Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 13.30 น. ของที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง "การเมืองไทยร่วมสมัย" โดยมีผู้บรรยายคือ ศาสตราจารย์ โยชิฟูมิ ทามาดะ (Yoshifumi TAMADA) ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย เจ้าของผลงาน "อิทธิพล" และ "อำนาจ": การเมืองไทยด้านที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งเผยแพร่ในปี 2537[1] ที่อาคาร 7 คณะมนุษย์ศาสตร์ โดยมีอาจารย์และนักศึกษาร่วมเสวนาอย่างคับคั่ง


 


ศ.โยชิฟูมิ ทามาดะ เริ่มต้นการบรรยายด้วยการพูดถึง "ประชาธิปไตยและประชานิยม 2 แบบในไทย" คือ "การนิยมเจ้า" (Royalist) แบบไทยๆ กับแบบ "การเลือกตั้ง" ซึ่งทั้งสองแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยขัดแย้งในตัวเอง


 


หลังจากนั้นจึงเริ่มพูดถึงบทบาทของทหารและชนชั้นกลางช่วงชิงคุณค่าความหมาย ต่อกระบวนการของประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นหลังปี 2475 โดยได้เริ่มแสดงให้เห็นว่า


 


"ในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งสำคัญที่สุด ประชาธิปไตยจะมีความหมายได้จะต้องมีการเปลี่ยนรัฐบาล และเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งในเมืองไทยมีน้อยมากในช่วงนั้น"


 


ศ.โยชิฟูมิ ยังได้กล่าวต่ออีกว่า ช่วงที่ชนชั้นกลางเริ่มดูเหมือนมีบทบาทกับการเมืองจริงๆ คือช่วง พ.ศ. 2535 หลังเกิดพฤษภาทมิฬ ทำให้ชนชั้นกลางมีอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ทหารต้องออกจากเวทีการเมืองเนื่องจากใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม ทำให้สูญเสียความชอบธรรม ภายในกองทัพเองก็มีแตกแยกกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ภายใน รวมถึงมีการแทรกแซงทางการทหารเพื่อถ่วงดุลอำนาจ ทำให้การปฏิวัติในช่วงนั้นหายไป


 


จนกระทั่งปี 2549 ที่ผ่านมา การโยกย้ายทางทหารของผู้นำทางการเมืองมีความผิดพลาด ดุลอำนาจจึงเอียงไปทางทหารในหน่วยที่มีทรัพยากรทางอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดี ทำให้สามารถทำการปฏิวัติรัฐประหารได้ ปัจจัยอย่างหนึ่งในการที่จะทำการรัฐประหารได้นั้น คือการมีกลุ่มใหญ่ๆ ที่เข้มแข็ง และปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือคำสั่งจากเบื้องบน


 


ในเรื่องของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เดือนพฤษภาคม ปี 2535 นั้น ศ.โยชิฟูมิ บอกว่า ตนได้เข้าร่วมในเหตุการณ์นั้น พบว่าผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยตอนนั้นมีอยู่ทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกอายุ ทุกอาชีพ แต่สุดท้ายแล้วผู้ที่ยึดกุมอำนาจคุมวาทกรรม (Discursive Power) ไว้คือชนชั้นกลาง เริ่มจากการที่ทำให้เกิดภาพว่า วีรบุรุษของเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนั้นคือชนชั้นกลาง เป็นประชาธิปไตยเพื่อชนชั้นกลาง ซ้ำยังทำให้เกิดความเชื่อตามมาว่า มีชนชั้นกลางเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย


 


ศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่น ยังได้กล่าวถึงอีกว่า การยึดอำนาจกุมวาทกรรม (Discursive Power) โดยชนชั้นกลางตรงนี้ ส่งผลให้เชื่อว่ามติของชนชั้นกลางถือเป็นมติมหาชน (Public Opinion) ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็เป็นแค่ของคนกลุ่มเดียว ทำให้ชนชั้นกลางเสียงดังขึ้น รวมถึงก่อให้เกิดสิ่งที่ตามมาคือ ปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์ซึ่งเปรียบเหมือนผู้แทนของชนชั้นกลางก็มีบทบาทมากๆ ทั้งยังอ้างได้ว่าเป็นเสียงของประชาธิปไตย ชาวบ้านจึงไม่อาจเข้ามาแทรกแซง ซึ่งทำให้ชนชั้นกลางสามารถรักษาอำนาจกุมวาทกรรมไว้ได้


 


การเมืองภายใต้อำนาจกุมวาทกรรมของชนชั้นกลางนั้น ไม่ได้ทำให้อำนาจต่อรองทางชนชั้นเพิ่มขึ้น เพราะ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนชั้นกลางเน้นการประนีประนอม (Moderate) มากกว่าความสุดโต่ง (Radical) ทั้งยังมีแง่อนุรักษ์นิยม (Conservative) จึงไม่เข้าไปยุ่งกับอำนาจชนชั้นสูง ขณะเดียวกันก็ไม่อาจทำให้ชนชั้นล่างมีอำนาจต่อรอง ทำให้ปลอดภัยทั้งกับชนชั้นสูงและชนชั้นกลางเอง


 


