Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 ก.ค. 50 เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายไพโรจน์  พลเพชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง "สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน" ในโครงการฝึกอบรมเรื่อง สิทธิมนุษยชนและกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 22 ก.ค. ณ ห้องประชุมอุทยานล้านนา อ.หางดง จ.เชียงใหม่ จัดโดยศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) มีผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์กรต่างๆ ในภาคเหนือเข้าร่วมประมาณ 20 คน


 


ในการบรรยาย นายไพโรจน์แบ่งประเด็นสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันซึ่งกำลังจะมีการจัดให้ลงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเมืองในรัฐธรรมนูญ การเมืองนอกรัฐธรรมนูญ และการเมืองเหนือรัฐธรรมนูญ


 


ประเด็นแรก เรื่องการเมืองในรัฐธรรมนูญ นายไพโรจน์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคือพื้นที่อำนาจที่อำนาจฝ่ายต่างๆ จะมาช่วงชิงกัน ผ่านการเขียน ในรัฐธรรมนูญว่ามีใครสามารถเป็นผู้ใช้อำนาจบ้าง ซึ่งใครมีอำนาจมากก็จะช่วงชิงพื้นที่ได้มาก


 


ทั้งนี้ เดิมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นพื้นที่อำนาจของ 2 กลุ่ม คือ พื้นที่การเมืองของนักการเมือง กับพื้นที่การเมืองของพลเมือง แต่ต่อมา การเมืองของนักการเมืองได้ครอบงำพื้นที่ได้ขนาดใหญ่ เช่น คุมองค์กรอิสระ ในขณะที่การเมืองภาคประชาชนกลับขยับยาก ขยายพื้นที่ไม่ออก โดยนักการเมืองไม่ยอมออกกฎหมายให้


 


ต่อมา การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จึงมีทิศทางที่ต้องลดอำนาจการเมืองของนักการเมืองลง แต่การรัฐประหารโดยกองทัพในวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้เกิดการเมืองของฝ่ายที่ 3 ได้ แก่ ข้าราชการ ผลคือ การเมืองของนักการเมืองถูกกำกับสูงมาก เช่น การเข้ามาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องห้ามเป็นสามีภรรยากันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สามารถอภิปรายรัฐบาลได้มากขึ้น การจำกัดให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งได้ 8 ปี หรือการห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้เป็นผลผลิตจากที่ฝ่ายการเมืองเข้มแข็ง


 


ส่วนการเมืองของภาคประชาชน นายไพโรจน์มองว่า เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คืบหน้ากว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เช่น การตัดคำว่า "ทั้งนี้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ" ออกไป ความหมายคือสามารถเป็นจริงตามรัฐธรรมนูญทันทีโดยไม่ต้องออกกฎหมายลูก ทำให้ประชาชนยังสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ถ้าเห็นว่ามีโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เช้น ถ้าจะมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เวียงแหง ประชาชนก็สามารถฟ้องศาลได้เอง


 


ทั้งนี้ การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้การเมืองของภาคประชาชนเป็นจริงมากขึ้น เนื่องจากความเข้มแข็งของภาคประชาชนมีอยู่จริง ทำให้ปฏิเสธการมีอยู่ของอำนาจการเมืองของส่วนนี้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ และประเด็นนี้ทำให้ถูกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ใช้โฆษณามาก เพราะพื้นที่อำนาจในภาคประชาชนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ค่อนข้างดี


 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ผลิตหรือสถาปนาอำนาจของข้าราชการขึ้นมา ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยจะเขียนให้รักษาอำนาจนั้นเอาไว้


 


โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ให้อำนาจข้าราชการส่วนภูมิภาคไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก คือให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ โดยระบุให้ให้จัดสรรอำนาจระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น รวมทั้งเรื่องงบประมาณ จึงหมายความว่า ส่วนภูมิภาคจะได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ด้วย อีกประการคือระบุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดทำแผนจังหวัด จึงเท่ากับขยายอำนาจให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคมากขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะใน ส.ส.ร. มีทั้งอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดและอธิบดีกรมการปกครองคอยผลักดันตลอด ตรงนี้จะไปถ่วงดุลอำนาจกับสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยประเด็นนี้ยังไม่ค่อยมีผู้ใดกล่าวถึง


