Skip to main content
sharethis

ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนฮักถิ่น ปีที่ 3 ฉบับที่ 27 ประจำเดือนพฤษภาคม 2550: ข่าวสารด้านนิเวศวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นอีสาน เจ้าของ: วิทยุชุมชนคนฮักถิ่น กองบรรณาธิการ: สังคม ไชยปราการ, ลำดวล เลานา, ราชา คำสงค์, สมชาย บางแก้ว ตู้ ปณ. 14 อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000  อีเมล์  hugtine@yahoo.com


 


000


 




 


หลังสำรวจพบแร่โปแตช และเกลือหินใต้ดินอีสานปริมาณมหาศาล ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในหลายจังหวัด เป็นผลให้เกิดการผลักดันของของกลุ่มทุนเหมืองแร่เพื่อให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2545 ซึ่งระบุสาระสำคัญเรื่องการทำเหมืองใต้ดิน ไว้ในหมวด 4/1 ใน มาตรา 88/3


 


"การทำเหมืองใต้ดินผ่านใต้ดินของที่ดินใดที่มิใช่ที่ว่าง หากอยู่ในระดับความลึกจากผิวดินไม่เกินหนึ่งร้อยเมตร ผู้ยื่นคำขอประทานบัตรต้องแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้ขอจะมีสิทธิทำเหมืองในเขตที่ดินนั้นได้"


 


ดังนั้นผลจากมาตราดังกล่าว ทำให้ ไม่ว่าบนผืนดินจะเป็นบ้านเรือน ชุมชน ไร่นา ของใครในประเทศนี้ รัฐก็สามารถให้สัมปทานทำเหมืองแร่ใต้ดิน(ที่มีความลึกเกินกว่า 100 เมตร)ได้โดยไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาตเจ้าของที่ดินบนผืนดินได้ทั่วประเทศ ยกเว้นตาม มาตรา 88/4 เขตเหมืองแร่ใต้ดินต้องไม่รุกล้ำเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า


 


พ.ร.บ.นี้ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ..2510 โดยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้ลงมติเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล และนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เมื่อปี พ..2543 รัฐสภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ผ่านการแก้ไขร่าง พ...แร่ เมื่อปี พ..2545 เหตุผลเพื่อให้มีการทำเหมืองใต้ดินคลุมพื้นที่กว้างขึ้น โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานการมีสิทธิการทำเหมืองในพื้นที่ขอประทานบัตร ทั้งนี้เพื่อเอื้ออำนวยต่อการลงทุนและพัฒนาแหล่งแร่ใต้ดิน


 


ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้มีข้อถกเถียงต่อความไม่ชอบมาพากลของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แร่ อย่างรวดเร็วในชั้นสภาผู้แทนราษฎร เมื่อร่าง พ.ร.บ.แร่ เข้ามาสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตชจึงพยายามเสนอข้อมูลต่อวุฒิสภาให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แร่ อย่างรอบคอบ และพร้อมกับให้ลงพื้นที่ดูตัวอย่างการทำเหมืองแร่โปแตชที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ตลอดจนสอบถามความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ


 


อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงต่อไปว่าเจตนารมณ์ของการแก้ไขร่าง พ...แร่ ยังคงเหมือนเดิม คือ การที่จะอนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่ใต้ดินทั่วประเทศไทยได้ โดยให้สิทธิผู้ขอสัมปทานการทำเหมืองใต้ดินที่ลึกกว่า 100 เมตร ไม่ต้องแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้ขอจะมีสิทธิทำเหมืองใต้ดินล่วงแดนกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ให้มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบการยื่นคำขอประทานบัตร ทำเหมืองใต้ดิน และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่


