Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 ก.ค. 50 ปัจจุบัน "ปัญหาโลกร้อน" เป็นตัวกระตุ้นความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมของคนไทยอย่างมากมาย เห็นได้จากหน่วยงานต่างๆ ออกมารณรงค์และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คนตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม


 


ในขณะเดียวกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูลมมรสุม ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งอย่างมากเช่นกัน


 


จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้โครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะมีขึ้นบริเวณชายฝั่งทะเลในอนาคตดูจะอ่อนไหวมากที่จะถูกต่อต้านบนพื้นฐานของปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยเชื่อว่าหลายโครงการที่มีมาในอดีตเป็นต้นเหตุให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง เช่น ท่าเรือ เขื่อนกันคลื่นและทรายปากแม่น้ำ หรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำอื่นๆ เป็นต้น


 


ขณะที่โครงการก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากสาเหตุดังกล่าว กลับเพิ่มปัญหากัดเซาะให้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็น เขื่อนกันคลื่น รอดักทราย เป็นต้น


 


ล่าสุด กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม มีแผนจะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นการศึกษาความเหมาะสมในด้านต่างๆ ย่อมทำให้มีคนเป็นห่วงกังวลว่า จะยิ่งทำให้การกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น เป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แล้ว


 


ด้วยลำพังแค่โครงการแก้ปัญหาชายปัญหาชายฝั่งพัง ด้วยสิ่งก่อสร้างในรูปแบบต่างๆ ลงไปในน้ำ กลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้น เพราะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะขยายออกไปเรื่อยๆ


 


ในรายงานผลการสำรวจพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งทะเลในฤดูมรสุมบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงจังหวัดปัตตานี ระหว่างเดือนธันวาคม 2549 - มกราคม 2550 ซึ่งเป็นเอกสารเผยแพร่ของสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฉบับที่ 28 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฏในเว็บไซด์ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ว่า ส่วนใหญ่มาจากโครงการพัฒนาชายฝั่งนั่นเอง


 


ในผลการสำรวจดังกล่าว ระบุสาเหตุการกัดเซาะชายฝั่งทะเลว่า บางส่วนมาจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสคลื่น ลม ระดับน้ำทะเล แต่ส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาพื้นที่ของประชาชนตามแนวชายฝั่งที่ไม่เหมาะสม เช่น การปรับถมพื้นที่ชายฝั่ง การก่อสร้างโครงสร้างชายฝั่งไปกีดขวางกระแสน้ำ ทำให้ชายฝั่งทะเลเกิดการเปลี่ยนแปลง และพยายามปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุลใหม่ตลอดเวลา


 


กิจกรรมส่วนใหญ่จะมีผลให้ทรายหรือตะกอนชายฝั่งลดปริมาณลง ต้องสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งทะเลเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เป็นสาเหตุสำคัญของการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พบได้ทั้งชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน


 


จากข้อมูลการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พบแนวชายฝั่งทะเลที่ถูกกัดเซาะทุกจังหวัดริมชายฝั่งทะเล มากถึง 155 แห่ง มีระยะทางรวมประมาณ 600 กิโลเมตร หรือร้อยละ 21.3 ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งประเทศ แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย 112 แห่ง ระยะทางประมาณ 490 กิโลเมตร และฝั่งอันดามัน 43 แห่ง ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร


 


ปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากส่งผลให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สิน ที่ดิน ระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ สิ่งปลูกสร้างแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ ชายหาด เนินทราย ป่าชายเลน ป่าชายหาด ทัศนียภาพที่สวยงาม และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญ จึงจำเป็นเร่งด่วนในการศึกษา ฟื้นฟู และรักษาแนวชายฝั่งทะเลให้กลับสู่ภาวะสมดุลใหม่ที่มีผลกระทบในระดับสามารถควบคุมได้


 



รูปพื้นที่ศึกษาบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันตก


 


ในรายงานผลการสำรวจดังกล่าวระบุว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเล มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สด โดยในอดีตการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อปรับสภาพชายฝั่งให้อยู่ในภาวะสมดุลอยู่ตลอดเวลา


 


แต่การพัฒนาชายฝั่งทะเลในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งอย่างรวดเร็วและเด่นชัด รวมทั้งชายฝั่งทะเลประเทศไทยด้วย ซึ่งกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งที่ไม่พึงประสงค์ขั้นรุนแรงหลายพื้นที่


 



ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชายฝั่งทะเล


 


ลักษณะการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งอ่าวไทย


สำหรับการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งอ่าวไทย เป็น 3 ลักษณะ ได้แก่


 


1) ชายฝั่งคงสภาพ (Stable coast) เป็นชายฝั่งที่มีการปรับสมดุลตามธรรมชาติ คือ ในฤดูกาลหนึ่งมีการกัดเซาะ แต่อีกฤดูกาลหนึ่งมีการสะสมตัวในอัตราที่เกือบเท่ากันหรือเท่ากัน


 


