที่แยกออกจากรางรถไฟสายทุนนิยม (เสรีนิยมใหม่) หรือไม่? และกำลังเดินไปทางไหน? เราคงต้องจำกัดความก่อนว่า ระบบทุนนิยมคืออะไรหรือมีองค์ประกอบหลักอะไรบ้าง

 

องค์ประกอบหลักที่กำหนดความเป็นระบบทุนนิยมมีด้วยกันอย่างน้อย 3 ประการคือ 1) การมีกรรมสิทธิ์เอกชนในปัจจัยการผลิต อาทิ ที่ดิน โรงงาน ทุน ฯลฯ 2) การกระจายและการแลกเปลี่ยนอยู่ภายใต้การกำกับของกลไกตลาดที่เน้นการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างผลกำไรสูงสุดให้ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต  และ 3) ระบบทุนนิยมจำเป็นต้องมีรัฐที่ส่งเสริมระบบทุนนิยม  รัฐที่คอยอุ้มชูหรือแก้ไขข้อผิดพลาดให้ในกรณีที่ระบบทุนนิยมไม่ทำงานหรือทำงานผิดพลาด

 

เวเนซุเอลากำลังบุกเบิกเส้นทางที่แยกออกไปจากทุนนิยมหรือไม่?  เราจะดูนโยบายของรัฐบาลชาเวซในแต่ละองค์ประกอบ ดังนี้:

 

1. ความเปลี่ยนแปลงของกรรมสิทธิ์เอกชนในปัจจัยการผลิต

ในขณะที่ปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ในเวเนซุเอลายังเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนจำนวนน้อยที่มั่งคั่งหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ  แต่อย่างน้อยรัฐบาลชาเวซก็พยายามขยายรูปแบบกรรมสิทธิ์และการควบคุมปัจจัยการผลิตที่ไม่ใช่เอกชน อาทิเช่น สหกรณ์, การบริหารงานร่วม (co-management หรือ congestion คือการที่แรงงานเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารโรงงาน)  รวมทั้งขยายกรรมสิทธิ์และการควบคุมของรัฐออกไปอย่างมาก

 

ยกตัวอย่างเช่น ในยุครัฐบาลชาเวซ  จำนวนสหกรณ์ในเวเนซุเอลาเติบโตแบบก้าวกระโดดจาก 800 แห่ง ใน ค.ศ. 1998 เป็นกว่า 100,000 แห่ง ใน ค.ศ. 2005  เพิ่มมากกว่า 100 เท่าในเวลาแค่ 7 ปี  ในปัจจุบัน มีชาวเวเนซุเอลากว่า 1.5 ล้านคนเป็นสมาชิกสหกรณ์ คิดเป็น 10% ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมดในประเทศ  รัฐบาลสนับสนุนสหกรณ์เหล่านี้ด้วยการให้สินเชื่อ ให้การอบรม และให้อภิสิทธิ์เป็นลำดับต้นในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล

 

ส่วนในแง่ของการบริหารงานร่วม  รัฐบาลเวเนซุเอลาทดลองวิธีการนี้ในกิจการของรัฐหลายแห่งด้วยกัน  เช่น ในบริษัทไฟฟ้า CADAFE และโรงงานผลิตอลูมิเนียม Alcasa และมีแนวโน้มว่าจะขยายระบบบริหารงานร่วมในกิจการของรัฐมากยิ่งขึ้น  รัฐบาลยืนยันชัดเจนว่า กิจการเหล่านี้ต้องใช้ระบบบริหารงานร่วมเท่านั้น รัฐบาลไม่สามารถยกกิจการให้คนงานเป็นผู้บริหารได้ทั้งหมด เนื่องจากกิจการส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม  รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ในสังคม จึงควรมีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารร่วมกับคนงาน

 

