Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


 



 


นานพอควรที่ธุรกิจ "สปา" เฟื่องฟูในเมืองไทย โดยมาพร้อมกับคอนเซ็ปท์ สวย - สุขภาพดี - มีระดับ  ให้บริการกันตั้งแต่แบบหรูพอควร หรูมาก ไปจนถึงหรูไม่ลืมหูลืมตา


 


ในยุคที่เรื่องของสุขภาพและธรรมชาติเดินไปคู่กันในระบบตลาด "สปา" คือคำตอบที่ใครๆ ก็อยากไปใช้บริการผ่อนคลาย บำบัด สุขภาพ-อารมณ์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงมันได้


 


เกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ เป็นคนอีกกลุ่มที่เข้าถึง "สปา" ได้ แม้ว่ารายได้ของอาชีพนี้จะน้อยนิด และน้อยต่อเนื่องยาวนาน …


 



 



ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร อยู่บนถนนสุรินทร์-สิขรภูมิ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 4 กม. เลี้ยวไปทางบ้านหนองไซประมาณ 300 เมตร


 


"ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร" คือคำตอบของชาวบ้านในการเข้าถึงบริการสุขภาพและความงาม ที่นี่มีห้องเซาว์น่า (อบสมุนไพร) ให้บริการราคาย่อมเยาว์เพียงครั้งละ 50 บาท


 


ภาพลุงป้าน้าอานุ่งผ้าขาวม้า กระโจมอกเข้าห้องอบเหมือนในประเทศญี่ปุ่นมีให้เห็นชินตา และที่นี่ปล่อยให้อบกันจนพอใจ โดยมีสมุนไพร 10 กว่าชนิดในหม้อต้มที่บำรุงช่วยผิวพรรณ รักษาโรคหวัด โรคปวดเมื่อย อาการอ่อนเพลีย ภูมิแพ้ ฯ  


 



 



 


ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่ใช่ "สปา" แบบที่คนกรุงเทพฯ เข้าใจ ความเป็นมาของมันมีมายาวนานกว่า 10 ปี และดำรงอยู่อย่างหลากมิติกว่าที่เราเห็น เชื่อมโยงทั้งเรื่องปากท้อง สุขภาพ ธรรมชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น


 


เรื่องราวเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2523 เมื่อ "ลุงเอียด ดีพูล" นักพัฒนารุ่นบุกเบิกเริ่มเข้ามาในพื้นที่สุรินทร์ทำงานร่วมกับพระสงฆ์ในพื้นที่อีก 22 รูป ในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง พัฒนาสวัสดิการชุมชน เช่น การตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารข้าว ฯลฯ  จนกระทั่งปี 2534 พระอาจารย์นักพัฒนาท่านหนึ่งจึงยกระดับองค์กรเป็นนิติบุคคล "มูลนิธิพิพิธประชานารถ" ดำเนินการส่งเสริมเกษตรธรรมชาติ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี


 


"เขาใช้พุทธประเพณีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา มีการรื้อฟื้นประเพณีเก่าๆ ที่มีประโยชน์ต่อชุมชนขึ้นมา เช่น งานบุญข้าวเปลือก พระที่ชาวบ้านศรัทธานับถือก็ถึงกับขอบิณฑบาตกับชาวบ้านเพื่อให้เลิกใช้สารเคมี ชาวบ้านก็ลองทำเล็กๆ น้อยๆ พอเห็นว่าได้ผลก็ทำเพิ่มขึ้น และเริ่มขยายไปสู่คนอื่นๆ" ชัชวาล ชูวา หรือ พี่แทะ หัวหน้าศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร เล่าให้ฟัง


 


ยุทธการนี้เรียกว่า "คืนชีวิตให้แผ่นดิน" ปัจจุบันมีชาวบ้านร่วมโครงการ 108 ครอบครัวใน 22 หมู่บ้าน


 


หลังจากนั้นจึงมีการตั้งศูนย์กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เน้นการพัฒนาศักยภาพการทำเกษตรธรรมชาติ สอดรับกันพอดีกับนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดในปี 2542 ที่ต้องการให้สุรินทร์เป็น "เจ้าพ่อเกษตรอินทรีย์" พร้อมกับมีการฟื้นฟูแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมอันมีอยู่อย่างมากมายในพื้นที่สุรินทร์


