Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อครั้งที่เก็บกระเป๋าไปเยือนเนปาลเป็นการส่วนตัวเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นักข่าวบางคนทิ้งท้ายก่อนจะเอ่ยปากล่ำลากัน


 


"ถ้ามีโอกาส...อย่าลืมสัมภาษณ์กบฎเหมาอิสต์มาด้วยนะพี่ อยากรู้ว่าเขาจะทำยังไงต่อไป"


 


จำได้ลางๆ ว่าคำตอบที่ให้ไปเจือน้ำเสียงเขียวๆ ที่ออกอาการอ่อนใจเล็กน้อย


 


"นี่ไปพักร้อนนะ ไม่ได้ไปทำงาน!!!"


 


 


พฤษภาคม 2550


 



ความจอแจของตัวเมืองกาฐมัณฑุในยามกลางวัน


 


ทันทีที่ไปถึงสนามบินตรีภูวัน กลางหุบเขากาฐมัณฑุ ก็ได้รู้ว่าอากาศที่เนปาลร้อนระอุพอๆ กับบรรยากาศที่สยามประเทศ แต่ถ้าวันไหนมีฝนตกลงมาบ้าง ความร้อนรุ่มถูกชะล้างให้หายไปได้พอสมควร


 


แต่ไม่ใช่แค่อากาศอย่างเดียวหรอกที่อบอ้าวเหลือแสน ดูเหมือนว่า "อุณหภูมิทางการเมือง" ก็กดดันและร้อนผ่าวไม่แพ้กัน แม้ว่ามันจะมีความเฉยชาต่อบรรยากาศทางการเมืองอบอวลอยู่ในบรรยากาศอันวุ่นวายของเมืองหลวงอย่างกาฐมัณฑุก็ตามที


 


ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในหมู่ชนชั้นนำของเนปาล หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอย่าง Nepali Time และ Hindu Time รายงานข่าวการหาเสียงของพรรคการเมืองทั้ง 7 แห่งเนปาลอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน....ในขณะที่คนเนปาลที่ได้พูดคุยด้วยตามสถานที่ท่องเที่ยวหรือตามแหล่งชุมชน ไม่ค่อยสนใจอยากพูดถึงเรื่อง "การเมือง" พวกนี้มากนัก...


 


ถ้านักท่องเที่ยวได้ไปเดินบนถนนทาเมล (Thamel) ซึ่งอยู่ในตัวเมือง เยื้องๆ กระทรวงศึกษาธิการของเนปาล คุณอาจสนุกสนาน (หรืออาจจะปวดหัว) กับการซื้อขายสินค้าพื้นเมืองนานาชนิด และต้องเจอกับการหลอกล่อต่อรองของพ่อค้าแม่ขายชาวเนปาลที่มีกลยุทธ์ทางการค้าไม่ต่างจากนักขายมืออาชีพตามตลาดไนท์บาซาร์ที่เชียงใหม่ หรือไม่ก็สวนลุมฯ ไนท์บาซาร์ที่กรุงเทพ และตลาดใหญ่ๆ ที่ขายสินค้าประเภท "ของฝาก-ของพื้นเมือง" ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ


 


แต่ถ้าข้ามแม่น้ำบัคมาตี (Bakhmati) ไปยังฝั่งละลิตปูร์ (Lalitpur) ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์และโบราณสถานอยู่ที่นั่นหลายแห่ง ความวุ่นวายของตัวเมืองทั้งหลายก็พอจะถูกกลบเกลื่อนไปได้บ้าง


 


ยิ่งถ้าได้เดินทางออกห่างจากเมืองหลวงมากเท่าไหร่ วิถีชีวิตทั่วไปของชาวเนปาลที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการหารายได้จากการท่องเที่ยวก็ยิ่งปรากฏชัดเจนต่อสายตามากขึ้นทุกที


 


 


   


โปสเตอร์ชักชวนให้ชาวเนปาลสนับสนุนกลุ่มเหมาอิสต์ในเมืองกาฐมัณฑุและบัคตาปูร์


 


คนเนปาลีส่วนใหญ่ยังคงทำเกษตรกรรม ภาพทุ่งหญ้าทุ่งนาเขียวๆ จึงยังมองเห็นได้ตามสองข้างทาง แต่ตอนที่ไปเยือนเนปาลเมื่อต้นเดือนพฤษภานั้น สิ่งที่มองเห็นมากพอๆ กับทุ่งนาและเทวสถานของฮินดูก็คือโปสเตอร์ภาพสมาชิกกลุ่มเหมาอิสต์ ที่มีสัญลักษณ์คอมมิวนิสต์รวมอยู่ด้วยถูกแปะตามกำแพงและผนังอาคารบ้านเรือนต่างๆ นอกเขตเมืองเต็มไปหมด...


