Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 16 ก.ค.2550 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จัดเวทีเสวนา วิชชาว่าด้วยเขื่อนปากมูล ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้กว่า ๓๐๐ คน 


 


สืบเนื่องจากมติ ครม.ให้มีการรักษาระดับน้ำที่ ๑๐๖-๑๐๘ ทรบ.เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 มติดังกล่าวได้ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบลุกขึ้นมาคัดค้านมติดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง โดยมีการสนับสนุนจากนักวิชาการจากหลายๆ สถาบัน


 


การเปิดเวทีเสวนาโดย ดร.ประกอบ วิโรจนกูฎ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่าการตัดสินใจของ ครม.ในครั้งนี้มาจากการที่อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มน้อยเท่านั้น และมติครั้งนี้ได้สร้างการเรียนรู้ขึ้นในสังคมไทยอีกครั้ง การเรียนรู้แต่ละครั้งของชาวบ้านปากมูน สมัชชาคนจนทำให้สังคมไทยและนักวิชาการได้ประโยชน์ แต่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเป็นคนต้องจ่ายค่าการเรียนรู้


 


อาจารย์เจริญ  คัมภีรภาพ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร  กล่าวว่า 


            "ชาวบ้านลุ่มน้ำมูนคือกลุ่มคนที่มีความรู้  มีภูมิปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก  แม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้วจะทำการผลิตยาที่รักษาให้หายได้ทุกโลกยังต้องมาศึกษาภูมิปัญญาของเราก่อนผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แล้วนำกลับมาขายให้เรา มติปิดเขื่อนของคณะรัฐมนตรีเป็นมติที่ทำลายองค์ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้าน ชาวบ้านมีความรู้ที่แท้จริง แต่คนที่มีอำนาจกลับไม่สนใจ เป็นการตัดสินใจทำลายธรรมชาติเพื่อเอาใจคนเพียงไม่กี่คน มติครม.ที่ให้ปิดเขื่อนเพื่อรักษาระดับน้ำทำให้ความยั่งยืนในวิถีชีวิตของชาวบ้านสูญหายไป พันธุ์ปลาในธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีค่ากว่าปลาที่เลี้ยงในกระชังสูญพันธุ์ สิ่งที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ  


            การต่อสู้ของชาวบ้านปากมูนไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การเปิดปิดเขื่อนเท่านั้นแต่เป็นการต่อสู่เพื่ออำนาจของประชาชนและมีคุณูปการโดยการก่อให้เกิดองค์ความรู้มากมาย เช่น การจ่ายค่าชดเชย ได้นำมาเป็นหลักการทางกฎหมาย และได้มีการศึกษาเรื่องนิเวศวิทยาแม่น้ำขึ้น


 


อ. กนกวรรณ  มะโนรมย์ จาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในช่วงปี 2544 ว่า


            "จากการศึกษาในช่วง ปี 2544 เป็นการศึกษาประเด็นเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน ประมงและการชลประทาน ครอบคลุมทุกๆ ด้าน ที่รัฐบาลทักษิณได้ให้โจทย์มา ผลการศึกษาเห็นชัดเจนว่าอาชีพที่สำคัญของชาวบ้านคือการหาปลาในธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่าชดเชยเทียบไม่ได้ ในปีที่มีการเปิดเขื่อนพบว่ารายได้ของชาวบ้านเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 บาท ต่อคน ต่อปี และพบว่าพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูนมีจำนวนมากกว่าช่วงปิดเขื่อน เป็นพันธุ์ปลาที่มาจากแม่น้ำโขง


            ในส่วนของการเกษตรนั้น ก่อนการสร้างเขื่อนก็มีสถานีสูบน้ำอยู่ริมแม่น้ำมูนอยู่แล้ว 9-10 สถานี และมีการออกแบบให้ปรับระดับท่อส่งน้ำได้ตามระดับน้ำที่มีขึ้นมีลด เป็นการออกแบบให้มีความสอดคล้องกับลักษณะทางธรรมชาติ แต่ชาวบ้านไม่ใช้เพราะต้องเสียค่าสูบน้ำถึงชั่วโมงละ 80 บาท เป็นการลงทุนที่สูงมาก 