ยุทธศาสตร์อีกอย่างหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงระบบกรรมสิทธิ์เอกชนในปัจจัยการผลิตก็คือ การยึดโรงงานที่เลิกกิจการหรือล้มละลาย  ในปัจจุบันมีโรงงานอย่างน้อย 4 แห่งถูกยึดมาและยกให้คนงานเป็นผู้บริหาร  รัฐบาลกับสหภาพแรงงานแห่งชาติ UNT กำลังพิจารณาโรงงานแบบนี้เพิ่มอีก 700 แห่งที่จะยึดมาให้คนงานเป็นผู้บริหาร

 

ในส่วนกรรมสิทธิ์ของรัฐ  นี่เป็นประเด็นที่ทุกคนทราบกันดีว่า รัฐบาลชาเวซกำลังเดินหน้ามากที่สุด  รัฐบาลสร้างกิจการของรัฐเพิ่มในหลายภาคส่วน ไม่ว่าในด้านโทรคมนาคม, สายการบิน และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี  รวมทั้งการเข้าไปซื้อหุ้นของเอกชนในด้านการผลิตน้ำมัน

 

แน่นอน รูปแบบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตที่ไม่ใช่ของเอกชนนี้ ยังถือเป็นแค่ส่วนน้อยในระบบการผลิตของประเทศเวเนซุเอลา  ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะตัดสินว่า มันจะสามารถเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของระบบทุนนิยมในด้านนี้ได้จริงหรือไม่  อย่างไรก็ตาม ระบบกรรมสิทธิ์รูปแบบใหม่ย่อมไม่มีประโยชน์อันใดเลย หากมันยังมีเป้าหมายเพื่อผลกำไรสูงสุดของคนกลุ่มน้อยในสังคม

 

2. การถอยห่างจากกลไกตลาด

รัฐบาลชาเวซพยายามใช้รัฐเป็นกลไกกำกับการผลิต  รวมทั้งการกระจายสินค้าและบริการที่แยกออกมาจากกลไกตลาด  กล่าวคือ รัฐเข้ามามีบทบาทในการนำความมั่งคั่งมากระจายใหม่  อาทิเช่น โครงการปฏิรูปที่ดินในชนบทและในเมือง, การนำความมั่งคั่งของน้ำมันมาใช้ในโครงการทางสังคมต่าง ๆ รวมถึงให้ทุนอุดหนุนเพื่อให้ราคาอาหารลดลง  กระนั้นก็ตาม ถึงแม้กลไกการกระจายความมั่งคั่งโดยรัฐไม่ได้ดำเนินไปตามตรรกะของทุนนิยม  แต่มันก็ไม่ได้แตกหักกับทุนนิยม เพราะการแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่ยังเกิดขึ้นในบริบทของตลาดเสรีอยู่ดี  ในแง่นี้ รัฐบาลเวเนซุเอลามีนโยบายในลักษณะของสังคมประชาธิปไตย (social democracy) มากกว่าแบบสังคมนิยม

 

สิ่งที่รัฐบาลเวเนซุเอลาแยกขาดจากระบบกลไกตลาดมากที่สุด น่าจะเป็นการค้าระหว่างประเทศ  รัฐบาลชาเวซไม่เพียงคัดค้านเสียงแข็งต่อข้อตกลงการค้าเสรีที่สหรัฐอเมริกาพยายามผลักดัน  แต่เวเนซุเอลายังพยายามสร้างทางเลือกใหม่ในการค้าระหว่างประเทศ ที่เน้นความร่วมมือมากกว่าการแข่งขันหรือการแสวงหาผลกำไร  อาทิเช่น ข้อตกลงการค้าทางเลือก ALBA การแลกเปลี่ยนน้ำมันกับสินค้าหรือบริการกับหลาย ๆ ประเทศในอเมริกาใต้แทนที่จะซื้อขายด้วยเงิน เป็นต้น  แต่การค้าที่ไม่ตั้งอยู่บนกลไกตลาดเหล่านี้ก็ยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด  รัฐบาลชาเวซจะขยายหรือค้นหากลไกแบบอื่นที่เข้ามาแทนที่ตลาดได้มากขึ้นหรือไม่  เป็นเรื่องที่ยังมองไม่เห็นชัดเจน