 


นับจากวันที่ข่าวถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกว่ากษัตริย์คยาเนนทราแห่งเนปาลถูกพลังประชาชนและกองกำลังเหมาอิสต์กดดันจนต้องยอมลงจากตำแหน่ง "ประมุขของประเทศ" ดูเหมือนทั่วโลกได้เพ่งเล็งเป็นพิเศษว่าทิศทางข้างหน้าของเนปาลจะเป็นไปในทางใด...


 


ร่องรอยแห่งความเก่าแก่และยิ่งใหญ่ของสถาบันกษัตริย์เนปาลยังทิ้งร่องรอยไว้เต็มไปหมด สมมติเทพในร่างของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรในอดีตยังคงสถิตย์อยู่ในอนุสาวรีย์ พระราชวังเก่า เทวสถาน และตามสถานที่ราชการของเนปาล ซึ่งดูขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับสภาพความเป็นอยู่อันสุดแสนจะ "เรียบง่าย" ไร้ซึ่งความหรูหราฟุ่มเฟือยของชาวบ้าน


 


เมื่อการโค่นล้มอำนาจเบ็ดเสร็จของสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นเนปาลก็มีกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน แต่กลุ่มคนที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองส่วนใหญ่ได้แก่ชาวบ้านที่สนับสนุนพรรคของผู้นำการเมืองเดิมอย่าง "กิริยา ปราสาท คอยราลา" แนวร่วมกลุ่มเหมาอิสต์ กลุ่มแอคติวิสต์ นักวิชาการ นักศึกษา และสื่อมวลชน


 


ขณะเดียวกัน องค์การระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ (UN) ก็เข้ามามีบทบาทอย่างเต็มความสามารถในการผลักดันให้เกิด "การเลือกตั้ง" ด้วยความหวังว่าจะนำพาเนปาลไป "ระบอบประชาธิปไตย" ที่เชื่อกันว่าเป็นแนวทางที่คนส่วนใหญ่ต้องการให้เกิดขึ้น...


 


ถึงอย่างนั้นก็ดี...คนไทยไกลบ้านที่ไปทำงานกับ UN ในเนปาลรำพึงให้ฟังว่า "ภารกิจ (จัดให้มี) เลือกตั้ง" ครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เพราะคนเนปาลเสียงแตกเป็นหลายฝ่ายเหลือเกิน และไม่รู้เหมือนกันว่าวันเลือกตั้งที่รอคอยนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่กันแน่...


 


มิถุนายน 2550


 



แอคติวิสต์เนปาลเดินขบวนประท้วงกลุ่มเหมาอิสต์ในเขตละลิตปูร์


 


กลับจากเนปาลมาถึงเมืองไทย เจ้าหน้าที่ UN ชาวไทยในเนปาล ส่งเสียงมาตามโทรศัพท์ทางไกลเพื่อบอกกล่าวเพิ่มเติมว่า สงสัยกำหนดเลือกตั้งที่วางแผนว่าจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนาฯ คงจะวืดเป็นแน่แท้...


 


สาเหตุหลักๆ ก็มาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของพรรคการเมืองทั้ง 7 ซึ่งยังไม่มีนโยบายอะไรดีๆ มาเสนอให้ชาวเนปาล ส่วนผู้นำกลุ่มเหมาอิสต์ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลชั่วคราวก็โดนต่อต้านจากบรรดานักสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ด้วยข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการขุดคุ้ยเรื่องตั้งแต่สมัยที่กลุ่มเหมาอิสต์ต่อสู้กับกองกำลังของกษัตริย์ในเวลาหลายปีที่ผ่านมา


 


มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มเหมาอิสต์อาศัยชนกลุ่มน้อยและคนชายขอบของเนปาลเป็นฐานสนับสนุน และยุให้เด็กๆ วัยต่ำกว่า 15 ปี ลุกขึ้นมาจับอาวุธขึ้นมาสู้


