Skip to main content
sharethis

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี


 


คณะทหาร คณะร่างรัฐธรรมนูญ และกลไกรัฐทุกภาคส่วน รวมตลอดถึงกองเชียร์ทุกหมู่เหล่า กำลังรณรงค์เพื่อ ทำความเข้าใจ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 หรือที่รู้จักกันดีในนาม ฉบับอภิชนชื่นชอบ เพื่อชวนเชื่อให้ประชาชนลงคะแนนรับรองให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ ต่อไปนี้เป็นความเข้าใจอันดีของข้าพเจ้าเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนี้ โดยได้ทำความเข้าใจมันด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้ใครมาช่วยทำความเข้าใจให้เลย


 


ข้าพเจ้าเข้าใจเป็นอย่างดีว่า


 


1)      รัฐธรรมนูญนี้ สร้างขึ้นด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หากแต่อาศัยอำนาจคณะรัฐประหารแต่งตั้งคณะบุคคลจัดทำร่างขึ้นมา โดยมีประชาชนจำนวนจำกัดได้มีโอกาสมีส่วนร่วม ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยซึ่งนิยมการมีส่วนร่วมของคนหมู่มาก


 


2)      รัฐธรรมนูญนี้ เขียนอารัมภบท (ที่ขึ้นต้นด้วยศุภมัสดุ) ขัดกับข้อเท็จจริง เพราะไม่ได้อ้างอิงถึงปฐมบทแห่งความจำเป็นในการร่างรัฐธรรมนูญ นั่นคือการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หากแต่ได้ลอกถ้อยคำจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนซึ่งคณะยึดอำนาจฉีกทำลายไปมาใส่ไว้เพื่อความโก้เก๋ ความว่า "ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่นี้มีหลักสำคัญเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชนให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนยิ่งขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม..." ข้อความเช่นว่านั้นกลบเกลื่อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญนี้ ที่ต้องการให้อำนาจคณะเสนาอมาตย์เหนือประชาชน เพื่อเสริมบทบาทให้อภิชนได้ควบคุมประชาชนและการเมืองได้ถนัดมือยิ่งขึ้น


 


 


3)      รัฐธรรมนูญนี้ เขียนขึ้นโดยคณะบุคคลที่ไร้ความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพสังคม การเมือง ที่เปลี่ยนแปลงไป หากแต่แท้จริงเป็นการคัดลอกรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะรัฐประหารฉีกทำลายแล้วแต่งเติมด้วยจินตนาการและวิสัยทัศน์ที่ไม่สมจริงของพวกตนเข้าไป หมวด 1, 2 และ 3 บางตอน (จนกระทั่งถึงมาตรา 30) คือส่วนที่คัดลอกมาจากฉบับก่อนทุกตัวอักษร มีการเสริมถ้อยคำที่ไม่มีความหมายเข้าใส่ไว้ในมาตรา 3 วรรคสองเท่านั้นเอง แม้แต่มาตรา 7 เจ้าปัญหาก็ยังมีอยู่ครบทุกอักษร


 


4)      รัฐธรรมนูญนี้ อ้างว่ามีความโดดเด่นในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย แต่แท้จริงแล้วหมวดนี้อุดมไปด้วยถ้อยคำฟุ่มเฟือยมากหมาย เพราะบัญญัติเรื่องสิทธิซึ่งเต็มไปด้วยข้อยกเว้น กล่าวคือรัฐธรรมนูญเขียนรับรองสิทธิเอาไว้ แต่ให้อำนาจรัฐในการออกกฎหมายมาละเมิดสิทธิได้โดยชอบ ตัวอย่างมาตรา 36 เสรีภาพในการสื่อสาร นั้นรัฐจะปิดกั้นเสียก็ได้หากเห็นว่า กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง (ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้างไร้ขอบเขต) และศีลธรรมอันดีของประชาชน


 


 