 

3. บทบาทของรัฐที่ไม่ได้อุ้มชูแต่ผลประโยชน์ของภาคเอกชนอีกต่อไป

องค์ประกอบนี้ดูเหมือนเป็นด้านที่เวเนซุเอลามีความก้าวหน้ามากที่สุด  มีอย่างน้อยสามประการด้วยกันที่รัฐบาลชาเวซประสบความสำเร็จอย่างเห็นชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

ประการแรก รัฐบาลชาเวซสลัดหลุดจากอำนาจครอบงำของกลุ่มทุนเอกชนในประเพณีทางการเมืองแบบเดิม ๆ  นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก การสลัดหลุดนี่เองทำให้รัฐบาลชาเวซสามารถออกมาตรการต่าง ๆ ที่คัดง้างกับระบบทุนนิยมได้  เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งพรวดขึ้นมาในระยะหลังนี่เอง เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้รัฐบาลมีอิสระจากกลุ่มทุน  ต่างจากรัฐบาลฝ่ายซ้ายอื่น ๆ ในอเมริกาใต้ เช่น รัฐบาลลูลาในบราซิล ซึ่งไม่สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างเป็นอิสระ  รายได้มหาศาลจากน้ำมันทำให้รัฐบาลชาเวซมีเงินในการลงทุน การดำเนินนโยบายภาษีแบบก้าวหน้า การออกกฎข้อบังคับต่าง ๆ  การใช้จ่ายในโครงการทางสังคม ฯลฯ โดยไม่ต้องหวั่นวิตกว่าจะเกิดการไหลออกของเงินทุนหรือการหนีหายของทุนต่างชาติ

 

ประการที่สอง  รัฐบาลพยายามคานอำนาจของทุนเอกชนด้วยการนำระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเข้ามาใช้ในหลายพื้นที่ของภาครัฐ  แม้ว่าสภาวางแผนสาธารณะท้องถิ่นจะล้มเหลว  แต่รัฐบาลก็แก้ไขด้วยการออกกฎหมายสภาชุมชนขึ้นมาแทน  และพยายามส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยทางตรงในชุมชนต่าง ๆ

 

รัฐธรรมนูญของเวเนซุเอลารับรองสิทธิของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม  โดยมี 2 ด้านหลักคือ 1) ประชาชนสามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อเรียกร้องให้มีการลงประชามติ 2) องค์กรทางสังคมมีสิทธิร่วมเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งศาลสูงสุด คณะกรรมการการเลือกตั้งและองค์กรอื่น ๆ เช่น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

 

ประการที่สาม รัฐบาลชาเวซสร้างหลักประกันที่สำคัญให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศอีกอย่างหนึ่งคือ การปฏิรูปกลไกที่อาจกลายเป็นเครื่องมือกดขี่ประชาชน กล่าวคือ กองทัพนั่นเอง  ชาเวซกล่าวว่า การที่กองทัพในประเทศละตินอเมริกาส่วนใหญ่ตกเป็นเครื่องมือของเผด็จการ ก็เพราะกองทัพถูกแยกขาดจากภาคประชาสังคมเสมอมา  การขาดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประชาชน ทำให้ทหารสามารถปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมชาติอย่างทารุณโหดร้ายได้  รัฐบาลชาเวซจึงใช้กลยุทธ์แบบลัทธิเหมา โดยดำเนินตามคำขวัญว่า "กองทัพกับประชาชนก็เปรียบเหมือนปลากับน้ำ"  และนำหลักการของ "ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพลเมืองกับกองทัพ" มาใช้ในทางปฏิบัติ  หมายความว่า กองทัพกับพลเรือนต้องมีปฏิสัมพันธ์กันให้มาก  กองทัพต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาของภาคพลเรือนด้วย ฝ่ายพลเรือนเองก็ได้รับการขอร้องให้สมัครเป็นกองทหารสำรอง รวมทั้งฝึกการสู้รบแบบกองโจร! ในกรณีที่กองทัพภายนอก (แน่นอน เช่น กองทัพสหรัฐฯ ) รุกรานดินแดนของเวเนซุเอลา

