Skip to main content
sharethis

เบญจา ศิลารักษ์


สำนักข่าวประชาธรรม


 


กรณีที่รัฐบาลมีมติครม.เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาให้ปิดเขื่อนปากมูลถาวร และปัญหาที่ดินบ้านแม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นกรณีพิพาทกับทหารมานานกว่า 10 ปีคุกรุ่นขึ้นมาอีก สะท้อนให้เห็นถึงการกลับมาของการใช้อำนาจทหารในการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างชัดเจน


 


และเหตุการณ์การใช้อำนาจทหารเพื่อจัดการความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ อาจเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย หากการผลักดัน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ...... เป็นผลสำเร็จ


 


 


ใช้อำนาจทหาร แย่งชิงทรัพยากรไปจากชุมชน


ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใน 2 พื้นที่เป็นเพียงกรณีตัวอย่างของการใช้อำนาจทหารแทรกแซงการแก้ไขปัญหาที่รัฐมีกับประชาชน หากยังจำกันได้ กรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับทหารนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ส่วนใหญ่รัฐใช้อำนาจทหารเพื่อจัดการความขัดแย้งกับประชาชนกรณีการใช้ทรัพยากรเสียเป็นส่วนใหญ่


 


เฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เช่น ในปี 2535 โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ซึ่งมีแผนการย้ายครอบครัวเกษตรกรจำนวน 250,000 ครอบครัวในพื้นที่ 352 ป่าทั่วภาคอีสานออกจากที่ดินทำกิน มีการใช้กำลังทหารเพื่อกดดันให้ประชาชนออกจากพื้นที่ ถือเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำของชาวอีสานมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะถือเป็นการใช้ความรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลายหมู่บ้านถูกกองกำลังทหารจู่โจมแบบสายฟ้าแลบ ติดอาวุธครบมือไล่ชาวบ้านออกจากชุมชน บ้านเรือน และยุ้งฉางถูกรื้อถอนออกจากเสาด้วยรถปั้นจั่นทหารขนาดใหญ่ภายในเวลาอันรวดเร็ว


 


ปี 2536-2537 ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่งในพื้นที่ภาคเหนือ ก็มีการใช้กำลังทหารในการขับไล่ชุมชนออกจากป่าอีกเช่นกัน โดยการตั้งด่าน บีบบังคับ และข่มขู่ประชาชน จนกระทั่งชาวบ้านหวาดกลัว ในที่สุดก็ต้องอพยพโยกย้ายออกจากบ้านของตนเอง เป็นต้น


 


เช่น การอพยพโยกย้ายชาวเขาเผ่าเย้า ลัวะ ลีซู ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง จ.ลำปาง มีการรื้อถอน ใช้ปืนข่มขู่ การเผาบ้านเพื่อกดดันให้ชุมชนออกจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จ.พะเยา มีการใช้กำลังทหารคุกคาม ละเมิดสิทธิชาวเขาเผ่าเย้าด้วยการเก็บเงิน รีดไถค่าผ่าด่าน ค่าขนย้ายผลผลิตทางการเกษตร และถึงขั้นละเมิดสิทธิผู้หญิงชนเผ่าด้วยการคุกคามทางเพศ เป็นต้น


 


ย้อนกลับมาดูการใช้อำนาจทหารในยุคคปค.ทั้งที่ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ ยังไม่ทันจะคลอดออกมา ก็ปรากฏว่า กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) ที่มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้อำนวยการ คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.(คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ก็เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณากรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จนทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า กอ.รมน.เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาเขื่อนปากมูล ภายหลัง กอ.รมน.เข้าร่วมประชุมก็มีผลทำให้มติ ครม.เปลี่ยนไปอย่างฉับพลันนั่นคือ ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวร ทั้งๆ ที่รัฐบาลเพิ่งจะมีมติ ครม.ไปเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ว่า ให้กำหนดวันเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในวันที่ 7 มิ.ย.ตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน


 


ที่ผ่านมาเครือข่ายชุมชน จ.อุบลราชธานีจึงทำหนังสือคัดค้านการเข้ามาแทรกแซงของอำนาจทหารโดยระบุว่า กอ.รมน.เข้ามาแทรกแซงการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนภายใต้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน. เครือข่ายชุมชนมีความเห็นว่าไม่ต้องการให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะมีเหตุผลว่าปัญหาของเขื่อนปากมูลนั้นมีความซับซ้อน คณะทหารยังไม่เข้าใจบริบทและรากเหง้าของปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานหลายสิบปี


 


ส่วนกรณีพิพาทที่ดินบ้านแม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่นั้น จู่ ๆ เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา การรบพิเศษที่ 5 จังหวัด ทหารบกเชียงใหม่ก็รื้อฟื้นคดีปัญหาที่ดินราชพัสดุระหว่างกรมรบพิเศษกับชาวบ้านแม่แรม ดำเนินคดีและต้องการให้ชาวบ้านย้ายออกที่ดินดังกล่าว 3 ราย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีข้อตกลงร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2536 ว่า ทหารรับรองว่าจะไม่ข่มขู่คุกคาม ทำลายขวัญหรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ชาวบ้านกลัวอีกอย่างเด็ดขาด


 


