Skip to main content
sharethis

 หมี่แอ  เฌอ


                                                                                                  


แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยสัญชาติหลายฉบับออกมาบังคับใช้ นับตั้งแต่ พ..บ.สัญชาติฉบับแรกปี 2456 จากนั้นได้ทำการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้งเรื่อยมา จนกระทั่งมีกฎหมายสัญชาติฉบับปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.สัญชาติปี 2508 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ปี 2535 แต่ที่ผ่านมากฎหมายสัญชาติยังคงทิ้งช่องว่าง รอยโหว่ เอาไว้ให้คนบางจำพวกแสวงประโยชน์จากคนที่ถูกเรียกว่าไร้สัญชาติ หรือเป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารรับรองสถานภาพบุคคลที่อาศัยหรืออยู่ในประเทศไทย


 


ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสัญชาติ


เปิดช่องทางรีด"เลือดปู"



สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวให้แก่บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนเมื่อปี 2549 โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 10.. 2549 และจากหนังสือสั่งการของกรมการปกครอง ที่ มท 0309.1//2 เรื่อง การดำเนินการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงคนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ลงวันที่ 5 เม.. 2550 แจ้งให้สำนักทะเบียนอำเภอและสำนักทะเบียนท้องถิ่นทุกแห่งรับผิดชอบ และทำให้ผู้ใหญ่บ้านแต่ละชุมชนมีหน้าที่ในการรวบรวมรายชื่อบุคคลที่ไม่มีเอกสารทางราชการ และตกหล่นจากทะเบียนราษฎร



จากนโยบายดังกล่าว
สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเป็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลที่ตกหล่นจากการสำรวจทางราชการเพื่อให้เข้าระบบในการตรวจค้นบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย เนื่องจากมีคนจำนวนหนึ่งตกหล่นจากการสำรวจและไม่มีเอกสารแสดงตน และในการนี้เป็นไปเพื่อความมั่นคงประเทศด้วย 



ทั้งนี้ ตามอำเภอต่างๆ ได้รับคำสั่งจากทางกระทรวงมหาดไทย ในการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงคนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  ดังนั้นเพื่อให้การสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎรปี 2534 แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจ และผู้ช่วยสำรวจ ดังนี้ 1.ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอทุกคน 2. กำนัน ทุกตำบล 3. ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน 4. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทุกคน 5. สมาชิก อบต.ทุกหมู่บ้าน 6. เจ้าหน้าที่ปกครองทุกคน และ 7. เจ้าหน้าที่ปกครองโครงการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจน



คำสั่งสำนักทะเบียน อ.เมือง จ.เชียงราย ที่ 144/2550 ลงวันที่ 30 เมษายน 2550 แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเรื่องการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร หรือบุคคลตกหล่นจากการสำรวจทางทะเบียนราษฎร เมื่อปี  2534 - 2535 และในปี 2542 ไปยังทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน โดยกำหนดการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนกลุ่มน้อยในช่วงเดือน พ.ค.
- มิ.ย. 2550 เพื่อสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร ในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. 2550 นี้  บุคคลที่สามารถเข้ารับการสำรวจต้องมีคุณสมบัติตามที่ทางราชการกำหนดไว้ คือ ต้องเป็นบุคคลที่มีถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านนั้นๆ และต้องมีญาติหรือพี่น้อง ไปรับรองต่อหน้าเจ้าพนักงานอำเภอทุกคน



สำหรับอำเภอเมืองเชียงราย ได้ทำการสอบสวนประวัติเบื้องต้นชาวบ้านหัวฝาย ม.13 ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย ไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2550 จำนวน 300 คน   ชาวบ้านที่เข้ารับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวให้แก่บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ นอกจากนั้นคือ ชาวบ้านชาติพันธุ์อาข่า และลาหู่



อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ราชการบางคน ในฐานะผู้ช่วยสำรวจ ซึ่งทำหน้าที่เก็บรวบรวมรายชื่อลูกบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านเพื่อส่งให้ทางอำเภอ ได้ฉวยใช้โอกาสจากการปฏิบัติหน้าที่นี้ เพื่อแสวงผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ   โดยการนำรายชื่อของบุคคลที่ไม่ใช่ลูกบ้านของตนเองส่งให้ทางอำเภอเป็นจำนวนหลายรายชื่อ   อีกทั้งยังทำการเก็บเงินจากคนพม่าที่เข้ามาขอสำรวจด้วย


           