 


แม้ความเชื่อของกลุ่มเหมาอิสต์จะพยายามมุ่งไปสู่ "อนาคตที่ดีกว่า" และพยายามจะฏิเสธชีวิตที่อยู่ใต้การปกครองของระบอบกษัตริย์ แต่การใช้ทหารเด็กเป็นกองกำลังในการต่อสู้ รวมถึงการใช้อาวุธเข้าทำร้าย (บางครั้งถึงขั้นสังหาร) ผู้คนที่เห็นต่างจากกลุ่มของตน ทำให้เหมาอิสต์ต้องเผชิญหน้ากับ "แรงเสียดทาน" ทั้งจากชาวเนปาลและชาวต่างชาติ ด้วยข้อหาลิดรอนสิทธิของผู้อื่น (ไม่ต่างอะไรจากระบอบกษัตริย์ที่กลุ่มตัวเองต่อต้าน)


 


กลุ่มเหมาอิสต์ที่เคยเป็น "ขวัญใจ" ชาวเนปาลส่วนใหญ่ จึงถูกตรวจสอบและไล่เบี้ยอย่างหนัก ซึ่งมันคงเป็น "ราคาที่ต้องจ่าย" หากพวกเขาต้องการไปให้ถึง "ประชาธิปไตย" อันธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวเนปาลอย่างที่เคยบอกไว้


 


ในเวลาเดียวกัน กลุ่มผู้สนับสนุนและจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ก็เริ่มหาทางออกด้วยการลงเล่นการเมือง และสังกัดพรรคเดียวกับอดีตผู้นำทางการเมืองเนปาล ซึ่งอาจจะเป็น "ตลกร้าย" อีกเรื่องหนึ่ง เพราะครั้งที่ผู้นำคนเดิมถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหา "คอรัปชั่น" มันก็มีเหตุมาจากคนกลุ่มเดียวกันนี่แหละ...


 


ดูเหมือนว่าความแตกต่างและการแบ่งขั้ว ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนตาดำๆ ชาวเนปาลมีทางเลือกทีน่าพอใจเพิ่มขึ้นมาสักเท่าไหร่เลย...


 


กรกฎาคม 2550


 



หนทางเงียบๆ (แต่ไม่ค่อยเรียบ) แห่งหนึ่งในเมืองไทย...ไม่รู้จะทอดยาวไปสู่หนใด...


 


เดือนมิถุนายนผ่านไปแล้ว การเลือกตั้งในเนปาลถูกประกาศแน่ชัดว่าเจอกับโรค "เลื่อน" ด้วยความขัดแย้งในการหาข้อตกลงร่วมกันของรัฐบาลชั่วคราวนั้น-ยังหาข้อยุติไม่ได้...


 


ฤดูฝนนี้ เจ้าหน้าที่ UN คนเดิมเลยได้โอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย และเดินทางขึ้นเหนือไปถึงบ้านแป้น จังหวัดลำพูน เพื่อเยี่ยมเยือนญาติผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันนานหลายเพลา


 


กลับมาครั้งนี้ คนไทยไกลบ้านเป็นฝ่ายเอ่ยถามคนไทยในบ้านบ้างว่าสถานการณ์ทางการเมือง แบบไทยๆ เป็นอย่างไรแล้วบ้าง?


 


คำถามนี้คนไทยในบ้านตอบไม่ได้จริงๆ


 


เลยได้แต่บอกเล่าถึงความคืบหน้าในการเลือกตั้งที่คนในรัฐบาลชั่วคราวออกมาพูดว่า "ต้องลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเสียก่อน" จึงจะนำไปสู่การเลือกตั้ง...


 


ด้วยตรรกะแปลกๆ เช่นนี้ ทำให้คู่สนทนาออกอาการนิ่งอึ้งไปชั่วขณะ แต่ก็ยังไม่ได้เอ่ยว่ากระไร...(สงสัยว่าเนปาลคงไม่มีการเล่นมุกนี้ คนไกลบ้านเลยตั้งตัวไม่ทัน :-P)


 


จนกระทั่งไปถึงบ้านแป้น อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน คนไทยไกลบ้านพบว่าโรงเรียนประชาบาลที่อยู่รั้วติดๆ กัน มีการอบรม "อสพป." หรือ อาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย ที่ "หน่วยงานรัฐ" กำลังให้ความรู้เรื่อง "ประชาธิปไตย" แก่ประชาชน...


