Skip to main content
sharethis

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


องอาจ เดชา


 


ทุกวันนี้เรื่องของผู้หญิง ผู้หญิง ยังคงมีเสน่ห์และมีอีกหลายมุมมองที่น่าทำความรู้จักและเข้าใจ หรืออย่างน้อยก็น่าจะรู้จักกันมากกว่าการที่หญิงสาวหน้าตาดูดีทันสมัยหยิบเรื่องนั้นมาพูด เรื่องนี้มาเล่า เรื่องโน้นมาขบ หรือเรื่องเมื่อกี้มากัดให้เราฟังกันทุกๆ เช้าแล้วก็ผ่านไปอีกวัน สุดท้ายแล้วความเข้าใจผู้หญิงก็คงยังดำรงอยู่อย่างเดิมๆ


 


มองให้ลึกกว่านั้น บางทีเรื่องผู้หญิงผู้หญิง อาจเป็นอะไรที่ต้องพูดกันถึงโครงสร้างสังคมมากกว่าที่จะพูดกันถึงสิ่งที่ผู้หญิงถูกกระทำกันแบบรายวัน ในสังคมที่ "ผู้ชายเป็นใหญ่" แล้วมานั่งเมาท์ว่าผู้ชายมันเลวอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่ความจริงก็อาจดีเลวพอๆ กัน เพียงแต่มองกันไปในต่างมุมมอง


 


อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นนี้คงจะไม่พูดในประเด็นเปรียบเทียระหว่างผู้ชายหรือผู้หญิง ความดีหรือความเลว แต่จะชวนมองเรื่องผู้หญิงในเชิงโครงสร้างสังคมที่เจาะทะลุไปถึงใจกลางปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมผ่านการเปรียบเทียบจากการสนทนากับนักสิทธิมนุษยชนหญิงแห่งดินแดนภารตะผู้หนึ่งที่กำลังมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเวลานี้


 



 


ในฤดูฝนของเดือนกรกฎาคม เราได้พูดคุยกับ Ms. Kalpalata Dutta ซึ่งเราเรียกเธอสั้นๆ และเพี้ยนๆ ตามสำเนียงลิ้นว่า "ลัตต้า" ปัจจุบันเธอทำงานให้กับ Asian Institute for Human Rights บทสนทนาครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างช่วงหัวค่ำหลังอาหารเย็นของวันที่ฝนกำลังตกลงมาโปรยๆ กลางหุบเขาแถวๆ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่


 


ลัตต้ามาที่นี่เพื่อเป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้ในโครงการ "ฝึกอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์" ในวันที่ 18- 21 กรกฎาคม 2550 ซึ่งมีเป้าหมายในประเทศไทยคือต้องการให้ผู้ทำการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนกับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมาเชื่อมโยงกันได้ เพราะการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ที่ศึกษากับผู้ปฏิบัติจริงจะสามารถเพิ่มพูนความรู้และพัฒนางานด้านสิทธิมนุษยชน


 


ลัตต้า เล่าให้เราฟังถึงการทำงานของเธอว่าต้องเดินทางไปสร้างความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแบบเดียวกับที่มาในประเทศไทยครั้งนี้ทั่วเอเชีย ซึ่งโครงการในประเทศไทยของเธอคาดว่าจะใช้เวลาประมาณปีครึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องบทบาทระหว่างชายหญิงคือเรื่องที่เธอศึกษาและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และด้วยประสบการณ์เหล่านี้เอง เราจึงเริ่มต้นด้วยการให้เธอเล่าถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยและอินเดียโดยเฉพาะในเรื่องบทบาทของผู้หญิง ผู้ชาย


 


ลัตต้า ตอบเราว่า ผู้หญิงในอินเดียมีแรงกดดันสูงกว่าผู้หญิงในประเทศไทย โดยเฉพาะจากเรื่องการแต่งงาน ซึ่งในวัฒนธรรมอินเดียนั้น ผู้หญิงต้องเป็นผู้ให้สินสอดเพื่อสู่ขอผู้ชายด้วย


 


ผมยิ้มกับตัวเองแบบผู้ชายๆ บางทีก็ชักอยากจะเกิดเป็นผู้ชายอินเดียขึ้นมาซะแล้ว...


