Skip to main content
sharethis

ประชาไท- 23 ก.ค. 50 กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กลุ่มแรงงานสตรีสู่เสรีภาพ กลุ่มกรรมกรปฏิรูปสหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมภาคประชาชน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ร่วมกันจัดงานเสวนา "รัฐธรรมนูญปี 2550 คุ้มครองสิทธิแรงงานจริงหรือ?" ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีผู้เข้าร่วมราว 70 คน เมื่อวันที่ 21 ก.ค.


 



 



 


การพูดคุยในวงเสวนาเริ่มต้นด้วยปัญหาที่แรงงานได้รับ โดยนายฉัตรชัย ไพยเสน จากกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่าปัญหาเป็นผลกระทบจากกฎหมายที่พิกลพิการ อันมาจากรัฐธรรมนูญที่ไม่ชัดเจน ทั้งนี้การที่รัฐไม่ยอมรับมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ในอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวกัน และการเจรจาต่อรอง ทำให้ทุกอย่างในกระบวนการแรงงานล้มเหลว การคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างแท้จริงไม่เกิด ในขณะที่การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานทำให้ถูกเลิกจ้าง


 


นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อนายจ้างและลูกจ้างในสังคมไทย ทั้งที่พยายามเรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการ แต่ความไม่เท่าเทียมยังคงมีอยู่โดยเฉพาะในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับลูกจ้างและนายจ้าง อีกทั้งบทลงโทษของกฎหมายที่มีต่อนายจ้างเป็นเพียงลหุโทษการระบุโทษที่รุนแรงกว่านี้อาจเป็นการคุ้มครองลูกจ้างที่ดีกว่าที่เป็นอยู่


 


"ประเด็นแรงงานในรัฐธรรมนูญสั้นมาก เขียนออกมาแค่ 2-3 บรรทัด แล้วจะคุ้มครองแรงงานได้อย่างไร เมื่อเทียบของปี 40 ก็ไม่ได้แตกต่างกัน เขียนหลวมๆ บอกว่ามีสิทธิแต่ไม่ได้บอกว่าคุ้มครองแบบไหนอย่างไร"นายฉัตรชัยกล่าว


 


เมื่อมองในส่วนของรัฐธรรมนูญ 2550 นายฉัตรชัย กล่าวว่าไม่ได้ต่างจากเดิม เนื้อหาเกี่ยวกับการรวมตัวของกลุ่มแรงงานไม่มีเลย อีกทั้งยังหลอกลวงบิดเบือนในการชักจูงให้ประชาชนออกเสียงรับร่างว่า หากไม่ไปรับร่างบ้านเมืองจะเข้าสู่ภาวะอึมครึมและกลียุคทั้งที่หากไม่รับยังอาจดึงรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งได้


 


ด้านนายบุญยืน สุขใหม่ จากกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานในการรวมตัว ซึ่งได้มีการประชุมเรื่องเห็นควรหรือไม่ที่จะให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 87และ98 กันไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ชลบุรี แต่สหภาพแรงงานในพื้นที่ไม่ได้รับจดหมายเชิญให้เข้าร่วม บทสรุปจึงออกมาว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องรับรองเพราะมี พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 อยู่แล้ว ทั้งที่กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสหภาพแรงงาน ทำให้องค์กรลูกจ้างไม่เติบโต เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานรัฐและนายจ้าง อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มลูกจ้างแรงงาน


 


นายบุญยืนได้กล่าวถึงชัยชนะในการต่อสู้ของกลุ่มแรงงานที่ผ่านมาว่า เป็นชัยชนะบนซากปรักหักพัง คือแพ้ทั้งสองฝ่าย แม้ลูกจ้างจะต่อสู้จนกลับเข้าไปทำงานได้แต่รอยบาดหมางยังคงอยู่แล้วความสัมพันธ์แรงงานกับนายจ้างจะเกิดขึ้นได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยเหตุผลมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อบริษัทเพราะการเข้าไปมีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงานอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน ทั้งที่มีกฎหมายรับรองห้ามไม่ให้เลิกจ้างเนื่องจากเข้าร่วมกับสหภาพแรงงาน


 


"มีกฎหมายแต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าถึงจึงเป็นไปได้ยากตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน" นายบุญยืนแสดงความเห็น อีกทั้งยังเรียกร้องไปถึงกลุ่มแรงงานเหมาค่าแรงที่ไม่ได้รับสวัสดิการ และการดูแลอย่างเต็มที่จากนายจ้าง อีกทั้งไม่ได้รับเงินชดเชยหากมีการเลิกจ้างอีกด้วย


 


นายธัญญา สายสิน จากกลุ่มผู้ใช้แรงงานย่านรังสิตกล่าวแสดงความเห็นในเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้าวและแรงงานเหมาค่าแรงว่าเป็นผลมาจากความต้องการแรงงานต้นทุนต่ำของนายจ้าง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงข้อกฎหมายที่มีอยู่ว่ามีส่วนดีอยู่ แต่ปัญหาอยู่ที่การปรับใช้และตีความ ดังนั้นกฎหมายแรงงานจึงน่าระบุให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่ในสถานศึกษาเพื่อความตระหนักและได้เรียนรู้เพื่อการนำไปใช้  


