Skip to main content
sharethis

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ


พรรคแนวร่วมภาคประชาชน


 


            เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราเห็นการพยายามออกพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติ ที่เพิ่มอำนาจของทหารเพื่อปราบปรามประชาชนอย่างเห็นได้ชัด และภาคประชาชนจำนวนหนึ่งก็ออกมาประท้วงร่วมกันหน้าทำเนียบรัฐบาล


 


ภาคประชาชนหลายส่วนอาจคัดค้านกฎหมายความมั่นคง แต่ไม่มั่นใจว่าทำไมจึงต้องคัดค้านรัฐธรรมนูญ และอาจหลงลืมไปว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เป็นผลของการทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยาของเผด็จการทหารนั้นจะรับใช้อำนาจเผด็จการอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ หากไม่มีกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายความมั่นคงที่กำลังจะออกตามมา ดังนั้นการมองภาพรวมจึงเป็นเรื่องสำคัญ


 


            รูปธรรมของการจงใจใช้อำนาจเผด็จการทหารในการปราบปรามคนจน และคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลในรอบเดือนที่ผ่านมา คือการปราบปรามม็อบเขื่อนปากมูลที่ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับมีการจับกุม สมบัติ บุญงามอนงค์ นักประชาธิปไตยที่ต่อสู้มาตั้งแต่วันแรกที่เกิดรัฐประหาร รวมถึงเมื่อกลางเดือนก็มีการจับกุมและกีดกันพี่น้องผู้ใช้แรงงานหลายคนที่ไปแจกใบปลิวรณรงค์ "ไม่เอารัฐธรรมนูญ" โดยเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่า "ใส่เสื้อดำไม่เหมาะสมกับสถานที่" (เพราะชนชั้นปกครองที่ทำรัฐประหารล้วนใส่เสื้อเหลือง)


 


มีการจงใจเล่นงานอาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ออกข้อสอบให้นักศึกษาตั้งคำถามกับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ด้วยข้อหาที่ถูกอ้างเพื่อปราบปรามนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมาตลอดว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ยิ่งไปกว่านั้น จะเห็นการใช้กำลังปราบปรามประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้อย่างโหดเหี้ยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอ้างความมั่นคงของ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และล่าสุดคือการใช้กำลังตำรวจปราบปรามประชาชนที่เดินขบวนในนาม นปก.อย่างรุนแรง โดยกล่าวหาว่า ก่อความวุ่นวายและจลาจล เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา


 


            คำถามก็คือ กฎหมายความมั่นคงนั้นมีไว้เพื่ออะไร ใครกันแน่ที่จะได้รับผลร้ายจากกฎหมายนี้ และจริงหรือที่ชนชั้นนักธุรกิจ นายทุน อย่างทักษิณ ชินวัตร และเจ้าสัวทั้งหลายที่ทำมาหากินบนหลังของคนจนมาตลอดจะรังเกียจกฎหมายความมั่นคงแบบนี้ พี่น้องเกษตรกรและกรรมกรรู้ดีว่า นายทุนและชนชั้นปกครองทั้งชนชั้นยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กฎหมายฉบับนี้จะออกมา เพราะมันจะทำให้ประชาชนเคลื่อนไหวอะไรทางการเมืองไม่ได้ ต่อไปนี้การเรียกร้องผลประโยชน์เฉพาะหน้าก็จะทำไม่ได้ด้วย ด้วยการที่รัฐจะใช้ข้ออ้างว่า ทำลายความมั่นคงของชาติ


 


นโยบายการปราบปรามคนจน การควบคุมสหภาพแรงงาน การฆ่าผู้คนซึ่งจับอาวุธสู้กับรัฐใน 3 จังหวัดภาคใต้ ล้วนอยู่บนข้ออ้างของการเชิดชูความศักดิ์สิทธิ์ของ รัฐชาติ ศาสนา และกษัตริย์ ซึ่งที่ผ่านมามันพิสูจน์แล้วว่า มันให้ผลประโยชน์กับคนข้างบนมากกว่าคนข้างล่างเสมอ


 