 


ชักสติกลับมาที่ลัตต้าซึ่งทำหน้าที่อธิบายต่อไปว่า แรงกดดันของผู้หญิงอินเดียก็คือเสียงสะท้อนอันกึกก้องของสังคมนั่นเอง เราค่อนข้างรู้สึกได้ สำหรับผู้หญิงอินเดียแล้วคำว่า "ผู้หญิงต้องแต่งงาน"คงจะเปรียบเสมือนลิ่มแหลมเสียดแทงผ่านนรูหูแต่เลาะเลี้ยวไปเจ็บที่หัวใจ หากเพราะไม่แต่งงานแล้วเธอคนนั้นจะถูกมองอย่างปักใจว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงตราประทับทางสังคมแบบนี้ ในทางจารีตการกำหนดเรื่องแต่งงานจึงต้องตกเป็นหน้าที่ที่สำคัญของพ่อเลยทีเดียว


 


ชาวอินเดียมีความเชื่อเฉพาะหลายอย่าง ซึ่งในหลายอย่างนั้นก็มีรากฐานเค้าโครงมาจากมหากาพย์รามายณะ (รามเกียรติ์ในบ้านเรา) เป็นสำคัญ และนางซีต้า (สีดา) คือต้นแบบของหญิงสาวที่ดีงามทั้งปวง อีกทั้งบทบันทึกโบราณภาษาสันสกฤตอันเก่าแก่เล่มหนึ่งก็วางแนวทางธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องอำนาจการตัดสินในครอบครัวไว้ให้เป็นของลูกชาย แม้แต่หากพ่อหรือแม่ตายไปภารกิจที่ทิ้งไว้ทั้งปวงจะต้องตกเป็นของลูกชายทั้งสิ้น ส่วนผู้หญิงไม่ว่าเรื่องน้อยใหญ่ปานใดก็จะไม่ค่อยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ


 


ด้วยแนวธรรมเนียมที่ยึดถือสืบต่อกันมาแบบนี้จึงนำไปสู่ความต้องการลูกชายในครอบครัวด้วย เนื่องจากเมื่อภาระกิจหลังการตายของพ่อแม่จะต้องตกเป็นของลูกชาย ลูกชายเท่านั้นจึงจะเป็นผู้จัดงานศพที่ดีให้ได้ ดังนั้นหากไม่มีลูกชายก็จะหมายถึงการไม่ได้ขึ้นสวรรค์เลยทีเดียว


 


สำหรับมหากาพย์รามายณะที่มี ซีต้าภรรยารักของรามเป็นต้นแบบ ผู้หญิงที่ดีที่จะต้องเป็นลูกสาวที่ดี (การเลือกคู่จึงเป็นหน้าที่พ่อแม่) เมื่อเป็นเมียก็ต้องเป็นเมียที่ดี (ถึงขั้นลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์) กระทั่งนามสกุลก็ต้องเปลี่ยนไปตามผู้ชาย และเมื่อเป็นแม่ก็ต้องเป็นแม่ที่ดีด้วย


 


และในเมื่อผู้ชายคือผู้เป็นใหญ่ในบ้าน ความผูกมัดทางวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้น ผู้เป็นพ่อต้องทำให้ลูกสาวได้แต่งงาน ซึ่งลัตต้าบอกว่าเป็นความเชื่อถ่ายทอดกันมานานเลยทีเดียว ถ้าหากพ่อทำให้ลูกสาวได้แต่งงาน พ่อจะเป็นคนดีและได้ขึ้นสวรรค์


 


อย่างไรก็ตาม ลัตต้ามีมุมมองในทางบวกต่อธรรมเนียมดังกล่าวอยู่บ้างเช่นกัน มีหลายครอบครัวเชื่อว่านอกเหนือไปจากเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว การให้ผู้หญิงเป็นผู้สู่ขอผู้ชาย มันเป็นทางหนึ่งที่จะหาสามีที่ดีให้ลูกสาวได้ พ่อในอินเดียก็คิดว่าถ้าผู้หญิงจ่ายเงินเองก็จะได้คนที่ดีมาและเป็นทางหนึ่งที่พ่อจะได้บรรลุภาระกิจคนดีและได้ขึ้นสวรรค์ด้วย


 


ในอีกมิติหนึ่ง พ่อและแม่ในสังคมอินเดียต้องส่งเสียลูกชายในด้านต่างๆ เพื่อจะมาทำหน้าที่หาเงินเข้าครอบครัว ดังนั้นเมื่อผู้หญิงแต่งงานเข้าไปแล้ว ลูกชายจะต้องไปรับผิดชอบในการดูแลผู้หญิงที่ต้องมาแต่งงานด้วย การให้สินสอดแก่ครอบครัวผู้ชายเพื่อทดแทนการดูแลตั้งแต่เล็กจนโตของครอบครัวฝ่ายชายที่จะต้องมาทำหน้าที่สามีที่คอยเลี้ยงดูผู้หญิงด้วยนั่นเอง