            ทรัพยากรในธรรมชาติคือทุนในการดำรงชีวิตที่มีความยั่งยืน เราควรเปิดเขื่อนเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ทุนที่มีความยั่งยืนในการดำรงชีวิต การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนคือการลงทุนที่ไม่ต้องลงทุน และลงทุนเท่าที่มีอยู่ ชาวบ้านมีต้นทุน คือ ทรัพยากรธรรมชาติ ความรู้ระบบนิเวศลำน้ำ วิถีชีวิต ซึ่งเป็นเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรคืนต้นทุนธรรมชาติให้ชาวบ้านเสีย


 


อ.นฤมล  ทับจุมพล  คณะรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า


            หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2540 เป็นต้นมาสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ เรากำลังเผชิญกับอำนาจที่อยู่เหนืออำนาจรัฐ มีการสร้างกลไกใหม่และยุบกลไกเก่า มีรัฐบาลที่มีภาวะ Ignorance คือไม่รู้และไม่เดียงสา จึงได้ตัดสินใจบนทัศนคติทางการเมืองโดยขาดความเข้าใจว่ามันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน


            การมีใช้วาทกรรมแบบ "ประชาธิปไตยของเสียงข้างมาก" ซึ่งยึดจำนวนเสียงมาก ไม่มีการใช้เหตุผลหรือหลักวิชาการในการพิจารณาแก้ปัญหา ทั้งที่ความจริงแล้วจำนวนเสียงข้างมากไม่ได้แสดงความเป็นประชาธิปไตย เป็นการใช้อารมณ์ความรู้สึก และเก่ามาก


            สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยากมาก ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้พยายามพูดถึงและพยายามจะออก พ.ร.บ.ประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็น "ประชาธิปไตยแบบการมีส่วนร่วมและการปรึกษาหารือ" ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจตั้งอยู่บนเหตุผล


            กรณีที่เดิมมีมติให้เปิดเขื่อน แต่พอ 2 อาทิตย์ผ่านไปกลับมีมติที่ลอยมาจากไหนไม่รู้ทำให้มติเปลี่ยนเป็นปิดเขื่อน แสดงถึงความไม่แน่นอนในนโยบาย  แล้วเราจินตนาการดูว่าเราจะมีชีวิตกันอยู่อย่างไรบนความสังคมที่ไม่มีความแน่นอนแบบนี้ 


 


นางสาวคำปิ่น  อักษร นักวิจัยโครงการพื้นที่ชุ่มน้ำเขตเมือง อุบลราชธานี ได้อธิบายถึงพันธุ์ปลาที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างกุดกับแม่น้ำมูนว่า


            จากการศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำ พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับแม่น้ำมูนเพราะพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูนเข้ามาอาศัยวางไขและแพร่พันธุ์ในกุด การปิดเขื่อนทำให้ปลาขึ้นมาจากแม่น้ำโขงไม่ได้ ปลาน้อยลง และความจริงคือน้ำนิ่งปลาตาย น้ำไหลปลาลอดจากเขื่อนและรอดตาย"


 



 


นายประวัติ ไชยกาล เครือข่ายลุ่มน้ำจังหวัดอุบลราชธานี 


            กล่าวถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านในชุมชนริมแม่น้ำมูนบ้านฮ่องอ้อว่า หลายครอบครัวย้ายถิ่น    พอถึงช่วงปิดเขื่อนจะกลับลงมาหาปลา แต่ปีนี้พอลงมาพบว่าเขื่อนไม่เปิด จับปลาไม่ได้ ทำให้ต้องเดือดร้อน ไม่มีเงินส่งลูกเรียน ปีที่แล้วในฤดูฝนระยะของการเปิดเขื่อนได้มีปลาจากแม่น้ำโขง มาสู่แม่น้ำมูน ไปยังแม่น้ำชี ได้เลี้ยงชีวิตคนเล็กคนน้อยที่ใช้ชีวิตอยู่ริมฝั่งน้ำมูน ยังมีคนเล็กคนน้อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดเขื่อน หากนับจริงๆ อาจมากกว่าคนจำนวน 20,000 คนที่ลงชื่อให้ปิดเขื่อน ปลาที่อยู่ในธรรมชาติเป็นปลาที่เราไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ต่างจากการเลี้ยงปลาในกระชังที่ต้องลงทุน เป็นระบบผูกขาด ไม่มีหลักประกัน


