Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภฤศ ปฐมทัศน์


 


ท่ามกลางวันเวลา ที่กำลังนำพาเราเข้าไปใกล้วันลงประชามติรัฐธรรมนูญมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านต่างก็พากันเคลื่อนไหวอย่างเป็นจริง เป็นจัง ขณะที่ผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก (รวมทั้งผมเองด้วย) ยังคงงุนงงและไม่ค่อยรู้เนื้อหาของมันอย่างลึกซึ้ง หรือเข้าถึงวาระซ่อนเร้นในตัวบทมันสักเท่าไหร่


 


สำหรับผมเองเท่าที่ได้ผ่านตากับมันมาบ้าง ก็พบว่ามันใช้ภาษาได้อย่างรุงรังน่าเบื่อทีเดียว (หากชาวบ้านทั่วๆ ไปรู้สึกไม่อยากอ่าน ก็คงเป็นเรื่องปกติที่โทษเขาไม่ได้) ซ้ำบางบทก็ดูเหมือนยากล่อมประสาท ที่อ้างคำนามธรรมซ้ำๆ แต่ไม่เคยมีอยู่จริง หรือมีอยู่แต่ไม่เคยมอบให้ประชาชนโดยเท่าเทียม เช่นคำว่า "เสรีภาพ" มีแต่ชนชั้นนำบางคนเท่านั้นที่คอยเก็บมันไว้แบ่งขาย และยึดมันคืนจากประชาชนด้วยข้ออ้าง "ความสงบสุขในชาติ" หรือด้วยคำปลิ้นปล้อนอะไรก็ตามแต่


 


ที่ฮาแตกสุดๆ คือการรณรงค์ประชามติ ที่หากใครตามข่าวคงรู้ดีอยู่แล้ว ว่ามันฮาอย่างไร มันทำอะไรกันโจ่งแจ้งแดงแจ๋ขนาดนี้เชียวหรือ? ทั้งที่คนจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือ แม้แต่ไม่ไปลงประชามติ ก็เป็นเจตจำนงอิสระในตัวของแต่ละคนเองอยู่แล้ว


 



 


"ศรัทธาของท่าน ความเชื่อของท่าน ก็เป็นของท่าน


ความเชื่อของเรา ศรัทธาของเรา ก็เป็นของเรา"


(ภาพจาก: สารคดี)


 


มาโนช พุฒตาล เป็นศิลปินทางดนตรีที่หากใครเกิดทันยุค "บันเทิงคดี" คงจะรู้จัก ทั้งในฐานะที่เขาเป็นสื่อ ผู้นำข้อมูลทางดนตรีสากลที่หาชมไม่ได้ทั่วไปในไทยมาบอกเล่าผ่านทางโทรทัศน์และนิตยสาร ในฐานะที่เป็นเจ้าของค่ายเพลงที่ฉีกแนวทางออกไปจากเพลงตลาดทั่วไปอย่าง Milestone Records ซึ่งมีมาก่อนยุคที่จะเกิดกระแส "อินดี้" เสียอีก


 


และแน่นอนว่าตัวผมชื่นชมเขาในฐานะของนักดนตรีคนหนึ่งด้วย เพราะดนตรีของเขาคือศิลปะที่เจ้าของผลงานมีความรับผิดชอบต่อผลงานตัวเอง ไม่ใช่แค่แฟชั่นที่ให้คนกดโหวต แล้วขายอย่างทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ


 


งานเพลงสตูดิโออัลบั้มชุดแรกของเขา (ไม่นับ "ไตรภาค" ที่เป็นงานร่วมกับวงอื่น)  อย่าง "ในทรรศนะของข้าพเจ้า" จึงเป็นงานเพลงที่มีลักษณะเฉพาะตัวชัดเจน จัดว่าเป็น Progressive Rock ซึ่งหาได้ยากยิ่ง ที่จะเจอศิลปินไทยในแนวนี้ โดยสำหรับในยุคคุณน้าผมยาว อาจจะพอนับว่าวงอย่าง "วงตาวัน" หรือ "หรั่งร็อคเคสตรา" มีคุณสมบัติของดนตรีแนวนี้อยู่บ้าง


 