5)      รัฐธรรมนูญนี้ เขียนสภาวะไม่สมจริงในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเอาไว้ค่อนข้างมาก เช่นมาตรา 28 วรรคสาม บัญญัติให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวด 3 เอาได้โดยตรง เว้นเสียแต่มีบทบัญญัติในรายละเอียดเอาไว้ในกฎหมายอื่นเอาไว้แล้ว ปัญหาคือ รัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีตามหมวดนี้เอาไว้ เรื่องง่ายๆเช่นจะร้องต่อศาลใดก็เป็นปัญหาให้ต้องไปหากฎหมายเฉพาะระดับรองมาใช้อีกอยู่ดี กรณีเช่นหากพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทำทารุณกรรมต่อประชาชน ตามมาตรา 32 อัยการหรือผู้เสียหายมีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งระงับได้ คำถามคือ ศาลปกครองหรือศาลอาญาหรือศาลใดมีอำนาจเช่นว่านั้นตามบทบัญญัติแห่งมาตรานี้


 


6)      รัฐธรรมนูญนี้ ปล่อยให้ปัญหาเรื่องความมั่นคงเข้าไปรอนสิทธิประชาชนมากเกินไป บทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพในหมวด 3 ซึ่งคณะผู้ร่างอ้างเอามาเป็นคาถามัดใจผู้ลงประชามติ จึงเป็นคำโฆษณาชวนเชื่อที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคต้องตรวจสอบว่า เข้าข่ายหลอกลวงประชาชนหรือไม่ เพราะทำให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทำไม่ได้จริง ข้ออ้างเรื่อง "ความมั่นคง, ความสงบเรียบร้อย, สภาวะฉุกเฉินและสภาะสงคราม" ซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจแบบครอบจักรวาลอยู่แล้ว เช่น พรบ.ความมั่นคงที่กำลังจะจัดทำขึ้นใหม่ สามารถรอนสิทธิหลายประการดังบัญญัติไว้ในมาตรา 36, 38, 42, 43, 45, 47, 56, 63 และ 64 เป็นต้น และนอกจากนี้เรื่องความมั่นคงยังไปเพ่นพ่านดาษดื่นอยู่ในหมวดอื่นๆ อีกมากมาย


 


 


7)      รัฐธรรมนูญนี้ มีเรื่องชวนหัวมากมายพอให้สำราญแก่การอ่านเพื่อให้คลายความง่วงเหงาได้ เรื่องชวนหัวนี้มีทั้งที่ ลอกมาจากของเก่า และแต่งขึ้นใหม่ ส่วนที่ลอกมาจากฉบับก่อนคือ หมวดว่าด้วยหน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา 72 (ซึ่งลอกมาจากมาตรา 68 ของฉบับ 2540) ว่าบุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เรื่องนี้ขำค้างมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ตกลงว่า การเลือกตั้งนี่เป็นสิทธิหรือหน้าที่กันแน่ ถ้าหากเป็นสิทธิประชาชนย่อมมีเสรีภาพจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ แต่หากเป็นหน้าที่เสียแล้วก็ต้องปฎิบัติ หากไม่แล้วจะถูกลงโทษ นอกจากนี้แล้วเรื่องชวนหัวที่แต่งขึ้นใหม่ก็มี นั่นคือกลไกปกป้องรัฐธรรมนูญ ด้วยการมีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ


 


ในมาตรา 68 และ 69 กล่าวคือ มาตรา 68 ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการใดที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครอง และการที่ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญเรื่องการทำรัฐประหารหรือยึดอำนาจรัฐบาลด้วยกำลังอาวุธไว้ย่อมตีความได้ว่าเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่โดยการที่มาตรา 309 ได้บัญญัติรับรองการกระทำใดๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 และการกระทำเกี่ยวเนื่องซึ่งก็รวมถึงการรัฐประหารเอาไว้ ก็ชวนให้คิดตามหลักการใช้กฎหมายโดยเทียบเคียง (analogy) ว่า การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองด้วยวิธีการรัฐประหาร อาจจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


 


แต่เอาเถิด เราควรตีความกฎหมายโดยเคร่งครัดว่า การรัฐประหาร เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะไม่ได้เขียนไว้โดยชัดแจ้ง เรื่องที่ชวนหัวคือ มาตรา 68 วรรคสอง บอกว่า ถ้ารู้ว่าบุคคลใดหรือพรรคการเมืองใดจะใช้วิธีนอกกฎหมายยึดอำนาจรัฐ อัยการสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวเสียและยังเอาไปดำเนินคดีอาญาได้ด้วย วรรคสามบอกว่า ถ้าเป็นพรรคการเมืองให้ยุบพรรคนั้นเสีย แต่รัฐธรรมนูญกลับไม่ได้บอกเอาไว้ว่า ถ้าเป็นคณะทหารหรือคณะบุคคลอื่นใดให้สามารถยุบสถาบันของคณะบุคคลเช่นว่านั้นด้วยหรือไม่