สถานะบุคคลไทยในราคาแพงลิบ



ชะตากรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือชาวเขาเป็นปัญหาเรื้อรังมานานอันเนื่องมาจากกฎหมายสัญชาติของไทยยังมีความล้าหลัง  และไม่สามารถแก้ไขปัญหาการรับรองสถานะบุคคลได้   จากความไม่คืบหน้าดังกล่าวส่งผลผู้ไร้สัญชาติในประเทศไทยต้องตกอยู่ในฐานะเป็นเบี้ยรายทางของคนบางกลุ่ม  และราชการที่แสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้ไร้สัญชาติอย่างขาดมนุษยธรรม  



แหล่งข่าวบ้านหัวฝายรายหนึ่ง กล่าวว่า หมู่บ้านหัวฝาย มีจำนวนครัวเรือนประมาณ 54 ครัวเรือน ประกอบด้วยชาติพันธุ์ อาข่า 10 ครัวเรือน ลาหู่ 42 ครัวเรือน และไทยใหญ่ 2 ครัวเรือน ทั้งนี้ ชาวบ้านที่ตกหล่นจากการสำรวจจริงๆ แล้ว ไม่ได้มีจำนวนมากขนาดนี้ ทำให้ตนรู้สึกตกใจอย่างมากที่ชาวไทยใหญ่ เข้ามาขอใช้ชื่อเป็นชาวบ้านหัวฝาย โดยมีผู้ใหญ่บ้าน ให้การรับรอง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ลูกบ้านจริง



ด้านแหล่งข่าวชาวไทยใหญ่ กล่าวถึงการดำเนินการเพื่อขอเข้ารับการสำรวจว่า มีชาวไทยใหญ่จากประเทศพม่า เดินทางเข้ามาประเทศไทยที่ด่าน อ.แม่สาย เพื่อขอเข้ารับการสำรวจเป็นจำนวนมาก  โดยแต่ละรายต้องจ่ายค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างจาก อ.แม่สาย
- อ.เมือง เชียงราย ครั้งละ 3,000 - 4,000 บาท เพื่อเดินทางเข้ามาที่หมู่บ้านที่เปิดให้ลงชื่อเข้ารับการสำรวจ เช่น บ้านหัวฝาย บ้านท่ากระซ้อ เป็นต้น เมื่อถึงหมู่บ้านที่หมายแล้ว จึงจะจ่ายเงินให้กับผู้ใหญ่บ้าน และผู้รับรอง ซึ่งจะทำการรับรองให้กับผู้มาขอลงชื่อเข้ารับการสำรวจว่าเป็นญาติของคนในหมู่บ้านดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ามาลงรายชื่อขอเข้ารับการสำรวจ ต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการเพื่อให้ได้เข้ารับการสำรวจ รวมแล้วรายละประมาณ 5,000 - 10,000 บาท



แหล่งข่าวรายเดิม เปิดเผยว่า ตอนนี้หลายหมู่บ้าน ใน จ.เชียงราย เปิดรับคนที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ให้เข้ามาลงชื่อเพื่อขอรับการสำรวจอย่างจำกัดจำนวน เพื่อไม่เป็นที่สงสัยของเจ้าหน้าที่  ทั้งนี้เพราะมีคนที่ข้ามเข้ามาประเทศไทยเพื่อการสำรวจเป็นจำนวนไม่น้อย เช่น บ้านเวียงกลาง (ท่ากะซ้อ)  หมู่ที่ 11 ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย ตามกำหนดการของอำเภอเมือง เรื่องการสำรวจบุคคลตกหล่น  บ้านเวียงกลาง วันที่ 7 ก.ค. 2550 มีชาวบ้านมาเข้ารับการสำรวจที่ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงราย จำนวนกว่า 400 คน โดยเป็นชาวบ้านชาติพันธุ์ลัวะที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจริง และอีกจำนวนหนึ่ง เป็นผู้เข้ารับการสำรวจชาติพันธุ์ลัวะ เดินทางมาจาก กรุงเทพ และ จ.นครปฐม เป็นต้น