 

แม้ว่าการทำให้กองทัพมี "ความเป็นพลเรือน" (civilize) อาจเป็นเรื่องที่ดี  แต่การทำให้ภาคประชาสังคมมี "ความเป็นกองทัพ" (militarize) อาจกลายเป็นดาบสองคม  เพราะภาคประชาสังคมอาจตกเป็นเครื่องมือในการกดขี่คนส่วนน้อยของประเทศ  เพียงแต่ความเสียหายในแง่นี้ยังไม่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลา  ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต  ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงได้ถึงข้อดีข้อเสียที่จะตามมา

 

เมื่อพิจารณาดูแต่ละองค์ประกอบข้างต้นแล้ว เราจะเห็นภาพชัดขึ้นว่า การปฏิวัติโบลิวาร์มีความแตกต่างจากสังคมนิยมในศตวรรษที่ 20 ไม่น้อย ในเชิงเศรษฐกิจ เวเนซุเอลายังรักษาระบบทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่เอาไว้  และใช้ความมั่งคั่งที่ได้จากระบบทุนนิยมนี้มาสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ทุนนิยม จนเกิดลักษณะระบบคู่ขนานขึ้นมา  ส่วนในเชิงการเมือง เห็นได้ชัดว่าการปฏิวัติโบลิวาร์แตกต่างจากสังคมนิยมยุคก่อนโดยสิ้นเชิง  เพราะมีแนวโน้มที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและประชาธิปไตยทางตรงมากกว่า

 

ขวากหนามบนเส้นทางสู่สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21

อุปสรรคที่อาจขวางให้การปฏิวัติโบลิวาร์ของเวเนซุเอลาสะดุดล้ม  แบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอกกับปัจจัยภายในกระบวนการ ปัจจัยภายนอกกระบวนการมีทั้งปัจจัยที่อยู่ในและนอกประเทศ  ปัจจัยภายนอกกระบวนการปฏิวัติโบลิวาร์ที่อยู่ภายในประเทศก็คือฝ่ายค้าน  แต่หลังจากที่ฝ่ายค้านของเวเนซุเอลาแสดงพลังมาหลายครั้งและต้องพ่ายแพ้ทุกครา  อิทธิพลของฝ่ายค้านก็มีกำลังอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด  ถึงขนาดต้องออกมายอมรับชัยชนะในการเลือกตั้งของประธานาธิบดีชาเวซอย่างเป็นทางการ

 

ปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานให้ RCTV ถือเป็นแรงกระตุ้นครั้งล่าสุด  ฝ่ายค้านพยายามปลุกกระแสต่อต้านประธานาธิบดีชาเวซในสื่อต่างประเทศ ซึ่งดูเหมือนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง  แต่ก็ไม่สามารถทำให้กลุ่มประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหภาพยุโรปออกมาต่อต้านชาเวซแบบเต็มตัว  ส่วนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็สูญเสียความน่าเชื่อถือไปกับสงครามอิรักจนหมดสิ้น และไม่ว่าสหรัฐอเมริกาจะพยายามกดดันอย่างไรก็ไม่เป็นผล  เพราะพูดง่าย ๆ ได้ว่า เวเนซุเอลาเคยชินกับแรงกดดันจากมหาอำนาจสหรัฐฯ เสียแล้วจนไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนอะไร  

 

