Skip to main content
sharethis

 

กองบรรณาธิการ
สำนักข่าวประชาธรรม


ระหว่างที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนญ (สสร.) กำลังแปรญัตติรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 จวนเจียนจะเสร็จสิ้น และเตรียมที่จะให้ประชาชนลงประชามติในเร็ววันนี้ ท่ามกลางกระแสประชาชนที่มีทั้งคัดค้านและตอบรับการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงความเห็นของประชาชนส่วนต่างๆ ต่อรัฐธรรมนูญนับว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับประชาชนที่จะใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจว่าจะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สำนักข่าวประชาธรรม จึงได้ทำการเจาะลึกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 พร้อมสัมภาษณ์ความเห็นของภาคประชาชนส่วนต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจ ในประเด็นต่างๆ ที่มีความสำคัญ เช่น ประเด็นเรื่องการเจรจาการค้า สิทธิชุมชน ระบบการเมือง คนชายขอบ ฯลฯ โดยจะนำเสนออย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โปรดติดตาม


ตอน 5 จับตาการศึกษาในรัฐธรรมนูญจะก้าวหน้าหรือถอยหลัง

อาจกล่าวได้ว่าในรัฐธรรมนูญปี 2540 ถือว่ามีความก้าวหน้าระดับหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษา และเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาโดยภาคประชาชน ที่กำหนดไว้ในร่าง พ...การศึกษาปี 2542 แล้ว แม้ว่าในข้อเท็จจริงการปฏิรูประบบการศึกษาไทยหลังรัฐธรรมนูญ 40 ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่มากก็ตามอันเนื่องด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ ซึ่งจะไม่กล่าวในที่นี้


หันกลับมาดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 50 กับการศึกษากันบ้าง จะพบว่าเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ถูกระบุเอาไว้หลายมาตราดังนี้ หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ในมาตรา 48 มาตรา 49 และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 79 วรรค 3-5 กล่าวคือ


มาตรา 48 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น


การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมจากรัฐ


มาตรา 49 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน


นอกจากนี้ร่างรัฐธรรมนูญหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 4 ในมาตรา 79 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การศึกษา และวัฒนธรรม ดังนี้


(วรรค 3) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมสนับสนุนให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างเสริมและปลูกฝังความรู้จิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความรู้รักสามัคคี ความมีระเบียบวินัย พัฒนาคุณภาพผู้ประกอบอาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา และจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาอย่างเหมาะสมและเพียงพอ


(วรรค 4) ส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน องค์การทางศาสนา และเอกชน จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานและคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมและสอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่


(วรรค5) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยในศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ และเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยจากรัฐ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้


แต่ปรากฏว่าภายหลังการแปรญัตติของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ได้มีการแปรญัตติมาตรา 48 เกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลังใช้เวลาถกเถียงอย่างยาวนาน


ซึ่งมีข้อสรุปว่าในส่วนสิทธิของประชาชนในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพยังคงอยู่ แต่ส่วนที่ถูกตัดทิ้งไปคือส่วนที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้เสนอเพิ่มเติมวรรค 1/1 ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิในการมีส่วนร่วมกับสถานศึกษา เพื่อจัดการศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่รัฐจัดขึ้น" แต่ที่ประชุม สสร.มีมติ 41 ต่อ 25 เสียงเสนอให้ตัดวรรคนี้ออกไป ทั้งนี้โดยอ้างเหตุผลว่าจะเปิดช่องให้มีการเก็บแป๊ะเจี๊ยะ ผลการลงมติดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าจะทำให้การศึกษาไทยถอยหลังเข้าคลองอีกครั้ง เพราะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมจัดการศึกษา


จากนั้นได้มีการพิจารณาต่อในวรรคสองของมาตรา 48 ว่าด้วย "ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น" ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เพิ่มข้อความว่า "นอกจากสิทธิตามวรรคหนึ่งที่ได้รับ" ส่วนวรรคสาม "การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือองค์กรเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ" ที่ประชุมมีมติให้คงตามร่างเดิมของกรรมาธิการยกร่างฯ ด้วยคะแนนเสียง 39 ต่อ 20


ส่วนการพิจารณาต่อในมาตรา 49 ว่าด้วยเสรีภาพทางวิชาการ ที่ประชุมมีมติด้วยคะแนน 44 ต่อ 9 เห็นด้วยกับร่างของกรรมาธิการยกร่างฯ ที่บัญญัติให้การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่พลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน


รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการศึกษา


สาระสำคัญที่ควรจะต้องจับตามองสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญคือ รัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาไทยได้มากน้อยแค่ไหน เป็นที่ทราบกันดีว่าหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการปูทางเรื่องการปฏิรูปการศึกษาแล้ว แต่ปัญหายังติดขัดอยู่ที่โครงสร้างค่อนข้างมาก ทำให้การพัฒนาในเชิงคุณภาพการศึกษาไปไม่ถึงไหน


รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นเปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 กับ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าร่างทั้งสองนั้นยังไม่ได้ทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีดีขึ้นเท่าไร แต่กลับทำให้น่าเป็นห่วงขึ้น เพราะในร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ระบุให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี เริ่มจากปฐมวัย หรือ ประถมศึกษา หากมองการจัดการศึกษาในระยะยาว ไม่ควรมีคำว่าหรือ แต่ควรกำหนดให้การศึกษาขั้นพื้นฐานเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เพราะเด็กไทยมีปัญหาเรื่องวุฒิภาวะทางปัญญาหรืออีคิว กับ วุฒิภาวะทางอารมณ์หรืออีคิว ซึ่งต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ปฐมวัยและมีผลต่อเนื่องจนถึงม.3 ก็จะทำให้การศึกษาต่อเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี


เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ ส...ตัดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนออก เพราะการมีส่วนร่วม การระดมทรัพยากร ยังมีความจำเป็นต่อการจัดการศึกษา เพียงแต่ต้องเขียนกฎหมายให้รัดกุม ป้องกันปัญหาเด็กฝาก เก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะ ไม่ใช่ปล่อยให้ตีความกันเองเหมือนปัจจุบัน


"ที่น่าเสียดายมากที่สุดคือ ร่างรัฐธรรมนูญ2550 ไม่ได้ระบุถึงคุณภาพของคน ซึ่งเป็นจุดตายของประเทศ เพราะเรามีปัญหามากเรื่องคุณภาพของคนไทย ในปี 2540 จึงนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญ 2540 ให้มีการปฏิรูปการศึกษา แต่เราก็ปฏิรูปแค่โครงสร้าง และกฎหมาย ยังไม่ได้ปฏิรูปเรื่องหลักสูตร การเรียนรู้ ร่างรัฐธรรมนูญ2550 ก็ไม่ได้ให้หลักประกันเรื่องคุณภาพของคนแต่อย่างใด ผมจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรจะต้องแก้ไข พ...การศึกษาแห่งชาติ พ..2542 อีกครั้งให้เหมาะสมกับปัญหาการศึกษาในปัจจุบัน" อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว


ด้านอาจารย์สำราญ เทพจันทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 แยกเป็นส่วนของการศึกษาโดยเฉพาะ และมีเนื้อความสำคัญเดียวกัน ส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงส่วนขยายของใจความสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 การระบุให้รัฐขจัดอุปสรรคเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษาเพื่อให้พลเมืองเข้าถึงทรัพยากรของรัฐด้านนี้มากขึ้นเป็นการมองโลกในแง่ดี ดีกว่าการที่รัฐเอางบประมาณไปใช้ในกิจกรรมอื่น ที่ตอบสนองเฉพาะคนบางกลุ่ม เช่น งบราชการลับ หรือโครงการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือใช้เงินเป็นงบประมาณเพื่อการทำรัฐประหาร เป็นต้น


ส่วนรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 81 หมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในสาระเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายและวิธีการจัดการศึกษา ระบุให้ปรับปรุงการศึกษา ซึ่งเป็นผลให้เกิดพระราชบัญญัติการศึกษา 2542 อันเป็นแนวในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการศึกษาทั้งระบบในปัจจุบัน การที่การศึกษามีบทบาทในทางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การศึกษาจึงมีตำแหน่งหรือบทบาททางสังคม ทำให้เกิดความเข้มแข็งแก่ภาคประชาชน เป็นปัจจัยให้เกิดการปฏิรูปการเมือง แต่ในร่างรัฐธรรมนูญส่วนที่ 4 แนวนโยบายด้านการศาสนา สังคม การศึกษา และวัฒนธรรม มาตรา 79 (3)