 


สำหรับผลกระทบที่ตามมา ในสังคมอินเดียพ่อแม่จะไม่อยากยกทรัพย์สิน เช่น บ้านหรือที่ดินให้ลูกสาวเลยเพราะจะทำให้กลายเป็นทรัพย์สินของอีกตระกูล ซึ่งต่างจากในอดีตเมื่อแต่งงาน พ่อจะให้ทรัพย์สินให้ลูกสาวไปด้วยเหมือนการสมัครใจให้โดยเสน่หาธรรมดา แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเรื่องความต้องการของลูกสาวไปว่า ถ้าแต่งงานก็ต้องได้ทรัพย์สินด้วย


 


เมื่อเราถามลัตต้าว่า หากจะเอามุมมองแบบสิทธิมนุษยชนซึ่งแนวคิดที่มาจากสังคมแบบตะวันตกไปมองจารีตดั้งเดิมแบบตะวันออกอย่างอินเดียได้หรือไม่ และจะเกิดผลกระทบอย่างไรโครงสร้างสังคมอย่างไร


 


เธอบอกว่า จารีตที่เป็นอยู่นั้นเป็นการเหลื่อมล้ำ เลือกปฏิบัติและกีดกันผู้หญิง มันขัดกับสิทธิมนุษยชนที่ว่าทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน ซึ่งถ้าแนวคิดสิทธิมนุษยชนถูกนำมาใช้จะเป็นโครงสร้างสังคมที่เสมอภาคมากขึ้นเพราะตอนนี้ผู้หญิงอินเดียส่วนหนึ่งก็ไม่ได้ต้องการเป็นไปตามธรรมเนียมที่ไม่เสมอภาคนี้ หรือไม่ต้องการโดนกดให้ต่ำกว่าผู้ชาย แต่การแก้ไขตรงนี้เป็นเรื่องของสังคมไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย เพราะสังคมจะเป็นผู้บอกว่าผู้หญิงแบบนี้ดี แบบนี้ไม่ดี จึงเกิดความไม่เท่าเทียม


 


ในส่วนกฎหมายอินเดียนั้นได้แก้ตรงนี้ไปแล้ว กฎหมายบอกว่าทุกคนเท่าเทียมและไม่ให้มีการให้สินสอด แต่มันก็ไม่เท่าเทียมในความเป็นจริง เรื่องการให้สินสอดของผู้หญิงก็ยังมีต่อมา ความไม่เสมอภาคก็ยังอยู่เหมือนเดิม


 


"ดังนั้นไม่แน่เสมอไปว่าเมื่อกฎหมายดีแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันจะดี" ลัตต้าพูดอะไรบางอย่างที่ทำให้เรานึกถึงความเป็นไปบางประการในสังคมไทยเวลานี้


 


อย่างไรก็ตาม ลัตต้าเสริมว่า เวลานี้มีกลุ่มผู้หญิงอินเดียที่เข้มแข็งมากมาเรียกร้องเรื่องเหล่านี้ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือผู้หญิงที่ไม่ใช่ผู้หญิงระดับสูง มีเงิน หรือมีการศึกษา สังคมจะยังมีแรงกดดันมาก ในขณะที่ผู้หญิงในกลุ่มที่สูงกว่าสังคมจะไม่ว่าอะไร


 


"ผู้หญิงที่เป็นชนชั้นกลางจะได้รับแรงกดดันเยอะมาก เช่น ถ้าคุณไม่แต่งงานก็จะถูกตั้งคำถามว่าเธอเป็นอะไร เป็นเรื่องที่สังคมใช้ตรวจสอบกัน บางคนก็ยอมรับผู้หญิงที่ออกมาต่อสู้เรื่องสิทธิ แต่บางคนก็ไม่ สังคมในเมืองของอินเดียแม้จะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่แต่งงานไปแล้วทำงานได้ ไม่ถูกกดดัน แต่ถ้าไม่แต่งงานแล้วทำแต่งานมันก็มีแรงกดดันว่าทำไมทำแต่งาน โศกนาฏกรรมของผู้หญิงอินเดียก็คือต้องแสดงตัวว่าเป็นผู้หญิงที่ดีมากเลย ไม่เคยทำอะไรเลวร้ายเลย" ลัตต้าบอกเล่าพร้อมอธิบายสภาพแวดล้อมที่แตกต่างของสังคมเมืองในอินเดียและไทย


 


เธอชี้แจงลักษณะการอยู่อาศัยในอินเดียว่าจะต้องแชร์กับเจ้าของบ้าน ในอินเดียไม่ค่อยมีอพาร์ตเมนท์ให้เช่า เวลาจะไปเช่าบ้านจึงต้องแจ้งเจ้าของก่อนเลยว่าพาผู้ชายมาบ้านบ่อยหรือไม่ โสดหรือไม่ กลับดึกหรือไม่ หรือถ้าได้อยู่อพาร์ทเมนท์หรือแฟลตจริงๆ ความเป็นปัจเจกในสังคมอินเดียก็มีไม่มาก เพื่อนบ้านยังมาคุยกัน ดังนั้นหากมีผู้ชายมาหาบ่อยๆ เพื่อนบ้านก็จะนินทา ซึ่งเป็นแรงกดดันของสังคมที่เป็นปัญหา


 


มาถึงตรงนี้ เราจึงให้ลัตต้ามองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงอินเดียกับผู้หญิงไทยบ้าง เธอเริ่มต้นด้วยการออกตัวว่ายังเข้าใจผู้หญิงไทยไม่มากนัก แต่เท่าที่สัมผัสปัญหาสิทธิมนุษยชนในอินเดียมันเห็นได้ง่ายหรือเห็นภาพชัดกว่า ในขณะที่สิทธิมนุษยชนของผู้หญิงไทยจะมาในเชิงความทันสมัยที่อาจจะดูเสมอภาคหรือมีเสรีภาพมากกว่า ความจริงแล้วกลับตกอยู่ในกับดักของทุนนิยมหรือบริโภคนิยม


 


"ในกรุงเทพผู้หญิงแต่งตัวหรือทำอะไรก็ได้ คล้ายมีอิสระ แต่คำว่าดูอิสระ แต่งตัวอะไรก็ได้ แต่มันเป็นกับดักของทุนนิยม เช่น ผู้หญิงที่สวยต้องผิวขาว จึงต้องไปซื้อครีมต่างๆ ทั้งที่ผู้หญิงไทยไม่ได้ดำ ทำไมจึงอยากขาวกันมาก ซื้อแต่ครีมขาวตลอด หรือเรื่องความผอมก็เป็นกับดักบริโภคนิยมเช่นกัน ปัญหาสิทธิมนุษยชนในอินเดียจะชัดเจนกว่าว่าโดนกดดันอย่างไรจากครอบครัวและสังคม แต่ในไทยอาจจะเหมือนเสมอภาคความจริงก็โดนกับดักบริโภคนิยมด้วย จึงอาจไม่เสมอภาคจริงๆ ก็ได้"


 


ในประเด็นต่อมาหลังจากนั้น เราได้ถกกันเข้มข้นขึ้นเมื่อลัตต้ามองว่าไม่ค่อยมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในไทยมาก ความเป็นหญิงชายในสังคมไทยไม่รุนแรงเท่ากับเรื่องอาวุโส ปัญหาความรุนแรงในบ้านที่เห็นแท้จริงแล้วมาจากการดื่มเหล้า เธอจึงหันถามมากลับมาทางเราว่า


 


"ทำไมจึงไม่มีคนตั้งคำถามว่าทำไมกินเหล้าแล้วต้องตีผู้หญิง ? "


 


เมื่อเราจึงตั้งประเด็นเพื่อตอบกลับไปว่า ประเด็นที่เธอถามนั้นดูจะสอดคล้องกับปัญหาจากเรื่องวัฒนธรรมความอาวุโสหรือวัฒนธรรมสายอำนาจที่ลัตต้าเองก็มองว่าเป็นปัญหาในสังคมไทย วัฒนธรรมอำนาจของไทยจะเป็นเรื่องชนชั้นทางอำนาจที่ไล่ลงมาแล้วจะระบายสู่ชนชั้นที่ต่ำที่สุดเสมอ เมื่อผู้ชายในสังคมไทยไม่สามารถต่อต้านคนที่มีอำนาจมากได้ก็ไปลงกับคนที่ต่ำกว่า การกินเหล้าของผู้ชายไทยบางส่วนมาจากการได้รับแรงกดดันทางสังคมและไม่อาจระบายออกที่อื่นได้ซึ่งเมียหรือลูกคือผู้อ่อนแอกว่าและอ่อนแอที่สุดในบ้าน ผู้หญิงจึงจะต้องรับผลระบายของความรุนแรงนั้น จริงหรือหากเป็นแบบนี้แล้วยังมองว่าผู้หญิงไทยถูกเลือกปฏิบัติน้อยกว่า


 