แม้ว่าฝ่ายค้านสามารถดึงเอาพลังนักศึกษา ซึ่งมักถือกันว่าเป็น "พลังบริสุทธิ์" ออกมาประท้วง  แต่นักศึกษาผิวขาวจากมหาวิทยาลัยเอกชนก็ทำได้เพียงแค่เรียกร้องความสนใจจากสื่อต่างประเทศระยะหนึ่ง  แล้วค่อย ๆ เงียบเสียงลงเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง  โดยเฉพาะหลังจากที่ฝ่ายรัฐบาลยื่นข้อเสนอเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาเข้ามาวิวาทะประเด็น RCTV ในสมัชชาแห่งชาติในวันที่ 7 มิถุนายน โดยจะถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่องไปทั่วประเทศ  แต่กลุ่มนักศึกษากลับปฏิเสธข้อเสนอครั้งนี้!  ยิ่งตอกย้ำให้ฝ่ายที่สนับสนุนการปฏิวัติโบลิวาร์มองว่า เหตุผลในการประท้วงของพวกเขามีแต่ความกลวงเปล่า อีกทั้งถูกชักใยจากฝ่ายอื่นอยู่เบื้องหลัง  หลังจากนั้น นักศึกษากลุ่มนี้ก็ทิ้งประเด็น RCTV ไปเฉย ๆ  แล้วหันไปหาประเด็นการปกป้องความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยเอกชนแทน

 

ส่วนปัจจัยภายนอกที่มาจากนอกประเทศ แน่นอน รัฐบาลบุชของสหรัฐอเมริกาย่อมเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งของการปฏิวัติโบลิวาร์  ดังที่มันเป็นภัยคุกคามต่อการปฏิวัติพัฒนาสังคมของทุกประเทศในอเมริกากลางและอเมริกาใต้เสมอมา  รัฐบาลบุชพยายามเข้ามาแทรกแซงการเมืองของเวเนซุเอลาหลายครั้ง  นับตั้งแต่การรัฐประหารใน ค.ศ. 2002 เป็นต้นมา  เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ  และรัฐบาลชาเวซมีอำนาจเป็นปึกแผ่นมากขึ้นทุกที  นับวันรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยิ่งทำอะไรไม่ได้ถนัดนัก

 

ปัจจัยภายนอกอีกประการหนึ่งคือทุนต่างประเทศ  แต่จะมีบรรษัทข้ามชาติแห่งไหนกล้าถอนตัวจากขุมน้ำมันอย่างเวเนซุเอลา?  เท่าที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะขึ้นภาษีอุตสาหกรรมน้ำมันแค่ไหน ก็ไม่มีบรรษัทไหนย่อท้อ  ส่วนการที่รัฐบาลเข้าไปซื้อหุ้นในกิจการน้ำมันเอกชนเพื่อโอนกลับมาเป็นของรัฐ  มันไม่ก่อให้เกิดปัญหาเลยแม้แต่น้อย ตราบที่รัฐบาลยังคงซื้อหุ้นในราคาตลาด  (เงินย่อมพูดภาษาเดียวกัน ไม่ว่าเจ้าของเงินจะมีอุดมการณ์แบบไหน)

 

อุปสรรคจากปัจจัยภายนอกไม่มีผลต่อกระบวนการปฏิวัติโบลิวาร์สักเท่าไรในตอนนี้  อุปสรรคที่แท้จริงกลับฝังอยู่ภายในกระบวนการปฏิวัติโบลิวาร์เองต่างหาก

 

อุปสรรคร้ายแรงประการแรกก็คือ วัฒนธรรมอุปถัมภ์พวกพ้องที่มีมายาวนานในระบบการเมืองเวเนซุเอลา  ถึงแม้อูโก ชาเวซวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมนี้มากแค่ไหน แต่ภายในกระบวนการปฏิวัติโบลิวาร์ก็หนีไม่พ้นวัฒนธรรมล้าหลังนี้  สมัยก่อนใครไม่มีเส้นสายกับพรรคการเมืองฝ่ายขวาย่อมยากที่จะรับราชการหรือทำมาหากินกับรัฐบาลฉันใด  เจ้าหน้าที่รัฐบาลในยุคชาเวซก็จงใจกีดกันคนที่อยู่ฟากฝ่ายค้านฉันนั้น

 