กับ มาโนช พุฒตาล นั้นเรียกได้ว่าเป็น Progressive เต็มที่ทั้งตัวเนื้อหาและดนตรี


 


มีไม่มากนักกับเพลงไทยสากลที่พูดถึงสิ่งที่เป็น ความเชื่อ (แบบที่ไม่ใช่ด่าฉอดๆ อย่างเดียว) แนวคิด ปรัชญา วรรณกรรม ความเป็นมนุษย์ ฯลฯ และมีไม่มากนักกับเพลงไทยสากลที่มีการเรียบเรียงอย่างวิจิตรสวยงาม ไม่ใช่แค่เน้นขายภาพลักษณ์ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งยุคสมัย


 


ท่ามกลางดนตรีที่มีทั้งโซโล่กีต้าร์ ติดกลิ่น 70"s แบบพอน่าฟัง ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินเพลง มีเสียงคีย์บอร์ด ที่สร้างบรรยากาศได้กลมกลืน โดยอรรถพร ชูโต จากวง "คาไลโดสโคป" รวมถึงองค์ประกอบทางดนตรีอื่นๆ ที่สอดใส่เข้าไปเสริมแต่งอย่างลงตัว ก็มีเนื้อเพลงที่ลึกซึ้ง ชวนขบคิด ใช้ภาษาที่สื่อสารเข้าใจง่าย


 


นอกจากนี้ได้มือเบสคือ พิทักษ์ ศรีสังข์ จากวง "ดิ โอฬาร โปรเจ็กท์" กับมือกลอง อิทธิชัย บัวแก้ว จากวง "Growing Pain" (วงเก่ากึ๊ก ทั้งนั้น) มาร่วมเล่นให้อีกด้วย


 


ในแผ่นพับปกซีดี เขาได้เขียนถึงที่มาของอัลบั้มนี้เอาไว้ว่า "ชื่ออัลบั้มในทรรศนะของข้าพเจ้า มาจากการพยายามเอาแนวความคิดแสดงออกต่อเรื่องต่าง ๆ ที่เห็นอยู่รอบตัวตั้งแต่เกิดมา โดยแบ่งเป็นเรื่องใหญ่สองสามเรื่องคือเรื่อง ศาสนา ความเชื่อ และการดำเนินชีวิตของคนปัจจุบัน"


 



 


ตัวของ มาโนช พุฒตาล เองเป็นมุสลิมในชุมชนหัวแหลม จังหวัดอยุธยา ในชุมชนที่เขาเติบโตมานั้นผู้คนทั้งพุทธ คริสต์ และ อิสลาม อยู่ร่วมกันอย่างรักใคร่กลมเกลียว (โดยไม่ต้องมีใครถือปืนมาอ้างคำว่า "สมานฉันท์")


 


"กาลเวลา


ศรัทธาคนมั่นคง ไม่หลงตน ไม่ลืมตาย


ดิน น้ำ ลม ไฟ


ทุกชีวิตมีสายใย ต่อกันได้อย่างกลมกลืน"


 


- โลกสมมุติ -


 


ในเพลงแรกของอัลบั้มอย่าง "โลกสมมุติ" จึงเป็นการตั้งคำถามกับเรื่อง "ความเชื่อ" และชวนสำรวจที่มา ว่าทำไม ไม่ว่าจะผ่านพ้นไปกี่ยุคสมัย มนุษย์ยังใช้ความเชื่อ (ซึ่งไม่ได้จำกัดแต่ความเชื่อทางศาสนาอย่างเดียว) มาทำร้าย ข่มเหง หรือกลั่นแกล้งคนอื่นกันอยู่ดี


 


ด้วยความยาวสิบนาที เพลงนี้ก็ได้แสดงพลังทางดนตรีอย่างเต็มที่ มีการใช้เสียงผู้ประกาศข่าวแทรก เพิ่มบรรยากาศของบอกเล่าถึงสังคมยุคสื่อสาร ทั้งคีย์บอร์ดและกีต้าร์ก็แพรวพราว จังหวะกลองมาพร้อมกับเสียงร้องประสานกึ่งสวดของ The Three Mosquitoes


 