 นับว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะบังคับใช้กฎหมายที่ระบุสาระเรื่องเหมืองใต้ดิน ทางผู้ประกอบการเหมืองแร่ต่างเห็นว่าขั้นตอนต่าง ๆ ตามกฎหมายยุ่งยากเกินไปจึงมีความพยายามแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแร่ พ.ศ.2545 โดยพยายามปรับลดขั้นตอนการอนุญาตประทานบัตรให้สั้นเข้าเพื่อผลักดันให้เกิดการทำเหมืองแร่ใต้ดินอีสานให้ง่ายเข้า ไม่สนใจความขัดแย้งและปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่แต่อย่างใด ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 88/3 ยกเลิกเรื่องเหมืองใต้ดินที่ลิดรอนสิทธิจนคนไทยเหลือสิทธิไม่เต็มแผ่นดิน


 


กฎหมายแร่ 45 ใบอนุญาตปล้นแผ่นดินอีสาน


 


ผืนแผ่นดินอีสานที่มี แร่โปแตชและเกลือหิน อยู่ใต้ดินนั้น ปัจจุบันบนผืนดินเหล่านั้นเป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีความหนาแน่นและกินบริเวณกว้าง รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก แต่เพี่อประโยชน์ของนักลงทุนจึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.แร่ ขึ้นในปี 2545 โดยให้ผู้ทำเหมืองสามารถทำเหมืองแร่ใต้ดิน โดยขุดลึกลงไปใต้ดินไชเป็นอุโมงค์ใต้ดินโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินข้างบน เพื่อไปสกัดเอาแร่ใต้ดินออกมา ซึ่งเมื่อขุดลงไปก่อนจะถึงชั้นแร่โปแตชจะผ่านชั้นเกลือหินมหาศาลเขาก็จะขุดเกลือขึ้นมากองเป็นภูเขาเกลือไว้บนดิน พอพบแร่ก็ขนขึ้นมารวมกันเพื่อแยกสิ่งเจือปนด้วยสารเคมี ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ธรรมชาติ และความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


หลังบังคับใช้พ.ร.บ. แร่ ปี 45 นี้ เหล่านายทุนต่างแห่กันเข้าไปรุมทึ้งแผ่นดินอีสาน ด้วยการยื่นขอสำรวจและผลิตแร่โปแตช ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาอนุญาตให้มีการสำรวจเพื่อการผลิตแร่ในเชิงพานิชต่อไป ใน จ.นครราชสีมา 310,000 ไร่.ขอนแก่น 100,000 ไร่.มหาสารคาม 20,000 ไร่ ใน จ.สกลนคร เนื้อที่ 120,000 ไร่ ใน จ.ชัยภูมิ เนื้อที่จำนวน 40,000 ไร่


 


นอกจากนี้บริษัทในเครือบริษัทอิตาเลียนไทยดีวิลอปเมนต์ จำกัด มหาชน ขอสัมปทานทำเหมืองแร่โปแตชใต้ดินในจังหวัดอุดรธานีรวม 74,437 ไร่ ซึ่งกำลังประสบความขัดแย้งอย่างรุนแรงในพื้นที่มานานกว่า 6 ปี และมีแนวโน้มปัญหาความรุนแรงมากยิ่งขึ้น


 


จับพ่อ - แม่ ลูกอ่อนแฝด 2 ขังคุก พร้อมชาวบ้านอีก 3 คน


ตัวอย่างการบังคับกฎหมายเหมืองใต้ดิน


 


รวมแล้วปัจจุบันฝ่ายทุนต้องการพัฒนาเหมืองแร่โปแตชใต้ดินในอีสานกว่า 664,437 ไร่ ซึ่งล้วนอยู่ท่ามกลางชุมชน บ้านเรือน โรงเรียน วัด โรงพยาบาล ถนนหนทาง และพื้นที่เกษตรกรรม สาระสำคัญของ พ.ร.บ.แร่เรื่องเหมืองแร่ใต้ดินที่ประชาชนไม่ยอมรับแต่เริ่มต้น ก่อความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งตามกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้ารังวัดปักหมุดในพื้นที่บนดินโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดิน ผู้ที่ขัดขวางการรังวัดจึงมีความผิดในฐานขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน


 


ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี เมื่อจะมีการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่ ชาวบ้านเข้าไปสอบถามและห้ามมิให้ดำเนินการเพราะหากกระทำเช่นนั้นก็เท่ากับอนุญาตให้ทำเหมืองชอนไชใต้บ้านตนเอง เป็นเหตุฝ่ายบริษัทเจ้าของโครงการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้าน ตำรวจออกหมายจับ ศาลรับฟ้อง และจับกุมตัวชาวบ้าน 5 คนควบคุมตัวแม้จะเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และบริษัทจะออกมาแถลงว่าไม่ติดใจเอาความแต่ผลกลับเป็นทั้ง 5 คนตกเป็นจำเลยและ 2 ใน 3 ของผู้ต้องหาเป็นพ่อ-แม่ลูกอ่อน คือ นายบัณฑิต และ นางละเอียด อ่อนสะอาด ซึ่งมีลูกแฝดอายุเพียงสองเดือน และในวันนั้นเจ้าหน้าที่ห้องควบคุมไม่อนุญาตให้นางละเอียดออกมาให้นมลูกน้อยทั้งสอง จึงเท่ากับว่า ลูกน้อยทั้ง2 ก็ถูกคุมตัวไปด้วยโดยปริยาย เมื่อผู้เป็นแม่ต้องให้นมลูกในห้องขังนานกว่า 3 ชั่วโมง และคณะนี้คดียังอยู่ในชั้นศาล


 


"เมื่อถูกคุมตัวในห้องขังทั้งที่มีลูกอ่อนต้องให้นม 2 คนมันรู้สึกสลดหดหู่หัวใจ เพราะเมื่อลูกร้องไห้ขอออกมาให้นมลูกเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ยอมจะให้อุ้มเด็กเข้าไปในกรง ถามว่าถ้าเป็นลูกผู้ว่าฯ ท่านจะยอมให้ลูกท่านเข้ากินนมในกรงขังไหม หรือท่านอาจจะนึกไม่ออกเพราะท่านไม่มีวันจะมาโดนจำกัดสิทธิอย่างนี้ ถามไปถึงผู้ว่าฯ ว่าฉัน สามีและลูก ๆ ถูกขังเพราะความผิดอะไร" (นางละเอียด อ่อนสะอาด ให้สัมภาษณ์ ณ ห้องควบคุมตัวศาลจังหวัดอุดรธานี)


 


ความขัดแย้งที่เกิดจากความคิดที่แตกต่างระหว่างฝ่ายรัฐที่กำหนดและบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนทีถูกบังคับด้วยกฎหมาย มาตรา 88/3 นี้แม้เพียงเริ่มใช้ก็เกิดการคัดค้านของประชาชนอย่างหนักที่สุด


 


การลุกขึ้นต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จึงเป็นการต่อสู้กับการบังคับใช้กฎหมายแร่ทีระบุเรื่องให้สิทธิทำเหมืองใต้ดินตามมาตรา 88/3 ใน พ.ร.บ.แร่ปี 2545 เพราะชาวบ้านมองว่าตนเองและชุมชนถูกลิดรอน ถูกกระทำละเมิดแดนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และ ถูกกดขี่ข่มเหง


 


เหมืองใต้ดินและข้อเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าใต้ดิน


 


กฎหมายเกี่ยวกับกิจการรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงเทพฯ ถูกนำมาอ้างเป็นแนวทางในการออกกฎหมายแร่ 2545 โดยลืมคิดไปว่ารถไฟฟ้าใต้ดินนั้นออกแบบอุโมงค์มาเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวและแผ่นดินทรุดตัวอย่างดี ซึ่งราคาแพงมาก (20 ก.ม. / 1.3 แสนล้านบาท) โดยออกแบบอุโมงค์ให้มีลักษณะยืดหยุ่น โดยใช้อุโมงค์เป็นวง ๆ มาต่อกันแล้วยึดติดกันด้วย Bolt ซึ่งอุโมงค์แต่ละวงมีความยาวประมาณ 1.20 เมตร มีระบบป้องกันน้ำท่วมและไฟไหม้อย่างดี ทางเข้าสถานีถูกยกระดับขึ้นเหนือระดับน้ำท่วมสูงสุดในรอบ 200 ปี และมี Stop Log กั้นน้ำสูง 1 เมตร มีระบบกันน้ำซึมเข้าอุโมงค์ และโครงสร้างสถานีประกอบด้วยวัสดุทนไฟ