ตัวอย่างอันฉาวโฉ่ในเรื่องนี้ก็คือ การจัดทำบัญชีรายชื่อ "Tascon List"  ชื่อนี้ได้มาจากนายลูอิซ ทัสกอน สมาชิกสมัชชาแห่งชาติสายชาวิซตา  เขาทำบัญชีรายชื่อชาวเวเนซุเอลาทุกคนที่ลงนามเรียกร้องให้เปิดการลงประชามติเพื่อถอดถอนชาเวซ  จริงอยู่ มีนายจ้างฝ่ายค้านจำนวนไม่น้อยที่ทำบัญชีดำเพื่อไล่คนงานชาวิสตาออกไป  แต่รัฐบาลที่รณรงค์ต่อต้านระบบอุปถัมภ์พวกพ้องย่อมไม่ควรใช้วิธีการแบบดาบนั้นคืนสนอง

 

ระบบอุปถัมภ์พวกพ้องทำให้สังคมแตกแยก บ่อนทำลายหลักนิติธรรม  ก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่น ลดทอนความชอบธรรมของรัฐบาล  รวมทั้งขัดกับหลักการความเสมอภาคที่รัฐบาลประกาศปาว ๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

อุปสรรคภายในประการที่สองคือ ลัทธิบูชาตัวบุคคลที่ห้อมแหนชาเวซ รวมทั้งแนวโน้มที่จะทำให้การเมืองเวเนซุเอลาโดยรวมให้น้ำหนักแก่ตัวบุคคลที่มีบารมีมากเกินไป  จริงอยู่ บุคลิกภาพของชาเวซมีประโยชน์ต่อการปฏิวัติโบลิวาร์ ตรงที่เขาสามารถเป็นศูนย์รวมของคนจำนวนมากได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน  แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความสามารถของชาเวซก็ทำให้กระบวนการปฏิวัติโบลิวาร์ต้องพึ่งพิงเขามากเกินไป  จนไม่อาจก่อเกิดสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง  อีกทั้งทำให้ผู้สนับสนุนชาเวซเปิดปากวิพากษ์วิจารณ์ชาเวซได้ยาก  เพราะการวิจารณ์ชาเวซเท่ากับบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการปฏิวัติเลยทีเดียว  เปรียบเสมือนยื่นคมกระบี่ให้ฝ่ายศัตรู  สถานการณ์นี้ยิ่งเลวร้ายและมีแนวโน้มแถวหลังเข้าคลอง เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานของรัฐบาล  กฎหมายฉบับนี้มีมานานแล้วก็จริง แต่มีบทลงโทษเล็กน้อยและไม่ค่อยนำมาปฏิบัติใช้  การแก้ไขเพื่อเพิ่มบทลงโทษขั้นสูงสุดต่อความผิดนี้ถือเป็นก้าวที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่สุดของรัฐบาลชาเวซ

 

 

อุปสรรคภายในประการที่สามคือ แม้จะส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น  แต่ในระดับรัฐบาลฝ่ายบริหารนับตั้งแต่ชาเวซลงมา กระบวนการปกครองกลับมีแนวโน้มไปสู่การสั่งการแบบบนลงล่างมากขึ้น  การปฏิรูประบบราชการยังไปไม่ถึงไหน  ตัวชาเวซเองก็ใช่ว่าจะสลัดหลุดจากสัญชาตญาณแบบนายทหารที่ฝังรากลึก  ยิ่งเมื่อมาผสมกับลัทธิบูชาตัวบุคคล  การตั้งคำถามและขัดขืนต่อผู้บังคับบัญชาที่อยู่เหนือขึ้นไปก็ยิ่งยากมากขึ้น

 