แม้ส่วนแรกจะระบุให้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ระบุกว้างๆ ให้จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความสามัคคีและระเบียบวินัย ซึ่งมีลักษณะกลางๆ ไม่เน้นการเปลี่ยนแปลง ขณะที่องคาพยพหลักของร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับภาครัฐ แนวคิดทางการศึกษาจึงโน้มเอียงไปในทางการจัดการศึกษาตามแบบแผน ซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญ 2540 และขัดแย้งกับการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปทางการเมือง


ส่วนรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 289 สาระสำคัญให้องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ในร่างรัฐธรรมนูญ หมวดการปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 280 ก็มีสาระเดียวกัน ดังนั้น สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ คือทำให้เกิดการขับเคลื่อนในการคืนการเรียนรู้แบบทางการ จากภาครัฐไปให้กับภาคสังคมอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคสังคม และจะเป็นจริงได้เมื่อองค์กรการปกครองท้องถิ่นปกครองตนเองจริง ไม่ถูกครอบงำโดยภาครัฐ


ในช่วงอายุขัยของรัฐธรรมนูญ 2540 การดำเนินการปฏิรูปการศึกษายังดำเนินไปได้น้อยมาก เกิดการเปลี่ยนแปลงเฉพาะในระดับพื้นผิว ทำได้เพียงการเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพ เขตพื้นที่การศึกษายังเป็นเครื่องมือของภาครัฐมากกว่าเป็นเครื่องมือของภาคสังคม การกระจายอำนาจถูกลดทอนให้เหลือเพียงการมอบงานธุรการให้กับโรงเรียน เป็นการตัดสินใจในเรื่องไม่สำคัญ และเป็นไปอย่างเชื่องช้า การโอนการศึกษาไปให้องค์กรการปกครองท้องถิ่นก็ขาดความจริงใจของรัฐ เห็นได้จากการไม่สร้างความพร้อมให้กับองค์กรการปกครองท้องถิ่น ซ้ำยังพยายามครอบงำการปกครองตนเองของภาคสังคม และสร้างขั้นตอนแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรอย่างเป็นระบบ ทั้งปรากฏการณ์ทักษิณนิยม และปรากฏการณ์ 19 กันยายนฯ ล้วนต่างเป็นผลของความอ่อนแอของภาคประชาชน อันเนื่องจากประชาชนถูกโครงสร้างทำให้อ่อนแอ ดุจเดียวกับการศึกษาภายใต้โครงสร้างที่ทำให้ผู้เรียนตายด้านในการเรียนรู้ และบริโภคความรู้สำเร็จรูป จนสังคมอ่อนแอทั้งระบบ


.สำราญ สรุปว่า แม้ในร่างรายมาตราของรัฐธรรมนูญจะดูดี ลอกเลียนมาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่คนยอมรับอาจย้อมสีให้ร่างมาตราเกี่ยวกับการศึกษาเป็นธรรมขึ้นและ ก้าวหน้าขึ้น แต่ก็ยังจะจมอยู่ในวัฏฏะความล้มเหลวซ้ำซาก เพราะกลุ่มคนที่ร่างเป็นตัวแทนของกลุ่มจารีตที่ไม่ศรัทธาในภาคสังคม ไม่ศรัทธาในการเรียนรู้ที่เป็นปัจจัยนำไปสู่ความเข้มแข็ง แต่ความขัดแย้งของสังคมในทุกวันนี้ เป็นการแสดงตัวของปฏิกิริยาที่ต้องการลดความเข้มข้นของอำนาจภาครัฐ (โดยเฉพาะรัฐแบบจารีตนิยม) เพราะเงื่อนไขทางวัตถุของมนุษย์ได้เปลี่ยนไป ประชาชนเรียนรู้โดยช่องทางอื่น การศึกษาแบบให้เปล่าจึงสูญเปล่า ไร้ตำแหน่งในสังคม


ข้อเสนอภาคประชาชน



หันกลับมาดูข้อเสนอภาคประชาชนต่อประเด็นการศึกษาจะพบว่ามีความเคลื่อนไหวของหลายภาคส่วน ก่อนหน้าที่สสร.จะแปรญัตติพิจารณา ได้มีความเคลื่อนไหวจากหลายฝ่าย อาทิ กลุ่มองค์กรครู 9 องค์กร อาทิ เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย กรรมการครูสถานศึกษาเอกชน ประธานชมรมครูภาคกลางและประธานสหพันธ์ครูภาคเหนือ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญใหม่มีบทบัญญัติด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาโดยเฉพาะต้องการให้เพิ่มเรื่องการศึกษาเป็นหมวดที่ 5 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการยืนยันว่าการศึกษาของชาติถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเมื่อกำหนดให้การศึกษาเป็นหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญก็ต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการศึกษา และการค้นคว้าวิจัย