ถึงแม้เพลง "โลกสมมุติ" นี้ฟังเผินๆ เหมือนจะพูดถึงและตั้งคำถามกับศาสนาความเชื่อ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว มันทั้งชวนให้มองโลกในยุคสมัยใหม่ ซ้ำยังตั้งคำถามกับอำนาจสถาปนาต่างๆ ที่ครอบงำบงการเราอยู่เงียบๆ จนสุดท้ายแล้ว มันก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากสิ่งที่เรา "สมมุติ" และให้ความหมายกันขึ้นมาเองเท่านั้น


 


"สักวันโลกคงเข้าใจ โลกสมมุติไว้ ให้คนทำตาม…"


 


จะผ่านเลยไปไม่ได้กับเพลง "หมอผีครองเมือง" เสียง Trumpet ของ สำรอง พูนทวี มีบทบาทเด่นมากในเพลงนี้ มีเสียงร้องช่วงกลางเพลงของ คฑาวุธ ทองไทย ที่ชวนให้นึกถึงแนวเพื่อชีวิตกลายๆ รวมถึงมีการใช้ Didjarido (เครื่องเป่าของชาวอบอริจิน) และ กลอง African เข้ามาประกอบเพลง


 


เนื้อหาของเพลงนี้พูดถึงด้านลึกของอำนาจครอบงำอันฉ้อฉล หลอกลวง ซึ่งไม่ว่าจะในยุคสมัยใด ก็ยังใช้ได้เสมอ ตราบใดที่อำนาจในการกำหนดชี้กติกาบ้านเมืองยังตกอยู่แต่ในหมู่คนบางกลุ่ม และปล่อยให้คนอีกมากมายที่เหลือไร้อำนาจต่อรอง


 


"คนดีต้องตาย เพราะเหล่าร้าย


พวกเหล่าร้าย เขียนกฎหมาย ให้คนร้ายเป็นคนดี


หลายสิ่งที่เห็น แต่ที่เป็น เป็นภาพลวง


เป็นภาพหลอน  เฉกเช่นหนอน กลายเป็นเกลือ"


 


- หมอผีครองเมือง -


 


ขณะที่ "แสงไฟและสายควัน" เป็นเพลงที่มีดนตรีหนักขึ้นมาหน่อย เนื้อหาบีบคั้น พูดถึงด้านมืดของมนุษย์และสังคม แต่ก็พูดได้ลึกซึ้งไปกว่า Cliché ของเนื้อหาแนวนี้โดยทั่วไป หากฟังดูดี ๆ แล้วล่ะก็ จะรู้ว่าเพลงนี้พูดถึงการสืบทอดความรุนแรงโดยที่ไม่อาจโทษตัวเด็กได้เลย


 


เพราะขณะที่ผู้ใหญ่ผู้อยู่บนหอคอยเอาแต่ด่าเด็กและเยาวชนว่าชอบใช้ความรุนแรงอย่างงั้น อย่างงี้ แต่พวกเขาก็ไม่เคยทำความเข้าใจ ไม่ได้รู้เลยว่า ความรุนแรงที่ผลิตซ้ำอยู่ทุกวันนี้ บางส่วนเป็นผลพวงมาจากที่เด็กและเยาวชนไร้ทางเลือก ... เพราะทางเลือกของพวกเขาได้ถูกผู้ใหญ่ขโมยไปแล้วนั่นเอง


 


ในแง่ของความงดงามทางดนตรี เราอาจหาได้จากเพลงบรรเลงสั้นๆ กระชับ (Progressive ไม่จำเป็นต้องยาว) อย่าง "อาบน้ำศพ" ซึ่งให้ความรู้สึกได้ไม่แพ้บางเพลง ของ Pink Floyd เลยทีเดียว


 


ถ้าหากจะให้พูดถึงในแง่ความงดงามทางภาษา ก็มีเพลงอย่าง "วาสิฏฐี" และ "ลำธาร" สองเพลงนี้แม้ดนตรีไม่โดดเด่นมาก แต่ก็ขับเคลื่อนไปพร้อมกับเนื้อเพลงที่เปี่ยมไปด้วยวรรณศิลป์


 