 


แต่สำหรับเหมืองแร่โปแตชใต้ดินนั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวและแผ่นดินทรุดแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังทำเหมืองโปแตชใต้ดินได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดินบนผิวดินอีกด้วย


 


เหตุผลซ่อนเร้นที่สำคัญมากของการมีกฎหมายแร่ 2545 ก็คือ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนไม่ต้องแบกรับภาระการซื้อที่ดินทั้งจากของชุมชนและเจ้าของที่ดินนั่นเอง


 


เพราะก่อนมีกฎหมายแร่ 2545 ผู้ประกอบการเหมืองแร่ต้องซื้อที่ดินทั้งหมดในเขตเหมืองแร่ที่ผู้ประกอบการต้องการจะลงทุน แต่พอมีมาตรา 88/3 แล้ว ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องซื้อที่ดินที่มีแหล่งแร่อยู่ใต้ดินบริเวณกว้างขวางเป็นหมื่นไร่อีกต่อไปแล้ว เพียงแต่ซื้อที่ดินตั้งโรงงานบดแยกแร่และปล่องเหมืองใต้ดินสัก 1 - 2 พันไร่ ก็พอ แล้วก็เจาะอุโมงค์ชอนไชใต้ดินที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินแต่อย่างใด ถ้าแผ่นดินทรุดตัวก็ต้องไปพิสูจน์ทางกฎหมายเอาผิดกับผู้ประกอบการเอาเอง


 


ซึ่งเรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นที่เหมืองโปแตช อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ก็คือ มีการทำเหมืองโปแตชก่อนมีกฎหมายแร่ 2545 จึงทำให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่โปแตชที่ชัยภูมิกว้านซื้อที่ดินชาวบ้านไม่ต่ำกว่าหมื่นไร่แล้วในขณะนี้ ซึ่งต้องถือว่าเป็นเจตนา/ความพยายามที่ดี ที่แสดงถึงการพยายามครอบครองสิทธิในที่ดินแบบ "เต็มแผ่นดิน" เพื่อจะเป็นเจ้าของเหมืองอย่างสมบูรณ์ แต่ที่อุดรธานีผู้ประกอบการกลับไม่เลือกใช้วิธีเดียวกับชัยภูมิ แต่กลับเลือกกดดันให้รัฐไทย - - ข้าราชการและนักการเมือง - - แก้ไขกฎหมายแร่ 2510 ให้มีมาตรา 88/3 (ในกฎหมายแร่ 2545)


 


ดังนี้แล้วจึงเกิดคำถามขึ้นว่า "หากจะยืนยันให้ออกประทานบัตรเหมืองใต้ดิน โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของเจ้าของที่ดินแล้ว จะมีแนวทางสร้างหลักประกันความเสียหายทั้งแก่ชุมชนและเจ้าของที่ดินอย่างไรบ้าง"


 


เหมืองโปแตชอีสาน ทางที่ไปต่อไม่ได้


 


ความไม่สมบูรณ์และไปต่อไม่ได้ของเหมืองแร่โปแตชที่อุดรธานี และภาคอีสาน ก็คือเป็นแหล่งแร่โปแตชที่อยู่ในเขตชุมชนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่ต่างประเทศเป็นเหมืองแร่โปแตชนอกเขตชุมชนแทบทั้งสิ้น เช่น เหมือง Saskatchewan ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศส่งออกแร่โปแตชอันดับหนึ่งของโลก และแร่โปแตชส่วนใหญ่ที่ได้ก็ได้จากเมืองนี้ เปรียบเทียบกับจังหวัดอุดรธานี ดังนี้


 



















เมือง


พื้นที่


(ตร.กม.)