ที่ผ่านมา จะเห็นว่า รัฐบาลเผด็จการเร่งรัดออกกฎหมายความมั่นคง พร้อมๆ กับที่ผลักดันแนวทุนนิยมกลไกตลาด เช่น เอฟทีเอ (รัฐบาลทหารเซ็นสัญญาเอฟทีเอไทยญี่ปุ่นไปแล้ว) แปรรูปรัฐวิสาหกิจ (ดูในรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 ที่ระบุให้แปรรูปได้) และนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอีกระลอกหนึ่ง (กำลังจะนำ 4 มหาลัยออกต่อไป มี ม.มหิดลนำร่อง) ไม่แตกต่างอะไรกับที่รัฐบาลไทยรักไทยทำมาก่อน


 


            ดังนั้นการทำความเข้าใจที่มาของการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 2550 และนโยบายอื่นๆที่ออกโดยรัฐบาลชุดนี้จึงเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออกจากการเข้าใจผลประโยชน์ทางชนชั้นในภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่มองแยกส่วนย่อยๆ รัฐบาลเผด็จการและชนชั้นปกครองอย่างทักษิณล้วนยินดีอย่างยิ่งกับการมีเครื่องมือในการปราบปรามคนจนมากขึ้น พร้อมๆ กับที่มีการผลักดันผลประโยชน์ของคนรวยผ่านนโยบายทุนนิยมกลไกตลาด สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า ต้องต่อสู้กับนายทุนแบบทักษิณและเผด็จการทหารไปพร้อมๆ กัน


           


ในขณะที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ผันตัวเองเป็น สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง นำโดย สมศักดิ์ โกศัยสุข ได้แถลงว่าจะลงประชามติ "รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โดยแสดงจุดยืนว่า "แม้จะเห็นข้อบกพร่อง แต่ก็รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขทีหลัง" คำถามคือมันมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะแก้ไขมาตราที่ลดอำนาจประชาชนและเพิ่มอำนาจรัฐเป็นสิบๆ มาตราในวันที่รัฐธรรมนูญเผด็จการออกมาแล้ว


 


และถ้าเราดูช่องทางการแก้รัฐธรรมนูญที่ตามมาจากรัฐธรรมนูญนี้ คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุให้มี สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง โดยการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ต้องการยื่นรายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำผ่านกระบวนการของรัฐสภาซึ่งมีสมาชิกวุฒิสภาของเผด็จการอยู่นั้น จะเป็นเรื่องยากเสียกว่าในยุคที่สมาชิกของรัฐสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เช่น 2540 อย่างแน่นอน (พวกเรารู้ดีว่า เราแก้ไขอะไรในรัฐธรรมนูญได้บ้างในยุค 2540 ... ไม่มี!!!) ดังนั้นการมีจุดยืนรับรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่รู้ว่า "เลว" โดยอ้างว่า "มาแก้ทีหลัง" จึงเป็นสิ่งที่เพ้อฝันและเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง


 


นับว่าเป็นเรื่องดีที่ยังมีจุดยืนซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงอีกอันหนึ่งของ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. ที่แถลงการณ์ "ไม่รับ" รัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า มันทำลายผลประโยชน์ของคนธรรมดา และ กป.อพช.ก็ไม่ได้เชื่อว่า จะสามารถแก้ไขอะไรได้มากหากรัฐธรรมนูญผ่านไป ยิ่งจะเลวร้ายลงไปอีก ดังนั้นการ "ไม่รับ" จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะปกป้องประชาธิปไตยและผลประโยชน์คนยากจน ... เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์!!!


 


            คำถามสำคัญในเวลานี้ก็คือ จะทำอะไรกันต่อหลังรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน??? ในบทความนี้ขอเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินสถานการณ์ และมีข้อเสนอให้แลกเปลี่ยนถกเถียงกัน ดังนี้


 


1. หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน แน่นอนต้องยอมรับผลของการลงประชามติ เพราะพวกเราเข้าใจร่วมกันแต่แรกว่า การลงประชามติโดยที่ประชาชนทั้งประเทศมีสิทธิออกเสียงนั้นเป็นประชาธิปไตย เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเต็มที่ แต่การยอมรับผลการโหวตนี้ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำอะไรต่อ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่าน ก็ยังต้องเรียกร้องให้เดินหน้าปฏิรูปสังคมซึ่งเป็นวาระตลอดชีวิตของภาคประชาชนทั้งหมดตราบเท่าที่ความไม่เท่าเทียมในสังคมยังดำรงอยู่