เพลงแรกจะเด่นที่เสียงร้องจังหวะแช่มช้าในช่วงต้น ตัดด้วยโซโล่กีต้าร์ช่วงกลางเพลงกับจังหวะที่เร่งขึ้นเล็กน้อย เนื้อเพลงบอกเล่าถึงตัวละครหญิงสาวจากในวรรณกรรมเรื่อง "กามนิต - วาสิฏฐี" ด้วยการตีความในแบบของศิลปินเอง


 


"ดวงตาบนฟ้า หากมีคงมืดบอด


สอดส่องมนุษย์เราไม่เท่าเทียมกัน


บ้างอดอยาก ถูกกีดกัน บ้างถูกพันธนาการ


เมตตาสวรรค์ ท่านทำได้ ช่วยถ่ายถอน"


 


-วาสิฎฐี -


 


ขณะที่เพลง "ลำธาร" นั้นใช้คำง่ายๆ แต่บอกเล่าถึงปรัชญาชีวิตที่ทั้งชวนให้ขบคิด และชวนให้มีความหวัง ท่ามกลางความสับสนซับซ้อนของสังคมยุคนี้ ส่วนของดนตรีเองก็เรียบง่าย คลอด้วยเสียงเสียงเซลโล่หม่นๆ ของ ปนัดดา เพิ่มพานิช ก่อนจะกลับมีพลังขึ้นในช่วงท้าย


 


"อยากบอกให้รู้ความดียังมีอยู่


วางจิตรับรู้เข้าใจด้วยเหตุผล


ดื่มดับกระหาย สายน้ำของทุกผู้คน


หยุดความสับสนเลือกหนทางเดิน


 


สัจธรรมจริงแท้มั่นคงดำรงอยู่


ปัญญาความรู้เท่าทันความเศร้าหมอง


ตื่นเถิดเพื่อผอง สายน้ำของการแบ่งปัน


ร่วมกันสร้างฝันบนฐานความจริง


 


โลกใหญ่ใบนี้ไม่มีใครครอบครอง


ไม่แบ่งเป็นสอง เพ่งมองดูแม่น้ำ"


 


- ลำธาร -


 


"ในทรรศนะของข้าพเจ้า" จึงเป็นอัลบั้มที่มีคุณภาพและหมดจดไปทุกส่วน และควรที่จะไม่ลืมว่า เนื้อหาทั้งหลายดั่งเช่นชื่ออัลบั้มบอกไว้ ว่าเป็นทรรศนะของคน ๆ หนึ่ง เท่านั้น สุดท้ายแล้วความคิดของคุณนั้น จะเห็นด้วย เห็นต่าง หรือมีทิศทางเช่นไร


 


มันก็ตามแต่ สิ่งที่อยู่ ..."ในทรรศนะของคุณเอง"


 


000


 


* ปัจจุบัน มาโนช พุฒตาล เป็นผู้จัดรายการอยู่ที่คลื่น 99.5 ในช่วงเช้า 8-11 นาฬิกา (ที่ผมตื่นไม่ค่อยทัน...แหะ ๆ...)


** หากบทความวิจารณ์ดนตรีชิ้นนี้ทำให้ "ท่าน" ไม่ว่าจะ "ท่าน" ใดก็ตามคิดเหมารวมแบบตื้นๆ เอาว่าศิลปินที่ผมเขียนถึงอยู่นี้ก็ร่วมต่อต้านรัฐธรรมนูญด้วยแน่ๆ ผมก็ขอแก้ต่างแทนเขาไว้ตรงนี้ ว่าผมเองก็ไม่อาจรับรู้ความเห็นส่วนบุคคลของเขาได้ ผมเพียงแค่เขียนถึงดนตรีที่เขาทำ เขียนถึงผลงานของเขาเท่านั้น


และตัวผมก็มีเจตจำนงอิสระของผมในการที่จะตัดสินใจ ตัวของศิลปินท่านนี้เอง ก็มีเจตจำนงอิสระของเขาที่จะตัดสินใจเช่นกัน


 


โปรดฟังอีกครั้ง …


 


"ศรัทธาของท่าน ความเชื่อของท่าน ก็เป็นของท่าน


ความเชื่อของเรา ศรัทธาของเรา ก็เป็นของเรา"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net