นายแบ้งค์ (นามสมมุติ) ชาวเผ่าลัวะ เปิดเผยว่า บ้านเดิมของตนอยู่ที่เมืองยาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ทั้งนี้ ตนเป็นลูกจ้างทำงานที่สวนกล้วยไม้ จ.นครปฐม และไม่มีเอกสารราชการ จึงตัดสินใจเดินทางจาก จ.นครปฐม เพื่อมาลงชื่อขอเข้ารับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวให้แก่บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่บ้านเวียงกลาง (ท่ากระซ้อ) หมู่ที่ 11 ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขอลงชื่อค่อนข้างสูงมาก ประมาณ 20,000-30,000 บาทแล้ว เพราะเป็นคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามา ส่วนคนที่เคยเข้ามาลงชื่อที่หมู่บ้านนี้ก่อนหน้านี้แล้ว จ่ายคนละ
10,000 บาท และผู้ที่มีบ้านเรือนหรือซื้อที่ดินอยู่ภายในหมู่บ้านนี้ จ่ายคนละ 5,000 บาท นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าดำเนินการต่างๆ ตามแต่ผู้ดำเนินการจะอ้างเรียกเก็บ เช่น ค่าเดินทาง ค่าติดต่อประสานงาน คราวละประมาณ 1,000 บาท



แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวต่อว่า เส้นทางจากกรุงเทพจนถึงหมู่บ้านที่เปิดรับการลงชื่อเข้ารับการสำรวจ บางจุดก็ถูกตำรวจตรวจจับเพราะไม่มีเอกสารรับรองสถานะบุคคล ต้องจ่ายเงินให้ตำรวจ ครั้งละ 1,000
- 2,000 บาท ตำรวจก็ยอมปล่อยตัว บางครอบครัวมี 5 - 6 คน เสียค่าใช้จ่ายเกือบแสนบาท เพื่อขอเข้ารับการสำรวจ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ แต่ยังไม่จบแค่นั้น เวลามีปัญหาเรื่องเอกสาร ผู้ดำเนินการก็ยังเรียกเก็บเงินเรื่อยๆ โดยอ้างว่าเป็นค่าดำเนินงานให้ปลัดอำเภอเซ็นรับรอง



"คนที่มาลงชื่อขอรับการสำรวจก็กลัวจะไม่ได้บัตร จึงต้องยอมจ่ายเงินตามที่ผู้ดำเนินการเรียกเก็บ บางคนต้องไปซื้อที่ดินในหมู่บ้านเพื่อลงชื่อขอเข้ารับการสำรวจ เท่านี้ยังไม่พอ เวลาไปอำเภอต้องเสียเงินพาปลัดอำเภอไปเลี้ยงอาหารกลางวันอีกด้วย  แต่ก็ไม่แน่ใจอีกว่า เอกสารหรือบัตรรับรองสถานะบุคคลที่จะได้รับนั้นจะเป็นจริงหรือของปลอม มีหน้าที่จ่ายเงินให้กับผู้ดำเนินเรื่องอย่างเดียว ไม่คิดว่าจะเสียเงินเยอะขนาดนี้ ถ้ารู้ว่าเป็นแบบนี้จะไม่ทำ แต่สำหรับบางคนก็ยอมจ่าย เพราะอยากได้บัตรรับรองสถานะบุคคล" แหล่งข่าวรายเดิม กล่าว



เป้าหมายสูงสุดของกระทรวงมหาดไทย จากการมีคำสั่งสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงคนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เพื่อเป็นการจัดคนเข้าระบบ  และสะดวกในการค้นหา   โดยให้ทุกคนที่ตกหล่นจริง ได้มีเอกสารติดตัว แต่ความหวังดีกลับกลายเป็นช่องทางให้คนบางกลุ่มทำลายความมั่นคงประเทศชาติเสียเอง กล่าวคือ ข้าราชการบางคน อาทิ นับตั้งแต่ ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ตำรวจ นายอำเภอ ฉวยโอกาสหวังหาเงินเข้าในกระเป๋าตน โดยการอำนวยความสะดวกแก่บุคคลที่มาแอบอ้างว่าตกหล่นจริง ซึ่งหลายคนเดินทางเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย 



นี่เป็นเพียงเรื่องราวตัวอย่าง ของคนที่ไม่มีเอกสารแสดงสถานภาพทางบุคคลที่อาศัยและเข้าอยู่ในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจ และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ราชการ เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว นอกจากนี้ยังสะท้อนอีกว่า ณ วันนี้ กฎหมายสัญชาติ อันรวมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ที่มีช่องโหว่ และยังไม่อาจคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่อาศัย หรือเข้ามาอยู่ในประเทศไทยทุกคน ตามหลักสิทธิมนุษยชนได้ บุคคลเหล่านี้จึงหนีไม่พ้นการกลายเป็นขุมเงินให้บรรดาคนเห็นแก่ตัวขุดใช้อย่างไม่มีวันจบสิ้น .

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net