การสร้างโครงการทางสังคมของรัฐบาลชาเวซเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นก็จริง  แต่ในมุมกลับ มันกำลังสร้างนิสัยให้ประชาชนพึ่งพิงรัฐ  การริเริ่มของประชาชนเกือบทั้งหมดถูกดึงเข้าไปอยู่ภายใต้ร่มธงของรัฐบาลชาเวซ  รวมทั้งการที่ชาเวซกำลังสร้างพรรคการเมืองใหม่เพียงพรรคเดียวขึ้นมา  ดูจะทำให้การเมืองรวมศูนย์มากขึ้น  ทำให้หลายคนหันไปเรียกร้องโมเดลพันธมิตรแบบพรรค MAS ของโบลิเวียที่ผลักดันให้เอโว โมราเลสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี

 

อุปสรรคประการสุดท้ายที่อาจทำให้การปฏิวัติโบลิวาร์ล้มคว่ำลงได้ คือสิ่งที่นักรัฐศาสตร์บางคนเรียกว่า "ความขัดแย้งของรัฐสวัสดิการ"  กล่าวคือ การที่รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องตอบสนองต่อ "เจ้านาย" สองกลุ่มที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน  ในด้านหนึ่ง รัฐบาลต้องตอบสนองต่อประชาชนที่เลือกตั้งพวกเขาเข้ามา  มิฉะนั้นก็จะกระเด็นตกเก้าอี้ในการเลือกตั้งสมัยต่อไป  กับอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลต้องตอบสนองต่อกลุ่มทุน มิฉะนั้น รัฐบาลก็ต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรของทุนและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ  ปัญหาสำคัญก็คือ "เจ้านาย" ทั้งสองมักชักเย่อกันไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามเสมอ  ประชาชนย่อมมุ่งหวังให้รัฐบาลคุ้มครองตนจากความร้ายกาจของระบบทุนนิยม  ส่วนทุนย่อมมุ่งหวังที่จะเป็นอิสระจากการกำกับดูแลและการเก็บภาษีของรัฐบาลให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้  การพยายามลดความตึงเครียดที่ต้องตกอยู่ตรงกลาง ทำให้รัฐบาลทั้งในโลกที่หนึ่งและโลกที่สามใช้วิธีจัดทำงบประมาณขาดดุล  ทุ่มเงินให้กับการสร้างสวัสดิการโดยไม่เก็บภาษีเพิ่มขึ้น  แต่เมื่อไรที่หนี้สินกลายเป็นภาระหนักเกินไป  รัฐบาลส่วนใหญ่ก็มักตัดการใช้จ่ายในด้านสวัสดิการลง แล้วหันไปใช้ระบบเสรีนิยมใหม่ด้วยความหวังว่าจะเอาตัวรอดจากวิกฤตการณ์ได้  ทว่าระบบเสรีนิยมใหม่หาใช่หนทางแก้ไขความขัดแย้งที่ถูกต้อง แต่เป็นเพียงการย้ายดุลอำนาจไปให้ฝ่ายทุนมากกว่า

 

ความขัดแย้งดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศของภูมิภาคละตินอเมริกา  เวเนซุเอลาดูคล้ายจะเป็นข้อยกเว้นเพราะความมั่งคั่งจากน้ำมัน  แต่เวเนซุเอลาเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทองหรือทองห่อผ้าขี้ริ้ว ยังเป็นเรื่องที่ต้องดูต่อไปข้างหน้า  เท็ด ทรูแมน อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ด้านกิจการต่างประเทศเคยวิจารณ์ว่า  เวเนซุเอลาสุ่มเสี่ยงต่อการถังแตก  การขาดดุลงบประมาณพุ่งขึ้นถึง 8.2 ล้านล้านโบลิวาร์ หรือ 3.8 พันล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว  อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินโบลิวาร์ต่อดอลลาร์ในตลาดมืดยังตกลงถึง 16% ในปีนี้  ทำให้มันเป็นสกุลเงินที่มีอัตราการอ่อนตัวสูงที่สุดในโลก

 

คำพูดของเจ้าหน้าที่อเมริกันอย่างทรูแมนจะเชื่อถือได้หรือไม่ได้ก็ตามที  หวังว่าการปฏิวัติโบลิวาร์ที่เริ่มต้นมาอย่างสวยหรูและเป็นแรงบันดาลใจไม่น้อยแก่สามัญชนในโลก  คงไม่ล้มคะมำไปเพราะเจ้าบุญทุ่มชาเวซแจกเงินจนถังแตก!