 


แต่เท่าที่จับใจความได้ ดูเหมือนวิทยาการในงานนั้นจะประกาศชัดเจนว่า "ใครที่มาร่วมงานในวันนี้จะได้รับจตุคามรามเทพไปบูชา เพื่อสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรือง...." ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ


 


ไม่เห็นมีส่วนไหนพูดถึงคำว่า "ประชาธิปไตย" หรือข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญที่กำลังเข็นให้ชาวบ้านลงประชามติรับร่างฯ ให้ได้ยินสักแอะ...(หรือพูดไปหมดแล้วก็ไม่รู้ และตอนนี้เป็นช่วงโฆษณาคั่นรายการ?)


 


พ่ออุ้ยที่ไปเยี่ยมเยือน ขี้เกียจตะโกนแข่งกับเสียงประกาศออกไมโครโฟน ผู้เฒ่านั่งรอจนเสียงประกาศจากโรงเรียนข้างบ้านเงียบลง และเปรยให้ฟังว่า "พูดเกือบทุกวัน รำคาญเหมือนกัน แต่ก็ต้องทน"


 


เมื่อมองไปที่โต๊ะรับแขกข้างๆ กัน หนังสือหน้าปกสีเหลืองสดเขียนว่า "ร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550" (หรืออะไรทำนองนี้) วางอยู่


 


ชะรอยพ่ออุ้ยจะเห็นสายตาของคู่สนทนา ผู้เฒ่าเลยบอกเพิ่มเติมว่า "หนังสือนี่คนเขาเอามาแจก เขาบอกว่าอย่าลืมไปลงชื่อเอากฏหมายฉบับนี้ไปใช้ ไม่งั้นจะไม่ได้เลือกตั้ง"


 


นั่งคุยเรื่องสัพเพเหระได้อีกพักใหญ่ๆ ก็ลากลับ...พ่ออุ้ยอวยชัยให้พรตามธรรมเนียม แต่แทนที่จะรู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย ผู้น้อยที่ไปเยี่ยมกลับรู้สึกมึนตึ้บจากข่าวคราวที่ได้รับรู้มา...


 


ขากลับออกมาจากบ้านแป้น งานอบรมอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตยยังไม่เลิกแล้ว แต่แว่วๆ ว่าคนพูดเปลี่ยนหัวข้อจากสรรพคุณของจตุคามไปเป็นประเด็น "การแสดงความจงรักภักดีต่อพ่อหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลสมัย…"


 


บทสนทนาระหว่างทางกลับจากบ้านแป้นจึงเป็นการพูดถึงโครงการ "แม่ไก่ขายตรง" และอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตยของ มท.1 ที่ออกมาให้ข่าวชัดเจนเมื่อตอนต้นเดือนว่า โครงการนี้ "ตั้งเป้าไว้แล้ว" ว่าน่าจะได้เสียงจากประชาชนทั่วประเทศประมาณ 15 ล้านเสียง...


 


จากนั้นเรื่องที่คุยก็เริ่มลุกลามไปถึงคำถามว่า "นี่มัน propaganda จากรัฐชัดๆ" และถือเป็นการแทรกแซงการเลือกตั้ง อันเป็นเรื่องที่คนทำงานใน UN มานานกว่า 20 ปีรับไม่ได้...


 


ก่อนที่คนไทยไกลบ้านจะออกอาการโมโหเพิ่มขึ้นทุกทีจนถึงขั้นเป็นภัยต่อเส้นเลือดในสมอง คนไปด้วยจึงต้องเอ่ยปรามด้วยความเกรงใจ


 


"นี่กลับบ้านมาพักร้อนนะ ไม่ใช่มาทำงาน..."


 


วงสนทนาจึงเปลี่ยนประเด็นไปได้หลังจากนั้น


 


แต่ก็นั่นแหละ...


 


ในความเงียบของรอยต่อจากบทสนทนา เราต่างรู้ดีพอๆ กันว่า ประเทศชาติไม่ได้อยู่ใน "ช่วงพักร้อน" ตลอดไปเสียหน่อย...


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net