 


อ.กอปร  ศรีนาวิน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


            จากการศึกษาเรื่องน้ำท่วมเมืองอุบลเมือปี 2545 พบว่าน้ำท่วมหรือไม่ท่วมเมืองอุบล ไม่ได้เป็นเพราะเขื่อนปากมูลเลย แต่เป็นเพราะสภาพภูมิศาสตร์แม่น้ำและพื้นที่ของ จ.อุบลราชธานี ที่เป็นที่ราบแอ่งโคราช และพื้นที่ชายขอบของแอ่งดินได้มีการยกตัวขึ้น ลักษณะของแม่น้ำคดโค้ง ในช่วงฤดูฝนน้ำหลากน้ำมาเร็วและไม่สามารถไหลไปตามโค้งได้ เหมือนเราขับรถแหกโค้ง การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องพัฒนาพื้นที่ด้วยการถมดินบริเวณแอ่งทำให้ขวางเส้นทางไหลของแม่น้ำ คณะนักวิจัยฯ ได้ไปถ่ายรูปทางอากาศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงท้ายน้ำในปีนั้นระดับน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนมีระดับน้ำไม่แตกต่างกันเลย


 


นายโอภาส  เจริญพจน์  ชาวบ้านชุมชนบ้านลับแล  อำเภอวารินชำราบ  จังหวัดอุบลราชธานี


            เขื่อนปากมูลได้สร้างปัญหาให้คนตลอดทั้งลุ่มน้ำมูน และที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และเชื่อว่าเขื่อนมีผลทำให้น้ำท่วม เพราะจากการศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พบว่าเขื่อนปากมูลไม่ได้มีผลทำให้น้ำท่วมเมืองอุบลฯ การที่น้ำไม่สามารถไหลได้ทำให้เกิดการตกตะกอนดินและอุดร่องน้ำไหลบริเวณแก่งสะพือ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก และทำให้น้ำท่วมเมือง


            หลังจากจบการเสวนาแล้วทางกลุ่มชาวบ้านได้เดินทางไปยังชุมชนหาดสวนยาริมแม่น้ำมูนเพื่อร่วมกันแถลงการณ์ยืนยันคัดค้านมติ ครม.และยืนยันเจตนารมณ์ในการรักษาทรัพยากรเพื่อลูกหลานลุ่มน้ำมูน โดยมีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ร่วมอภิปรายพร้อมทั้งสรุปประเด็น ดังนี้ การเมืองหลังรัฐประหาร เน้นเรื่องความสมานฉันท์ แต่เกิดจากความไม่เข้าใจว่า ความสมานฉันท์ที่แท้จริงคืออะไรและยังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสามารถจัดการได้แต่โยนไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการ แต่นายกรัฐมนตรียังจัดการไม่ได้ ผู้ว่าฯ จะจัดการอะไรได้ ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง คือ ต้องมีงานวิชาการรองรับเช่น งานวิจัยไทบ้าน และงานวิจัยของม.อุบลฯ


            หลังจากนั้นตัวแทนนักวิชาการ, องค์กรภาคประชาชน, และภาคประชาสังคมของ จ.อุบลราชธานี จึงได้รวมตัวกันที่ริมฝั่งแม่น้ำมูนและป้ายเปิดเขื่อนเพื่อประกาศแถลงการณ์คัดค้านมติ ครม."ฉบับ 3 อ." เป็นมติที่ใช้การตัดสินใจบนหลักการ 3 อ. คือ 1.อำนาจนิยม 2.อวิชชานิยม 3.อีแอบนิยม ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกมติ ครม.12 มิ.ย.2550 และยุติการใช้อำนาจคุกคาม การใช้ความรุนแรง การสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน


           


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net