 

อุบัติเหตุแห่งประวัติศาสตร์

ประธานาธิบดี อูโก ชาเวซมักพูดอยู่เนือง ๆ ว่า เขาตกอยู่ในอันตรายของการถูกลอบสังหาร  คำพูดนี้ไม่ใช่แค่เพื่อเรียกร้องความสนใจจากประชาชน  มันมีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย  ในช่วงที่เขาเริ่มมีอำนาจใหม่ ๆ  สหรัฐอเมริกากับฝ่ายค้านในเวเนซุเอลาเคยสมคบคิดกันที่จะลอบสังหารชาเวซ  ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป  ไม่ว่าจะใช้วาจาแข็งกร้าวสักแค่ไหน  แต่ตอนนี้ดูเหมือนฝ่ายที่อยากให้ชาเวซถูกลอบสังหารน้อยที่สุดอาจเป็นรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้  เพราะในสภาพที่แหล่งน้ำมันใหญ่ ๆ ในโลกตกอยู่ในภาวะปั่นป่วนและไม่มั่นคง  เช่น ในอิรักหรืออิหร่าน  สหรัฐฯ คงไม่ต้องการให้แหล่งน้ำมันใหญ่ ๆ อย่างเวเนซุเอลาเกิดความปั่นป่วนขึ้นมาเพราะการลอบสังหารผู้นำ

 

แต่ฝ่ายค้านในเวเนซุเอลาอาจไม่คิดอย่างนั้น  หลังจากพ่ายแพ้จนหมดรูปครั้งแล้วครั้งเล่า  สุดท้าย ฝ่ายค้านที่จนตรอกอาจเลือกเอาการลอบสังหารเป็นทางออก  การปล่อยให้สื่อฝ่ายค้านอย่าง RCTV ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเมามัน  อย่างน้อยก็เป็นการระบายออกเชิงจิตวิทยาอย่างหนึ่ง  แต่การไม่ต่อสัญญาให้ RCTV อาจทำให้ฝ่ายค้านคับข้องใจ  จนหันไปเลือกหนทางใด ๆ ก็ได้โดยไม่คำนึงว่าประเทศจะปั่นป่วนขนาดไหน (ความจริงยิ่งปั่นป่วนก็ยิ่งดีต่อฝ่ายค้าน)  เราไม่ควรเอาฝาไปปิดกาน้ำที่กำลังเดือดพล่าน  เพราะถึงกาจะเล็ก แต่น้ำที่พุ่งออกมาก็ร้อนลวกมือได้เหมือนกัน!  

 

ใครจะรู้ การปฏิวัติโบลิวาร์อาจสะดุดคว่ำลงเพราะอุบัติเหตุของกระสุนนัดเดียว!

 

 

(หมายเหตุ - เริ่มเขียน ณ วันที่เวเนซุเอลาถูกอุรุกไฮ—หรืออุรุกวัย—ทีมขวัญใจผู้เขียน—ยิงพรุนตกรอบโคปาอเมริกา)

 

 

 

เอกสารประกอบการเขียน:

Eva Golinger and Sam King, "US Continues Destabilisation Push in Venezuela," Green Left Weekly; July 03, 2007.

 

Gregory Wilpert, "The Meaning of 21st Century Socialism for Venezuela," Venezuelanalysis.com; July 22, 2006. (ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากบทความชิ้นนี้)

Greg Wilpert and Nikolas Kozloff, "Hugo Chavez's Future," March 11, 2007, ZNet.

Christopher Swann, "Chavez exploits oil to lend in Latin America, pushing IMF aside," Bloomberg; March 01, 2007.

 

 

------------------------

ภาพประกอบหน้าแรกจาก www.panafricannews.blogspot.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท