Skip to main content
sharethis

 


1. สถานการณ์ในประเทศพม่า


1.1  กลุ่มนักเคลื่อนไหวประท้วงต่อต้านภาวะเงินเฟ้อของพม่า


กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านภาวะเงินเฟ้อของพม่า วางแผนจัดพิธีทางพุทธศาสนาในกรุงย่างกุ้งในวันที่ 15 ก.ค. เพื่อประท้วงปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ


"กลุ่มเพื่อการลดราคาสินค้า" แจกใบปลิวเรียกร้องให้ประชาชนร่วมพิธีดังกล่าวที่วัดธาร์ธานาโกเน เพื่อถวายจีวรแด่พระสงฆ์และประท้วงภาวะเงินเฟ้อ แกนนำประท้วงคือ นายวิน แนง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยจัดการชุมนุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อประท้วงราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น การตัดไฟฟ้าบ่อยครั้ง การทุจริต และการบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด ส่งผลให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ประท้วงไปหลายคน


นายวิน แนง เป็นแกนนำประท้วงรัฐบาลโดยพุ่งเป้าที่ความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ มากกว่าประเด็นทางการเมือง เช่น การกักบริเวณนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน


ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 เมื่อผู้นำทหารปรับเงินเดือนข้าราชการขึ้นถึง 500% แม้รัฐบาลประเมินอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 10.7% แต่สถานทูตตะวันตกมองว่าน่าจะอยู่ที่ระดับเกือบ 50% ด้านนักวิจัยการตลาดในย่างกุ้ง คาดว่าราคาข้าวสารคุณภาพสูงเพิ่มขึ้น 100% เมื่อปีที่แล้ว ส่วนราคาพริกพุ่งขึ้น 200% ราคาพริกไทยทะยานขึ้น 300% และราคาหอมหัวใหญ่สูงขึ้น 250%


ทั้งนี้การประท้วงไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนักในพม่า ซึ่งอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกตั้งแต่ปี 2531 และห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะเกินกว่า 5 คนหากไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ


 (กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14/07/2550)


 


 


2. การค้าชายแดน


2.1 ซีพีลงทุนในพม่าตั้งโรงงานอาหารสัตว์ แปรรูปไก่


นายบุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ รองกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนากลยุทธ์และธุรกิจ เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี กล่าวในงานสัมมนาเรื่องความร่วมมือการปศุสัตว์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน : หุ้นส่วนการพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันว่าการลงทุนของซีพีในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิเช่น พม่า กัมพูชา และลาว เริ่มต้นด้วยการเข้าไปสนับสนุนปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก


ในส่วนของพม่า ซีพีได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานอาหารสัตว์และโรงงานแปรรูปไก่ ปัจจุบันการผลิตภัณฑ์เนื้อไก่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในพม่าเช่นเดียวกับสินค้าไก่ย่าง ไก่ทอดห้าดาว ปัจจุบันซีพีมีโรงงานอยู่ 4 แห่ง สามารถผลิตไก่เนื้อได้ 19 ล้านตัวต่อปี ไก่ไข่ 5.4 ล้านตัวต่อปี มีสาขาการจำหน่ายอยู่ 15 สาขา ถือว่าเป็นนักลงทุนข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดในพม่าขณะนี้


การลงทุนผลิตอาหารในพม่านั้นต้องพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยหรือฟู้ดเซฟตี้อีกมาก นอกจากนี้การลงทุนในพม่ายังมีปัญหามากมาย เช่น ระบบการเงิน การธนาคาร ยังไม่เป็นสากล อยู่ระหว่างการควบคุมของรัฐ ต้องใช้ธนาคารในท้องถิ่นเท่านั้น การนำเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าไปยังมีเงื่อนไขต้องส่งออกสินค้าเท่ากับมูลค่าเงินที่นำเข้า ขณะที่การค้าขายในประเทศต้องทำรายการจ่ายและเก็บเป็นเงินสดไม่สามารถนำไปเข้าธนาคารได้ทันที


นอกจากนี้ยังมีระบบการศึกษาที่ยังล้าหลังทำให้ขาดแคลนบุคลากรด้านปศุสัตว์ เช่น สัตวแพทย์ สัตวบาล ระบบการปกครองยังเป็นระบบแบบเผด็จการ ไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศแถบตะวันตกทำให้เกิดการแซงชั่น ระบบสาธารณูปโภคการนำเข้าสินค้ายังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก


(กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14/07/2550)


 


2.2 ทุนต่างชาติหวังปักหลักระนอง ล่าสุดทุนสแกนดิเนเวียทุ่ม 100 ล้านผุดศูนย์บริการดำน้ำเกาะพยาม 


นายกฤษณะ เอี่ยมวงศ์นที ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง เปิดเผยว่าขณะนี้กลุ่มทุนต่างชาติที่เคยปิดบริษัทและสำนักงานย่อยในระนอง เมื่อช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพื่อเข้าไปเปิดสาขาในเขตจังหวัดทวาย และมะริดในเขตพม่าแทน อันเป็นผลจากการส่งเสริมการลงทุนและนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศพม่า แต่ปรากฏว่าจากปัญหาด้านสาธารณูปโภค การคมนาคม การทำธุรกรรมการเงิน ที่ยังขาดความพร้อม ทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติหลายรายได้หวนกลับมาเปิดสาขาในระนองอีกครั้ง


กลุ่มทุนหลักที่เคยมีสาขาในระนองและได้ปิดกิจการ เพื่อไปเปิดในพม่าแทนทั้งเกาหลีใต้,มาเลเซีย,ใต้หวัน,ฮ่องกง และสิงคโปร์ ได้หันกลับมาเปิดสาขาในเขตพื้นที่ระนองอีกครั้ง โดยจากการสอบถามผู้ประกอบการหลายรายกล่าวว่า ในเขตพื้นที่พม่ามีข้อดี คือ ต้นทุนวัตถุดิบถูกกว่าฝั่งไทยมาก แต่ข้อเสีย คือ ปัญหาการขนส่ง,ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในเขตฝั่งไทยจะสะดวกกว่า รวมถึงขั้นตอนการซื้อขาย นำเข้า ส่งออกพม่าจะมีกฎระเบียบที่ยุ่งยากมาก นอกจากกลุ่มเดิมจะหวนกลับมาแล้ว ทราบว่าตอนนี้มีกลุ่มทุนใหม่ๆให้ความสนใจเข้ามาลงทุนหรือเปิดสาขาในระนอง ทั้งจากจีนที่เตรียมมาเปิดจุดรับซื้อสัตว์น้ำ บังกลาเทศที่จะตั้งฐานรับซื้อสินค้าด้านการเกษตร หรือประเทศในยุโรปที่เข้ามาในด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะพยาม จังหวัดระนอง มีรีสอร์ทที่ลงทุนโดยชาวยุโรปมากกว่า 10 รีสอร์ท เนื่องจากเป็นจุดท่องเที่ยวที่ชาวยุโรปชื่นชอบ รวมถึงสามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวยังพม่าได้สะดวก


นายคริสเตอร์ ซูดิน (Mr.Krister Sudin) เจ้าของกิจการธุรกิจดำน้ำใหญ่อันดับ2 ของประเทศสวีเดน ภายใต้ชื่อ Own Flyingdivers เปิดเผยว่าตนเป็นอีกคนหนึ่งที่เคยเดินทางเข้าไปยังพม่า เพื่อเปิดสาขาการให้บริการดำน้ำ เนื่องจากพม่ามีแหล่งดำน้ำที่ขึ้นชื่อหลายแหล่ง แต่ปรากฏว่ายังมีความเสี่ยงเกินไปที่จะเข้าไปลงทุน รวมถึงความไม่ชัดเจนในนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นการลงทุนในเขตไทยยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่า


ปัจจุบันพม่ามีจุดดำน้ำหลายจุดที่สวยงามติดอันดับโลก แต่การเข้าไปสร้างฐานธุรกิจในประเทศพม่า ยังอยู่ในภาวะที่เสี่ยงเกินไป ดังนั้นการหาฐานทำเลที่ตั้งในฝั่งไทย ที่สามารถเป็นศูนย์กลางในการให้บริการได้ทั้งในเขตพื้นที่ฝั่งไทย และพม่า จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งบริเวณพื้นที่เกาะพยาม เขตพื้นที่จังหวัดระนองถือว่า เป็นจุดที่มีคุณสมบัติศักยภาพ ในการที่จะสร้างเป็นจุดพักถ่ายนักท่องเที่ยวที่ชอบการดำน้ำ อีกทั้งมีลักษณะสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสำหรับเป็นศูนย์กลางการดำน้ำในย่านทะเลอันดามัน และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งใหม่ เพราะสามารถใช้เป็นจุดศูนย์กลางในการเดินทางไปยังสถานที่ดำน้ำทั้งฝั่งไทยและพม่าได้ภายในระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง


ดังนั้นจึงได้ร่วมกับกลุ่ม Padi ซึ่งเป็นผู้ให้การฝึกสอนการดำน้ำอันดับหนึ่งของโลก ดำเนินการก่อสร้างศูนย์บริการดำน้ำครบวงจรขึ้นที่เกาะพยาม จังหวัดระนอง ซึ่งมีทั้งที่พัก ศูนย์การฝึกการดำน้ำ ท่าเรือ รวมถึงเรือบริการ บนที่ดินจำนวน 48 ไร่ เพื่อก่อสร้างรีสอร์ทชื่อ Sunset Lodge รองรับนักท่องเที่ยวจำนวน 40 ห้อง พร้อมเตรียมสร้างลานฝึกการดำน้ำ รวมถึงการสั่งต่อเรือสำหรับให้บริการรับขนนักท่องเที่ยวไปยังจุดดำน้ำ โดยใช้งบประมาณในเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท คาดในช่วงปลายปีนี้คงจะเริ่มเปิดให้บริการได้ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเขตตัวเมืองระนอง


ปัจจุบันการท่องเที่ยวในรูปแบบการดำน้ำเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศแสกนดิเนเวีย ซึ่งประกอบด้วยเดนมาร์ก นอรเวย์ ฟินแลนด์ และสวีเด็นเป็นอย่างมาก เพราะประเทศดังกล่าวมีภูมิอากาศที่เย็นจัด ในขณะที่ทะเลย่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นทะเลน้ำอุ่น จึงเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศดังกล่าวเป็นอย่างมาก รวมถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ก็เป็นอีกกลุ่มที่ให้ความสนใจ แต่ที่ผ่านมากลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเข้ามายังภูเก็ต หมู่เกาะสุรินทร์ เกาะเต่า เกาะสิมิลันกว่า 90% เพราะคุ้นเคยเป็นที่รู้จัก และระบบการคมนาคมสะดวก


อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าจากศักยภาพโดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลทั้งปะการัง และสัตว์น้ำในเขตประเทศพม่า จะทำให้นักท่องเที่ยวแห่เข้ามาในเขตย่านพื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก โดยมีจุดเด่น คือ สามารถเป็นศูนย์กลางสามารถเที่ยวได้ทั้งฝั่งไทยและพม่า โดยการเดินทางไปยังเกาะสุรินทร์ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง เกาะสิมิลัน 2.30 ชั่วโมง ส่วนในเขตประเทศพม่าขณะนี้นิยมเดินทางครั้งละ 5 วัน ซึ่งจะมีทั้งการดำน้ำ และท่องเที่ยวอื่นๆ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าเกาะพยามจะอีกจุดที่มีชื่อเสียงในการท่องเที่ยวในรูปแบบการดำน้ำอีกแห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 


(ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2234 12-14 ก.ค. 2550)


 


2.3 ยุทธศาสตร์ไทย-พม่า ถึงเวลาต้องทบทวน 


ประเทศไทยกับพม่าได้กำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างกัน 5 สาขา คือ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Facilitation) ความร่วมมือทางด้านเกษตรและอุตสาหกรรม (Agricultural and Industrial Cooperation) การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม (Transport Linkages) การท่องเที่ยว (Tourism Cooperation) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)แต่ปรากฏว่าช่วง 1-2 ปี แต่ละยุทธศาสตร์แทบไม่มีความคืบหน้า สำนักยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลเพราะเหตุใดยุทธศาสตร์เหล่านี้จึงไม่เดินหน้า อะไรคือปัญหาและอุปสรรค ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ฯอยู่ระหว่างทำการประเมินผล


อย่างไรก็ดีจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่น่าสนใจ และทั้งสองประเทศน่าจะได้ร่วมมือกันในด้านต่างๆ ผมขอเริ่มต้นด้วยการนำท่านให้ทราบถึงการค้าของไทยและพม่า ซึ่งพบว่าไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปพม่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลในปี 2550 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยมีมูลค่าส่งออกไปพม่า 13,704 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 7.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สินค้าที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปพม่ามากที่สุดคือ น้ำมันสำเร็จรูป สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยจากพม่า ปี 2550 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยมีมูลค่าการนำเข้าจากพม่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน โดยลดลงร้อยละ 69.87 จากช่วงเดียวกันปี 2549 หรือมีมูลค่านำเข้าเหลือเพียง 9,693 ล้านบาท สินค้าที่ไทยนำเข้าจากพม่ามากที่สุดคือ ก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ถ้าพิจารณาดุลการค้าของไทยกับพม่าพบว่าไทยขาดดุลการค้ากับพม่ามาโดยตลอดจนกระทั้งในปี 2550 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยกลับมาเกินดุลกับพม่า จากการนำเข้าที่หดตัวลงอย่างรุนแรง


ในส่วนของการค้าชายแดนพบว่าพม่าได้เปิดประเทศสู่ระบบการค้าเสรีและได้เปิดจุดการค้าที่สำคัญกับไทย 3 จุด คือ ด่านศุลกากรแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตรงกับด่านท่าขี้เหล็กของพม่า ด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก ตรงกับด่านเมียวดีของพม่า และด่านศุลกากรระนอง จังหวัดระนอง ตรงกับด่านเกาะสองของพม่า ทำให้มูลค่าการค้าขายของไทยกับพม่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น


ส่วนการลงทุนในสหภาพพม่านั้นมี 2 ส่วน คือ การลงทุนโดยนักลงทุนพม่า และการลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งโครงการที่ลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิต ปศุสัตว์ ประมงและโรงแรม เป็นต้น โดยที่นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในพม่าได้ด้วยเงินทุนของตนเองทั้งหมด 100% ในรูปแบบที่ต่างชาติเป็นเจ้าของ (100% foreign owned) หรือการลงทุนร่วม (joint venture) ระหว่างนักลงทุนชาวต่างชาติ กับองค์กรธุรกิจในประเทศพม่า โดยนักลงทุนจากต่างประเทศจะต้องมีสัดส่วนในการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ของเงินทุนทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้นักลงทุนจากต่างประเทศจะต้องลงทุนขั้นต่ำ สำหรับภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในพม่าที่ผ่านมาเป็นการลงทุนในสาขาพลังงาน ซึ่งได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ประมง โรงแรมและการท่องเที่ยว และการแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม


อย่างไรก็ตามพม่าได้ออกกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งส่งผลทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับพม่า ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ นั่นคือ การที่กระทรวงพาณิชย์พม่า ห้ามนำเข้าสินค้าในรูปแบบการค้าปกติทางทะเล จำนวน 15 รายการ ซึ่งประกอบด้วย ผงชูรส น้ำหวานและเครื่องดื่ม ขนมปังกรอบทุกชนิด หมากฝรั่ง ขนมเค๊ก ขนมเวเฟอร์ ช็อกโกแลต อาหารกระป๋อง (เนื้อสัตว์และผลไม้) เส้นหมี่ทุกชนิด เหล้า เบียร์ บุหรี่ และผลไม้สดทุกชนิด


รัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อสงวนเงินตราต่างประเทศและคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ นอกจากนี้การเปิด L/C เพื่อนำเข้าสินค้ามาขายในพม่า ต้องเป็นเงินที่ได้จากการส่งออกเท่านั้นและมีการกำหนดเพดานการนำเข้า ไม่เกินปีละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบริษัท ปัญหาการเรียกเก็บเบี้ยใบ้รายทางเป็นจำนวนมากจากรถบรรทุกสินค้าก็เป็นปัญหาหนึ่งที่การขนส่งสินค้าจากชายแดนเข้าไปยังกรุงย่างกุ้งทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนสูง และปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย ทำให้ไม่มีความปลอดภัยตามแนวชายแดนไทยกับพม่า


หากทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันภายใต้ยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นหากได้ประเมินปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์แล้ว การค้า-ลงทุนไทยกับพม่า หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทย จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ 


 (ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2233 8- 11 ก.ค. 2550)


 


 


3. แรงงานข้ามชาติ


 


3.1 ตั้งศูนย์ปราบมาลาเรียชายแดนแม่ฮ่องสอน 25 แห่ง


กระทรวงสาธารณสุขพบแรงงานต่างด้าวที่อยู่ติดชายแดนไทย-พม่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอนป่วยเป็นโรคมาลาเรีย เร่งควบคุมโดยการตั้งศูนย์ปราบโรคในชุมชนในพื้นที่ห่างไกล 25 แห่ง


นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของพนักงานสุขภาพชุมชนชายแดนที่บ้านป่าไม้ลัน ตำบลปางมะผ้า และเยี่ยมการปฏิบัติงานของพนักงานมาลาเรีย พร้อมทั้งแจกมุ้งชุบน้ำยาเคมีใหชาวบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงก้นปล่องกัด และกล่าวว่ามาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และมักพบบริเวณชนบท ป่าเขา


โดยสถานการณ์มาลาเรียทั่วประเทศในปี 2549 พบผู้ป่วย 30,338 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมาลาเรียกระจายอยู่ในบริเวณ 30 จังหวัดชายแดน 27,544 ราย พบมากที่สุดในจังหวัดที่อยู่ชายแดนไทย-พม่า โดยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนพบผู้ป่วยโรคมาลาเรีย 2,411 ราย มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศรองจากจังหวัดตากและยะลา และในปี 2547 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนโลก เพื่อป้องกันและควบคุมโรคมาลาเรีย 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2548 -2552 เป็นเงิน 227 ล้านบาท โดยจัดสรรให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนควบคุมโรคในพื้นที่จำนวน 16 ล้านบาท ด้วยการจัดตั้งศูนย์มาลาเรียชุมชนในพื้นที่ที่มีไข้มาลาเรียชุกชุมทั้งหมด 25 แห่ง เพื่อตรวจรักษาโรคในหมู่บ้าน โดยศูนย์ดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่บริการชุบมุ้งด้วยสารเคมี ตรวจเชื้อทางกล้องจุลทรรศน์ หากพบเชื้อจะให้การรักษาทันที ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ทั้งนี้ตั้งเป้าลดอัตราป่วยมาลาเรียและอัตราตายไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี


(สำนักข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 13/07/2550)


 


3.2 เปิดโรงเรียนสอนเด็กข้ามชาติเป็นจำนวนมากในแม่สอด 


นายกิตติพงษ์ พิพัฒน์ศิวพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 (สพท.ตาก เขต 2 ) บอกว่าขณะนี้มีสถานศึกษาที่เปิดสอนเด็กต่างด้าวสัญชาติพม่าในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพิ่มมากขึ้น จากตัวเลขปี 2548 มีจำนวนกว่า 30 แห่ง ปี 2549 จำนวน 50 แห่ง และในปี 2550 มีแนวโน้มสูงขึ้นและทราบว่าเพิ่มขึ้นกว่า 50 แห่งแล้ว โดยสถานศึกษาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ในจำนวนนี้มีบางแห่งสอนภาษาไทย แต่บางแห่งไม่ได้สอนภาษาไทย แต่ทางราชการได้ส่งเสริมให้สอนภาษาไทยเพื่อให้เด็กพม่าเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีของไทย


ในปัจจุบันนี้สถานศึกษาที่สอนเด็กพม่าเริ่มเปิดตัวมากขึ้นเพราะต้องการให้ทางราชการรับจดทะเบียนให้ถูกต้อง แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการยังไม่อนุมัติ หากอนุมัติรัฐจะต้องจัดเงินอุดหนุนให้เท่ากับโรงเรียนเอกชนทั่วไป ขณะเดียวกันสิ่งที่เด็กต่างด้าวต้องการ คือ ต้องการวุฒิบัตร เมื่อเด็กเรียนจบ ซึ่งยังไม่สามารถออกให้ได้


ปัญหาที่สำคัญในขณะนี้ คือ มีเด็กต่างด้าวเข้าไปเรียนในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐหลายแห่ง เริ่มมีปัญหาเกิดขึ้น โดยไปรั้งให้นักเรียนไทยเรียนช้าไปด้วย เพราะพื้นฐานทางการศึกษา หรือที่มาแตกต่างกัน อีกทั้งปัญหาของสถานศึกษาของคนต่างด้าว คือครูผู้สอนมักถูกตำรวจจับ เพราะไม่บัตรคนเข้าเมือง ซึ่งขณะนี้มีเด็กนักเรียนต่างด้าวอยู่ในอำเภอแม่สอดทั้งหมด ราว 5,000 คน


(สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 13/07/2550)


 


3.3 กำนันผู้ใหญ่บ้านชุมพรร้อง ประกาศกฎอัยการศึกไม่รู้ตัว เหตุมีแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จำนวนมาก


นายสุวโรช พะลัง อดีตส.ส.ชุมพร กล่าวว่า ตนได้รับคำร้องเรียนจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหลายคน ว่าระหว่างการประชุมประจำเดือนก.ค.นี้ มีคณะนายทหารกล่าวในที่ประชุมว่า ระหว่างนี้ จ.ชุมพร ใช้กฎอัยการศึก ดังนั้นถ้าจะต้องเดินทางในช่วงเวลากลางคืน ขอให้แจ้งต่อชาวบ้านว่าต้องขออนุญาตหน่วยทหารในพื้นที่ นอกจากนั้นก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดอะไรอีก ทำให้กำนันผู้ใหญ่บ้านตกใจ เพราะเป็นการประกาศใช้กฎอัยการศึกแบบไม่เปิดเผย เกิดความวิตกกังวลว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร


เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญมาก การประกาศใช้กฎอัยการศึกด้วยการบอกในที่ประชุมประจำเดือนของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ชาวบ้านสับสน เช่น พื้นที่ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกมีจุดไหนบ้าง และที่ผ่านมาเหตุการณ์ต่างๆ ในพื้นที่จ.ชุมพร ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ชาวบ้านแทบทั้งหมดให้การสนับสนุนรัฐบาล ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทำไมต้องใช้กฎอัยการศึก


ต่อมาผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายสุวัฒน์ ตันประวัติ ผวจ.ชุมพร กล่าวว่า ตามปกตินั้นพื้นที่ที่อยู่ติดชายแดนทั่วประเทศ มักมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่แล้ว เพื่อให้การควบคุมดูแลมีความสะดวกและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารรักษาความสงบเรียบร้อยได้อย่างเต็มที่ แต่จ.ชุมพรนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นการใช้กฎอัยการศึกที่เพิ่งประกาศใหม่หรือไม่ คงต้องขอตรวจสอบก่อน เพราะเพิ่งรับตำแหน่งผวจ.ชุมพรได้ไม่ถึง 2 เดือน


รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่มีการประกาศกฎอัยการศึก เป็นเพราะจ.ชุมพร มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศพม่า ระยะทางยาวร่วม 100 ก.ม. ในขณะนี้เกิดปัญหาการรุกล้ำแดนจากพม่าทำให้ไทยเสียพื้นที่บางส่วนไป และมีการอพยพชาวต่างด้าวมาตั้งถิ่นฐานมากขึ้นอย่างผิดปกติ นอกจากนั้นหลังจากพ้นระยะเวลาลงทะเบียนของแรงงานต่างด้าวแล้ว ปรากฏว่ามีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาตามรอยตะเข็บจำนวนมาก รวมถึงขบวนการขนยาเสพติดและอาวุธสงคราม มีการเคลื่อนไหวอย่างหนัก ทำให้ปัญหาด้านความมั่นคงขยายตัวมากขึ้น แม่ทัพภาค 4 จึงตัดสินใจประกาศให้พื้นที่จ.ชุมพร บางพื้นที่เป็นเขตกฎอัยการศึก แต่การไม่ประกาศอย่างเปิดเผย ทำให้ประชาชนสับสน 


 (ข่าวสด วันที่ 12/07/2550)


 


3.4 ปัญหาแรงงานเข้าขั้นวิกฤติ 7จังหวัดอันดามันขาดแคลนหนัก 


แรงงานเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการพัฒนาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้สามารถขับเคลื่อนและสู้กับการแข่งขันในตลาดได้ ประเทศไทยแม้ว่าจะมีจำนวนประชากรภายในประเทศมากกว่า 60 ล้านคน แต่ปรากฏว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงาน กลับกลายเป็นปัญหาสำคัญต่อการพัฒนาภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมาโดยตลอด และเป็นช่องว่างให้แรงงานจากประเทศใกล้เคียงไหลทะลักเข้ามาในประเทศ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการวางรากฐานด้านแรงงานของประเทศ ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในภาคการผลิต จนส่งผลให้นักศึกษาจบใหม่มีอัตราการว่างงานที่สูง ทั้งที่ตำแหน่งงานภายในประเทศมีอัตราว่างนับแสนอัตรา ยิ่งทางสมาคมอุตสาหกรรมไทย (สอท.)ออกมาตอกย้ำข้อมูลล่าสุดด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นแนวนโยบาย และทิศทางเรื่องแรงงานของไทยว่า การพัฒนายังไม่สอดคล้องกับความต้องการ


 


แรงงานระดับล่างยังต้องการสูง


จากการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเข้มข้น และรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทย มักใช้จุดความได้เปรียบด้านค่าแรงที่ต่ำกว่าเป็นจุดสำคัญในการต่อสู้กับสินค้าจากไทย ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทย จำเป็นจะต้องนำเข้าแรงงานค่าแรงต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาอยู่ในสายการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจากข้อมูลของคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนราษฏรต่อกรณีการศึกษาแนวทางแก้ไขแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองพบว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวแฝงตัวทำงานอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 700,000 -1,000,000 คน โดยอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตประมาณ 200,000 คน ที่เหลือกระจายตามบ้านเรือน อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ภาคการเกษตร ประมง และรอการเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม


นายวสันต์ สาธร ผู้อำนวยการศูนย์บริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพะอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอย่างหนัก ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า สปป.ลาว และกัมพูชา มีแรงงานที่ตกงานและต้องการงานทำอยู่จำนวนมาก จึงเกิดภาวะการณ์ไหลบ่าของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าหลายคนจะมองว่า เป็นสิ่งปกติที่แรงงานในประเทศด้อยกว่าจะไหลมายังประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า แต่การเข้ามาเป็นจำนวนมากของแรงงานต่างด้าว ส่งผลให้ยากต่อการควบคุมดูแล ทำให้เกิดปัญหาทางด้านความมั่นคง สังคม การศึกษา และสาธารณสุข รวมถึงปัญหาการสิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐในการจัดการควบคุมดูแล และยากแก่การผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางในอนาคต


นายกฤษณะ เอี่ยมวงศ์นที ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง และรองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กล่าวว่า จากการร่วมประชุมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ทราบว่า ขณะนี้ปัญหาใหญ่ที่กลุ่มผู้ประกอบการในภาคการผลิตวิตกกังวลในตอนนี้ ปัญหาใหญ่ไม่ใช่ปัญหาการเมือง หรือเศรษฐกิจอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่ปัญหาที่สร้างความหนักใจมากที่สุด คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานประเภททักษะฝีมือ และแรงงานทั่วไป อีกปัญหาที่กังวลอีกเรื่อง คือ เรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น


การขาดแคลนแรงงานแนวโน้มจะเป็นปัญหาสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหันมาร่วมมือกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ไม่เช่นนั้นอาจจะมีผลให้ภาคอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีแรงงานรองรับอยู่ได้ โดยเฉพาะภาคนิคมอุตสาหกรรม 34 แห่งที่กระจายอยู่ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงภาคการผลิตนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีความต้องการแรงงานเพิ่มกว่า 100,000 คนในขณะนี้


 


7 จังหวัดอันดามันวิกฤติหนัก


นายพรชัย อยู่ประยงค์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในระหว่างการเดินทางมาเป็นประธานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนว่า ปัจจุบันเกือบทุกจังหวัดในฝั่งอันดามัน มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานระดับล่าง เช่น พนักงานล้างจาน พนักงานเสิร์ฟ และแม่บ้านทำความสะอาด ขาดแคลนหนัก ซึ่งทางกระทรวงแรงงานกำลังหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการนำเสนอไปยังสถาบันการศึกษาในการจัดหลักสูตรการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่อันดามัน ซึ่งจะแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้