2) ชายฝั่งสะสมตัว (Depositional coast) เป็นชายฝั่งมีการสะสมตะกอนในพื้นที่ ทำให้ชายฝั่งพอกพูนสูงขึ้น หรือมีพื้นที่งอกยื่นยาวออกไปในทะเล โดยตะกอนมาจากหลายแหล่ง เช่น จากบริเวณใกล้เคียงที่ถูกกัดเซาะ หรือมาจากทะเลในช่วงที่เกิดลมพายุพัดตะกอนเข้าหาฝั่ง หรือตะกอนแผ่นดินที่มากับแม่น้ำลำคลอง


 


3) ชายฝั่งที่มีการกัดเซาะ (Erosional coast) เป็นกระบวนการทางธรณีวิทยาที่ทำให้หินและตะกอนทั้งหลายที่ประกอบกันอยู่ในพื้นที่หลุดร่วงหรือเคลื่อนที่ไปจากตำแหน่งเดิม โดยคลื่นลม กระแสน้ำขึ้นน้ำลง รวมถึงสัตว์และมนุษย์ การกัดเซาะชายฝั่งทำให้พื้นที่ชายฝั่งหดหายไป หรือชายทะเลถอยร่นเข้าไปในแผ่นดิน


 


โดยอัตราการกัดเซาะชายฝั่งแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ 1.กัดเซาะรุนแรง มากกว่า 5 เมตรต่อปี และ2.กัดเซาะปานกลาง ตั้งแต่ 1 - 5 เมตรต่อปี


 


โครงการพัฒนาคือตัวการ


ในรายงานผลการสำรวจยังได้ระบุด้วยว่า จากเหตุการณ์กัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทย ในช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2549 ต่อเนื่องมาถึงเดือนมกราคม 2550 นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอ่าวไทยตอนกลาง ตั้งแต่จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขตอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี


 


การเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งในปีนี้ มีสาเหตุมาจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินของมนุษย์ อันมีผลมาจากการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมากขึ้น และจากสภาพคลื่นลมแรง โดยเฉลี่ยประมาณ 2 - 3 เมตร เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเล โดยทำให้มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่รุนแรงมากขึ้นจากสภาพตามธรรมชาติ


 


สภาพการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลางและตอนล่าง สาเหตุหลักไม่ได้เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงตามปรากฏการณ์ธรรมชาติ ส่วนใหญ่เกิดจากผลพวงของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งเพื่อกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งรุนแรงและรวดเร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ


 


บางพื้นที่ถูกกัดเซาะลึกเข้ามาเป็นระยะทางมากกว่า 100 เมตร แนวการกัดเซาะมาถึงพื้นที่ชุมชน จนต้องมีการอพยพย้ายบ้านเรือนกันเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วง 10 ที่ผ่านมา เป็นช่วง 10 ปีที่ประเทศไทยมีนโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ในหลายรูปแบบ เช่น เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลน ป่าชายหาด มาเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา บ่อกุ้ง พื้นที่อุตสาหกรรม ท่าเรือ สะพานปลา พื้นที่ท่องเที่ยว การขยายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ การปรับถมพื้นที่ริมทะเล การสร้างถนน พื้นที่นันทนาการ รีสอร์ท ที่อยู่อาศัย แหล่งชุมชน รวมไปถึงการลุกล้ำพื้นที่ชายฝั่งในรูปแบบต่างๆ


 


โดยเฉพาะตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา พบการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นบริเวณกว้าง มีการบุกรุกป่าชายเลน ป่าชายหาด เพื่อขุดบ่อปลา บ่อกุ้งขนาดใหญ่ติดชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นการทำลายความแข็งแรงของพื้นที่ ปีที่มีภาสะคลื่นลมรุนแรง จะทำให้คันดินบริเวณขอบบ่อพังทลายลง จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การกัดเซาะชายฝั่งมีความรุนแรงและเกิดการสูญเสียพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง


 


นอกจากนี้ การก่อสร้างในลักษณะต่างๆ ทั้งที่เป็น


-          โครงสร้างชายฝั่งที่สร้างไว้บนชายฝั่ง เช่น กำแพงกันคลื่นและเขื่อนแบบต่างๆ (Seawall) เช่น เขื่อนคอนกรีต เขื่อนหินทิ้ง


-          โครงสร้างชายฝั่งที่สร้างยื่นออกจากชายฝั่ง เช่น ท่าเรือ เขื่อนกันทรายและคลื่นตามปากแม่น้ำปากคลองแบบต่างๆ (Jetty) ตลอดจนการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งรูปแบบต่างๆ เช่น รอหรือเขื่อนดักทราย (Groin)


-          โครงสร้างชายฝั่งที่สร้างไว้ในทะเล เช่น เขื่อนกันคลื่นแบบต่างๆ (Offshore Breakwater)


 


โครงสร้างเหล่านี้มีทั้งผลดีและผลเสีย แต่เป็นการเพิ่มสิ่งกีดขวางกระแสน้ำและการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง ทำให้กระแสน้ำเกิดการเปลี่ยนทิศทาง และเร่งให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากชายฝั่งบางพื้นที่ขาดตะกอนไปหล่อเลี้ยง และพยายามที่จะปรับตัวให้เข้าสู่สมดุลใหม่นั่นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net