 


ประเด็นต่อมา รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ขยายอำนาจของข้าราชการในวุฒิสภา ซึ่ง ส.ว. มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญนี้ 3 เรื่อง หนึ่งคือกลั่นกรองกฎหมาย สองตรวจสอบนโยบายรัฐ สามตั้งองค์กรอิสระและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 42 ล้านคน สามารถเลือก ส.ว.ได้  76 คน ส่วน ส.ว. อีก 74 คน กลับมาจากกรรมการสรรหาจำนวน 7 คน โดยจะมาจากศาล 5 คน และภาคการเมืองอีก 2 คน อำนาจคน 7 คน จึงเท่ากับ คน 42 ล้านคน จึงมีปัญหาตามมาตรา 3 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือเป็นของคน 7 คน นอกจากนี้องค์กรอิสระก็มาจากการเลือกตั้งของศาล ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ศาลจะมีบทบาทสูงมาก แนวโน้มจะขยายอำนาจพื้นที่ข้าราชการในพื้นที่วุฒิสภา ซึ่งมีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


 


สำหัรบวิธีการเลือกคณะกรรมการในองค์กรอิสระ แท้จริงแล้วองค์กรสรรหาเป็นผู้เลือก ไม่ใช่ ส.ว. เป็นผู้เลือกเหมือนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ทั้งนี้ องค์กรสรรหาดังกล่าวจะส่งรายชื่อให้ ส.ว. ถ้าไม่เห็นด้วยกับคนใดก็ส่งกลับ แต่ถ้ายันโดยเสียงข้างมากก็เท่ากับองค์กรสรรหาเป็นคนเลือก ดังนั้น แนวโน้มในการเลือกองค์กรอิสระคือ ชนชั้นนำในราชการหรืออดีตข้าราชการ เช่น ปลัดกระทรวง หรืออธิบดี เป็นต้น


 


นายไพโรจน์ ยกตัวอย่างกรณีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า แนวโน้มสิทธิมนุษยชนต่อไปก็อยู่ในกรอบ เนื่องจากจะมีนักกฎหมายมาเป็นกรรมการสิทธิ  ทั้งนี้ ต่อไปคณะกรรมการสิทธิจะเลือกมาจากศาล หรือแม้แต่กรมพระธรรมนูญ การตีความของนักกฎหมายคือ ถ้าไม่อยู่ในกรอบกฎหมายก็ไม่ใช่สิทธิมนุษยชน ดังนั้นอำนาจของคณะกรรมการสิทธิฯ มีอำนาจมากขึ้นจริง แต่ก็จะถูกใช้อำนาจในกรอบศาล


 


นายไพโรจน์ยังกล่าวอีกว่า แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะมีลักษณะเป็นการเมือง 3 เส้า และให้อำนาจการเมืองภาคประชาชนให้ใช้ได้ง่ายขึ้น เช่น การสามารถเสนอกฎหมายได้โดยการลงชื่อ 10,000 ชื่อ แต่หากเสนอไปจริง ก็ต้องไปผ่านด่าน ส.ว.หรือ ส.ส.อยู่ดี ซึ่งแนวโน้มจะแย้งกับประชาชนสูง แต่ก็เชื่อว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะผ่านแน่ๆ


 


ต่อมา ในประเด็นการเมืองนอกรัฐธรรมนูญ นายไพโรจน์ อธิบายว่า กระทรวงมหาดไทยกำลังขยายลงสู่ท้องถิ่น ผ่านการแก้กฎหมายลักษณะการปกครองท้อง พ.ศ. 2457 เป็นเรื่องการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เชื่อมต่อกับรัฐบาลส่วนกลาง โดยเปลี่ยน 3 เรื่อง ประการแรกคือขยายอายุการทำงานของกำนันและผู้ใหญ่บ้านไปถึงอายุ 60 ปี