นายนิตย์ อุ่ยเต็คเค่ง นายกสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ภายหลังจากเหตุการณ์สึนามิ ทำให้โรงแรมต่างๆในพื้นที่อันดามันขาดแคลนแรงงานระดับล่างและกลางเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เป็นเพราะแรงงานจากภาคเหนือและอีสานที่เคยเข้ามาทำงานได้เดินทางกลับเกือบทั้งหมด จนถึงขณะนี้ยังไม่เดินทางกลับมา รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่เคยส่งนักศึกษามาฝึกงานตามโรงแรมต่างๆได้หยุดส่ง หรือบางสถาบันหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ ยังไม่ได้ส่งนักศึกษามาฝึกงานอีกเลย สำหรับตัวเลขแรงงานที่ขาดแคลนในเขตพื้นที่จังหวัดอันดามันคาดว่าไม่ต่ำกว่า 10,000-15,000 คน


นายทวิช เตชะนาวากุล เลขาธิการสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่าจากการประเมินพบว่าปัจจุบันมีโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องการใช้แรงงานทั้งหมดราว 400,000 คน แต่ในจำนวนนี้ยังขาดแคลนอยู่ประมาณ 60,000 คน ซึ่งหากนับรวมโรงงานที่ตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ คาดว่า ความต้องการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000-170,000 คน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะสูงและแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาระดับปวช.ปวส.มากที่สุด


สอท.เผยข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมจากกลุ่มผู้ประกอบการและนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศพบว่า กลุ่มแรงงานที่ขาดแคลนหนักและกำลังเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการเป็นอย่างมากมี 4 กลุ่ม คือ 1. พนักงานสายการผลิต ซึ่งจากปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้พนักงานกลุ่มนี้มีการหมุนเวียนสูง ทำให้แต่ละบริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการฝึกอบรมซ้ำ 2. วิศวกร ปัจจุบันทั้งนักศึกษาจบใหม่ และที่ปฏิบัติงานอยู่มีปริมาณมาก แต่พบว่าความสามารถที่มีอยู่กลับไม่ตรงกับงานที่ทำ จึงต้องมีการฝึกอบรมใหม่ เสียเวลา และค่าใช้จ่ายสูง 3. ช่างเทคนิค 4. พนักงานบริการระดับกลาง ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการฝึกอบรมใหม่


 


กระทรวงแรงงานวาง 7 มาตรการแก้ปัญหา


นายจุฑารัตน์ อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแก้ไขและป้องกันวิกฤติปัญหาแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่เริ่มล้นเมืองว่า ทางภาครัฐและเอกชนได้จัดทำยุทธศาสตร์ 7 ประการป้องกันวิกฤติแรงงานต่างด้าวล้นเมือง ซึ่งได้ระดมความคิดร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง(กบร.) สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการประชุมสัมมนาครั้งนี้( 3 ก.ค. 2550) นับว่าเป็นยุทธศาสตร์การทำงานใหม่ โดยในอนาคตจะต้องจะต้องอยู่ในระเบียบ จะใช้แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอีกต่อไปไม่ได้ เมื่อมีการจดทะเบียนเท่าไหร่ ก็จำกัดอยู่เพียงแค่นั้น จะไม่ให้จดทะเบียนเพิ่มในรายใหม่ที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย


สำหรับยุทธศาตร์ 7 ประการที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาในครั้งนี้ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าว ยุทธศาสตร์การกำหนดมาตรฐานการจ้างแรงงานต่างด้าว ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาทำงาน ยุทธศาสตร์การปราบปราม จับกุม ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองยุทธศาสตร์การผลักดันและส่งกลับ ยุทธศาตร์การประชาสัมพันธ์การจัดระบบแรงงานต่างด้าว และยุทธศาสตร์การติดตามและประเมินผล


จากวิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้น จำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันกลับมาย้อนมอง และระดมสมองในการหาแนวทางแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรับกับกระแสการค้ายุคค้าไร้พรมแดนที่กำลังย่างกลายเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น 


(ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2234 12-14 ก.ค. 2550)


 


 


4. ต่างประเทศ


4.1 อดีตเลขาธิการยูเอ็นเรียกร้องอาเซียนให้กล้าและแข็งกร้าวมากขึ้น เพื่อผลักดันพม่าไปสู่ประชาธิปไตย


เมื่อวันศุกร์ที่ 13 นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยต่อผู้สื่อข่าวระหว่างเยือนมาเลเซีย เรียกร้องสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ให้มีความกล้าและแข็งกร้าวมากขึ้นในการผลักดันพม่าที่ปกครองโดยรัฐบาลทหารไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และว่าอาเซียนซึ่งมีสมาชิก 10 ชาติต้องไม่ใช้นโยบายไม่แทรกแซงเป็นข้ออ้างที่จะวางตัวอยู่ภายนอก และไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือพม่าปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้นเขาจึงขอสนับสนุนอาเซียนให้เข้าไปดำเนินการมากขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียนสามารถดำเนินบทบาทอาเซียนสามารถใช้ความเป็นเพื่อนกดดันให้มีการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า


นอกจากนี้นายอันนันกล่าวต่อไปว่าอาเซียนต้องยกระดับการเป็นองค์การเพื่อช่วยเหลือเพื่อนสมาชิก เหมือนอย่างสหภาพแอฟริกันและสหภาพยุโรปที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อพยายามช่วยเหลือเพื่อนบ้านของพวกเขา ให้ได้รับสิ่งที่ถูกต้อง และเขาคิดว่าอาเซียนก็สามารถทำเช่นนั้นได้ นายอันนันกล่าวเตือนทิ้งท้ายว่า การกดขี่ทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้พลเรือนหนีข้ามพรมแดนในฐานะผู้อพยพ


ทั้งนี้พม่าซึ่งล้มเหลวในการปฏิรูปประชาธิปไตยได้กลายเป็นปัญหาสำหรับกลุ่มอาเซียนแล้ว รัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจในพม่าเมื่อปี 2531 และปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนางออง ซาน ซูจี อีกทั้งในปี 2533 รัฐบาลทหารยังปฏิเสธคืนอำนาจแม้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซูจี ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายก็ตาม


(เดลินิวส์ วันที่ 14/07/2550)


 