ประชากร


(คน)


ความหนาแน่น


(คน / ตร.กม.)


 


ซัสคัสชีวาน


(Saskatchewan)


651,900


(407,437,500 ไร่)


ใหญ่กว่าอุดร 55 เท่า


 


996,194


 


1.5


 


อุดรธานี


11,943.80


(7,464,875 ไร่)


1,539,348


128


(170 : กิ่ง อ.ประจักษ์ฯ)


(350 : .เมือง)


 


ความเป็นเหมืองแร่นอกเขตชุมชนนี่เองที่ทำให้ประเทศแคนาดาสามารถทำเหมืองได้ แต่ที่ประเทศไทยยากมากเพราะเป็นที่ตั้งบ้านเรือน ไร่นา ชาวบ้านทั้งนั้น ในการทำนองเดียวกันกับพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่มีแร่โปรแตชล้วนซ้อนทับอยู่กับชุมชนที่หนาแน่นทั้งสิ้น


 


แผ่นดินทรุด ของแถมจากเหมืองใต้ดิน


 


จากรายงานการศึกษาผลกระทบของโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ระบุว่า


 


"การทำเหมืองแร่ของโครงการจะก่อให้เกิดการทรุดตัวของผิวดินในอนาคต เนื่องจากแร่โปแตชถูกขุดออกมาจากชั้นดินลึก ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และทรุดตัวเกือบจะเท่ากันเป็นบริเวณกว้าง โดยการทรุดตัวของดินจากการทำเหมืองคาดการณ์ว่าจะทรุดไม่เกิน 70 เซนติเมตร" (บริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด. โครงการเหมืองแร่โปแตช อุดรธานี "รายงานทางเทคนิคการทรุดตัวของดิน" : หน้า 4-1)


และจากรายงานเรื่องการทรุดตัวของดินระบุว่า "ในระยะ 5 ปีแรกจะเกิดการทรุดตัวตามแนวห้วยหิน และจะเกิดการทรุดตัวตามแนวห้วยน้ำเค็มห้วยวังแสงในระยะหลัง"


 


จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านไม่เชื่อและไม่ไว้ใจเลยกับมาตรา 88/3 คิดว่ามีมาตรานี้ขึ้นมาแล้วจะสามารถคุ้มครองสิทธิของชาวบ้านได้ แต่ที่ไหนได้ยังมีการทรุดตัวในระดับที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนและไร่นาของเขาได้


 


ดังนั้น จึงเกิดข้อเสนอขึ้นมาว่า ในเมื่อผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้สิทธิทำเหมืองแร่โปแตชแบบลิดรอนสิทธิ/ละเมิดแดนกรรมสิทธิ์ของประชาชนไปแล้ว ตามมาตรา 88/3 ก็จะต้องทำเหมืองแร่โปแตชไม่ให้แผ่นดินทรุดแม้สักเซนติเมตรเดียวถึงจะยอมให้เกิดการทำเหมืองได้, ถ้าไม่ได้ก็อย่าทำ !


 


เหมืองโปแตชอุดรธานีจะเป็นเหมืองที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ถ่างกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความรู้สึกของคนอีสาน เพราะการตรากฎหมายแร่ 2545 ขึ้นมาเพื่อรองรับการทำเหมืองใต้ดิน (โดยเฉพาะโปแตช) โดยเปรียบเทียบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินกับอุโมงค์เหมืองโปแตชใต้ดิน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับอุโมงค์คนรวยที่มีการออกแบบมาเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว/แผ่นดินทรุดตัว กับอุโมงค์คนจนที่ไม่มีระบบป้องกันแผ่นดินไหว/แผ่นดินทรุดใด ๆ


 


หยุดเหมืองใต้ดิน คืนสิทธิเต็มแผ่นดินให้คนไทย


 