 


เรื่องที่ชวนหัวต่อมาคือ มาตรา 69 บอกว่าบุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านการกระทำในมาตรา 68 ได้โดยสันติ คำถามคือ คณะใดที่ยึดอำนาจสำเร็จ เช่นคณะปฎิรูปเพื่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมต้องฉีกทำลายรัฐธรรมนูญนี้ไปเสีย สิทธิของปวงชนชาวไทยตามมาตรานี้ก็กลายเป็นแค่ทิชชูเช็ดเขม่าดินปืน แล้วจะเอามาบัญญัติไว้ให้เปลืองหน้ากระดาษทำไม เข้าใจว่าความในบทบัญญัติสองมาตรานี้คืออาการเมาค้างจากคดียุบพรรคไทยรักไทยอย่างเห็นได้ชัด ประหลาดที่ประเทศนี้เขียนรัฐธรรมนูญเป็นเชิงอรรถของคำพิพากษาในคดีเพียงคดีเดียวซึ่งจบไปแล้วอีกต่างหาก


 


8)      รัฐธรรมนูญนี้ ทำให้การเลือกตั้งเป็นแค่สัญญลักษณ์ทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ที่จะเลือกพรรคการเมืองตามนโยบาย เพราะว่ารัฐธรรมนูญได้เขียนนโยบายของรัฐเอาไว้ทุกด้านแล้ว พรรคการเมืองที่เสนอตัวในการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องทำนโยบาย เพราะนโยบายที่ทำขึ้นนั้นอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญได้ เช่น มาตรา 83 ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมาตรา 84 บอกให้สนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรี และในมาตรา 84 (12) บอกให้ส่งเสริมพาณิชย์นาวีและการขนส่งทางราง นี่จึงนับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่น่าจะเหมาะกับประเทศที่มีระบบการเมืองแบบเผด็จการพรรคเดียวมากกว่าระบบหลายพรรคอย่างในประเทศไทย เพราะเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญทำให้ไม่เกิดการแข่งขันทางนโยบายได้เลย จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งบอกว่า ดำเนินนโยบายตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ หรือ การขนส่งระบบรางไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และหากมีประชาชนจะเลือกพรรคนั้นด้วยเหตุผลนี้ ก็ย่อมทำไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ


 


9)      รัฐธรรมนูญนี้ อ้างว่าเขียนขึ้นบนพื้นฐานรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แต่ได้เปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ของระบบเลือกตั้งไปจนสิ้น ด้วยการให้ข้าราชการเป็นผู้แต่งตั้งวุฒิสมาชิกถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด แต่ยังคงให้อำนาจวุฒิสมาชิกเท่ากับฉบับก่อน ซึ่งก็เท่ากับให้อำนาจราชการควบคุมการเมืองได้โดยอย่างชัดแจ้ง ซึ่งนับเป็นการบิดเบือนหลักการประชาธิปไตยอย่างแรง


 


 


10)   รัฐธรรมนูญนี้ อ้างว่ามีจุดเด่นตรงให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบและถอดถอนผู้บริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้ตามมาตรา 271 ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 20,000 คนเข้าชื่อกันร้องต่อประธานวุฒิสภา แนวคิดแบบนี้ลอกมาจากฉบับก่อนทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่เคยเป็นจริงเลยทางปฏิบัติ เพราะโดยหลักการแล้วจะให้ประชาชนร้องต่อผู้มีอำนาจเพื่อถอดถอนผู้มีอำนาจย่อมเป็นไปได้ยากอยู่แล้ว ทำไมไม่คิดใหม่ให้เสนอผ่านช่องทางอื่น หรือ ทำประชามติถอดถอนโดยตรงเลย โดยไม่ต้องผ่านสภา ผู้มาจากการเลือกตั้ง ถูกล้มโดยประชามติ ยุติธรรมดีออก


 


ด้วยความเข้าใจดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าขอใช้สิทธิออกเสียง ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ และการออกเสียงเช่นว่านั้นยอมไม่กระทบกระเทือนสิทธิพื้นฐานในการวิพากษ์วิจารณ์หรือคัดค้านการกระทำใดๆ ของคณะรัฐประหารอีกแต่อย่างใด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net