4.2 จีนยืนยันพม่าสามารถแก้ไขปัญหาขัดแย้งได้เอง


โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ว่า พม่าไม่ได้เป็นภัยคุกคามความมั่นคงในภูมิภาคและปัญหาพม่าควรที่จะแก้ไขโดยประชาชนชาวพม่าเอง ซึ่งท่าทีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จีนอาจจะคัดค้านความพยายามใดๆ ที่จะให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกมาตรการลงโทษพม่า โฆษกจีนแถลงดังกล่าวหลังนายอิบราฮิม กัมบารี ที่ปรึกษาพิเศษของนายบัน คี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อวานนี้เพื่อหาเสียงสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงในพม่า


(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 10/07/2550)


 


4.3 ทูตยูเอ็นหาแนวทางเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านบวกในพม่า


            เมื่อ 10 ก.ค. นางมารี โอกาเบ รองโฆษกสหประชาชาติ หรือยูเอ็น แถลงว่านายอิบราฮิม แกมบารี ทูตพิเศษของยูเอ็น กำลังอยู่ระหว่างการเยือนชาติยักษ์ใหญ่ของเอเชียหาแนวทางเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านบวกในพม่ารวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดและส่งเสริมการปฏิรูปประชาธิปไตย


นายแกมบารีผู้เคยเยือนพม่าถึง 2 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว ได้เข้าพบกับรมช.ต่างประเทศและเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศคนอื่นๆของจีน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และมีกำหนดเดินทางไปเยือนอินเดียในวันอังคาร ต่อด้วยกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น เพื่อหารือประเด็นดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ชาติ ก่อนจะบินกลับมหานครนิวยอร์กในช่วงสุดสัปดาห์เดียวกัน


นายแกมบารีผู้รับผิดชอบเรื่องกิจการพม่ามาตั้งแต่ยุคของนายโคฟี อันนาน อดีตเลขาธิการยูเอ็นคนก่อน ตั้งใจจะเดินทางเยือนพม่าอีกครั้งในเร็ววันนี้แต่ยังไม่มีกำหนดวันเดินทางที่แน่นอน 


ด้านการประชุมแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญของพม่าจะเริ่มขึ้นในวันที่ 18 ก.ค. รัฐบาลทหารพม่าอ้างเป็นขั้นตอนแรกในโรดแม็ป 7 ขั้น เพื่อปูทางไปสู่ประชาธิปไตย แต่ผู้วิจารณ์เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือและไม่ควรยึดเป็นจริงเป็นจัง เพราะผู้ร่วมประชุมทั้ง 1,000 คน ล้วนถูกเลือกโดยรัฐบาล อีกทั้งไม่มีสมาชิกพรรคฝ่ายค้านร่วมด้วยโดยเฉพาะนางอองซาน ซูจี ก็ยังถูกกักบริเวณไว้ที่บ้านตามเดิม


(ไทยรัฐ วันที่ 11/07/2550)


 


 


5. กลุ่มชาติพันธุ์จากประเทศพม่าในประเทศไทย


ตามรอย "ชาวไต" ชื่นชม.. "ประเพณีงดงาม-วัฒนธรรมเก่าแก่"


"ชาวไต" หรือชาวไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ในปัจจุบันนั้นมีหลักฐานปรากฏเมื่อ 170 ปีก่อน ว่าชาวไตได้อพยพมาจากเมืองต่างๆในเขตรัฐฉานของพม่าเข้ามาทำมาหากินและได้รวมตัวกันเป็นหมู่บ้าน มีผู้นำคือ "ก๋า" หรือผู้ใหญ่บ้าน จนในปี 2417 ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองแม่ฮ่องสอน และเป็นเมืองหน้าด่านโดยมี "พญาสิงหนาถราชา" เป็นพ่อเมืองคนแรก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "เจ้าฟ้า"


ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ 80% ที่อาศัยอยู่ใน จ.แม่ฮ่องสอน ล้วนแล้วแต่สืบเชื้อสายมาจากชาวไตแทบทั้งนั้น


ในการเดินทางไป จ.แม่ฮ่องสอน ในครั้งนี้ตามคำเชิญชวนของผู้ว่าราชการจังหวัด นายดิเรก ก้อนกลีบ จึงมีโอกาสพูดคุยกับชาวไตแท้ๆ อย่างป้าเทพินท์ พงษ์วดี โดยป้าเทพินท์ได้เล่าถึงวิถีชีวิตของชาวไตแต่ดั้งเดิมให้ฟังว่า


"ชาวไต หรือชาวไทยใหญ่ที่เกิดและอาศัยในผืนแผ่นดินไทยทุกคน จะผูกพันกับประเพณี วัฒนธรรม และศาสนาเป็นหลัก โดยประเพณีของชาวไตจะมีตั้งแต่เดือน 1-12 ส่วนการดำรงชีวิตของชาวไต จะดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง อยู่อย่างสงบ และยึดเอาศาสนาเป็นหลัก เราจะดำรงชีวิตของเรามาแบบนี้ตลอด สมัยก่อนในวันพระก็จะเข้าวัดเพื่อไปนอนที่วัด"


สำหรับประเพณีของชาวไตในแต่ละเดือนก็ล้วนแต่เป็นประเพณีที่น่าสนใจทั้งสิ้น ซึ่งป้าเทพินท์ได้แจกแจงรายละเอียดของประเพณีต่างๆ ในแต่ละเดือนให้ฟังอย่างออกรส