ประเด็นสำคัญที่เป็นเหตุผล 5 ประการที่จะต้องยกเลิกมาตรา 88/3 ออกไปจากกฎหมายแร่ 2545 หรือร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่กำลังเสนอเข้ามาใน สนช. คือ


 


ประการที่หนึ่ง - มีการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากแร่เกลือหินและโปแตช เพื่อต่อยอดขุดแร่โปแตชจากอุดรธานีและภาคอีสาน แผนการเหล่านี้ปรากฏชัดเจนอยู่ใน


 


1) "ยุทธศาสตร์การพัฒนาเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง" ของ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กันยายน 2547


 


2) ในสัญญาให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2527 ข้อ 1.1.13 ระบุไว้ชัดเจนว่า "คำว่า โปแตช หมายถึง โปแตส เซี่ยม สารประกอบของโปแตสเซี่ยม เกลือ และแร่ และแร่ทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับแร่ดังกล่าว (รวมทั้งเฮไลท์) ซึ่งเกิดขึ้นรวมกันตามธรรมชาติ ซึ่งอาจขุดขึ้นมาได้ในสภาพแข็งตัวหรือในสภาพเหลวจากแหล่งธรรมชาติบนหรือในดินและสามารถที่จะนำมาสังเคราะห์เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งนำออกขายในตลาดได้ในเชิงพาณิชย์" และ


 


3) ร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ (ฉบับที่ได้รับฟังความคิดเห็นเมื่อ วันที่ 14 ก.ค. 2548 และได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของ กพร. และ อก. แล้ว) ที่กล่าวไว้ในเหตุผลของการร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า


 


"โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ จัดการ และการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การปฏิบัติราชการเพื่อการบริหารราชการอันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราชการและประชาชน กฎหมาย ว่าด้วยแร่และพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่มีความซับซ้อนและซ้ำซ้อนก่อให้เกิดความยุ่งยากและ ความล่าช้าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ สมควรปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแร่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการบริหารจัดการแร่อย่างยั่งยืนและมีเอกภาพให้สอดคล้องกับดุลยภาพทาง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเกี่ยวกับแร่ให้เป็นปัจจัย ด้านการผลิตในกระบวนการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนเพื่อเพิ่มทุน ทางเศรษฐกิจนำไปสู่การเพิ่มรายได้ของประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียได้มีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์ จัดการ ตัดสินใจ และตรวจสอบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อกระจายอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ลดจำนวนเอกสารและค่าใช้จ่ายอันไม่จำเป็น เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจและการทำงานของ เจ้าหน้าที่ได้ทุกขั้นตอน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"


 


ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเหมืองนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่แร่โปแตช แต่ต้องการต่อยอดทำอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับแร่เกลือหินด้วย จึงเห็นได้ว่าการมีมาตรา 88/3 มีเจตนาซ่อนเร้นในเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วย


 


ประการที่สอง - การปรึกษาหารือเบื้องต้น ไม่มีความจริงใจที่จะตรวจสอบการทำเหมืองได้ เพราะขึ้นอยู่ผู้ประกอบการทำเหมืองจะให้มีหรือไม่มีการปรึกษาหารือเบื้องต้น ประชาชนไม่มีสิทธิ์ร้องขอให้มี


 


ตามมาตรา 88/9 "เมื่อผู้ประสงค์จะขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินรายใด เห็นสมควรให้มีการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อพัฒนาโครงการทำเหมืองใต้ดินของตน ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการรับไปดำเนินการจัดประชุมปรึกษาตามขั้นตอนที่กำหนดในประกาศกระทรวง โดยค่าใช้จ่ายของผู้ขอ"


 