หลังการพูดความเห็นในมุมของเรา ลัตต้าจึงบอกว่า แบบนี้ไทยกับอินเดียก็คล้ายกันเสียแล้ว เพียงแต่ในอินเดียจะมากกว่าในเรื่องแรงกกดดันที่ต้องแต่งงานแล้ว และต้องเป็นผู้หญิงที่ดี


 


จากนั้นเราจึงเปลี่ยนไปคุยกันต่อไปในเรื่องของรากฐานความคิดที่ให้ความสำคัญกับผู้ชายมกกว่าผู้หญิงนั้น แท้จริงแล้วมันมาจากการรับอิทธิพลทางความคิดทางศาสนาในอินเดียหรือไม่ ลักษณะปัญหาจึงค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกัน


 


เราพูดต่อไปว่าไม่ว่าจะศาสนาพุทธหรือฮินดูล้วนมีที่มาจากทางอินเดีย ซึ่งทั้งสองศาสนาล้วนให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่า เมื่อกลายมาเป็นรากฐานที่สำคัญทั้งทางการปกครองและวิถีชีวิตในสังคมไทยจึงทำให้โครงสร้างสังคมไทยและอินเดียจึงมีปัญหาเรื่องบทบาทชายหญิงค่อนข้างคล้ายคลึงกัน


 


เธอมองเช่นกันว่า ระบบความคิดนี้คล้ายกันทั้งอินเดียและไทย อย่างศาสนาพุทธนั้น เพราะเป็นศาสนาของผู้ชายใช่หรือไม่ ผู้หญิงจึงไม่สามารถเป็นพระได้โดยง่าย หรือในกรณีศาสนาฮินดูนั้นไทยก็รับแนวคิดจากมหากาพย์รามายณะหรือรามเกียรติ์มาใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน ซึ่งในขณะที่ผู้หญิงพื้นเมืองอินเดียหรือไทยกลับดูจะเสมอภาคมากว่า กินเหล้าหรือสุบบุหรี่ก็ได้ หรือไม่มีกระทั่งนามสกุลของฝ่ายชาย เรื่องของศาสนาพราหมณ์ที่ระบุให้ผู้ชายเท่านั้นจะทำพิธีได้กลับเป็นเรื่องของคนในเมือง


 


เมื่อคุยกันมาถึงตอนนี้ เวลาค่อนข้างล่วงไปมาก เราแลกเปลี่ยนความคิดกันอีกเล็กน้อยโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิชนเผ่ากับการเมืองในรัฐธรรมนูญไทยกับอินเดีย จากนั้นจึงแยกย้ายกันกลับสู่ที่พัก


 


ความเข้าใจบทบาทชายหญิงและความเท่าเทียมคงจะต้องพูดกันต่อไปอีกมากมายต่อไปหลังจากนี้ กระนั้นสำหรับสังคมอินเดียที่ลัตต้ามองว่าเหลื่อมล้ำและกีดกันผู้หญิงอย่างเป็นรูปธรรมกว่าสังคมไทย แต่ล่าสุดเมื่อเรากลับมาฟังข่าวที่บ้าน พบว่า


 


เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ประเทศอินเดียได้ประธานธิบดีผู้หญิงคนแรกแล้วครับ เธอชื่อประติภา ปาตีล วัย 72 ปี


 


เธอกล่าวในวันรับตำแหน่งว่า "ถือเป็นชัยชนะของปวงชนชาวอินเดีย และจะถือโอกาสนี้ลดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มสตรีอินเดีย ตั้งแต่การที่สตรีต้องจ่ายค่าสินสอดให้กับครอบครัวเจ้าบ่าว ปัญหาเรื่องการศึกษา สิทธิการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะระหว่างการตั้งครรภ์ เนื่องจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า สตรีอินเดียแท้งลูกประมาณ 20 ล้านคน"


 


ดังนั้นสิ่งที่ลัตต้ากังวลเวลานี้สังคมอินเดียได้ก้าวพ้นไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว อย่างน้อยในวันแรกของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าสู่การกุมอำนาจสูงสุดของประเทศก็เริ่มต้นแนวทางของเธอด้วยการให้ความสำคัญกับบทบาทอันเหลื่อมล้ำของชายหญิงที่มีมานมนานอย่างเป็นสัญญาใจกับสตรีในประเทศทั้งมวล


 


แต่สำหรับสังคมไทยแล้วคิดว่าการจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมามีบทบาทนำได้นั้นเห็นทีคงต้องรอกันอีกนาน เพราะขณะนี้ 75 ปีผ่านมาแล้วแค่เดินไปตามแนวทางประชาธิปไตยก็ยังทำกันไม่ได้เลยครับ !!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net