"เริ่มจากเดือน 3 ประเพณีข้าวใหม่หมอก ซึ่งเป็นประเพณีกวนข้าวย๋ากุ๊ หรือข้าวเหนียวแดง ชาวไตทุกคนจะนำข้าว น้ำอ้อย มารวมกัน แล้วจะทำพิธีกวนข้าวย๋ากุ๊ เพื่อไปทำบุญที่วัด พอเข้าเดือนที่ 4 ชาวไตก็จะทำบุญที่วัดหัวเวียง ในงานวัดหัวเวียงจ้าวพาราระแข่ง จะมีการกวนข้าวมธุปายาส ทุกคนจะรวบรวมทั้งข้าว น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำนม เนย นอกจากนี้ ยังมีพิธีนำตุง หรือที่ชาวไตเรียกว่า ตำข่อน มาประดับประดา ซึ่งเป็นตุงมงคล หรือตุงตุ๊กตา สำหรับตุงของชาวไตนั้นจะรักษาเอกลักษณ์ไว้อย่างดี เพราะถ้าเป็นประเพณีของ จ.เชียงใหม่ จะทำให้กับคนตาย แต่ที่แม่ฮ่องสอนจะทำเพื่อสิริมงคล ซึ่งลวดลายของตุงที่ใช้จะแตกต่างจากลวดลายของตุงที่ใช้สำหรับคนตาย"


"พอถึงเดือน 3-4 ก็จะมีประเพณีปอยสั่งลอง ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก โดยทางภาคกลางจะมีการบวชพระ แต่ที่แม่ฮ่องสอนจะเป็นการบวชเณรที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่าส่างลอง คือโกนผมแต่ไม่โกนคิ้ว แล้วแต่งกายประดับประดาด้วยเครื่องประดับอันมีค่า เช่น สร้อย กำไล แหวน และใช้ผ้าโพกศีรษะแบบพม่า สวมถุงเท้ายาว นุ่งโสร่ง ทาแป้งขาว เขียนคิ้ว ทาปาก เพราะชาวไตมีความเชื่อว่าเด็กที่ยังไม่โตจะบริสุทธิ์ อานิสงส์ตรงนี้จะแรงมาก สามารถส่งให้พ่อแม่เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ได้ ส่วนเดือน 6 จะมีงานเจดีย์ทรายมิ่งเมือง หรือการขนทรายเข้าวัด"


นอกจากนี้ ชาวไตก็มีประเพณีสงกรานต์ โดยสมัยก่อนจะไปวัดซื้อดอกไม้ธูปเทียนเพื่อไปกำตอ หรือไปขอขมา เริ่มจากขอขมาพ่อแม่ก่อน รุ่งเช้าไปทำบุญที่วัดเพื่อขอขมาพระสงฆ์ และไปขอขมาผู้สูงอายุ จากนั้น จึงสรงน้ำพระ โดยสมัยก่อนจะแห่พระพุทธรูปประจำจังหวัด เสร็จแล้วจึงมาเล่นน้ำสงกรานต์


สำหรับเดือน 7 เป็นช่วงเข้าพรรษา มีการทำบุญ ชาวไตจะต้องเข้าวัดทุกวันพระ และจะกวนข้าวมธุปยาท จนกระทั่งถึงออกพรรษา ในช่วงเดือน 10 ชาวไตจะตักบาตรเทโวโรหนะบนพระธาตุดอยกองมู และในตลาดนัดของชาวไต ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า "ตลาดแสงเทียน" ในยุคนั้นไม่มีรถ ทุกคนจะนั่งเกวียนมาที่ตลาดเพื่อขายของในวันตลาดนัดออกพรรษา ทุกคนจะนอนที่ตลาด และขายของทั้งวัน พอถึงกลางคืนทุกคนจะจุดเทียน เรียกว่า "ตลาดนัดใต้แสงเทียน" ตามถนนจะเอาใบตองมาปู และนั่งจำหน่ายของ เพื่อวันรุ่งขึ้นจะไปทำบุญ โดยทุกคนจะไปซื้อของเพื่อเอาไปทำบุญออกพรรษา


นอกจากนี้ ยังแห่ "จองพารา" หรือปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า ซึ่งตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม เอาไว้รับเสด็จพระพุทธเจ้าที่โปรดพระมารดา และจะลงมาที่โลกมนุษย์ จึงสร้างปราสาทจำลองเอาไว้เพื่อรับเสด็จ โดยข้างล่างปราสาทจะมีผลไม้ กล้วย อ้อย ไว้ตามหน้าบ้าน สถานที่ต่างๆ หรือวัด สำหรับใครที่ผ่านไปมา หรือคนยากจน สามารถเอาไปทำอาหารได้ มีการละเล่นพื้นเมือง และมหรสพต่างๆ และ "หลู่เตนเห็ง" หรือการแห่เทียนพันเล่ม และการจุดโคมสวรรค์


"งานพิธีออกพรรษานั้น คืนนั้นทั้งคืนทุกคนจะเตรียมไปทำบุญที่วัดในวันรุ่งขึ้น ช่วงนี้จะทำบุญให้กับคนตาย เรียกว่าแฮน ซอม โก่ จา สมมุติว่าญาติตายช่วงเดือนมกราคมจะไม่มีการทำบุญ 100 วันในช่วงนั้น แต่จะมาทำบุญพร้อมกันหมดทั้งจังหวัด จะจองวัดก่อนว่าจะมาทำบุญให้คนตายในวันไหน ใช้ระยะเวลาช่วงก่อนออกพรรษา 1 เดือน แต่จะต้องทำให้เสร็จวันขึ้น 15 ค่ำ ถ้าเลยช่วงเวลานี้แสดงว่าคนตายไม่สามารถรับบุญได้ โดยเชื่อกันว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่คนตายมารอรับส่วนบุญ ถ้าทำบุญในเดือนอื่นจะไม่ได้รับส่วนบุญ และในปีนั้นๆ จะไม่ทำบุญอีก นอกเสียจากว่าใครที่นึกถึงบุญคุณพ่อแม่ อาจจะหิ้วปิ่นโตไปทำบุญที่วัดได้"


พอเดือน 11 จะมีประเพณีลอยกระทงไทยใหญ่ หรือสิบสองมนล่องผ่องไต เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไต มีคติความเชื่อว่าประเพณีล่องผ่องไตจัดขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา และบุชาพระอุปคุต 8 องค์ หรือพระอรหันต์ ตามความเชื่อของชาวไตโบราณ โดยชาวไตจะถวายอัฐบริขารต่างๆ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อจากประเพณีจองพารา


 (มติชน วันที่ 13/07/2550)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net