 


นายเซีย จำปาทอง ตัวแทนสมัชชาผู้ใช้แรงงาน 1550 กล่าวถึงอุปสรรค์ในการใฝ่หาความรู้และติดตามข่าวสารบ้านเมืองของผู้ใช้แรงงานว่า นอกจากจะต้องทำงานให้นายจ้างวันละ 8 ชั่วโมงแล้ว การรับรู้ข่าวสารยังถูกปิดหูปิดตาจากสื่อที่ถูกครอบงำโดยระบอบเผด็จการในปัจจุบัน ให้เสนอข่าวตามนโยบายของรัฐ และของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่ความจริงชีวิตความเป็นอยู่รวมถึงปัญหาของแรงงานและประชาชนกลับไม่ถูกนำเสนอ


 


ต่อประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองนั้น นายเซีย กล่าวว่าการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มแรงงานเกี่ยวข้องกับการแสวงหาผลประโยชน์ในโรงงานแต่ในอดีตที่ผ่านมามักถูกตักเตือนโดยการอ้างกฎหมายเพื่อถอนทะเบียนหรือยุบสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. ถึงปัจจุบัน แรงงานถูกปิดกั้นการรวมตัวและการเดินทางโดยกำลังทหาร ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานต้องชะงัก มีสหภาพแรงงานหลายแห่งต้องยุบไปเนื่องจากโรงงานปิดตัวลง และบางโรงงานก็ปิดตัวเนื่องจากต้องการหนีสหภาพแรงงาน


 


สำหรับประเด็นการปิดตัวของบริษัทไทยศิลป์ นายเซียแสดงความเห็นว่า ปัญหาไม่ได้มาจากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเท่านั้น แต่เป็นผลจากการเมืองอันสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจด้วย เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศ และการกีดกันทางการค้า ซึ่งนอกจากบริษัทไทยศิลป์แล้วยังมีอีกหลายบริษัทที่มีแนวโน้มจะปิดตัวตามมาไปดูได้จากการค้างชำระเงินสบทบประกันสังคม


 


"เข้าใจว่ามันเป็นการแข่งขันเชิงเสรี แต่ถ้า คมช.ไม่มายึดอำนาจผมว่าเศรษฐกิจมันจะดำเนินไปดีกว่านี้"นายเซีย กล่าว


 


ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นายเซียกล่าวว่าเป็นความไม่ชอบธรรมทั้งการทำรัฐประหารและการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเหตุผลที่อ้างมามากมายของการทำรัฐประหารความจริงเป็นเพียงความขัดแย้งของชนชั้นผู้นำในการจัดสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรที่ไม่ลงตัว มีคำถามตั้งแต่การประกาศของคณะรัฐประหารใน คปค.ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทำไมองคมนตรีจึงยังให้คงไว้


 


ส่วนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้สวยหรูว่า "ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ" นั้น เป็นเพียงการลดแรงเสียดทานจากการต่อต้านของประชาชน เป็นการสร้างภาพ สร้างความชอบธรรมผ่านสื่อ โดยไม่มีการแจกแจงถึงงบประมาณที่สูญเสียไป ในขณะที่ประชาชนต้องถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ถูกประกาศใช้กฎอัยการศึก และอาจต้องถูกบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง


 


เยาวภา ดอนเสน จากกลุ่มแรงงานสตรีสู่เสรีภาพ ผู้ดำเนินรายการกล่าวถึงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าจากวงผู้ร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไม่ต่างกัน คือในประเด็นของที่มาซึ่งไม่ถูกต้อง เป็นการยึดอำนาจและใช้อำนาจมาชี้นำสังคม โดยที่ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ดีขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540


 


หลังการร่วมแสดงความคิดเห็นจากผู้มาร่วมงาน ผู้ดำเนินรายการได้สรุปความคิดร่วมกันในช่วงท้าย เป็นข้อสรุป 4 ข้อซึ่งตรงกับข้อเรียกร้องเดิมที่มีอยู่แล้ว คือ 1.เรียกร้องให้รัฐบาลรับรอง อนุสัญญาระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 87และ 98 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวให้คุ้มครองการก่อตั้งสหภาพแรงงาน 2.ยกเลิกแรงงานเหมาค่าแรง พร้อมจัดรัฐสวัสดิการ เก็บภาษีแบบก้าวหน้า 3.ให้ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ว่าจะต้องจบปริญญาตรี 4.จัดให้มีการเลือกตั้งได้ในพื้นที่สถานประกอบการ


 


ก่อนจบการเสวนา เยาวภา ได้เปิดประเด็นรวมความคิดเห็นสรุปฟันธงรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผลออกมาเสียงส่วนใหญ่เกือบทังหมดเห็นพ้องกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลการพูดคุยในวันนี้ในสมาชิกของเครือข่ายสหภาพแรงงานได้รับรู้ มีเพียงนายบุญยืน ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกที่ขอสงวนสิทธิไม่แสดงความคิดเห็น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net