 


ประการต่อมาคือ การเลือกกำนันเปลี่ยน จากเดิมที่ประชาชนเป็นผู้เลือก เป็นการให้ผู้ใหญ่บ้านมาประชุมกันโดยมีนายอำเภอนั่งหัวโต๊ะแล้วเลือกกำนัน ในด้านหลักการคือ การตัดสิทธิประชาชนที่จะเลือกผู้นำโดยให้ไปอยู่ในขอบเขต ของนายอำเภอ


 


ประการที่สาม จะปรับปรุงกรรมการหมู่บ้านใหม่ เพราะมหาดไทยมองว่าในหมู่บ้านมีองค์กรต่างๆ เยอะ เช่นกลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มสตรี กลุ่มพัฒนา หรือกลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น จึงจะให้มาเป็นกรรมการหมู่บ้านทั้งหมด พร้อมกับให้มีตัวแทน อบต. มาเป็นตัวแทนด้วย แล้วให้ขึ้นตรงต่อผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็ขึ้นตรงต่อนายอำเภอ นายอำเภอขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นจึงเท่ากับเอาทุกองค์กรไปขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทย


 


การแก้กฎหมายครั้งนี้ให้เหตุผลว่า เพื่อที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านจะได้ไม่ตกเป็น เครื่องมือของนักการเมือง นายไพโรจน์ยังเชื่อเช่นกันว่ากฎหมายนี้จะผ่าน เพราะกำนันและผู้ใหญ่บ้านสนับสนุน ส่วน อบต.ซึ่งอาจถูกลดทอนอำนาจลงก็เข้าใจว่าจะเข้าไม่ถึงในการวิเคราะห์แบบนี้


 


นายไพโรจน์ กล่าวถึงประเด็นสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ได้แก่การขยายอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ผ่าน ร่างพ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. .....


 


นายไพโรจน์ กล่าวถึงที่มาของ ร่าง พ.ร.บ.นี้ว่า เดิมมีที่มาจากการที่กองอำนวยการรักษาความั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้ถูกตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2508 เพื่อสู้พรรคคอมมิวนิสต์ หลังจากต่อสู้ครั้งนั้นจนมีการยกเลิก พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ใน พ.ศ. 2542 ทำให้ภาระกิจของ กอ.รมน. ไม่มีอีกต่อไป ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ปรับให้กอ.รมน. ไปทำเรื่องยาเสพติด ชายแดน ชนกลุ่มน้อย แรงงานอพยพ พื้นที่พิเศษ เช่น ภาคใต้


 


ต่อมาใน สมัยพ.ศ. 2544 รัฐบาล พ.ตท.ทักษิณ ชินวัตร ยังให้ กอ.รมน. ดูแลเรื่องปัญหาภาคใต้ จนกระทั่งเข้าสู่รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ กลับมีคำสั่งขยายอำนาจ กอ.รมน. อีกครั้ง ให้ทำทุกเรื่อง แม้แต่ตั้งผู้อำนวยการกองอำนวนการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) เป็น ผู้อำนวยการกองอำนายการแก้ปัญหาด้วยเศรษฐกิจพอเพียง


 


คำสั่งสำคัญอีกประการคือ เปลี่ยนจากเดิมที่นายกรัฐมนตรีเป็นผอ.รมน. เป็นแต่งให้ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็น ผอ.รมน. รวมทั้งตั้ง ผอ.รมน.ภาค ขยายให้มี ผอ.รมน. ทุกจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ.รมน. จังหวัด ซึ่งคำสั่งแบบนี้จะทำให้เกิดการยอมรับได้ต้องเสนอเป็นกฎหมายความมั่นคงขึ้น


 


แต่สิ่งสำคัญคือ เดิมหากถึงภัยความมั่นคง จะหมายถึงภัยสงครามจากภายนอก หรือภัยภายใน เช่น การจราจลหรือเช่นคอมมิวนิสต์ หากทหารจะเข้ามาจัดการต้องประกาศสถานการณ์พิเศษ โดยมีระยะเวลาและขอบเขตพื้นที่แน่นอนซึ่งก็คือผ่านกฎอัยการศึก ซึ่งมีอำนาจเข้าควบคุมตัวได้  7 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหา หรือห้ามใช้เส้นทาง