 


และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง หากรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ รัฐบาลเผด็จการทหารจะมีความมั่นใจมากขึ้นในการปราบปรามคนจน และจะเร่งรัดออกกฎหมายความมั่นคงและนโยบายของกลุ่มทุนที่จะผลักดันผลประโยชน์ของคนรวยให้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นการรณรงค์คัดค้านนโยบายที่ทำลายผลประโยชน์ของประชาชนอีกหลายอย่างก็ยังต้องทำต่อ


 


            ยิ่งไปกว่านั้น อย่าลืมว่า แม้รัฐธรรมนูญจะผ่าน แต่เสียงส่วนน้อยที่ลงว่าไม่รับและเสียงของคนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิครั้งนี้ (จะมีคนที่ไม่ไปลงประชามติเยอะมาก ทั้งด้วยสาเหตุที่เห็นว่า การจัดประชามติไม่ชอบธรรม และทั้งจากพี่น้องแรงงานที่ไม่สามารถกลับบ้านไปลงประชามติได้) ก็มีความสำคัญ และหากเสียงที่ไม่รับมีจำนวนมากพอสมควร ก็ควรจะมั่นใจว่า มีคนไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารจำนวนมาก ซึ่งยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อชักชวนคนอื่นๆ ทั้งที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญให้ออกมาต่อต้านรัฐประหารต่อไป


 


2. หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน ก็แสดงว่าคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการทำรัฐประหารของ


คมช. ซึ่งหมายความว่า การเมืองไทยจะถูกยกระดับไปสู่การมีข้อสรุปว่า การรัฐประหารจะต้องไม่ถูกทหารนำมาอ้างในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้อีกต่อไป และชัยชนะอันนี้จะทำให้ภาคประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารมีความมั่นใจมากขึ้น และเคลื่อนไหวเพื่อประเด็นปฏิรูปสังคมทุกๆ ด้านต่อไป ซึ่งมีต้นทุนอยู่แล้ว คือการมีเวทีปฏิรูปสังคมหลายเวที และรัฐธรรมนูญคู่ขนานที่พวกเราช่วยกันทำที่ผ่านมา (ทั้งก่อนเกิดรัฐประหารและหลังจากนั้น)


 


ส่วนประเด็นว่า คมช. จะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้นั้น มันมีความเป็นไปได้สูงที่ คมช.จะไม่กล้าเอารัฐธรรมนูญที่เลวจากยุคเผด็จการมาใช้ อย่างน้อยก็ต้องผสมผสานเอา 2540 มาใช้เป็นหลัก เพราะอย่าลืมว่า คมช.ทำรัฐประหารได้ เพราะคิดว่าประชาชนยอมรับ แต่หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ความมั่นใจอันนี้จะลดลง


 


ประเด็นที่สำคัญคือ คมช.จะต้องเร่งผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติความมั่นคง สามารถผ่านสภาได้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปลายปี ซึ่งจุดนั้นจะเป็นจุดที่ต้องร่วมกันกับภาคประชาชนทุกส่วน ทั้งที่เคยสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญมาก่อนและกลุ่มที่คัดค้านมาแต่ต้น เพื่อต่อต้านกฎหมายความมั่นคงดังกล่าว


 


            ข้อสรุปของบทความนี้คือ ไม่ว่าจะอยู่บนเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน สิ่งที่จะต้องทำหลังวันที่ 19 สิงหา ก็คือ


 


หนึ่ง ต้องรวบรวมภาคประชาชนทั้งส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญเร่งเดินหน้าการปฏิรูปสังคมที่เป็นไปเพื่อการเพิ่มอำนาจประชาชน ลดอำนาจรัฐ และสร้างรัฐสวัสดิการต่อ


 


สอง ต้องเดินหน้าต่อต้านกฎหมายความมั่นคงทุกรูปแบบ เช่น พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดภาคใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และอื่นๆ ที่เพิ่มอำนาจรัฐและลดอำนาจประชาชน ซึ่งประเด็นนี้จะกลายเป็นวาระสำคัญที่สุดอีกอันหนึ่งของทั้ง คมช. และของภาคประชาชนหลังวันที่ 19 สิงหา           


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net