ทั้งนี้ องค์กรครูให้เหตุผลว่าการบัญญัติเรื่องการศึกษาให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญจะทำให้รัฐสนับสนุนการศึกษาอย่างจริงจังและเกิดทิศทางที่ชัดเจนในการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันการศึกษาไทยกำลังจะถูกเปลี่ยนถ่ายจากกระทรวงศึกษาธิการไปสู่องค์กรส่วนท้องถิ่น ขณะที่การปฏิรูปการศึกษายังขาดทิศทางที่ชัดเจน จึงเห็นควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


พร้อมเสนอให้ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นด้านการศึกษา คือ 1. ให้เพิ่มหมวดว่าด้วยการศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็น "หมวด 5 การศึกษา" 2. ต้องนำสาระบัญญัติเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการศึกษามาไว้ในหมวดการศึกษา 3. ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าระดับปริญญาตรีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 4. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการเท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 5. ให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและกำหนดมาตรฐานพัฒนาคุณภาพผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษารวมทั้งให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาอย่างเหมาะสมและเพียงพอ 6.บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหกรณ์หรือหมู่คณะอื่น


ด้านเครือข่ายการศึกษาทางเลือก กล่าวแถลงการณ์แสดงเจตนารมณ์ระหว่างร่วมเวทีเสวนา วาระ 101 ปี ชาตกาลหลวงปู่พุทธทาส ในหัวข้อ "ถึงเวลา สถาปนาการศึกษาทางเลือกในสังคมไทย" ระบุว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพของคนในสังคม ที่มีคุณภาพบนพื้นฐานของการมีคุณธรรมของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง แต่สถานการณ์การจัดการศึกษาไทยที่ผ่านมากระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ยังเป็นการศึกษาที่ไม่หลากหลาย ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของชีวิตผู้คนในแต่ละพื้นที่ ท้องถิ่น ไม่ได้เหลือบมองความเป็นจริงของชีวิตการเรียนรู้ที่แท้จริงในความเป็นคนในแต่ละพื้นที่ ท้องถิ่น จึงไม่สามารถมาเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ของคนในสังคมได้จริง


การจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ขณะนี้จึงเป็นเพียง การกวาดต้อนกลุ่มคนให้เข้ามาอยู่ในการควบคุม กำกับ ครอบงำ เพื่อให้คนอยู่ในกรอบอำนาจการบริหาร จัดการที่ดีเท่านั้น โดยละเลยวิถีชีวิตท้องถิ่น ภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่มีความหลากหลายในแต่ละชุมชน แม้จะมีการปฏิรูปการศึกษาตาม พ...การศึกษา 2542 ซึ่งถูกกำหนดตามเนื้อหา ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แล้วก็ตาม แต่การศึกษาทางเลือก ที่เป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับชีวิตจริงของคนในสังคมไทย ยังไม่ได้ให้การสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริงในสังคม อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในมาตราที่ 48 ได้กล่าวถึง การจัดการศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม ซึ่งเป็นการสนับสนุนทางการศึกษาสืบต่อไป และจากรูปธรรมของการจัดการศึกษาทางเลือกที่ดำเนินการมาเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่าแนวทางการจัดการศึกษาทางเลือกเป็นแนวทางที่ตอบสนองผู้เรียนและสังคม ไทย


ด้านคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)จัดทำร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนาน โดยระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น


ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น


การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมจากรัฐ โดยรัฐจักต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน หรือชุมชน ซึ่งมีอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และคุณค่าประวัติศาสตร์ มีอำนาจในการจัดการศึกษาอบรม และกำหนดหลักสูตรการศึกษาตามความเชื่อวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นตนเอง และรัฐต้องให้การรับรองหลักสูตรการศึกษานั้น ให้มีวิทยฐานะทัดเทียมกับหลักสูตรการศึกษาที่เป็นทางการ
ปัจจุบัน (ขณะที่กำลังทำต้นฉบับ) การแปรญัตติที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในรัฐธรรมนูญยังไม่ครบถ้วนทั้งหมด แต่ก็น่าจับตามองรัฐธรรมนูญฉบับเต็มว่าจะมีการระบุถึงการศึกษาในรัฐธรรมนูญอย่างไร จะก้าวหน้าหรือถอยหลังอย่างไร.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net