 


ส่วน ร่างพ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงฯ นั้นขยายพื้นที่ฉุกเฉินไปทั่วประเทศ โดยไม่กำหนดเวลา และอยู่ตลอดไป หมายความว่าทหารพร้อมนำมาใช้ในพื้นที่ใดก็ได้ทันทีโดยไม่ต้องประกาศฉุกเฉิน


 


นอกจากนี้ ยังสามารถขยายเนื้อหาความมั่นคงได้ทุกมิติ ไม่ว่าจะเรื่องก่อการร้าย ยาเสพติด ภัยคุกคามค้ามนุษย์ หรือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ทหารสามารถเข้ามาจัดการได้ เป็นการขยายอำนาจทุกมิติเพื่อสร้างทหารมาเป็นผู้พิทักษ์สังคม


 


ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ มีการรวบอำนาจ 3 อย่าง ให้ ผบ.ทบ. อำนาจแรกคืออำนาจในการออกกฎหมาย ซึ่งปกติการออกกฎหมายจะทำโดยรัฐสภาหรือรัฐบาล แต่ ร่าง พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงฯ ให้ ผบ.ทบ.ออกกฎจำกัดสิทธิหรือยกเลิกสิทธิได้ ดังต่อไปนี้ เช่น ห้ามใช้เส้นทาง ห้ามใช้ยานพาหนะ ห้ามชุมนุม ห้ามแสดงมหรสพ ห้ามพูดห้ามประชุม ห้ามแสดงออก ห้ามออกจากบ้าน หรือให้โรงงานแสดงประวัติลูกจ้างต่อ กอ.รมน. ได้ หรือเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมคุมขัง ควบคุมตัวได้ทันที  30 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อหา ไม่ต้องเยี่ยม ไม่ต้องตั้งทนายระหว่างการสอบสวน


 


นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. รักษาความมั่นคง ยังให้อำนาจ กอ.รมน.ดำเนินการปราบปรามผู้ที่เชื่อว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง เช่น หากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) หนุนให้ประชาชนยึดที่นายทุนเพื่อปฏิรูปที่ดิน เป็นการทำให้กฎหมายไม่มีผลก็เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นต้น


 


อีกประการคือ การรวบอำนาจในเชิงบริหาร ซึ่งหาก ผอ.รมน. เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแล้วสามารถสั่งทุกองค์กรได้ แม้แต่องค์กรอิสระ และหากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามสามารถสั่งย้ายจากพื้นที่ได้ทันที


 


การรวบอำนาจในเชิงตุลาการ เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.สามารถไปนั่งฟังระหว่างการสอบสวน หรือเรียกเอารายงานการสอบสวนมาดูได้ และสั่งปล่อยตัวได้ ถือว่าเป็นภัยต่อสิทธิเสรีภาพต่อประชาชนอย่างร้ายแรง และเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงที่สุด เป็นการสร้างอำนาจซ้อนอำนาจและไม่มีการถ่วงดุล นอกจากนี้ยังเป็นภัยต่อหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรงด้วย เพราะตามหลักนิติธรรมแล้วต้องต่อสู้คดีได้ แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้สั่งสอบเอง ตัดสินเองได้


 


นายไพโรจน์ให้ความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการยึดอำนาจครั้งที่ 2ของ ทหารโดยใช้กฎหมายยึดอำนาจ ไม่ใช่รถถังหรือปืน จึงเป็นอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่สำคัญ ระบบราชการจึงใหญ่ขึ้น ข้าราชการมีอำนาจอย่างที่สุด และถ้าเข้าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ผ่านแน่ จึงเรียกร้องให้ไปพิจารณาในสมัยหน้าที่มีสภามาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นสรุปแล้ว ภาระกิจคือต้องไม่ให้กฎหมายฉบับนี้เข้าสภา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net