 


"หมอยา เป็นผู้ที่มีบทบาท และมีประโยชน์มากสำหรับชุมชน ตอนนี้ก็ยังพบเห็นมีอยู่ในแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2-3 คน แต่ละคนก็จะเก่งในการรักษาโรคแตกต่างกันไป" พี่แทะว่า


 


ที่น่าสนใจคือการเริ่มต้นเป็น "ฝ่ายรุก" โดยยกระดับศักยภาพของแพทย์พื้นบ้านให้เป็นที่ยอมรับ โดยนำตำรับยาสมุนไพรที่รวบรวมมาได้จากหมอยา มาศึกษาวิจัย จัดสัมมนาร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้มีคำรับรองในทาง "วิทยาศาสตร์" ว่ายาแต่ละตำรับนั้นมีประสิทธิภาพรักษาโรคต่างๆ ได้จริง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคมสมัยใหม่


 



 



 


หลังจากที่ยกระดับความน่าเชื่อถือกันสำเร็จ ในปี 2541 ศูนย์ฯ ยังเริ่มต้นเป็นผู้รับซื้อสมุนไพรจากชาวบ้าน และเป็นตัวกลางในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ซึ่งหันมาสนใจด้านสมุนไพรเป็นลูกค้ารายใหญ่ บทบาทที่ครบวงจรของศูนย์แห่งนี้น่าเป็นปัจจัยให้โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การส่งเสริมการปลูกสมุนไพร การฟื้นฟูแพทย์พื้นบ้านเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน


 


"ชาวบ้านแทนที่จะทำเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว ก็มีการปลูกพืชสมุนไพรแซมด้วย นอกจากจะไว้ใช้เองแล้ว ยังเป็นรายได้เสริมของชาวบ้าน"


 


"ตอนนี้โครงการปลูกสมุนไพรคนสนใจเยอะ แต่ลำบากในการตรวจเยี่ยมแปลง การจัดการ เพราะต้องทำกันจริงจังได้มาตรฐาน" หัวหน้าศูนย์ฯ กล่าว


 


ปัจจุบัน ศูนย์ตะบัลไพรรับซื้อสมุนไพร 70 ชนิด มียา 65 ตำรับ ทั้งยาต้ม ยาผง ยาเม็ด น้ำมัน ฯ นอกจากนี้ยังมีการอบรมอาชีพหมอนวดให้แก่ชาวบ้านด้วย ตอนนี้มีประมาณ 200 คน และหมอที่นวดเพื่อการรักษาอีกประมาณ 20 คน ตั้งแต่นวดจับเส้น นวดยกมดลูก นวดรักษาสมรรถภาพทางเพศเสื่อม นวดให้เด็กเอาหัวลงก่อนคลอด โดยองค์ความรู้ส่วนใหญ่ก็เป็นการเข้าไปศึกษากับหมอยาตามหมู่บ้านนั้นเอง


 


นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ยังมีการทำโครงการฟื้นฟูป่าชุมชนในพื้นที่ป่า 6 แห่งของจังหวัดสุรินทร์ เพราะยาสมุนไพรหลายตัวไม่สามารถนำมาเพาะปลูกเองได้ ต้องเก็บจากป่าสถานเดียว เช่น เถาวัลย์เปรียง โด่ไม่รู้ล้ม กำแพงเจ็ดชั้น ฯลฯ


 


ถึงวันนี้เป็นเวลา 10 กว่าปี ต้นไม้ป่า พืชสมุนไพรในศูนย์ฯ เติบใหญ่ให้ร่มเงาเย็นครึ้ม ทุกวันนี้มันเป็นพื้นที่ที่เป็นทั้งศูนย์กลางองค์ความรู้ การสร้างรายได้ ตลอดจนสปาบริการชุมชน


 


เป็น "สปา" ที่เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่คุณภาพชีวิต สุขภาพ ของผู้คนและธรรมชาติข้างเคียงเป็นเรื่องสำคัญ


 


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net