ศ.โยชิฟูมิ ได้สรุปความเห็นต่อการยึดอำนาจกุมวาทกรรมของชนชั้นกลางไว้ว่า "มันทำให้ชนชั้นล่างทำอะไรก็ถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะตำนานพฤษภาทมิฬเป็นของชนชั้นกลาง"


 


สำหรับเรื่องรัฐประหารปี 2549 ศ.โยชิฟูมิ ได้แสดงทัศนะต่อเหตุการณ์นี้ไว้ว่า จากการที่ชนชั้นกลางได้ยึดครองความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" มาตั้งแต่ปี 2535 ชนชั้นกลางจึงกลายเป็นเครื่องมือ หรือหางเครื่องให้กับฝ่ายต่อต้านทักษิณ รวมถึงการที่ชนชั้นกลางที่เป็นปัญญาชนกับสื่อมวลชนบางส่วนไม่พอใจทักษิณมานานแล้ว เพราะทักษิณทำให้ชนชั้นกลางที่เป็นปัญญาชนไม่สามารถเข้าไปกำหนดความหมายทางการเมืองได้ ในที่นี้รวมถึงปัญญาชน Royalist ด้วย ขบวนการต่อต้านทักษิณในครั้งนี้ ทางหนึ่งจึงเป็นการต่อต้านชาวบ้านชนชั้นล่างซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงการปฏิเสธการเลือกตั้งด้วย ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าตัวชนชั้นกลางเอง ก็เป็นฝ่ายที่พยายามสร้างภาพว่าไทยรักไทย เป็นพรรคของชนชั้นล่าง


 


จากนั้น ศ.โยชิฟูมิ ก็ได้กล่าวถึงเรื่องการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 ไว้ว่า ทหารได้ทำการฉีกรัฐธรรมนูญเพราะกลัวทักษิณสอง ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 นี้มันไม่ดีสำหรับพวกเขาตรงที่สามารถสร้างผู้นำประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ นายกฯ ทักษิณที่เป็นผู้นำเข้มแข็งมากจนปัญญาชนบางคนถึงขั้นมองว่า ทักษิณพยายามจะเหนือกว่าระบอบกษัตริย์หรือเป็นประธานาธิบดี โดยความเห็นส่วนตัวของ ศ.เองก็เห็นว่า ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งเป็นความต้องการในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วอย่างประเทศตะวันตกหรือประเทศญี่ปุ่นเอง ก็มีความต้องการผู้นำในลักษณะนี้


 


ขณะเดียวกันก็ได้พูดถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน 2550 ว่า เป็นฉบับที่ไม่ให้โอกาสประชาชนในการเลือกนายก ลักษณะของรัฐบาลผสมที่ไม่มีความมั่งคงและไม่มีประชานิยม องค์กรอิสระถูกแทรกแซงจากการประสมอำนาจ และเป็นการสนับสนุนแนวคิดที่ว่า อำนาจทางการเมืองจะเลวร้ายมืดมนกว่า อำนาจแบบ Popedom เสมอ


 


ต่อมา ศ.ชาวญี่ปุ่น ก็ได้พูดถึง "ประชานิยม" ในอีกนิยามความหมายว่า การสร้างผู้ร้าย การด่าฝ่ายตรงข้ามก็ถือเป็นประชานิยมอย่างหนึ่ง ซึ่งในสมัยรัฐบาลนี้ก็ดูจะไม่มีนโยบายที่ชัดเจน แต่ก็อาศัยความนิยมโดยการด่าและปฏิเสธฝ่ายตรงข้ามคือทักษิณ รวมถึงปฏิเสธสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามสนับสนุนอีกด้วย


 


ผู้บรรยายได้พูดสรุปถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ไว้ว่า โดยส่วนตัวเขาไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ถ้าปฏิเสธ ทหารอาจหาเรื่องไม่ให้เกิดการเลือกตั้งได้ เพราะ คมช. ต้องการที่จะดิสเครดิตพรรคไทยรักไทย และอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างไว้เพื่อป้องกันการเกิดทักษิณสอง หากรู้ว่ายังมีช่องทางที่พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งได้ ทหารคงไม่ยอม จึงควรยอมรับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน หากต้องการให้มีการเลือกตั้ง


 


โดยสุดท้าย ในช่วงที่มีการแลกเปลี่ยนซักถามผู้บรรยาย อาจารย์ เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนาวานิช จากภาควิชาประวัติศาสตร์ ก็ได้แสดงความเห็นคัดค้าน กรณีให้ยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อให้มีการเลือกตั้งว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ได้ถูกนำมาใช้ พรรคไทยรักไทยก็คงไม่อาจหวนกลับมามีอำนาจได้เท่าเดิมอีกแล้ว เพราะขาดทั้งเงินและฐานจาก กกต. และถึงอย่างไรก็ตาม ทหารก็ต้องยอมให้มีการเลือกตั้งเพื่อทำให้การรัฐประหารเกิดความชอบธรรม รวมถึงเป็นการรักษาหน้าจากประชาคมโลกด้วย


 






[1] ผลงานของทามาดะดังกล่าว ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในปี 2543 ใน โยชิฟูมิ ทามาดะ. "อิทธิพลและอำนาจ: การเมืองไทยด้านที่ไม่เป็นทางการ". พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ แปล. ใน อมรา พงศาพิชญ์ และ ปรีชา คุวินทร์พันธุ์, บรรณาธิการ. ระบบอุปถัมภ์. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net