ประการที่สาม - แม้กระทั่งผู้มีส่วนได้เสียยังถูกจำกัดเฉพาะผู้อยู่ในเขตเหมืองเท่านั้น ส่วนผู้อยู่นอกเขตเหมืองแต่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สามารถเข้าร่วมการปรึกษาหารือเบื้องต้นได้ ตามมาตรา 88/9 (2) คือ "หลักเกณฑ์รับรองกลุ่มหรือองค์กรอันเกิดจากการรวมตัวของผู้มีส่วนได้เสียและการได้มาซึ่งตัวแทนที่จะเข้าร่วมปรึกษา ที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มบริหารและสมาชิกสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้มีสิทธิในที่ดินหรืออยู่อาศัยในเขตเหมืองแร่นั้น"


 


ประการที่สี่ - ผลประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนไทยได้รับเพียงแค่ภาคหลวงแร่ 7 % เท่านั้น ตลอด 22 ปี ตามอายุประทานบัตรจะขายแร่ได้ถึง 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 220,000 ล้านบาท แต่ได้ค่าภาคหลวงแร่เพียง 385 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 15,400 ล้านบาท เท่านั้น


 


ทั้ง ๆ ที่น่าจะคิดว่าแร่โปแตชเป็นแร่ยุทธศาสตร์ชาติที่สามารถสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับประชาชนในชาติได้ เพราะเป็นแร่ที่สามารถเอาไปสนับสนุนภาคเกษตรกรไทยให้เข้มแข็งได้ เป็นปัจจัยการผลิตที่เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้นได้ และทำให้คนไทยซื้อหาปุ๋ยในราคาถูกได้ ดังนั้น การเป็นแร่ยุทธศาสตร์ชาติจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์การใช้และการผลิตขึ้นมาให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในชาติเป็นหลัก ไม่ใช่เอาสัมปทานไปประเคนให้กับบริษัทเอกชนสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งอยู่ฝ่ายเดียว แต่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยต้องซื้อปุ๋ยในราคาแพงอยู่เหมือนเดิม


 


ดังนั้นแล้ว เรื่องแร่โปแตชนี้ควรประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ก่อนเสียด้วยซ้ำไป ไม่ใช่มาอนุญาตเป็นรายโครงการเช่นนี้


 


ประการที่ห้า - ภัยที่ตามมาอีกประการหนึ่งก็คือโพรงเกลือหินที่เกิดจากการทำเหมืองแร่โปแตชใต้ดินจะถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะสารพิษและกากนิวเคลียร์ตามข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น และนโยบายสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของรัฐบาลไทย ในอนาคตอันใกล้นี้


 


ซึ่งก็เป็นผลกระทบโดยไม่รู้ตัวที่เกิดจากมาตรา 88/3 นี่เอง เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับให้มีสารพิษและกากนิวเคลียร์ในโพรงเกลือหินและโปแตชใต้ดินอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งต้องมีการถกเถียงเป็นกรณีเฉพาะในอนาคตอันใกล้นี้ หากมาตรา 88/3 ยังปรากฏอยู่ในตัวบทกฎหมายแร่


 


ดังนั้น จึงทำให้ฝ่ายประชาชนคิดสวนทางรับเจตนาของ พรบ.แร่ที่มีอยู่และแนวทางการนำโปแตชขึ้นมาใช้โดยการ ข้อเสนอที่ให้ "พลิกฟื้นแผ่นดินด้วยเกษตรอินทรีย์ ไร้ปุ๋ยเคมี ไม่มีเหมืองแร่โปแตช" ขอให้ยกเลิกมาตรา 88/3 ออกไปจากกฎหมายแร่ เพื่อหยุดเหตุการณ์อันละเมิดสิทธิความเป็นคน หยุดโครงการเหมืองแร่โปแตช จึงต้องหยุดเหมืองแร่ใต้ดินที่จะซอนไชทำลายแผ่นดินอีสาน และคืนสิทธิในแผ่นดินให้คนไทย ก่อนที่แผ่นดินอีสานจะลุกเป็นไฟจากความขัดแย้งเพราะการบังคับใช้ กฎหมายแร่ ฉบับปล้นแผ่นดิน ปี 2545

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net