นอกจากนี้ทางกองทัพบกเองก็ยินยอมบอกเลิกการใช้ประโยชน์บริเวณที่ดินดังกล่าวแล้ว ทางราชการจะดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามมติ ครม.วันที่ 4 พ.ค. 2536 ต่อไป


 


หากจะว่าไป ที่ดินดังกล่าวนั้นชุมชนเองก็มีหลักฐานอยู่อาศัยกันมานาน โดยมีหลักฐานวัดอัมพวัน ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2473 ชาวบ้านในหมู่บ้านบางรายก็มีเอกสาร "ใบเหยียบย่ำ" ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 6 พ.ศ.2479 และ สค.1 ก่อนที่จะมีการเวนคืนไปเป็นที่ดินของกรมรบพิเศษทหารบกเมื่อปี 2483 เสียอีก


 


ทั้งกรณีปากมูล และแม่ริมจึงสะท้อนให้เห็นเค้าลางของการกลับมาใช้อำนาจของทหารอย่างชัดเจน สิ่งที่น่าหวาดหวั่นคือ การใช้กำลังทหารนั้นเป็นไปด้วยความชอบธรรมในนามของภาครัฐ ทั้งๆ ที่นโยบายนั้นไม่มีความเป็นธรรมกับประชาชนในพื้นที่ เท่ากับว่ารัฐกำลังใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือแย่งชิงทรัพยากรไปจากประชาชนอย่างชอบธรรมนั่นเอง


 


พ.ร.บ.รักษาความมั่นคง หรือ พ.ร.บ.ใช้อำนาจ ?


ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ...  ตามข้อเสนอของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าประชาชนหลายภาคส่วนทั้งกลุ่มคนหนุ่มสาว และองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเต็มที่ว่า การกระทำดังกล่าวนั้นมีวาระแฝงเร้นของ คมช.ที่ต้องการสืบทอดอำนาจต่อไปอีก พร้อมกับมีข้อเสนอว่าให้ยุติการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยด่วน


 


สาระสำคัญของกลุ่มองค์กรที่คัดค้านการผลักดัน พ.ร.บ.ดังกล่าวคือ ร่าง พ.ร.บ.นี้จะทำให้ ผบ.ทบ.ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน.สามารถรวมศูนย์การใช้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติแทรกแซงกระบวนการยุติทางอาญา อันเป็นการขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ยึดหลักการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน จะทำให้ ผอ.กอ.รมน.สามารถที่แต่งตั้ง หรือสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้อำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ เช่น ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามการชุมนุม ห้ามการโฆษณา และใช้อำนาจจับกุม ควบคุมตัว ปราบปราม เป็นต้น ถือเป็นการสถาปนาอำนาจของกองทัพให้มีอำนาจซ้อนกับอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง


 


ประเด็นต่อมา คือขอบเขตของคำว่า ภัยความมั่นคงที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.กว้างขวางมาก จึงเหมือนกับเปิดโอกาสให้ทหารสามารถเข้ามาจัดการและเข้าไปในทุกพื้นที่ของประเทศทั้งภูมิภาคและระดับจังหวัด


นอกจากนี้ กอ.รมน.ยังมีอำนาจแทรกแซงการสอบสวนได้ สามารถเรียกข้อมูลการสอบสวนทางอาญาตามมาตรา 31


 


นายไพโรจน์ พลเพชร จากสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแสดงความเป็นห่วงในประเด็นที่ห้ามมีการตรวจสอบโดยศาลปกครอง นั่นหมายความว่าการใช้อำนาจของกองทัพ หรือเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.นี้ไม่ต้องรับความผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เท่ากับมีอำนาจสูงล้นซึ่งผิดหลักนิติธรรม


 


ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของประเทศไทย เป็นการออก พ.ร.บ.ที่ไม่ได้มาจากการกลัวภัยก่อการร้าย แต่เป็นความพยายามที่มาจากอำนาจภายในมากกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะออกกฎหมายแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง ผ่านการถกเถียงมาแล้ว ไม่สามารถออกกฎหมายแบบนี้ได้เพราะขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ท้ายที่สุดก็สามารถผลักดันได้ในรัฐบาลชุดนี้ ถือเป็นความพยายามที่รักษาโครงสร้างของ กอ.รมน.ไว้เท่านั้นเอง


 


ระหว่างนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองที่สำคัญของประเทศ หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงอย่างมากต่อการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว สาระของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งนี้ คงไม่ได้อยู่เพียงแค่รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และไปเลือกตั้งแค่นั้น เพราะหาก ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวสามารถผ่านได้ในรัฐบาลชุดนี้ ก็เท่ากับว่าประเทศไทยกำลังถอยหลังลงคลองอย่างแท้จริง ต่อให้มีรัฐธรรมนูญที่สวยหรู วิเศษสุดเพียงใด ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะสามารถละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างหนัก และเป็นการสืบทอดอำนาจของ "ทหาร" ที่เราไม่ควรมองข้าม


 


กรณีที่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยกับการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นคนละเรื่องโดยสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ประชาชนหวาดหวั่นนั้นคือ การกลับมาของอำนาจทหารที่คุกคาม และเอารัดเอาเปรียบประชาชนมากกว่า


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net